วันอาทิตย์, มิถุนายน 02, 2562
ประชาธิปัตย์ - พลังประชารัฐ นับถอยหลังสู่วันล่มสลาย??!!
ประชาธิปัตย์ - พลังประชารัฐ นับถอยหลังสู่วันล่มสลาย??!!
1 มิ.ย. 2562
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ดูจากสภาพการณ์วันนี้ บอกได้เลยว่า รอวันล่มสลาย!
โดยเฉพาะฉากการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของบรรดาพรรคการเมือง โดยเฉพาะระหว่าง “พรรคพลังประชารัฐ” กับ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ทำให้ประชาชนเริ่มรู้สึกอึดอัด ว่าที่ประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้ ไม่ใช่เพราะแนวนโยบายไม่ตรงกัน แต่เพราะปัญหาการแย่งเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ที่แบ่งปันผลประโยชน์ไม่ลงตัว
ในสายตาประชาชนตอนนี้ ต่างดำเนินไปในทิศทางดียวกันคืออึดอัดกับบทบาท พรรคพลังประชารัฐ และหมั่นไส้ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยึกยักจนน่ารำคาญ โดยเฉพาะ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่บทบาทวันนี้ไม่มีผลบวกต่อพรรคทางใดเลย ไม่ว่าสุดท้ายจะเลือกเดินทางไหนหากมีการเลือกตั้งในเร็ววัน อาจพบผลลัพธ์ที่อัปยศกว่า 24 มีนาคม 2562
ก่อนหน้านี้ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ประกาศไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะที่ตอนนี้มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะมาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ อยู่ที่ว่า มายกครัว หรือแค่บางกลุ่มเท่านั้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสั่นคลอนกับภาพลักษณ์ของพรรคอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของการไม่มีจุดยืน เหมือนเป็นการโกหกประชาชน แต่สุดท้ายหันมาเชลียร์ท็อปบูต
หรือการตัดสินใจไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็อาจจะทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเหลือ ส.ส.ไม่กี่ที่นั่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า กลุ่มที่ไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ มีแนวความคิดที่คล้ายกันคือ ไม่เอาระบอบทักษิณ และต้องการให้ “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น หาก “บิ๊กตู่” ไม่ได้เป็นนายกฯ เพียงเพราะความแตกแยกภายในของประชาธิปัตย์ กลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคสีฟ้า อาจเทคะแนนไปให้กับพรรคอื่น และผลการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจหนักหนาสาหัสกว่าครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นได้
ขณะที่เสียงเชียร์จากฝ่ายซึ่งอ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ที่ให้ “ค่ายสะตอ” โดดเดี่ยวพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งดูเหมือน “กลุ่มนิวเดม” ที่ยังไม่เดียงสาทางการเมืองจะคล้อยตาม ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อพรรคเก่าแก่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ต่อให้วันนี้ “ค่ายสีฟ้า” เลือกเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” หรือย้ายขั้วไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ การเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ไม่ได้ทำให้คนกลุ่มนี้เลือกประชาธิปัตย์อยู่ดี
อยู่ที่ว่า การตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ อันไหนส่งผลกระทบต่อพรรคเก่าแก่ที่สุดในประเทศน้อยกว่ากัน เพราะยังไม่เห็นวี่แววหรือจุดเปลี่ยนอะไรที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับฟื้นคืนมาในเวลาอันรวดเร็ว
วันนี้ประชาธิปัตย์ยังคงเป็นประชาธิปัตย์ ยังยึดระบบและวิธีการเดิมๆ ในอดีตของตัวเอง สะท้อนจากการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาของคนในพรรค และการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคที่ผ่านมาว่า ยังไม่มีการปฏิรูปตัวเองเกิดขึ้น
รอยร้าวฉานที่เกิดขึ้นในวันนี้ระหว่างนักการเมืองสาย “นายหัว” ชวน หลีกภัย และสายที่มีเงาของ “เทพเทือก” ทาบทับ ก็มีหัวเชื้อมาจากระบบระเบียบเดิมๆ ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแม้จะแพ้ซ้ำซาก รวมถึงในวันที่ต้องกลายเป็น “พรรคครึ่งร้อย” ก็ตามที
