ขบวนการต่อต้านชนชั้นล่าง : วีรพงษ์ รามางกูร
27 มิถุนายน 2562
วีรพงษ์ รามางกูร
มติชนออนไลน์
ขบวนการต่อต้านและสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งเชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองของผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 10 ปี เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนการแบ่งชนชั้นในสังคมไทย ที่สังคมไทยไม่อาจก้าวข้ามได้สักที เพราะใช้ทักษิณ ชินวัตร เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นล่าง ตรงกันข้ามกับชนชั้นบน
หลายคนพยายามบอกว่าการแบ่งชนชั้นในสังคมไทยในสมัยนี้ไม่มี แต่ในความเป็นจริงการแบ่งชนชั้นในสังคมไทยนั้นปรากฏออกมาอย่างชัดเจนในขบวนการการเมืองของประเทศไทย บางครั้งก็แสดงออกมาอย่างล่อนจ้อนในการปราศรัย ในการจัดตั้งขบวนการ “มวลมหาประชาชน” เพื่อต่อต้านบดขยี้ขบวนการทักษิณ ซึ่งมีหรือไม่มีก็ไม่ชัดเจน แต่เป็นวาทกรรมของตัวแทนของชนชั้นปกครอง ที่ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการทุนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั้งจากในกรุงเทพฯ ในภาคใต้ ในเขตเทศบาลของเมืองใหญ่ที่ประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีเชื้อสายจีนทั่วประเทศ
ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นนายทุนขนาดใหญ่และขนาดกลางเหล่านี้ มีความรู้สึกทางชนชั้นหรือ class consciousness สูงมาก มีความรู้สึกดูถูกเหยียดหยามชนชั้นกรรมกร ชาวนาและชาวประมง ในภาคอีสานเวลาพูดคุยกันเองเรียกพวกเดียวกับตนเป็นภาษาแต้จิ๋วว่าตนเป็น “ตึ่งนังเกี้ย” หรือ “ลูกจีน” เรียกกรรมกร ชาวนาหรือลูกจ้างตนเองว่า “เหลาเกี้ย” หรือ “ลูกลาว” ซึ่งเป็นคำดูถูก จะภูมิอกภูมิใจมากถ้าได้ลูกเขยหรือลูกสะใภ้ที่มีนามสกุลเก่าแก่ของขุนนาง หรือนามสกุลที่ใช้บรรดาศักดิ์ เช่นบริรักษ์บุรีภัณท์ หรือปราณีพุทธบริษัท หรือประจญปัจจานึกพินาศ เป็นต้น แต่ไม่ค่อยสบายใจถ้าได้เขยหรือสะใภ้ที่นามไทยแท้หรือนามสกุลท้องถิ่นในภูมิภาค เช่น คำสุก บ้านก้อง คำเล็ก หรือทองใส เป็นต้น
หรือถ้าจะได้เขยหรือสะใภ้ที่นามสกุลสั้นๆ เชยๆ แล้วถ้ามียศตำรวจทหารนำหน้าชดเชยก็จะพอใจ นอกจากนั้นสถานะการศึกษา ซึ่งขณะนี้เกือบร้อยละ 95 ก็จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอกชน ที่สอบเข้าเป็นข้าราชการได้ก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนหรือตึ่งนังเกี้ยทั้งนั้น คนพื้นเมือง อีสาน กลาง เหนือ ใต้ มีเหมือนกันแต่น้อยกว่า คนไทยเชื้อสายจีนก็ไม่นิยมใช้แซ่อีกต่อไป
แต่นิยมเปลี่ยนเป็นนามสกุลเป็นภาษาสันสกฤตยาวๆ 4-5 พยางค์
กิจการธุรกิจ การค้า การเงิน การธนาคาร การนำเข้าส่งออก การค้าปลีก ค้าส่ง การขนส่ง ฯลฯ ล้วนอยู่ในมือของคนไทยเชื้อสายจีนทั้งสิ้น แต่เนื่องจากลูกหลานจีนในเมืองไทยมักจะเกิดจากมารดาเชื้อสายไทยหรือคนพื้นเมือง ส่วนลูกสาวจีนก็นิยมแต่งงานกับข้าราชการไทย ผสมปนเปกันไปจนกลายเป็นคนไทยในรุ่นที่ 3 แม้จะฟังภาษาแต้จิ๋วออกแต่ก็พูดไม่ได้หรือพูดได้ก็ไม่ชัด คนญวนหรือเวียดนามใน 6-7 จังหวัดทางภาคอีสาน อันได้แก่ หนองคาย อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร สกลนคร อำนาจเจริญและอุบลราชธานี ก็มีลักษณะเดียวกันคือพยายามให้ตัวเองถูกกลืนเข้าไปในสังคมท้องถิ่น
ไม่เหมือนลูกหลานจีนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งครั้งหนึ่งมีนโยบายกีดกั้นคนจีนและลูกหลานจีน จีนจึงยังคงเป็นจีนอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถกลืนลูกหลานจีนเข้าไปอยู่ในสังคมนั้นได้
อย่างไรก็ตาม บรรดานายทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีนเก่าจีนใหม่ ญวนเก่าญวนใหม่ ต่างก็ถือตัวว่าเป็นชนชั้นนายทุนและพยายามเปลี่ยนฐานะของตนเป็นชนชั้นปกครองผ่านทางการศึกษาและระบบราชการ หรือเปลี่ยนจากแซ่เป็นนามสกุล โดยเป็นภาษาบาลีสันสกฤตแต่ยาวหลายพยางค์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
สําหรับชนชั้นกรรมกรชาวนาก็มีค่านิยมที่จะเปลี่ยนฐานะของรุ่นลูกรุ่นหลาน ให้สามารถเปลี่ยนจากการสังกัดชนชั้นกรรมการชาวนาผ่านทางการศึกษา ให้เป็นไปตามคำอวยพรที่นิยมกล่าวกันว่า “ขอให้เป็นเจ้าคนนายคน” ซึ่งก็หมายถึงเปลี่ยนฐานะชนชั้น แต่ก็ทำได้ยากลำบากเพราะการเข้าถึงระบบการศึกษาของรัฐ ต้องมีพื้นฐานการศึกษา จากชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งก็เสียเปรียบลูกหลานของคนในเมืองอยู่แล้ว ยิ่งถ้าสามารถสอบได้เข้าเรียนสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ในภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา แม้จะทำได้ก็ต้องมีความสามารถพิเศษและน้อยคนจะทำได้ จะทำได้ก็เพียงสามารถสอบเข้าในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเดิมเป็นวิทยาลัยครู แต่ก็ยังดีกว่าเมื่อก่อนที่เข้าศึกษาได้แต่วิชาชีพครูเท่านั้น วิชาอื่นไม่มีการเรียนการสอน
ขบวนการต่อสู้ดิ้นรนระหว่างชนชั้นผู้ปกครองและนายทุนใหญ่และนายทุนขนาดกลางในต่างจังหวัดกับชนชั้นถูกปกครอง อันได้แก่ เหลาเกี้ย กรรมกร ชาวนา ถูกสะท้อนให้เห็นในขบวนการการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนความเป็นตัวแทนของชนชั้นปกครองของคนในเมืองกรุงเทพฯและภาคใต้ เพราะประชาชนภาคใต้ส่วนใหญ่มีฐานะดี แม้บางครั้งจะแพ้เลือกตั้งในกรุงเทพฯและภาคใต้บ้างบางโอกาส แต่ในระยะยาวก็จะชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าว ด้วยเหตุผลทางชนชั้นสังคมและเป็นพันธมิตรกับทหาร ซึ่งมีบทบาททางการเมืองสูงและสังกัดชนชั้นสูงสำหรับประเทศไทย
เนื่องจากจำนวนประชากรที่สังกัดชนชั้นนี้มีน้อยกว่าชนชั้นล่าง พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เคยชนะการเลือกตั้งเลย ไม่ใช่เฉพาะเดี๋ยวนี้แต่เป็นมาตลอด ตั้งแต่ต่อสู้กับพรรคทหารอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนกลายมาเป็นพรรคที่เป็นพันธมิตรกับทหาร ต่อสู้กับพรรคที่ได้รับความนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่นพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งเลย น่าจะเป็นเพราะมีภาพเป็นตัวแทนของชนชั้นสูงในเมือง จึงทำให้พรรคกลายเป็นพรรคการเมืองของภูมิภาค หรือเมื่อเป็นรัฐบาลหรือเข้าร่วมรัฐบาลก็ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน สนใจแต่ประดิษฐ์วาทกรรมแปลกๆ เอาไว้อภิปรายปราศรัยทำลายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเรื่อยมาตั้งแต่สมัยนายควง อภัยวงศ์ สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายชวน หลีกภัย มาถึงยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ต่างก็ลอกแบบกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เล่นงานพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อยมา
