วันพุธ, มิถุนายน 19, 2562

เฮ่... เนติบริกร เจ้าเก่า "วิษณุ เครืองาม" มาเคลียร์ให้ "ประยุทธ์" หน่อย ปัญหาการตั้งคณะรัฐมนตรีไม่ได้ แบ่งเค้กไม่เสร็จ ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็น “นายกฯ ตุหรัดตุเหร่”



[ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีได้ ]

รัฐธรรมนูญพิสดารพันลึกได้กำหนดกลไกที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ คสช. ชนิดที่เรียกได้ว่า คนแบบ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเป็นได้ทุกอย่าง ครองอำนาจอย่างต่อเนื่องแบบไร้รอยตะเข็บ

ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ มีสองร่าง ได้แก่ หัวหน้า คสช. ซึ่งเกิดจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และนายกรัฐมนตรีซึ่งเกิดจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยามใดอยากมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็หันไปสวมร่างหัวหน้า คสช. เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยามใดอยากเข้าเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร นั่งหัวโต๊ะในการประชุมคณะรัฐมนตรี ก็หันไปสวมร่างนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามกฎหมายตามระบบปกติ

วันที่ 9 มิถุนายน 2562 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ 2560

นับแต่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีร่างใหม่ขึ้นมา

ณ ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ มีสองร่าง

ร่างแรก หัวหน้า คสช. ซึ่งร่างนี้จะดับสูญลงเมื่อมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265

ร่างที่สอง นายกรัฐมนตรี ตามกระบวนการได้มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 มาตรา 159 และมาตรา 172

ส่วนร่างเดิม คือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ครองไว้ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 นั้น ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562

พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถครองตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนเดิม และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้พร้อมๆ กัน

พระบรมราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ได้ทับแทนที่ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนหน้านั้นไปแล้ว

หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนั่งหัวโต๊ะในการประชุมคณะรัฐมนตรีได้ ก็ต้องตั้งคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จ และนำรายชื่อ ครม. ชุดใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง แล้วนำ ครม. ทั้งชุดไปถวายสัตย์ปฏิญาณ จึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้

ในขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จะไปนั่งหัวโต๊ะในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดที่มีนายวิษณุ เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายดอน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ฯลฯ อยู่เวลานี้ที่ครองอำนาจอยู่เพราะผลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ที่ให้เป็นต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่) ก็ไม่ได้อีก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของ ครม. ชุดนี้แล้ว จะเป็นรักษาการนายกฯ ก็ไม่ได้ เพราะ ตอนนี้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่เกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562

ณ เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีที่สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ได้เลย จะเป็นนายกฯ คนใหม่ได้ ก็ต้องตั้ง ครม. และถวายสัตย์ จะไปเป็นนายกฯ คนเก่า ตำแหน่งนี้ก็หายไปแล้ว

แต่ปรากฏว่าในสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่ และในสัปดาห์นี้ก็ยังเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีอีก และดูทีท่าว่าจะเข้าร่วม ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 (34th ASEAN Summit) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีกด้วย

การประชุมคณะรัฐมนตรีที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปนั่งหัวโต๊ะ มติ ครม. จากการประชุม ตลอดจนการลงนามของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในเอกสาร คำสั่งต่างๆ ย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ปราศจากอำนาจอย่างชัดแจ้ง

ปัญหาการตั้งคณะรัฐมนตรีไม่ได้ แบ่งเค้กไม่เสร็จ จึงส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็น “นายกฯ ตุหรัดตุเหร่” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทำงานไม่ได้

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยากทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ พล.อ.ประยุทธ์ คงต้องจัดการแบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรีให้เสร็จโดยเร็ว

นี่คือสิ่งที่คนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้คาดคิดไว้ ก็ใครจะไปรู้ว่า สุดท้ายรัฐบาลชุดใหม่ จะเป็นรัฐบาล “สหพรรค-เสียงปริ่มน้ำ”จนเกิดปัญหาการแบ่งเก้าอี้กันยากขนาดนี้

#พรรคอนาคตใหม่ #ประยุทธ์ #นายก


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
...

