วันอังคาร, มิถุนายน 25, 2562

87 ปี ปฏิวัติสยาม : อยาก "จำ" กลับถูกทำให้ "ลืม" ความพยายามลบล้าง "มรดกทางความคิดของคณะราษฎร" สำรวจความคิด “คณะราษฎร” ผ่านมรดกทางวัฒนธรรม



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพรศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ เห็นว่า มรดกสำคัญของคณะราษฎรคือการทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย และมีเอกราชสมบูรณ์ 100% หลังได้รับเอกราชทางการศาล เนื่องจากปรับปรุงกฎหมายจนเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ


สำรวจความคิด “คณะราษฎร” ผ่านมรดกทางวัฒนธรรม


เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง
ผู้สื่อข่าววิดีโอ
22 มิถุนายน 2019

เหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 และ 2557 ทำให้เกิดสิ่งที่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์-สถาปัตยกรรมเรียกขานว่า "การเกิดใหม่ของคณะราษฎรอีกครั้ง" เมื่อนักศึกษาและประชาชนหวนกลับไปหาอุดมการณ์ "ประชาธิปไตยยุคนำเข้า" และเคลื่อนไหวผ่านสัญลักษณ์และศิลปวัตถุที่เป็น "มรดกของคณะราษฎร"

87 ปีก่อน.. ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลง และก่อกำเนิดระบอบประชาธิปไตย เมื่อคณะราษฎรก่อการ "ปฏิวัติสยาม" ในช่วงรุ่งสางของวันที่ 24 มิ.ย. 2475

หลังจากนั้น.. อุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่อง "นามธรรม" ก็ถูกคณะราษฎรถ่ายทอด-ทาบทับลงบนสัญลักษณ์ ศิลปวัตถุ และสถาปัตยกรรม เพื่อให้เกิด "รูปธรรม" แก่สายตาผู้พบเห็น และเกิดความรับรู้ว่าประเทศไทยได้เคลื่อนเข้าสู่ "ยุคสมัยใหม่" แล้ว 


ปฏิวัติสยาม กับการเปลี่ยนผ่านของ "มรดกคณะราษฎร" ที่ธรรมศาสตร์
ปฏิวัติสยาม ประวัติศาสตร์ที่ "ต้องจัดการ"
ปฏิวัติสยาม มองนิยาม "ประชาธิปไตย" ผ่านอนุสาวรีย์ฯ


รศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในใจกลางพระนครและในวงจำกัด ประชาชนโดยวงกว้าง โดยเฉพาะต่างจังหวัดอาจรับรู้ต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ค่อนข้างน้อย ดังนั้นภารกิจสำคัญอันหนึ่งของคณะราษฎรคือทำอย่างไรเพื่อแสดงให้ประชาชนทั่วราชอาณาจักรรู้ว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบใหม่-เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแล้ว





3 ลักษณะสำคัญของ "มรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎร"

เขาอธิบายว่า ศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎรมีการผสมผสานของ 3 ลักษณะสำคัญที่แฝงเร้นด้วยความหมายของ "ระบอบใหม่" ดังนี้

หนึ่ง ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่เรียบ เกลี้ยง หลังคาแบน ไม่ขึ้นเป็นจั่วทรงสูง ไร้ลวดลายไทย สื่อถึงความเสมอภาค และการลดเลิกฐานานุศักดิ์/ชนชั้นทางสังคม


หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
คำบรรยายภาพโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยสร้างขึ้นตามความดำริของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2483 ก่อนถูกรื้อทิ้งในปี 2532 ด้วยเหตุผลบดบังโลหะปราสาท และหน้าตาไม่ได้แสดงถึงสถาปัตยกรรมไทย


"งานสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีที่มีลวดลายไทย และหลังคาจั่วซ้อนชั้นสลับซับซ้อน ด้านหนึ่งคือศิลปกรรมและความงาม อันนี้ไม่ปฏิเสธ แต่หน้าที่อีกด้านหนึ่งคือการแสดงถึงฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรม ยิ่งซ้อนชั้นหลังคาสูงมากเท่าไร ลายไทยประดับเพริศแพร้วอลังการมากเท่าไร ยิ่งแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ใช้อาคารนั้น มีสถานะสูงทางสังคมมากเท่านั้น เพราะฉะนั้นตัวภาษาหรือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม มันคือตัวบ่งบอกเรื่องชนชั้นฐานะและการแบ่งสถานะทางสังคมออกเป็นชั้น ๆ ทางตั้ง สิ่งที่คณะราษฎรทำคือยกเลิกหลังคาจั่ว เป็นหลังคาแบนเท่ากันหมด ลายไทยก็ไม่มี อาคารราชการก็จะมีหน้าตาเหมือนกันหมด เท่าเทียมกันหมด" รศ.ดร. ชาตรี กล่าว

สอง ปรับเปลี่ยนการออกแบบผังเมืองให้เป็นสมัยใหม่ ที่เป็นถนนกว้าง สร้างวงเวียน เป็นตารางสี่เหลี่ยม สื่อถึงการปกครองสมัยใหม่


หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
คำบรรยายภาพสภาพตัวเมืองลพบุรีในอดีต ซึ่งปรับเปลี่ยนผังเมืองให้เป็นสมัยใหม่


"อยากให้ลองจินตนาการ เราเป็นคนยุคสมัยนั้น พอหลัง 2475 สภาพแวดล้อมทางกายภาพของเราเปลี่ยนไปหมดเลย ตึกที่เราเดินออกไปข้างนอกก็เป็นแบบใหม่ ถนนกว้าง มีวงเวียน เป็นสี่เหลี่ยมเป๊ะ ๆ แบบทันสมัย... และต้องผสมรวมกับการปรับเปลี่ยนการแต่งกาย เช่น สวมหมวก นุ่งกระโปรง เลิกกินหมาก ภาษาไทยก็ปรับเป็นสมัยใหม่ การใช้ชีวิตสาธารณะทั้งหมดมันเปลี่ยนเข้าสู่อีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม นี่คือความสำเร็จของคณะราษฎรที่ทำให้คนในยุคสมัยนั้นรู้สึกเปลี่ยนเข้าสู่อีกยุคหนึ่งที่แตกต่างจากเดิม" รศ.ดร. ชาตรี กล่าว

สาม ใช้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ สื่อว่าอำนาจอธิปไตยได้เคลื่อนจากการรวมศูนย์ไว้ที่กษัตริย์มาอยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ


กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักเลขาธิการสภาฯ
คำบรรยายภาพในช่วง 2475-2490 มีการสร้างอนุสาวรีย์และพานรัฐธรรมนูญจำลองนับ 10 จังหวัด ตามข้อมูลที่ รศ.ดร. ชาตรี ศึกษาไว้ แม้คณะราษฎรตั้งใจจะสร้างให้ครบทุกจังหวัดก็ตาม แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่


อย่างไรก็ตามสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเฉพาะที่ตัวอนุสาวรีย์เท่านั้น แต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ยังนำไปผลิตเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่ง รศ.ดร. ชาตรี ประเมินว่า ในช่วงปี 2475-2490 ร้อยละ 60-70 ของสิ่งของเครื่องใช้จะปรากฏสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น สมุดหนังสือเรียน เสื้อผ้า ล็อตเตอรี ธนบัตร ขันน้ำ ที่เขี่ยบุหรี่ กระดุมเสื้อ ตุ่มน้ำ โอ่งดินเผา ขันน้ำ ฯลฯ สะท้อนว่าสัญลักษณ์นี้หาได้เป็น "สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งยุคสมัย" ไม่

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์-สถาปัตย์ชี้ว่า มีหลักฐานบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าคนบางกลุ่มได้จัดขบวนแห่พานรัฐธรรมนูญ และประกอบพิธีกรรมเสมือนว่าเป็น "พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง" เพื่อยกพานรัฐธรรมนูญให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้มองเช่นนั้น แต่เห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญ

"ผู้คนจำนวนมากเข้ามาเฉลิมฉลองผ่านการผลิตสิ่งของวัตถุในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นด้วย"

