วันศุกร์, มิถุนายน 21, 2562

คสช.ส่งไม้ต่อให้ กอ.รมน.รับช่วงงานด้านความมั่นคง "ทุกมิติ...อย่างบูรณาการ"


“เรื่องใหญ่นะคะ” ดังที่ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระเตือนให้ “สื่อ ส.ส. และประชาชนต้องช่วยกันกดดัน” คสช. ว่ามันจำเป็นอย่างไรถึงต้องส่งไม้ต่อให้ กอ.รมน. “จะยังดำเนินงานสานต่อไป...ประเด็นด้านความมั่นคงในทุกมิติที่ทำอยู่”

ต่อการที่ พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แถลงเรื่อง “ปรับโอนหน้าที่ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ให้กับ กอ.รมน. โดยมีการจัดโครงสร้างไว้รองรับแล้ว” อย่างบูรณาการ

“ประเด็นหลักๆ คือจะบูรณาการและขับเคลื่อนงานของกระทรวง เช่น หนี้นอกระบบ, การจัดระเบียบสังคม โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑” อีกทั้ง “จะปรับให้สอดคล้องตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี” ด้วยในทุกมิติ


จากที่เคยมีงานวิจัยของ อจ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างค้นคว้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐ เผยว่าหน่วยงาน กอ.รมน.ซึ่งก่อตั้งด้วยความช่วยเหลือของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เพื่อปฏิบัติการมวลชนต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็นนั้น

ได้ถูกปรับขยายและเพิ่มอำนาจโดยคณะรัฐประหาร และ คสช. ให้เป็นหน่วยงานของกองทัพเข้าไปกำกับแทบจะทุกมิติชีวิตของพลเรือน ตั้งแต่การเมืองลงไปถึงในด้านความเป็นอยู่ ถึงขั้นมีเสียงสัพยอกว่า “กอ.รมน.เป็นพ่อของทุกองค์กร”

บัดนี้เป็นที่ยืนยันโดยโฆษก กอ.รมน.เองว่าจะรับช่วงงานด้านความมั่นคงของ คสช.เอาไปทำต่อทั้งหมด มิใยใช้วาทกรรมอ้างว่า “เข้าไปขับเคลื่อนดูแลแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบ และลดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน”

แต่ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมาได้รู้เช่นเห็นชาติกันว่า ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไม่ได้ลดลงดังอ้าง บ่อยครั้งการกระทำของ คสช.กลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้สังคมเสียด้วย งานของ กอ.รมน.ที่รับช่วงมาจาก คสช. ไม่ต่างไปจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จคุมประพฤติประชาชนให้อยู่ในกรอบรัฐประหารเท่านั้น
 
ความเดือดร้อนอย่างหนึ่งซึ่งชาวบ้านยากจนโดนคุกคามในชีวิตความเป็นอยู่การทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็คือนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ล่าสุดชาวบ้านซับหวาย จังหวัดชัยภูมิ ๑๔ ราย เป็นหญิง ๙ ชาย ๕ ถูกศาลจังหวัดตัดสินจำคุกและปรับ บางคนโดนคุกถึง ๔ ปี

มูลนิธิมานุษยะและเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานร่วมกันรณรงค์เรียกร้อง โดยการสนับสนุนของพรรคอนาคตใหม่ ให้ทางการยุติดำเนินคดีกับชาวบ้านยากจนเหล่านั้น พร้อมทั้งยับยั้งการขับไล่ไสส่งชาวบ้านออกจากพื้นที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ และยกเลิกการบังคับใช้คำสั่ง คสช. ที่๖๔/๒๕๕๗ และ ๖๖/๒๕๕๗

ทั้งนี้ในเมื่อข้อเท็จปรากฏว่าชาวบ้านเหล่านั้นอาศัยพื้นที่ป่าทำมาหากินกันตามมีตามเกิด ตั้งแต่ก่อนมีการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติไทรทองเมื่อปี ๒๕๕๗ แล้ว ชาวบ้านที่ถูกทางการดำเนินคดีฐานบุกรุกรายหนึ่งเล่าว่า

“เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้เข้ามาที่บ้าน และให้ครอบครัวของเราเซ็นเอกสารให้ที่ดินทั้งหมดแก่พวกเขา” นางสาวนริสรา ม่วงกลาง ซึ่งศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาพร้อมกับกลุ่มผู้ต้องหาอีก ๗ คน ก่อนวันที่ ๓ กรกฎาคมนี้ เผยด้วยว่า

“พวกเขาบอกกับครอบครัวของเราว่าหากไม่เซ็นเอกสารจะไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรต่อไป และจะต้องชำระค่าเสียหายให้กับศาล แต่ตอนนี้พวกเขากําลังใช้เอกสารเหล่านี้เพื่อเป็นหลักฐานให้เราทุกคนติดคุก”

เพื่อนชาวบ้านที่ต้องคดีเดียวกันอีก ๖ คนนั้นถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินเพิ่มโทษทั้งจำและปรับกันไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ ๑๕ พ.ค. ๔ มิถุนา ๕ มิถุนา ๑๒ มิถุนา และ ๑๘ มิถุนา ๒๕๖๒ โทษหนักเบาต่างกันตั้งแต่จำคุก ๕ เดือนไปถึง ๔ ปี และปรับแสนห้าไปถึงกว่า ๔ แสน

นอกนั้นชาวบ้านที่ถูกศาลสั่งจำคุกหลายคนเป็นผู้สูงอายุ วัย ๖๐ ปีถึง ๗๑ ปี ซึ่งผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินชี้ว่าเป็น “การใช้กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ปาไม้และอุทยานแห่งชาติอย่างไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน”

และ “นี่ถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนจนในการใช้ประโยชน์จากที่ดินและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาเพือความเป็นอยู่ของพวกเขาเอง” ทั้งๆ ที่ “พวกเขาเป็นผู้ดูแลป่าไม่ได้ทําลายป่า” เอมิลี่ ประดิจิต ผู้ก่อตั้งและผู้อํานวยการมูลนิธิมานุษยะ กล่าว


แล้วลองเทียบเคียงกับสิ่งที่ คสช.ประเคนให้กับพวกเจ้าสัวสิ บทความของ ดร.โสภณ พรโชคชัย เมื่อปลายปีที่แล้วจากข่าว “ซีพีกว้านที่นา ๒ อำเภอ ขึ้นเมืองใหม่แปดริ้ว (http//bit.ly/2wRI5ml) ดร.โสภณวิจารณ์ว่า

“ถ้าคิดให้ดี จะมีความต้องการเมืองใหม่หรือ ตามแผนคร่าวๆ ในอีอีซี ระบุว่าจะมีเมืองใหม่ฉะเชิงเทรา พัทยา และระยอง ซึ่งเมืองใหม่ฉะเชิงเทราก็กำลังจะได้รับการปั้นโดยกลุ่มเจ้าสัว ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือในเมืองใหม่เหล่านี้ต่อไปมหาอำนาจทั้งหลายโดยเฉพาะจีน จะสามารถมาซื้อได้ทั้ง ๑๐๐ภาษีก็ไม่ต้องเสีย”
 
มาถึงเมื่อต้นปีนี้โครงการเมืองใหม่ของซีพีที่เรียกว่า สม้าร์ทซิตี้กลายเป็นปัจจัยในการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ จากที่ดินพื้นที่เกษตรกรรมและเรือกสวนไร่นา ในเขตอำเภอบางคล้าและบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทราไปเสียฉิบ

 
แล้วอย่างนี้ควรอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนการรณรงค์ของ ไอลอว์ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ๓๕ ฉบับ ซึ่งขณะนี้ “ยกที่หนึ่ง เอาป้ายกับกล่องมาถ่ายภาพที่สภาฯ​ ได้สำเร็จ” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทวี้ตแจ้ง “ยกที่สองและสาม มีนัดกัน ๒๓-๒๔ นี้นะครับ https://ilaw.or.th/node/5295 

จุดประสงค์เป็นการนำรายชื่อผู้สนับสนุน ๑๓,๔๐๙ ราย ยื่นต่อสภาผู้แทนฯ ดำเนินการในทางนิติบัญญัติตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถมีสิทธิมีเสียงด้วยได้ต่อไป