วันอาทิตย์, มิถุนายน 02, 2562

กฎหมายสมัยเผด็จการทหาร เละเป็นโจ๊กอีกฉบับ - การเกิดนิติบัญญัติ โดยศาล (แบบนี้ตุลาการไทยจึงควรมาจากการเลือกตั้ง ให้เหมือนอเมริกา)



ในที่สุด ก็ออกเป็นกฎหมายในวันนี้จนได้!

เรียนให้ทราบว่า พรบ. นี้ เกิดจากการผลักดันโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่มีคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เป็นหน่วยสำคัญที่ผลักดันจนผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เพื่อน ๆ ผมที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ จะทราบดีและรับรู้ถึงความพยายามในการเร่งรัดผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าว

ผมขอกล่าวเฉพาะมาตรา ๖ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นประเด็นใหญ่มาก

ผมเห็นว่า มาตรา ๖ นั้น มีปัญหาสำคัญ ๓ ประเด็น

ประเด็นที่ ๑ : ปัญหาหลักการ

๑.๑ แนวคิดในการยกร่างอ้าง รธน. มาตรา ๗๗ ที่เป็น “แนวนโยบายแห่งรัฐ” แต่ตัวบทมาตรา ๖ ในร่างเขียนไปไกลกว่า รธน. เพราะให้ศาลมีอำนาจปรับหรืองดการใช้บังคับกฎหมาย

๑.๒ มีปัญหาขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ เพราะจะทำให้องค์คณะผู้พิพากษาหรือตุลาการไม่กี่คนในศาล มีอำนาจทำการที่แตกต่างจากกฎหมายอันเป็นผลผลิตที่ผู้แทนปวงชนได้กำหนดไว้

โดยร่างมาตรานี้ ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในข่ายอำนาจตุลาการ แต่เป็นเรื่องที่ให้ศาลมีดุลพินิจในกรณีเห็นว่า กฎหมาย “ไม่สอดคล้อง” ต่อ “สภาพสถานการณ์” หรือ “ความจำเป็น” ซึ่งแท้ที่จริงก็คือเรื่อง “นิตินโยบาย” ของสังคมเหนือกฎหมายนั้น ๆ ที่ควรให้ปลายทางผู้ตัดสินปัญหาเป็นรัฐสภา ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายนั้น

ข้อสำคัญคือ จะอ้างว่ามาตรา ๖ นี้เป็นเรื่องตาม รธน. มาตรา ๗๗ ที่เปิดช่องให้แก่ศาลก็ไม่ได้ เพราะมาตรา ๗๗ มิได้บัญญัติไว้ให้ศาลจัดการเช่นดังเนื้อความตามมาตรานี้แต่ประการใด

กล่าวได้โดยสรุปคือ มาตรานี้ขัดต่อ รธน. มาตรา ๗๗ อยู่ในตัว

ประเด็นที่ ๒ : ปัญหาตรรกะ

ปัญหาตรรกนี้เป็นเรื่องปัญหาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการออกกฎหมาย

มาตรา ๖ นี้ บัญญัติโยงว่า เป็นกรณีกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง
เมื่อพิจารณามาตรา ๕ วรรคหนึ่ง ก็จะเห็นว่า ระบุเฉพาะเป็นกรณี “หน่วยงานของรัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น…”

อย่างที่รู้กันอยู่ทั่วไป กฎหมายออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้จัดให้มี หน่วยงานของรัฐไม่ใช่ผู้ออกและแม้จะตีความว่าหน่วยงานของรัฐจัดให้มีนั้น หมายถึง กรณีหน่วยงานของรัฐเป็นต้นเรื่องในการออกกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง กฎหมายหลายฉบับอาจออกมาโดยไม่มีหน่วยงานของรัฐเป็นต้นเรื่องเลยก็ได้ เช่น กฎหมายที่ ส.ส.เป็นผู้เสนอ หรือ ประชาชน เป็นผู้เสนอ