ประชาธิปัตย์จึงกลายเป็นพรรคพันธมิตรของฝ่ายเผด็จการทหารในการต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพของนายปรีดี พนมยงค์ คอยสนับสนุนจอมพลผิน ชุณหะวัณ ในการทำรัฐประหารให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับคืนสู่อำนาจ แต่จอมพล ป. เกรงว่าประเทศฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 จะไม่ยอมรับ จึงขอให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีขัดจังหวะ อยู่คั่นเวลาให้กับคณะทหารที่ทำปฏิวัติก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะกลับมาจากการไปเลี้ยงไก่อยู่ที่อำเภอลำลูกกา
นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ยอมเป็นนายกรัฐมนตรีให้คณะปฏิวัติในเดือนมกราคม 2490 และถูกจอมพล ป. จี้ออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายนในปีเดียวกัน
ประวัติของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นพรรคพันธมิตรของฝ่ายเผด็จการทหารและต่อต้านฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยตลอด
ที่อยู่มาได้ดี ไม่เคยถูกยุบพรรคเหมือนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ ก็เพราะเป็นฝ่ายสนับสนุนเผด็จการทหารมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะยุคไหนก็ไม่เคยชนะการเลือกตั้งเลยเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยพูดดูถูกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นายควง อภัยวงศ์ อย่างเปิดเผยว่าเป็น “จำอวดการเมือง” ทั้งๆ ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรมาด้วยกัน
ส่วนพรรคที่หาเสียงและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งแปลมาจากคำภาษาฝรั่งว่า grass root เพราะเป็นรากฝอยเล็กๆ
ขึ้นทั่วไป แต่เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหาร ดัดจริตเรียกเสียใหม่เป็น “ฐานราก” ซึ่งไม่รู้แปลว่าอะไร รังเกียจที่จะใช้คำเดิมเพียงเพราะว่าพรรคไทยรักไทยใช้คำนี้ ซึ่งแปลกลับไปเป็นภาษาฝรั่งว่า “root base” ฝรั่งฟังแล้วก็คงจะงง ไม่รู้หมายถึงใครหรืออะไรที่ไหน
ประชาชนระดับรากหญ้าหรือ grass root น่าจะหมายถึงคนที่สังกัดชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นกรรมการ ชาวนา พ่อค้าแม่ขายขนาดเล็กที่ได้รับการดูถูกดูหมิ่นจากชนชั้นสูงว่าโง่เขลา ถึงกับกล่าวว่าชนชั้นนี้ไม่ควรมีสิทธิมีเสียงทางการเมือง ไม่เคยเสียภาษี ชนชั้นตนเท่านั้นที่เป็นผู้เสียภาษี ทั้งๆ ที่ภาษีที่วงศ์ตระกูลของตนเสียคือภาษีสรรพสามิตกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีทางอ้อม ตนผลักภาระภาษีให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่ถูกมอมเมาด้วยเหล้าและเบียร์ที่ครอบครัวของตนผลิตนั้นเอง
เราจึงไม่ควรแปลกใจว่าการพัฒนาประชาธิปไตยที่มั่นคง การพัฒนาพรรคการเมืองให้มั่นคงแข็งแรง จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จะถูกขัดขวางจากชนชั้นนี้ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทน มีกองทัพเป็นพันธมิตร แต่มักจะท่องบ่นอยู่เสมอว่าตน “เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” แม้ในความเป็นจริงแล้ว
พวกตนสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารมาโดยตลอด