วันพุธ, มิถุนายน 19, 2562

อ่านข่าว "จม.ลาครู" เห็นเงินอุดหนุนเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนได้แค่เดือนละ 600 บ. แล้วเหลือบไปดูเงินเดือนสนช. สว. สส. เดือนละหลักแสน คิดแล้วละเหี่ยใจ (ยังไม่รวมงบคัดเลือก สว. !)





การศึกษา : เปิด "จม.ลาครู" ภาพสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กไทย



กสศ.
คำบรรยายภาพประโยคหนึ่งในจดหมายลาครูของ ด.ช.พงษ์ศกร เขียนว่า "ผมไม่รู้ว่าจะได้กลับมาโรงเรียนอีกเมื่อไหร่"


โดย ศิริกร เอื้อไพจิตร
ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย
18 มิถุนายน 2019


"เรียน คุณครูบอยที่เคารพ...ผมขอโทษที่ไม่ได้ทำตามที่ครูบอก ผมสงสารแม่ที่ต้องทำงานหาเงินอยู่คนเดียว ถ้าผมไปเรียนก็ไม่มีใครช่วยแม่ ผมขออนุญาตลาหยุดไปช่วยแม่เก็บลำไย ผมไม่รู้ว่าจะได้กลับมาโรงเรียนอีกเมื่อไหร่ ขอบคุณครูที่ช่วยเหลือมาตลอด...ด้วยความเคารพอย่างสูง"

ข้างต้นเป็นข้อความที่ ด.ช.พงษ์ศกร อาสาพิทักษ์ไพร อายุ 13 ปี นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เขียนถึงครูนพรัตน์ เจริญผล หรือ "ครูบอย" เพื่อขอหยุดเรียนไปช่วยแม่ทำงาน

หลังจากเด็กชายหยุดเรียนไปนานหนึ่งสัปดาห์ ครูนพรัตน์รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องไปตามนักเรียนให้กลับมาเรียนหนังสือ จึงเดินทางไปหาพงษ์ศกรที่บ้าน เขาพบว่าบ้านของพงษ์ศกรมีฐานะยากจน พ่อเพิ่งเสียชีวิต แม่ก็ล้มป่วย ที่บ้านไม่มีเงินซื้อกับข้าว ช่วงนั้นเป็นฤดูเก็บลำไย เด็กชายจึงไปหารายได้โดยการไปรับจ้างเก็บลำไย



"แม่ให้ไปหาเงินครับ ผมก็เลยเขียนจดหมายลาครูว่าต้องไปเก็บลำไย ถ้าขยันก็ได้ 200-300 บาท ผมตั้งใจจะเรียนต่อให้จบ ม.6 อยากเป็นนักฟุตบอลเพราะจะได้เล่นกีฬาทำให้สุขภาพดี" พงษ์ศกรเล่าถึงเหตุที่เขาต้องเขียนจดหมายถึงครู ในงานแถลงข่าวความร่วมมือขององค์กรด้านการศึกษา นำโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาวันนี้ (18 มิ.ย.2562)

พงษ์ศกรบอกว่าเขาอยู่กับแม่เพียงสองคน ส่วนพี่ ๆไปทำงานที่ต่างจังหวัด นาน ๆ ถึงจะส่งเงินและกลับมาเยี่ยมบ้าน

ครูนพรัตน์รายงานปัญหาของพงษ์ศกรไปยังส่วนกลาง ทำให้เด็กชายได้รับเงินอุดหนุน กสศ. เดือนละ 600 บาท


SIRIGORN UEAPHAIJIT
คำบรรยายภาพครูบอยกับ ด.ช.พงษ์ศกร


พงษ์ศกรไม่ใช่นักเรียนคนเดียวที่ต้องขาดเรียนเพราะต้องช่วยทางบ้านหารายได้หรือดูแลคนในครอบครัว

ครูนพรัตน์บอกว่า เด็กบนดอยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เด็กนักเรียนอีกคนหนึ่งต้องขาดเรียนไปเพื่อเลี้ยงน้อง เพราะแม่เสียชีวิตหลังจากคลอดน้องมาได้เพียง 3 วัน ที่บ้านไม่มีเงินซื้อนม เด็กจึงป้อนน้ำซาวข้าวให้น้องแทน

แม้เงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท จาก กสศ.จะไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่ก็พอจะช่วยเหลือเด็กและครอบครัวได้บ้าง ครูนพรัตน์กล่าว

