วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 20, 2562

บีบีซี ไทย วิเคราะห์ : ประยุทธ์ ส่อทิ้ง “เปรมโมเดล” ยึด “สฤษดิ์สไตล์”



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI


ประยุทธ์ ส่อทิ้ง “เปรมโมเดล” ยึด “สฤษดิ์สไตล์”


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
18 มิถุนายน 2019


การหวนคืนเก้าอี้ "นายกฯ คนที่ 29 สมัย 2" ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เขามีสังกัดทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่อาจอยู่ในสถานะ "นายกฯ รับเชิญ" แบบ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ คนที่ 16 ที่เพิ่งล่วงลับไป ตรงกันข้ามเขาเริ่มนำ "สฤษดิ์สไตล์" หรือใช้ความเด็ดขาดในการจัดการปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาใช้เพื่อยุติความ "อัปลักษณ์ทางการเมือง" ที่เกิดขึ้นจากการเปิดศึกชิงเก้าอี้รัฐมนตรี "ประยุทธ์ 2/1"

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำคณะรัฐประหารคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ยึดอำนาจแล้วเลือกรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง โดยดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 4 ปี 10 เดือน ภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

เขายังเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ขอ "ยืดอายุขัยทางการเมือง-ขยายอำนาจตัวเองต่อไป" ทั้งที่ประกาศ "คืนประชาธิปไตยให้ประเทศ" ด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562

นอกจากยึดเก้าอี้ "นายกฯ คนที่ 29 สมัย 2" ยังปรากฏข่าวตามหน้าสื่อมวลชนหลายสำนักว่า "ผู้ใหญ่คนหนึ่ง" ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ พปชร. เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ว่าจะมีการเปลี่ยนตัว "ผู้นำพรรค" จาก อุตตม สาวนายน เป็น พล.อ. ประยุทธ์ ในเดือน ก.ค. นี้


วิบากกรรม "เผด็จการประชาธิปไตย" เมื่อ ประยุทธ์ ไร้ ม. 44
พลังประชารัฐ ไม่ใช่พรรคแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกมองว่าเป็น "พรรคร่างทรงทหาร"
ย้อนอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารกับจุดจบ


หากเสียงลือเสียงเล่าอ้างนี้เป็นจริง นั่นเท่ากับว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะเข้าสู่การเป็น "นักการเมืองเต็มรูป" ทิ้ง "เปรมโมเดล" หรือการบริหารประเทศแบบ "นายกฯ รับเชิญ" อย่าง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่ครองอำนาจได้ถึง 8 ปีเพราะลักษณะพิเศษสำคัญ นั่นคือ มีฐานอำนาจมาจากกองทัพและสถาบัน ทำหน้าที่ประสานผลประโยชน์ระหว่างสถาบัน-กองทัพ-ภาคธุรกิจ และมีภาพลักษณ์ "ผู้นำแบบรัฐราชการ"

ขณะเดียวกัน "บทบาทใหม่" ของ พล.อ. ประยุทธ์ ยังชี้ชวนให้เห็นถึง "สถานะใหม่" ของ พปชร. จากเดิมนักรัฐศาสตร์และผู้สังเกตการณ์การเมืองเคยวิเคราะห์ว่า พปชร. จะเป็น "พรรคเฉพาะกิจ" ที่ลงสนามเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว มีภารกิจเดียวคือ "ส่ง พล.อ. ประยุทธ์ กลับเข้าทำเนียบฯ" แต่การณ์อาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ถือเป็น "ศูนย์กลางในการบริหารราชการแผ่นดิน"


บีบีซีไทยวิเคราะห์ "กลการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม" กับ "เกมอำนาจใหม่ของ พล.อ. ประยุทธ์" ที่ผลักให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องตัดสินใจขึ้นสู่การเป็นหัวหน้า พปชร. คนใหม่

พปชร. หวังยืมอำนาจ "เผด็จการประชาธิปไตย" สยบศึกใน-นอก

สถานะหัวหน้า คสช. ของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ผ่าน "ดาบอาญาสิทธิ์" อย่างมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำลังจะสิ้นสุดลงเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ จึงไม่แปลกหาก "นายกฯ 500 เสียง" จะคิดถึงการสร้างขุมข่ายอำนาจใหม่เมื่อต้องหวนกลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิมด้วยอำนาจที่ไม่เหมือนเดิม และจำต้องมีระยะห่างกับกองทัพมากขึ้น


