นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนมพรรคภูมิใจไทย
รองประธานคนที่สองแจ้งว่าตนเป็นผู้กลั่นกรองญัตติ เห็นว่าการสรรหา สว.เป็นอำนาจของ
คสช. สภาไม่สามารถตรวจสอบได้ “เพราะหน้าที่ของสภาฯ
คือการตรวจสอบกระบวนการทำงานของรัฐบาล แต่ คสช.ไม่ใช่รัฐบาล”
สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคามพรรคเพื่อไทย
อภิปรายดุ เรียก สว.ชุดตู่ตั้งนี้ว่า ‘ลูกไม่มีพ่อ’
(ถ้าเป็นสภาฝรั่งคงเรียกว่า ‘bastard’)
เพราะป่านนี้ยังไม่รู้ที่มา “ชาวบ้านเขาสงสัยที่ไปที่มา มันสะเทือนใจ
เขาเลือกผู้แทนแทบเป็นแทบตาย...มาได้ยังไง ๒๕๐”
นายสุทินยันว่าถ้ายังไม่ยอมรับญัตติจะต้องแจ้งความดำเนินคดี
ตามความผิดมาตรา ๑๕๗ ‘ละเว้นปฏิบัติหน้าที่’
“วันก่อนประธานสรรหาออกมาบอกไม่มีการตรวจสอบ สว.ที่ถือหุ้นสื่อ
เพราะไม่ได้มีกรรมการสรรหา...พอวันนี้บอกอีกว่า คสช.ตรวจสอบไม่ได้” อีกละ
พอรุ่งขึ้น (๒๗ มิ.ย.) ๗ พรรคร่วมฝ่ายค้านออกแถลงข่าวทันใจ
ให้รู้ว่าคำอภิปรายไม่ใช่ขู่ ประกาศแจ้งความดำเนินคดีต่อนายชวน หลีกภัย
ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ปิยบุตร แสงกนกกุล
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ให้รายละเอียดว่า พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติเรื่องที่มา
สว.นี้ไปแล้วถึง ๓ ญัตติ กลับถูกรองประธานคนที่ ๒
ยับยั้งไว้ไม่ยอมบรรจุเข้าวาระการประชุม อ้างว่า ส.ส.ไม่มีอำนาจ
จะเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการก็ไม่ได้
“สภาผู้แทนฯ
เป็นองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งเพียงองค์กรเดียว
เราจำเป็นต้องใช้อำนาจที่ได้รับมาจากประชาชนในการทำงานตรวจสอบต่างๆ
ตามที่ประชาชนสงสัย”
การที่รองประธานสภาฯ บอกว่า
คสช.มีอำนาจสูงสุดเป็นรัฏฐาธิปัตย์ “ความเห็นแบบนี้เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย”
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านพรรคเพื่อไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า
การใช้อำนาจตัดสิทธิการยื่นญัตติเช่นนั้น “เป็นเจตนาที่จะละเมิดรัฐธรรมนูญ” ผิดข้อบังคับ
ในเมื่อผ่านไป ๘ วันแล้วยังไม่มีการแจ้งตอบต่อผู้ยื่น
ทั้งที่ระเบียบกำหนดให้แจ้งภายใน ๕ วัน
หมอชลน่านระบุว่าเป็นความผิดที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ
ในวันที่ ๑ ก.ค.นี้กลุ่มพรรคฝ่ายค้านจะยื่นคำร้องให้
ปปช.ดำเนินการทั้งประธานและรองประธานคนที่ ๒
และจะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เอาผิดตามมาตรา ๑๕๗ ต่อไป