ขณะเดียวกัน การต่อสู้ระหว่างนักการเมืองสองขั้วในพรรค ยังมี “คนนอก” เข้าไปมีอิทธิพลและบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะ “เทพเทือก” ที่หันหลังให้พรรคมานานแล้วในฉากหน้า แต่เบื้องหลังไม่เคยห่างหาย ยังมีรอยต่อเพื่อปฏิบัติการต่างๆ อยู่เสมอ
การแข็งข้อของกลุ่ม พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่มีต่อ “นายหัวชวน” คงไม่ต้องบอกว่ามีสาเหตุมาจาก “ใคร” ที่หมายมั่นปั้นมือจะเปลี่ยนแปลงอดีตสังกัด หรือไปให้สุด “ยึดพรรค” ให้ได้ก็ดี
แต่เมื่อทำไม่สำเร็จ มันจึงกลายมาเป็นรอยร้าวภายในพรรคที่ยากจะสมานให้เป็นเนื้อเดียวกัน ถึงขนาดบอกกล่าวกันว่า “หากไม่เคารพนับถือ ก็ไม่ต้องยกมือไหว้” กรีดแผลกันเหวอะหวะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะที่ผ่านมากลุ่ม “นายหัวชวน-อภิสิทธิ์” ถูกกระทำในทุกรูปแบบ ทั้งเรื่อง “การดูด” ทั้งเรื่อง “งูเห่า” จนกลายเป็นความแค้นที่ยอมกันไม่ได้
และท้ายที่สุดก็คงต้องจับตาต่อไปว่า “ผู้แพ้” จะต้องเป็นฝ่ายหันหลังให้กับพรรค ในเมื่อการอยู่ต่อเป็นเพียงประชากรชั้นสองในพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาเหมือนเดิม และเสถียรภาพในพรรคไม่มีทางกลับมาได้ หากสองขั้วอยู่ในถ้ำเดียวกัน
ดังนั้น นี่คือ ยุคตกต่ำที่ถึงขั้นล่มจมได้เลยก็ว่า เพราะจะค่อยๆ ลดปริมาณ ส.ส.ลงไปในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง กระทั่งกลายเป็นพรรคเล็กธรรมดา และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะสามารถกลับมาถือธงนำในสมรภูมิได้อีกครั้ง
ขณะที่อีกฟากพรรคน้องใหม่ แต่หน้าเก่า พรรคพลังประชารัฐ ก็มิได้ต่างกัน เพียงแต่จุดล่มสลายจะแตกต่างกันออกไป เพราะนี่คือ พรรคที่ไม่ได้เกิดจากคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันจนก่อเกิดเป็นสถาบัน
พรรคพลังประชารัฐ ใช้ทางลัดก่อร่างสร้างตัว ระดมดูดนักเลือกตั้งทุกสารทิศมาเป็นสารตั้งต้น จนไม่มีเอกภาพ แบ่งแยกได้หลายก๊กหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสาย กปปส., กลุ่มสามมิตร, กลุ่มบ้านริมน้ำ, กลุ่มชลบุรี, กลุ่มโคราช, กลุ่มภาคเหนือของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, กลุ่มนายสันติ พร้อมพัฒน์, กลุ่มกำแพงเพชร กระทั่งแดนปักษ์ใต้ สายเพื่อรักนายกฯ ก็ยังตั้งกลุ่มต่อรอง
สาเหตุที่ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ นอกจากอาการเล่นตัวของพรรคประชาธิปัตย์ คือ เรื่องการบริหารความพึงพอใจในพรรคพลังประชารัฐเอง เพราะทุกคนต่างเคลมผลงานตัวเอง โดยเฉพาะตัวเลข ส.ส.ในมือ เพื่อนำมาแลกกับเก้าอี้รัฐมนตรีที่สมควรจะได้ มีการเล่นการเมือง ปล่อยข่าวแทงกันเอง เพื่อแย่งชิงอำนาจแบบเนียนๆ ต่างฝ่ายต่างใช้ผลงานในสนามมาแอบอ้าง โดยไม่มีใครพูดว่า เสียสละได้เพื่อพรรค
“คนทำงาน” ที่เหนื่อยสายตัวแทบขาด ไม่ได้รับอะไรเป็นการตอบแทนอย่างเหมาะสม แถม “รางวัล” ยังไปตกอยู่กับ “ขาใหญ่” ที่ยืนสั่งการอยู่นอกพรรคและไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียวในยามที่การจัดตั้งรัฐบาลมีปัญหา เพราะถ้ายอม “เสียสละ” และ “รู้จักพอ” ผลบวกย่อมจะเกิดกับรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งขึ้นเป็นกระบุงโกย
หรือบรรดา “ลูกกรอก” ปลายแถวจากพรรคอื่น ก็เบ่งกล้ามอัพเลเวลตัวเองขึ้นมาเป็น “บิ๊กเนม” เคลมผลงานทุกเม็ด จนได้ที่นั่งมาเป็นกอบเป็นกำ
แบบนี้ “คนอกหัก” ก็พร้อมหันหลังให้กับพรรคทุกเมื่อ
และถ้าสถานการณ์ยังดำเนินไปในลักษณะนี้ ถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้ และมีการผ่าทางตันด้วยอะไรก็แล้วแต่ เช่น ยุบสภาหรือรัฐประหาร ฯลฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคพลังประชารัฐอาจคงอยู่ แต่ไม่ได้ใหญ่เหมือนการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาอีกแล้ว เพราะจะมีใครหน้าไหนมาร่วมหอลงโรงด้วยเนื่องจากเห็นๆ กันอยู่ว่า ทำแล้วไม่ได้อะไร และทำได้เป็นแค่ “นั่งร้าน” ให้กับ “ขาใหญ่” ในการก้าวสู่อำนาจเท่านั้น
ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทั้ง “พรรคประชาธิปัตย์” และ “พรรคพลังประชารัฐ” จะมีการทบทวนสถานการณ์เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร เพราะถ้ายังคงยึดมั่นถือมั่น ก็นับถอยหลังสู่ความล่มสลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเร็วหรือช้าเท่านั้น.