500 ต่อ 244 งดออกเสียง 3 มติรัฐสภาหนุน พล.อ. ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ต่อ
ประท้วงฮ่องกง : เหตุใดเยาวชนรุ่นใหม่จึงกล้าลุกขึ้นงัดข้อกับทางการ


พปชร. ซึ่งมี 116 เสียงในสภา และเป็น "ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ" ของ พล.อ. ประยุทธ์ ด้วยการส่งชื่อเขาชิงเก้าอี้นายกฯ คล้ายเป็น "เครื่องมือทางการเมือง" ที่ดีที่สุดที่เขาจะหยิบฉวยมาใช้งานได้หากพิจารณาบนเงื่อนไขที่ว่า "ต่างฝ่ายต่างจำเป็นต้องใช้ซึ่งกันและกัน"

แม้ พล.อ. ประยุทธ์ มี "พรรค ส.ว." 250 คน เป็นฐานสนับสนุน 1 ใน 3 ของรัฐสภา แต่ไม่ใช่ทุกพิธีกรรมที่จะกระทำกันในนาม 2 สภา "ผู้มีบารมีนอกพรรค" จึงจำเป็นต้องมีตำแหน่งแห่งที่ใน พปชร. เพื่อให้การควบคุม-สั่งการเป็นไปอย่างชัดเจนและมีเอกภาพ และใช้สภาสร้าง "ฐานอำนาจใหม่" ให้แก่เขา



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพโฉมหน้าพรรคฝ่ายค้านในสภา ระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกฯ เมื่อ 5 มิ.ย. 2562


ขณะที่ พปชร. ซึ่งรวบรวมเอาสารพัดคนการเมืองจากกลุ่มต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ต้องการ "ผู้นำเด็ดขาด" ที่สามารถ "หย่าศึกใน" และ "สยบศึกนอก" ได้เวลาเกิดข้อพิพาททางการเมือง สะท้อนผ่านการเปิดฉากช่วงชิงเก้าอี้รัฐมนตรีในช่วงจัดโผ ครม. "ประยุทธ์ 2/1" ของ 19 พรรคร่วมรัฐบาล ที่ผู้บริหาร พปชร. ชุดปัจจุบัน อยู่ในสภาพ "เอาไม่อยู่" เนื่องจาก "ชั้นเชิง-บารมีไม่ถึง" ทำให้นักเลือกตั้งทั้งในพรรคแกนนำและแกนตามปล่อยข่าวต่อรอง-จองเก้าอี้ผ่านสื่อมวลชนไม่เว้นแต่ละวัน ชนิดไม่เกรงใจประชาชน


ศึกชิงเสียงตั้งรัฐบาล ยึด "ที่นั่งในสภา" หรือ "คะแนนมหาชน" ?
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แสดงวิสัยทัศน์นอกสภา "ผมจะเป็นนายกฯ แห่งความเปลี่ยนแปลง"
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงลาออกจากการเป็น ส.ส.


สุดท้ายก็เป็น อุตตม ที่ออกมายอมรับว่า ทุกดีล-ทุกโผ จะถูกส่งต่อให้ นายกฯ คนที่ 29 "เคาะขั้นสุดท้าย"

ล่าสุดเช้าวันนี้ (18 มิ.ย.) พล.อ. ประยุทธ์ บอกว่า "ขอให้เชื่อมั่นในตัวนายกฯ ก็แล้วกัน นายกฯ เป็นหัวหน้า ครม." และยอมรับว่าได้คุยกับ ส.ส. อีสานและใต้ของ พปชร. ที่ออกมาเขย่าพรรค-ขอโควต้ารัฐมนตรีบ้าง "คุยกันแล้ว บ้านเมืองมาก่อนเสมอ"