(https://www.facebook.com/ThePublicmedia/photos/a.445215862890477/494613237950739/?type=3&theater
และ https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2655417)
อย่างไรก็ดีมีข้อน่าสังเกตุว่า
นายศุภชัยอ้างการวินิจฉัยของเขาได้แจ้งต่อนายชวน หลีกภัย ทราบแล้ว
ในฐานะที่นายศุภชัยเป็น ส.ส.นครพนม เป็นท้องที่หนึ่งที่ในยุค
คสช.นี้มียาเสพติดทะลักจำนวนมาก ชนิดที่ ส.ส.ฝ่ายค้านผู้หนึ่งเปรียบเปรยว่าเป็น ‘สินค้าโอท็อป’ ของจังหวัด
อีกทั้งพรรคภูมิใจไทยที่เขาสังกัดได้เข้าร่วมรัฐบาลอย่างมีเลสนัย
“คือดีลที่ปฎิเสธไม่ได้ และสมประโยชน์กันทุกฝ่าย” (คำของ Thanapol Eawsakul)
เนื่องจากบริษัทซีโนไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล “ได้ประโยชน์เต็ม ๆ
จากการยืดการส่งมอบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับใด ๆ เลย”
รายงานข่าวไทยรัฐออนไลน์ แจงว่า “ผ่านมายาวนานกว่า
๖ ปี ยืดเวลาก่อสร้างมาแล้วถึง ๓ ครั้ง ‘สถานที่ประกอบแต่กรรมดี’ มูลค่ากว่าหมื่นล้านที่ประชาชนเฝ้ายลโฉมยังคงไม่แล้วเสร็จ บรรดา ส.ส. และ
ส.ว. จำต้องระหกระเหินทำงานที่ ‘ออฟฟิศชั่วคราว’ ค่าเช่าวันละ ๓ แสนบาท”
งานก่อสร้างรัฐสภามูลค่า ๑.๒ หมื่นล้านบาทแห่งนี้แต่เดิมกำหนดแล้วเสร็จใน
๙๐๐ วัน แต่ล่าช้ามากสภาเลยขยายเวลาให้เป็นทั้งสิ้น ๒,๓๘๒ วัน เพิ่งเสร็จไปราว ๖๔% ตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง
๑๘๔ วัน เสร็จไม่ทันแน่ ในเมื่อ ณ วันที่ ๑๔ มิ.ย. ได้งานน้อยกว่าเป้าถึง ๑๓.๖๒%
ไทยรัฐคำนวณให้โดยละเอียด บริษัทของตระกูลชาญวีรกูลผู้รับเหมาก่อสร้างควรต้องจ่ายค่าปรับวันละ
๑๒ ล้านบาท รวมทั้งหมด ๑.๘ หมื่นล้านบาท
แต่นี่สำนักงานรัฐสภาที่เพิ่งเปลี่ยนมือการกำกับจากนายพรเพชร พิชิตชลชัย (อดีต)
ประธาน สว. มาเป็นนายชวน หลีกภัย มาหมาดๆ
ยอมขยายเวลาง่ายๆ ๓ ครั้งแล้วไม่พอ
ทำท่าจะขยายต่อเป็นครั้งที่สี่ ทั้งที่ “สารพัดปัญหา (ฉาว) ไม่ได้มีแค่การก่อสร้างที่ยืดแล้วยืดอีก
แต่มีทั้งกรณีการใช้ไม้สัก ๕,๐๐๐ ต้น เพื่อประกอบการก่อสร้าง ลานจอดรถ
หรืออย่างระบบไอซีที
๘ พันล้าน ก็เกิดปัญหาเฉกเช่นเดียวกัน ราคาไมโครโฟนล่อไป ๑.๒ แสนบาท
นาฬิกาเรือนละ ๗ หมื่นบาท ทีวีเครื่องละ ๑.๗ แสนบาท
เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลกโซเชียล ซัดราคาแพงเว่อร์เกินราคาตลาดกว่าครึ่ง”
แล้วอย่างนี้ “จะให้สภาผู้แทนฯ”
ที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน “นั่งเฉยๆ หรือ” อย่างที่ปิยบุตรบอกไว้ในแถลงข่าว