จริงอยู่ที่การมองสัญลักษณ์ของพานรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้าใจหลักการของประชาธิปไตยได้อย่างทะลุปรุโปร่ง แต่ รศ.ดร. ชาตรี เปรียบศิลปวัตถุรูปธรรมเป็น "สตาร์ทเตอร์" (จุดเริ่มต้น) ให้คนได้เห็น-ได้สนใจศึกษาหาความรู้ต่อ



CHATRI PRAKITNONTHAKAN/นิทรรศการ ของ(คณะ)ราษฎร
คำบรรยายภาพกล่องใส่บุหรี่



CHATRI PRAKITNONTHAKAN/นิทรรศการ ของ(คณะ)ราษฎร
คำบรรยายภาพขวดน้ำ



CHATRI PRAKITNONTHAKAN/นิทรรศการ ของ(คณะ)ราษฎร
คำบรรยายภาพขวดน้ำ


"จิตวิญญาณใหม่" VS "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ"

หาก "จิตวิญญาณใหม่" ของการปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475 คือการสถาปนา "ประชาธิปไตยแบบสากล" ในสังคมไทย โดยมีคณะราษฎรเป็น "ผู้นำเข้าประชาธิปไตย-สร้างความศิวิไลซ์" ให้ประเทศ

"จิตวิญญาณดั้งเดิม" ของฝ่ายอนุรักษนิยมไทย ก็คือการรักษาขนบ-จารีตทางการเมืองเอาไว้แล้วเรียกขานว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" พวกเขามองว่า 15 ปีหลังปฏิวัติสยามคือ "ยุคมืด"



ประยุทธ์ ส่อทิ้ง "เปรมโมเดล" ยึด "สฤษดิ์สไตล์"
เกษียร เตชะพีระ ชี้ หลังเลือกตั้งเราจะเห็นความผิดหวังที่เพิ่มทวีขึ้น" เพราะผู้กำกับกรอบการเลือกตั้งที่ดื้อรั้น
เสกสรรค์ ผ่าแผนสถาปนา "รัฐชนชั้นนำ"


ทว่าสถานการณ์เริ่มพลิกผันนับจากการรัฐประหารปี 2490 โดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ขบวนการทำให้คณะราษฎรกลับกลายเป็น "ผู้ร้าย" เริ่มขยายวงกว้าง ก่อนถึงคราว "ล่มสลายไป" เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้าย ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500


กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักเลขาธิการสภาฯ
คำบรรยายภาพโฉมหน้าคณะราษฎรสายทหารบก 33 คน โดยมี พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร (คนที่ 5 แถวกลางจากซ้ายมือ) และ พ.ท. หลวงพิบูลสงคราม (คนที่ 3 แถวกลางจากซ้ายมือ) ร่วมในภาพด้วย


ความพยายามลบล้าง "มรดกทางความคิดของคณะราษฎร" เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านวาทกรรมอธิบายเหตุการณ์ 24 มิ.ย. 2475 ย้อนหลังในทำนองว่า "ชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "ไม่ใช่การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะเรามีประชาธิปไตยตั้งแต่ยุคสุโขทัยแล้ว" หรือ "เป็นแค่การรัฐประหาร มิใช่การปฏิวัติ" พร้อม ๆ กับปฏิบัติการรื้อถอน-ทำลาย "มรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎร" และรื้อฟื้นสิ่งปลูกสร้างในแบบจารีตประเพณี

ในทัศนะของอาจารย์ชาตรี สิ่งที่เรียกว่า "มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของยุคคณะราษฎร" จึงถึงจุดสิ้นสุดลงในช่วงปี 2490 เป็นต้นมา

  • ศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎร ไม่ถูกสร้างเพิ่มเติม
  • ศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ เสื่อมสภาพสูญสลายไปตามธรรมชาติ
  • ถาวรวัตถุชิ้นสำคัญที่มีความคงทนแข็งแรงและเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองค่อนข้างสูง เช่น อนุสาวรีย์ หรือตึกอาคารที่มีความโดดเด่นสำคัญ ถูกพูดถึงในเชิงลบ เช่น "หน้าตาน่าเกลียด" "ไม่เป็นไทย" "บดบังโบราณสถาน" เมื่อกระแสความคิดสุกงอม ก็มีข้อเสนอให้รื้อถอนทำลายไปซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในห้วง 30-40 ปีมานี้


"การเกิดใหม่ของคณะราษฎร" ทำหมุดหาย-ย้ายอนุสาวรีย์

ความพยายามทำลายประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้ว ด้วยการรื้อถอน-ทำลายวัตถุสัญลักษณ์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมของคณะราษฎรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน "ระยะเปลี่ยนผ่านสำคัญ" ทางการเมืองไทย

ทว่าครั้งที่อึกทึกครึกโครมที่สุด แต่ปราศจากคำอธิบายอย่างถึงที่สุด หนีไม่พ้น กรณี "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" หายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อเดือน เม.ย. 2560 หลังทำหน้าที่สัญลักษณ์สื่อถึงเหตุการณ์ 24 มิ.ย. 2475 มานานถึง 8 ทศวรรษ ก่อนถูกแทนที่-กลบทับด้วย "หมุดหน้าใส" อยู่ไม่กี่วัน และแล้ว "หมุดหน้าใส" ก็อันตรธานตามไปในบัดดล



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพก่อน "หมุดหน้าใส" ถูกนำมาวางแทนที่ในช่วงสั้น ๆ นักประวัติศาสตร์บางส่วนชี้ว่าหมุดทองเหลืองเป็นเสมือน "รอยเท้า" ของคณะราษฎร เพราะเป็นจุดที่พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 87 ปีก่อน


ข้อความที่ปรากฏบน "หมุดหน้าใส" มาจากข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ซึ่ง รศ.ดร. ชาตรี ย้ำว่าเป็นชุดความคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2490 ที่ว่าเป็นจารึกที่พูดถึงหลักการประชาธิปไตยครั้งแรก พูดมาหลายร้อยปีก่อนมีการปฏิวัติ 2475 จนถือเป็นสัญลักษณ์ "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" แต่เมื่อสังคมมอง "หมุดหน้าใส" เป็นเรื่องตลกขบขัน ไม่ว่าฝ่ายชอบหรือชังคณะราษฎรต่างไม่เห็นด้วย หมุดใหม่จึงไม่ประสบความสำเร็จในแง่สัญลักษณ์ทางการเมือง และหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ภายในเวลาอันรวดเร็ว

อีกกรณีคือ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชปี 2476 โดยใช้พานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ ถูกยก-ย้ายไปจากวงเวียนหลักสี่ เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นถูกมองว่าเป็น "อนุสาวรีย์ที่เหงาสุดในกรุงเทพฯ"



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพ"คณะกู้บ้านเมือง" นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เข้ายึดพื้นที่ดอนเมือง จับกุมคนฝ่ายรัฐเป็นตัวประกันเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลฯ ลาออก ก่อนพ่ายแพ้ไป จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์ของการปราบ "กบฏบวรเดช" ภาพนี้ถ่ายเมื่อ เม.ย. 2560


เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. ชาตรี เห็นว่า เกิดขึ้นจากกระแส 2 ส่วนพ่วงกันคือ กระแสระยะยาวตั้งแต่หลังปี 2490 ที่มรดกคณะราษฎรถูกประเมินว่าไม่มีคุณค่า แต่ใช้เวลายาวนานกว่าจะมีการรื้อถอนลงได้ และกระแสการรัฐประหารต่อเนื่องกันในปี 2549 กับ 2557 ทำให้เกิดสิ่งที่อาจารย์ชาตรีเรียกว่า "การเกิดใหม่ของคณะราษฎรอีกครั้ง" เมื่อกลุ่มนักศึกษาและประชาชนย้อนกลับไปหาคณะราษฎร ในฐานะ "ฮีโร่ทางประวัติศาสตร์" ที่นำพาประชาธิปไตยมาให้แก่สังคมไทย

"คนกลุ่มนี้ย้อนกลับไปหาคณะราษฎร และเริ่มไปรื้อฟื้นความสำคัญของวัตถุสิ่งของที่เป็นมรดกของคณะราษฎร เริ่มไปชุมนุมทางการเมืองในวัตถุสัญลักษณ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือวัตถุสัญลักษณ์ในต่างจังหวัด... ทำให้ศิลปวัตถุของคณะราษฎรในสายตาภาครัฐหรือชนชั้นนำ มันมีความอันตรายและแหลมคมขึ้น จากที่เป็นแค่สิ่งก่อสร้างธรรมดา" นักวิชาการรั้วศิลปากรกล่าว