ด.ช.อาทิตย์ มืดคุ้ม อายุ 12 ปี นักเรียนโรงเรียนบ้านใหม่ปฏิรูป อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา เป็นเด็กอีกคนหนึ่งที่เคยเขียนจดหมายลาครู

อาทิตย์บอกว่าเขาเป็นพี่คนโตที่ต้องดูแลน้อง 6 คน เพราะพ่อแม่แยกทางกัน เขากับน้อง ๆ อาศัยอยู่กับตายาย บางวันเขาต้องหยุดเรียนเพื่อดูแลน้อง

น.ส.กาญจนา ตั้งทรัพย์ คุณครูประจำชั้นของอาทิตย์บอกว่า เมื่อได้รับจดหมายลาและเห็นว่าอาทิตย์ขาดเรียนจึงตามไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่บ้าน และทำเรื่องขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)


กสศ.
คำบรรยายภาพจดหมายลาครูของ ด.ช.ปรีชา จอดนอก จ.ปทุมธานี


เด็กด้อยโอกาส 2 ล้านคนเสี่ยงไม่ได้เรียนหนังสือ


จดหมายที่เด็ก ๆ เขียนถึงคุณครูเพื่อขอลาหยุดเรียน ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำโครงการเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะปัญหาความยากจนและปัญหาครอบครัว

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. สพฐ. กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรมการส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดกรอง โดยในปีนี้ กสศ.คาดว่าจะมีเด็กได้รับเงินอุดหนุนเพื่อขจัดอุปสรรคในการมาเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีประมาณ 510,000 คนเป็น 800,000 คน

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเงินอุดหนุนคือครูที่อยู่ในพื้นที่ ไปเยี่ยมบ้านเพื่อค้นหา คัดกรองให้ได้เด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อน

"เงินจำนวนนี้ไม่ได้จะทำให้ความยากจนหมดไป เงินไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างแต่ทำให้คุณครูมาเข้าใจลูกศิษย์มากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือบทบาทของครูเพราะคุณครูเป็นหัวใจในการผ่อนหนักเป็นเบา" นพ.สุภกรกล่าว

จาก "จดหมาย" สู่ "กราฟฟิตี"

เพื่อให้สังคมตระหนักว่ายังมีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมากที่ต้องขาดเรียนเพื่อช่วยครอบครัว กลุ่มศิลปินจากเครือข่ายศิลปินกราฟฟิตีเพื่อสังคมได้นำ "จดหมายลาครู" ของเด็ก ๆ จำนวน 7 คน มาวาดเป็นภาพกราฟฟิตีใน 7 พื้นที่ใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่นและภูเก็ต

ตัวแทนเครือข่ายศิลปินฯ กล่าวว่า พวกเขารู้สึกดีใจที่ได้ใช้งานศิลปะมาสื่อสารกับสังคม ซึ่งกราฟฟิตีจดหมายลาครูนี้ นอกจากจะทำให้ผู้คนรับรู้ถึงอุปสรรคทางการศึกษาของเด็กยากจนและมีส่วนร่วมในการเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมแล้ว โครงการนี้ยังช่วยให้คนมีทัศนะคติที่ดีขึ้นต่อกราฟฟิตี "ศิลปะพ่นกำแพง" อีกด้วยว่าสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมไทยได้



จดหมายลาครูของ ด.ช.กิตติรินทร์ งีแคว จ.เชียงใหม่


จดหมายลาครูของ ด.ญ.สุกันยา วังนาทัน จ.อุดรธานี


"เรียน อาจารย์ประจำชั้นที่เคารพค่ะ

เนื่องจากตอนนี้ที่บ้านไม่มีใครดูแลพี่ชายที่ป่วยพิการตั้งแต่กำเนิด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ส่วนพ่อกับแม่ก็ต้องออกไปรับจ้างข้างนอกเลยไม่มีใครดูแลพี่ชาย บางวันหนูต้องสลับพี่สาวเพื่อมาช่วยดูแลพี่ชาย หากับข้าวมาให้กิน หนูเลยขออนุญาตครูประจำชั้นที่เคารพ ขอลาหยุดเรียน 1 วันไปดูแลพี่ชายที่พิการอยู่ตอนนี้ค่ะ...ด้วยความเคารพ"



สศ.คำบรรยายภาพจดหมายลาครูของ ด.ญ.นันท์นภัส ดำรงชูทรัพย์ จ.เชียงใหม่