วันอังคาร, มิถุนายน 25, 2562

24 มิถุนายน 2475 ปฏิวัติเบาๆ





24 มิถุนายน 2475 ปฏิวัติเบาๆ

เวลาพวกเราคนไทยในปีพ.ศ.นี้ มองเรื่องการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 มักนำแว่นสายตาของคนยุคนี้ย้อนกลับไปมอง ก็เลยจะผิดพลาดได้ง่าย

เนื่องจากคนไทยเรา เกิดและเติบโตมากับการถูกปลูกฝังให้นิยมสถาบันกษัตริย์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเข้มข้นมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ.2520เป็นต้นมา เวลานี่ก็ร่วม42 ปี ไม่นับก่อนหน้านั้นอีก

ถ้างั้นเรามาดูซิว่าบริบทแวดล้อมของการปฏิวัติหนนั้นจริงๆมันอยู่ภายใต้สถานการณ์ หรือความเป็นจริงแบบไหน?

1.ปี1911 หรือพศ. 2454 เกิดการปฏิวัติซินไห่ขึ้นในจีน หมอซุนยัดเซ็นใช้หลักการไตรราษฎร์และชาตินิยมเชื้อสายฮั่นล้มล้างอำนาจราชวงศ์ชิง(ชนชาติส่วนน้อยที่ปกครองจีนมามากกว่า200ปี) และสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้น

2.ปี1912 หรือ2455 หรือ รศ. 130 ทหารหนุ่มยังเติร์กของไทย กลุ่มหนึ่งโดยการนำของนายแพทย์ร้อยเอกเหล็ง ศรีจันทร์ คิดเลียนแบบการปฏิวัติจีน(แม้แต่ผู้นำการปฏิวัติยังเป็นหมอเหมือนกัน)คิดก่อการปฏิวัติยึดอำนาจรัชกาลที่6ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์ฯวันจักรี โดยมุ่งหมายจะเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐแบบเดียวกับจีน แต่หากในหลวงร.6ให้ความร่วมมือก็จะเปลี่ยนเป็นระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่แผนแตกถูกจับติดคุกยกคณะ กลายเป็นกบฏรศ. 130

3.หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่1เมื่อปี1918 หรือพ.ศ.2461 ราชวงศ์หลายแห่งในยุโรปนำโดยเยอรมันล่มสลายลง เพราะนำประเทศแพ้สงคราม และขยายลุกลามไปทั่วยุโรป และทั่วโลก ระบบสาธารณรัฐและเสรีนิยมประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลักที่มาแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์

4.ปี1929 หรือ2472 เกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในอเมริกาและยุโรป หรือThe great depression มีผลสะเทือนมาถึงประเทศไทย เกิดการปลดราชการชั้นผู้น้อยออกมาก ขณะที่รัฐบาลของในหลวงรัชกาลที่7ตกเป็นเป้าโจมตีว่าขาดประสิทธิภาพ คณะทหาร(ซึ่งมีผู้นำเป็นนักเรียนนอกเยอรมัน) จึงร่วมมือกับพลเรือน(นักเรียนนอกฝรั่งเศส) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยมีแนวทางคล้ายๆสมัยหมอเหล็งคือหากในหลวงรัชกาลที่7ร่วมมือ ก็จะให้เป็นระบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ หากไม่ให้ความร่วมมือก็จะกล่าวหาว่าทรยศชาติ(แบบฝรั่งเศส) ซึ่งในหลวงร. 7ประนีประนอมรอมชอม คณะราษฎรจึงขอให้ท่านเป็นระบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจบริหารตกเป็นของคณะราษฎร

5.เนื้อหาของแถลงการณฺ์คณะราษฎรฉบับที่1นั้น หากมองในความเป็นจริง ก็ควรถือว่าเป็นปกติธรรมดาของคณะปฏิวัติที่โค่นล้มรัฐบาลเก่าที่ต้องโจมตีรัฐบาลเก่าหนักหน่อย บางทีก็คงเกินเหตุเกินเลยไป จนต้องมีการพระราชทานขอขมาในหลวงร.7ในเวลาต่อมา

6.คณะปฏิวัติ24 มิถุนายน2475 มีอำนาจปกครองประเทศจริงๆราว15ปี มาถึงวันที่8พฤศจิกายน 2490 พอโดนคณะรัฐประหารสายนิยมเจ้า ทำรัฐประหารยึดอำนาจ และถูกทำลายจนสิ้นซากในคราวกบฎวังหลวง กบฎแมนฮัตตัน ช่วงปี2492-2494 ก็แทบจะสูญพันธุ์ มาสูญพันธุ์จริงๆในตอนจอมพลป.โดนรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2500 ตามมาด้วยการรื้อฟื้นคืนพระเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์กลับคืนมาอย่างต่อเนื่อง และยาวนานถึงปัจจุบัน62 ปี และเข้มข้นมากขึ้นหลัง6ตุลาคม2519 ก็คือตั้งแต่ปี2520มาจนเวลานี้

7.ในปีพ.ศ.2502 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ที่เดินตามอเมริกาต้านคอมมิวนิสต์ และเชิดชูจงรักภักดีสถาบันกษัตริย์ขึ้นสูงสุด เป็นศูนย์รวมใจชาวไทย ก็ได้ยกเลิกวันชาติไทยจาก24มิถุนายน มาเป็น5ธันวาคม

ปีพ.ศ.2560 หมุดคณะราษฎรหายไป มีหมุดหน้าใสมาแทน

อนุสาวรีย์หลักสี่ถูกอุ้มหายเป็นรายล่าสุด

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย น่าจะเป็นคิวต่อไป

8.ในปีพ.ศ.2562 หรือ 87 ปีหลังปฏิวัติ 24 มิถุนายน คนไทยครึ่งค่อนประเทศมองว่าคณะราษฎรคือผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ พวกชิงสุกก่อนห่าม ทรยศเนรคุณพระเจ้าแผ่นดิน และใครที่บอกว่าจะสืบสานเจตนารมณ์คณะราษฎรแบบธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยะบุตร คือพวกหนักแผ่นดิน สมควรออกจากประเทศไทยไปอยู่ที่อื่น

แต่หากย้อนไปมองในบริบทแวดล้อมของมันจริงๆ หากเทียบกับไทม์ไลน์วันเวลาในทางประวัติศาสตร์ หรือคณะปฏิวัติรุ่นก่อนอย่างคณะนายร้อยเอกหมอเหล็ง ผมเห็นว่านี่เป็นปฏิวัติเบาๆ และปฏิวัติแบบไทยๆที่สุดแล้วหละครับ เต็มไปด้วยความรอมชอมประนีประนอมสุดๆ

ลองคิดกันง่ายๆว่า หากคณะหมอเหล็งทำปฏิวัติสำเร็จ แทนที่จะเป็นคณะราษฎร โฉมหน้าประเทศไทย ก็คงไม่ใช่ประเทศที่เรารู้จักกันในเวลานี้



ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์