"Frienemies" สารคดีชีวิต ปรีดี-จอมพล ป. สะท้อนมิตรภาพและความขัดแย้ง จาก 2475 ถึง ปัจจุบัน
อนุสาวรีย์ไร้เจ้าของ : รากเหง้า ความหมาย ความทรงจำ
มองประวัติศาสตร์ชาติ ผ่านภาพกษัตริย์บนธนบัตร


เมื่อปรากฏการณ์ "หมุดหาย-ย้ายอนุสาวรีย์" เป็นปฏิกิริยาที่สัมพันธ์กับการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุดของไทย การรื้อถอนและทำลายจึง "รวดเร็ว รุนแรง และทำอย่างที่ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเหตุผลอีกแล้ว เพราะนี่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง"

ในฐานะนักวิชาการด้านสถาปัตย์อด "เสียดาย" ไม่ได้ และเห็นว่านี่คือ "ภาวะที่ไม่เป็นผู้ใหญ่มากพอของสังคมไทยในการแยกแยะระหว่างโบราณวัตถุที่ควรเก็บรักษาไว้ในทางวิชาการกับสัญลักษณ์ทางการเมือง" แต่แม้ศิลปวัตถุเหล่านี้หายไป สัญลักษณ์ในเชิงอุดมคติก็ยังอยู่และถูกผลิตซ้ำผ่านวัตถุสมัยใหม่



JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
คำบรรยายภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลายเป็น "หมุดหมายทางการเมือง" ของนักศึกษาและนักกิจกรรมการเมืองผู้เรียกร้องประชาธิปไตยหลังรัฐประหารปี 2557


สถาปัตยกรรมของรัฐทุกชิ้นคือสัญลักษณ์ทางการเมือง

ในการศึกษาความทรงจำในตำราประวัติศาสตร์จะกระทำผ่านการวิเคราะห์ "โครงเรื่อง" ที่สื่อสารด้วยภาษาและตัวอักษร โดยมีชนชั้นนำคือผู้ครอบงำ "ประวัติศาสตร์กระแสหลัก" แล้วในทางศิลปะมี "กระแสหลัก-กระแสรอง" หรือไม่?

รศ.ดร. ชาตรีตอบว่า เวลาเราพูดในเชิงรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือกระแสรองจะโต้กันค่อนข้างชัดมาก ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ แต่เมื่อมาดูประวัติศาสตร์สถาปัตย์หรือศิลปะ จะไม่มีการโต้กันชัดขนาดนั้น เวลามองสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในยุคคณะราษฎร ตำรากระแสหลักจะไม่ได้โจมตีว่าเป็นศิลปะที่ไม่ดี หรือเป็นฟาสซิสต์ แต่จะเบี่ยงหรือใช้การอธิบายที่ไม่พูดถึงนัยทางการเมืองของสถาปัตยกรรมหรือศิลปกรรมยุคนั้นเลย เสมือนว่าสร้างขึ้นมาโดยไม่มีมติทางการเมืองเลย

"วัฒนธรรมไม่เคยปลอดจากอำนาจ และสถาปัตยกรรมของรัฐทุกชิ้นคือสัญลักษณ์ทางการเมืองทั้งหมด" นักวิชาการผู้นิยามตัวเองเป็นพวกสถาปัตย์กระแสรองกล่าว

ท้ายที่สุดเมื่อให้พูดถึง "ความทรงจำร่วมกัน" ของคนไทยในเหตุการณ์ 24 มิ.ย. 2475 เขาเห็นว่าคือการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

"ในความรู้สึกของหลายคนอาจรู้สึกว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง จอมปลอม เราก็มาช่วยกันแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่อย่าเดินถอยกลับไปก่อน 24 มิ.ย. 2475" เขากล่าวทิ้งท้าย

ดูวิดีโอได้ที่นี่ ปฏิวัติสยาม ผ่านมาแล้ว 87 ปี มรดกที่เหลืออยู่มีอะไรบ้าง