สภาเปิดเต็มพิกัดแล้ว ให้สมาชิกอภิปรายกันอึกทึก
แต่ล้วนเป็นพรรคฝ่ายค้านทั้งนั้น พรรค ‘ว่าที่’
รัฐบาลประชารัฐโหรงเหรง กระทั่งพรรคร่วมฯ ยังทำเหนียม จนโดน ส.ส.เพื่อไทยเหน็บว่าพวกเขารอ
ม.๔๔ หมดก่อน
คสช.ยืนหยัดรัฐบาล ๑ ไม่ยอมไปต่อ ๒ (แพลมๆ
ว่าให้รอกลางกรกฎา) ช่วงนี้ยังคงกระตุกใบไม่ยั้ง มันมือรายการถลุงงบประมาณ
ไหนจะแจกบัตรสวัสดิการงวด ๓ ตามด้วยอัดงบฯ เพิ่มโครงการบ้านมั่นคงอีก ๖
พันกว่าล้าน
(ดูรายละเอียดที่ https://www.thairath.co.th/news/business/1599623 และ https://www.matichon.co.th/politics/news_1554302)
กระทู้ต่างๆ บานเบอะที่ฝ่ายค้านขออภิปรายไม่มีคนตอบ
อย่างเรื่อง “การก่อสร้างถนนสาย ๒๒๖ เรื่องมาตรการการแก้ปัญหาข้าราชการครู
และเรื่องการขุดลอกอ่างเก็บน้ำบ้านเกาะแก้ว” ทั้งสามกระทู้ของครูมานิตย์ สังข์พุ่ม
ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย
ซ้ำทั่นประธานฯ ชวน หลีกภัย แก้ตัวแทนรัฐมนตรีที่ขอเลื่อนตอบกระทู้
ครูมานิตย์ก็เลยต้องบ่น “ทั่นประธานฯ ครับ “ตั้งแต่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนฯ มา
ไม่เคยสับสนเท่ายุคนี้ที่ไม่รู้ว่าตอนนี้อยู่ในรัฐบาลไหน ใครเป็นนายกฯกันแน่”
ทั่นประธานฯ ก็อ้างสิทธิพิเศษ คสช.ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญมาตรา
๒๖๔ ต้องรอจนกว่าเขาจะมาเอง จน จาตุรนต์ ฉายแสง ตั้งข้อสังเกตุ “ความจริงคงไม่ได้ติดภารกิจสำคัญอะไรหรอก
ครม.ชุดนี้เขาไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภานี้ไว้ เขาไม่มีความรับผิดอะไรต่อสภานี้
เขาจึงไม่มา มาก็จะตอบคำถามยากๆ ไม่ได้”
ทว่า ‘เพื่อไทย’ บอกไม่รอละ “การประชุมสภาในสัปดาห์นี้
มีการบรรจุญัตติด่วนเรื่องปัญหาพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ...แม้จะยังไม่มีรัฐบาลใหม่และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ
แต่ความทุกข์ยากของพี่น้องเป็นเรื่องที่รอไม่ได้” (ตามแถลงการณ์ของพรรคจากโพสต์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ)
ส่วนพรรคอนาคตใหม่ไปก่อนแล้ว
รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมกับอีกสาม ส.ส.ประกาศ “เสนอญัตติด่วนขอตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้อำนาจ
คสช.” พาดพิงถึงหัวหน้า คสช.ว่ายังคงใช้อำนาจมาตรา ๔๔ ไม่หยุดหย่อน
เหตุนั้น “พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมีความประสงค์อยากตั้งกรรรมาธิการเพื่อวินิจฉัยผลกระทบดังกล่าว”
เอากันตั้งแต่รัฐประหาร มิถุนายน ๒๕๕๗ มาเลย
ว่ามีการข่มขู่คุกคามเกิดขึ้นต่อเนื่อง ยกตัวอย่างกรณี เอกชัย หงส์กังวาน และ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกทำร้ายร้างกาย
ส.ส.อนาคตใหม่อีกคน ปิยบุตร แสงกนกกุล
อภิปรายในวาระถึงเรื่องการตั้งงบประมาณให้เบี้ยประชุมผู้พิพากษา
ว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป ในการประชุมแต่ละครั้งของคณะผู้พิพากษา “ประธานได้
๑ หมื่นบาท องค์ประชุมได้ ๖-๘ พันลดหลั่นกันไป”
เขาอ้างว่าเมื่อต้นปี ๒๕๖๑ มีการประชุมวิปรัฐบาลในเรื่องนี้โดยให้เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณไปชี้แจง
สำนักงบฯ ไม่เห็นด้วยว่าเป็นการสิ้นเปลืองมากเกินไป อีกราว ๒๐๗ ล้านบาทต่อปี
ซ้ำซ้อนกับที่ผู้พิพากษาได้รับเงินเดือนสูงเป็นแสนๆ กันอยู่แล้ว
“ยิ่งกว่านั้นมันเกิดความไม่เสมอภาคกับส่วนราชการต่างๆ”
แม้กระทั่งตัวเลข ๑ หมื่นนี่เท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินเดือนของคนจำนวนมาก เช่น พนักงานบริษัทได้แค่เดือน
๑ หมื่นถึง ๒ หมื่นบาท ไม่นับว่าพวกผู้พิพากษามีเงินเดือน “แสนกว่าบาท
พร้อมสวัสดิการ พร้อมรถประจำตำแหน่ง เพียงพอแล้ว”
(https://twitter.com/prasitchai_k/status/1143798337071546368
และ https://www.facebook.com/FWPthailand/photos/a.1657824830959771/2294854383923476?_rdc=1&_rdr)
นอกจากนี้ปิยบุตรยังได้แถลงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของกลุ่ม
ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ๖๖ คน ที่ส่งผ่านประธานรัฐสภา กรณีมี ส.ส.พรรคต่างๆ ๔๑
คนถือหุ้นสื่อ ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐๑(๖) ประกอบมาตรา ๙๘(๓) หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา ๓๒ ราย และปล่อย ๙
ราย มีคนเด่นๆ ที่รอด เช่น กรณ์ จาติกวนิช และ ปารีณา ไกรคุปต์ ด้วยเหตุว่าในหนังสือบริคณห์สนธิ
(แบบ บอจ.) ระบุเป็นการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียน ไม่เข้าข่าย ‘สื่อ’ โดย ๓๒
รายที่ศาลรับพิจารณาไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เหมือนกรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ปิยบุตรชี้ให้เห็นถึงประกาศข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
มี ‘อนึ่ง’ วรรคสุดท้ายพาดพิงถึงความต่างกับคดีของธนาธรว่า
ที่ไม่สั่งพักงาน ๓๒ ส.ส.เพราะในคำร้องไม่ได้มีแบบ สสช.๑ และแบบนำส่งงบการเงินของบริษัทแนบไปด้วย
จึงยังไม่อาจชี้ชัดว่าผู้ถูกร้องผิดจริง
แต่กับคดีของธนาธร ได้ผ่านการไต่สวนของ
กกต.แล้ว พร้อมด้วยแบบแสดงกิจกรรมการเงิน ทำให้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
ปิยบุตรชี้อีกว่านี่เป็นมาตรฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญ (เพิ่ง) กำหนด (โดยปริยาย)
ว่าการยื่นร้องเรียนเรื่องนี้ต้องผ่าน กกต.ก่อน
อันต่างจากมาตรฐานที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ใช้ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของสองผู้สมัครก่อนหน้านี้
(คดี ภูเบศวร์ เห็นหลอด และ คมสัน ศรีวนิช) ซึ่งพิพากษาจากเจตนาหรือวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