ย้อน "สฤษดิ์สไตล์" ใช้สภาเป็นฐานการเมือง อัดเทปเสียงสั่ง ส.ส. หนุนรัฐบาล

สภาพการณ์คล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุค "ต้นแบบเผด็จการ" อย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อผู้นำทหารต้องการ "ควบคุมรัฐสภาโดยสะดวก" ทำให้ 6 วันหลังการเลือกตั้ง 15 ธ.ค. 2500 ได้เกิด "พรรคชาติสังคม" ขึ้น มีจอมพลสฤษดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค และคนใกล้ชิดเป็นผู้บริหารพรรคอย่างพร้อมเพรียง วัตถุประสงค์สำคัญของ "พรรคเกิดใหม่" คือการกวาดต้อน-ยักย้ายเสียงในสภามาไว้ที่พรรคตัวเอง ในจำนวนนี้มีพรรคสหภูมิ ที่ สุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นหัวหน้าพรรค ก่อนผันตัวมาเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติสังคม, ส.ส. อิสระ รวมถึงอดีต ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลาที่เคยถูกพรรคสหภูมิปฏิเสธจะรับเข้าเป็นสมาชิก ร่วมด้วย


BETTMANN/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขวา) ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ และนายโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ หรือ "อาร์เอฟเค" รัฐมนตรียุติธรรม และน้องชายของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เมื่อครั้งเยือนประเทศไทย


หนังสือ "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เล่าถึง 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นว่า 36 ส.ส. พรรคสหภูมิได้ "ประท้วงและแจ้งข้อรังเกียจ" ต่อจอมพลสฤษดิ์ กรณีดึงอดีต ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลา มาร่วมรัฐบาล และเกิด "วิกฤตการเป็นนายกฯ" หลัง พจน์ สารสิน ปฏิเสธรับตำแหน่งนายกฯ สืบไป ซึ่งคาดการณ์กันว่าเพราะ "ไม่อยากเป็นหุ่นเชิดให้กับกลุ่มทหาร" โดยที่เวลานั้น จอมพลสฤษดิ์พักรักษาตัวอยู่ที่บางแสน จ.ชลบุรี

"การแก้ปัญหาเพียงประการเดียวดูเหมือนจะเป็นการจำยอมให้จอมพลถนอม (กิตติขจร รองหัวหน้าพรรคชาติสังคม) ต้องขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อที่จะให้เหตุการณ์นี้สัมฤทธิ์ผล จอมพลสฤษดิ์จึงได้ส่งเทปบันทึกเสียงไปให้ที่ประชุมพรรคชาติสังคม ขอให้สมาชิกเลือกจอมพลถนอมเป็นนายกฯ" หนังสือการเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ฯ ระบุ

ทว่ารัฐบาลถนอมต้องเผชิญกับความยุ่งยากอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาในพรรค, ครม., สภา ทำให้จอมพลถนอมบ่น "อยากลาออก" อยู่เกือบตลอดเวลา

อีกคราวหนึ่งเมื่อเกิดปัญหาจากนโยบายขึ้นภาษีของรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ซึ่งรักษาตัวอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯ ต้องส่งสาสน์ถึง ส.ส. พรรคชาติสังคม "ขอร้องให้สนับสนุนรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง" แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด จอมพลสฤษดิ์ต้องทำรัฐประหารโดยความตกลง-ยินยอมของจอมพลถนอม เมื่อ 20 ต.ค. 2501





กลับมามองที่ผู้นำ "เผด็จการประชาธิปไตย" พบว่า เขาเคยทดลองใช้แนวทางของ "เผด็จการต้นแบบ" เป็นระยะ ๆ อย่างในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร. ส่งบทกลอนผ่าน "จดหมายน้อย" ไปแทนตัวเขาที่พลาดการขึ้นเวทีปราศรัย จ.นครราชสีมา เมื่อ 10 มี.ค. 2562 ปลุกคนไทย "อย่ายอมให้คนพาลมาผลาญชาติ" และตามด้วย "ปรากฏภาพ-ปรากฏเสียง" ผ่านคลิปวิดีโอที่เวทีปราศรัย จ.สุโขทัย เมื่อ 15 มี.ค. 2562 ขอโอกาสทำงานต่อ "อย่าลังเลใจ ขอให้คุณกล้าไปกับผม"