"วิษณุ เครืองาม" เนติบริกรมือฉมัง





23 กรกฎาคม 2557
Nation TV


" ดร. วิษณุ เครืองาม " ชื่อนี้ได้รับเลือกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) ให้มาเป็นหัวหน้าทีมยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ 2557 ที่ได้ประกาศใช้ไปเรียบร้อยแล้ว

ทำไม คสช. ต้องใช้เขา.. คำตอบ ก็คือ เพราะ วิษณุ เป็นผู้มีคุณสมบัติโดดเด่น 4 ประการคือ

1. มีศิลปะในการเจรจา2. เป็นที่ไว้วางใจของกลุ่มชนชั้นนำ 3. มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำทางการเมืองและนักธุรกิจระดับชาติ 4. เป็นนักกฎหมายระดับ พญาครุฑ คือเป็น เนติบริกรแบบสุดยอด สามารถบอกได้ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งกรณีที่ทำไม่ได้ถ้าจะทำให้ได้ต้องทำอย่างไร

กับ สมญา "เนติบริกร" ในช่วงปี 2548 นักข่าวสายทำเนียบรัฐบาล ได้ตั้งฉายาให้นายวิษณุ เครืองาม ว่าเป็น "เนติบริกร" ซึ่งหมายถึงบุคคลที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และมีหน้าที่ให้บริการทางกฎหมายแก่ผู้มีอำนาจ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความโชกโชนในเรื่องกฎหมาย สามารถนำเสนอได้ว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดทำแล้วผิดกฎหมาย แล้วถ้าจะให้ไม่ผิดกฎหมาย จะต้องทำอย่างไรบ้างความเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายสำคัญของบ้านเมืองหลายยุคสมัย

ในปี 2534 ภายหลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ จากนั้นได้ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

หนึ่งในบุคคลที่อยู่ใน "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ"ในขณะนั้น คือ วิษณุ เครืองาม โดยมี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ในปี 2549 ในยุคของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ( คมช.)ที่ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร "วิษณุ" ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.)

ในปี 2557 นายวิษณุก็ได้มาเป็นที่ปรึกษาของ คสช.ดูแลด้านกฎหมายยุติธรรม ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในเวลาต่อมาและรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เขียนออกมามีเนื้อหาให้อำนาจกับหัวหน้า คสช.และคสช. อย่างมากเหนือรัฐบาลแทบทุกด้านโดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคง และมีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีโดยการชงเรื่องปลดนายกฯผ่านทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. )

สรุปได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 นำเอาความผูกขาดด้านอำนาจของคณะปฏิวัติทั้งปี 2534 และ ปี 2549 มารวมกันไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้

ความสัมพันธ์ระหว่าง วิษณุ +มีชัย ฤชุพันธุ์ +บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ทั้ง 3 คนที่เป็นปรมาจารย์ทางกฎหมาย มักมีส่วนร่วมกันในการทำงานยกร่างกฎหมายสำคัญของบ้านเมืองรวมทั้งรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับปี 2557 ฉบับล่าสุดนี้ก็มีข่าวว่า นอกจากนายวิษณุ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญแล้ว ยังมีนายมีชัยและนายบวรศักดิ์ อยู่เบื้องหลังคอยให้คำปรึกษาด้วย

กับ " โลกนี้คือละคร" หนังสือบอกเล่าประสบการณ์วิษณุ เครืองาม เป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นเวลายาวนานถึง 7 นายกฯ 10 รัฐบาล ตั้งแต่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, นายอานันท์ ปันยารชุน, พล.อ.สุจินดา คราประยูร, นายชวน หลีกภัย, นายบรรหาร ศิลปอาชา, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ประสบการณ์จากการร่วมงานกับนายกรัฐมนตรีเหล่านี้ ทำให้นายวิษณุ ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อ โลกนี้คือละคร เป็นการเล่าประสบการณ์ทางการเมือง ในการร่วมงานกับนายกรัฐมนตรีทั้ง 7 คน รวมถึงเรื่องลับในวงการการเมืองที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนอีกด้วย มีทั้งหมด 3 เล่ม ใช้ชื่อแตกต่างกันไป เล่มแรก ชื่อ โลกนี้คือละคร, เล่มสอง ชื่อ เล่าเรื่องผู้นำ และ เล่มสามชื่อ หลังม่านการเมือง