เพราะฉะนั้น การร่างโยงเช่นนี้จึงสะท้อนปัญหาความไม่มีเหตุผลที่สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างครอบคลุมในเรื่องผู้จัดให้มีกฎหมาย

ประเด็นปัญหาที่ ๓ : ปัญหาผลกระทบ

มาตรา ๖ นี้ จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่ศาลเข้ามาใช้อำนาจปรับแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายในทางปริยาย

ศาลจะถูกสร้างให้เป็นผู้ปรับระบบกฎหมายในสังคม และถูกกดดันจากบทบาทที่ได้รับมาทางพระราชบัญญัตินี้

รัฐสภาจะไม่ถูกถามหาในเรื่องความรับผิดชอบต่อการมีกฎหมายที่จำเป็นและสอดคล้องต่อสภาพสังคมในแต่ละยุคสมัย

ในที่สุด เท่ากับประชาชาชนจะไม่ตระหนักต่อการมีผู้แทนปวงชนที่จะออกกฎหมายที่ดีและทันสมัยให้กับสังคม

ร้ายไปกว่านั้น คือ อาจจะเกิดความขัดแย้งในประเทศระหว่างรัฐสภากับศาล ว่าใครรู้เจตจำนงสังคมดีกว่ากันว่า กฎหมายใดจำเป็นและสอดคล้องต่อห้วงขณะหนึ่งในบ้านเมือง

[นอกเหนือจากปัญหาทั้งสามประการข้างต้น ผมยังพบอีกประเด็นหนึ่ง คือ ปัญหาการไม่มีที่มาของแนวคิดจากต่างประเทศเป็นแนวทาง

จากความพยายามในการสืบหาว่า กฎหมายมาตรานี้มีที่มาจากการศึกษากฎหมายต่างประเทศใดเป็นต้นแบบหรือไม่ ก็ปรากฎว่าไม่พบแต่ประการใด
เท่าที่ปรากฏคือความพยายามผลักดันโดยนักกฎหมายไทย ที่ออกแบบระบบนี้ขึ้นมาเอง โดยไม่พบการอ้างอิงข้อมูลเชิงกฎหมายเปรียบเทียบ]

*****ผมหวังว่า จะได้มีการทบทวนยกเลิก หรืออย่างน้อยที่สุด คือ ตั้งหลักพิจารณากันใหม่ครับ
มิฉะนั้น พระราชบัญญัตินี้ที่อ้างว่าเกิดขึ้นมาเพื่อขจัดกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ตัวมันเองนั่นแหละครับจะเป็นอุปสรรคต่อระบบกฎหมายและประชาชน !******

อานนท์ มาเม้า

============================================
[ฉบับเต็ม

พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๒

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/072/T_0001.PDF]

ป.ล. เนื้อความในโพสต์นี้ปรับปรุงจากโพสต์ของผมในอดีตสมัยที่ยังเป็นเพียงร่าง พรบ.


Arnon Mamout
...

อีกหนึ่งผลงานของสภาในยุค คสช. ต่อไปนี้กฎหมายที่ออกมาโดยสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สามารถถูกศาลที่มาจากการแต่งตั้งเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการบังคับใช้หรือลงโทษได้ โดยอ้างเพียงว่า "หมดความจำเป็น", "ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์" หรือ "เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ"

กล่าวโดยสรุปคือ ทำให้ฝฝ่ายตุลาการสามารถเข้ามาล่วงล้ำอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ได้นั่นเอง
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG
.

กฎหมายสมัยเผด็จการทหาร เละเป็นโจ๊กอีกฉบับ
Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล
.

Parepailin Siriwoharn แบบนี้ตุลาการไทยถึงควรมาจากการเลือกตั้งค่ะ ให้เหมือนอเมริกา ไม่มีความชอบธรรมของอำนาจเลย ไม่มีการเชื่อมโยงกับประชาชนแต่เป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เพียงสอบติด