กล่าวโดยสรุปคือความสัมพันธ์ระหว่าง พปชร. กับ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นไปในลักษณะ "ต่างฝ่ายต่างใช้กัน" โดยพรรคใช้อำนาจ "เผด็จการประชาธิปไตย" จัดการการเมือง ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ใช้พรรค-สภาเป็น "ขุมข่ายอำนาจใหม่" ให้แก่ตัวเอง และถือเป็น "ปัจจัยภายใน" ที่อาจทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ตัดสินใจรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งต่างจาก "เปรมโมเดล" ที่ให้คนการเมือง "รบกันให้จบ" ก่อนมาส่งเทียบเชิญเขาเข้าไปเป็น "นายกฯ รับเชิญ"

ผลเลือกตั้งทำฝ่ายอนุรักษนิยมย้ายฐานจาก ปชป. สู่ พปชร.
เมื่อพิจารณาต่อที่ "ปัจจัยภายนอก" รัฐธรรมนูญฉบับ "ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" ตามที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร พปชร. เคยนิยามเอาไว้ มีเป้าหมายสำคัญคือการจำกัดเสียงข้างมากอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ทว่าในขณะที่จัดทำรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับพวก คงจินตนาการไปไม่ถึงว่าจะมี "พรรคฝ่ายก้าวหน้า" อย่างพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เกิดขึ้น


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตกเป็นผู้ต้องหาทั้งคดีอาญาจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่างกรรมต่างวาระ และยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจากปมถือหุ้นสื่อมวลชน


กระแสนิยมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้า อนค. และคะแนน 6.3 ล้านเสียงที่ อนค. ได้รับในการเลือกตั้ง น่าจะสร้างความกังวลใจในหมู่ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมไม่น้อย จึงไม่แปลกหากจะเกิดปฏิบัติการ "จำกัด-บ่อนเซาะ" พรรคอายุ 1 ขวบอย่างต่อเนื่อง แม้มูลเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาด-เผลอเรอของตัวแกนนำพรรคเองก็ตาม แต่อีกส่วนพวกเขาเชื่อว่าทุกคดีมี "ธง" และ "มูลเหตุจูงใจทางการเมือง"

ท่ามกลางกระแสโลกที่ไม่ยอมรับเผด็จการทหาร ทำให้กองทัพไม่อาจเป็นตัวชี้ขาดชัยชนะทางการเมืองเพียง "ขาเดียว" อีกต่อไป หรือถ้าทำก็จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อกองทัพเอง การมี "อีกขา" ในสภาจึงถือเป็นความจำเป็นที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่อาจมองข้าม

กล่าวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ถูกมองว่าเป็นพรรคของฝ่ายอนุรักษนิยม และใช้เวลากว่า 7 ทศวรรษในการ "สร้างฐานมวลชน-ปลูกฝังและเผยแพร่อุดมการณ์" ของพรรค แต่จุดยืนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. คนที่ 8 ที่ประกาศ "ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ" ของ พล.อ. ประยุทธ์ ในช่วงรณรงค์เลือกตั้ง รวมถึงการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่-ฝ่ายก้าวหน้าในพรรค ทำให้ผู้สนับสนุน ปชป. บางส่วนมองเห็นการ "กลายพันธุ์" เป็นผลให้พรรคการเมืองเก่าแก่ต้องเข้าสู่ยุค "ตกต่ำ" ตกที่นั่ง "พรรคครึ่งร้อย" ได้คะแนนมหาชนเพียง 3.9 ล้านเสียง หรือหายไปกว่า 7 ล้านเสียงหากเทียบกับการเลือกตั้งปี 2554


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI


ท่าทีที่ปร่าแปร่งของอดีตผู้นำพรรค ทำให้ ปชป. ไม่อยู่ในฐานะจะเป็น "ฐานที่มั่น" ของฝ่ายอนุรักษนิยมอีกต่อไป ในเวลาเดียวกัน พปชร. ได้เข้ามา "รับช่วง" ฐานมวลชนต่อด้วยการสร้าง-โดยสารกระแส "เลือกความสงบ" และกระแส "เลือกคนดีปกครองบ้านเมือง" จนได้รับคะแนนมหาชนสูงสุด 8.9 ล้านเสียง


ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : มองทะลุ "รัฐเรือแป๊ะ" สู่ "รัฐอากาศยาน"
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ลั่นเป็น "รัฐบาลของคนไทยทั้งประเทศ"


จากเคยถูกคาดหมายว่าจะเป็นเพียง "พรรคเฉพาะกิจ" จึงเริ่มมีการวางกลการเมืองใหม่-กำหนดให้ พปชร. เป็นฐานอำนาจใหม่ จึงไม่แปลกหาก พล.อ. ประยุทธ์ จะถูกเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่ผู้นำพรรคเต็มตัว แต่นั่นหมายถึงต้นทุนมหาศาลที่ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องแลก รวมถึงการถูกทดสอบบารมีว่าถ้า พล.อ. ประยุทธ์ ทุบโต๊ะแล้วลูกพรรคจะสงบความเคลื่อนไหวได้จริงหรือไม่

"หากพรรคโดนคดีอะไร ก็แน่นอนว่าผลร้ายต้องตกไปถึงหัวหน้าพรรคด้วย ดังนั้น ต้องคิดหาทางหนีทีไล่ พิจารณาข้อดีข้อเสียและรับผลนั้นด้วย" นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวเมื่อ 13 มิ.ย. ถึงกระแสข่าว พล.อ. ประยุทธ์ เตรียมผันตัวเป็นนักการเมืองเต็มรูป

ประยุทธ์ รับ ปรึกษาฝ่ายกฎหมายปมนั่งหัวหน้าพรรค

ถึงขณะนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่ให้คำตอบแก่สังคมแน่ชัดเจนว่าจะรับตำแหน่งเป็นหัวหน้า พปชร. หรือไม่ แต่ยอมรับว่า "ขณะนี้ได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายอยู่ ขอให้ใจเย็น ๆ ซึ่งจะพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร" ส่วนที่มีการมองว่าเป็นทหารไม่สันทัดงานการเมืองนั้น เขามองว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมด 5 ปี "เป็นงานการเมือง ไม่ใช่การทหาร เป็นการบริหารงานราชการแผ่นดิน"

กับข้อวิเคราะห์ว่าไม่มีมาตรา 44 แล้วจะอยู่ได้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ย้อนถามว่า "ทำไมจะอยู่ไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยความรัก ความสามัคคี เคารพกฎหมาย และต้องทำเพื่อชาติบ้านเมือง และไม่สามารถปิดกั้นใครได้ เพราะประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าตอบได้หรือไม่จะเป็น "นักการเมืองเฉพาะกิจ" หรือ "นักการเมืองอาชีพ"? เขากล่าวสวนว่า ไม่เห็นต่างกันตรงไหน ก็เป็น พล.อ. ประยุทธ์เหมือนเดิม แล้วแต่จะทำหน้าที่อย่างไร และให้โอกาสจนทำหน้าที่ได้แค่ไหนอย่างไร

หากในการมีชื่อปรากฏเป็น "แคนดิเดตนายกฯ" ในนาม พปชร. ของ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นสิ่งที่เขาไม่อาจปฏิเสธ การปรากฏชื่อเป็น "หัวหน้า พปชร." ก็อาจมีเหตุผลในทำนองเดียวกัน

ก่อนการเลือกตั้ง ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยวิเคราะห์กับบีบีซีไทยไว้ว่าคนที่เลือก พปชร. ด้วยเหตุผลเชิงอุดมการณ์ ก็จะเลือกเพียงเพราะ พล.อ. ประยุทธ์ แต่ไม่ใช่ตัว "มิสเตอร์ประยุทธ์" แต่เป็นเครือข่ายอำนาจและสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง พล.อ. ประยุทธ์ ที่ประชาชนมองเห็น นั่นคือเครือข่ายอำนาจและชนชั้นนำที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์อย่างแข็งขัน

"เมื่อมองไปที่ พล.อ. ประยุทธ์ เห็นอย่างอื่นด้วย" นักรัฐศาสตร์กล่าว

ย้อนโฉมหน้า "ผู้นำคณะรัฐประหาร" กับ "พรรคทหาร"