วันศุกร์, มิถุนายน 28, 2562

‘ปิยบุตร’ อภิปรายแผนปฏิรูปประเทศเป็นการปฏิรูปที่ไม่เห็นหัวประชาชน เป็นการอภิปรายที่ดีมาก อย่าพลาด !





‘ปิยบุตร’ อภิปรายแผนปฏิรูปประเทศเป็นการปฏิรูปที่ไม่เห็นหัวประชาชน

พรรคอนาคตใหม่ - Future Forward Party
Published on Jun 27, 2019


[ กองทัพ - ศาล - คสช. ควรต้องถูกปฏิรูปที่สุด ชี้แผนปฏิรูปประเทศปัจจุบัน ทำให้เกิด ซุปเปอร์รัฐบาล - สร้างอุตสาหกรรมปฏิรูป - ส.ว. อยู่เหนือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ] 

ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ 

อภิปรายรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ที่ให้ ครม. แจ้งความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบทุก 3 เดือน 

ระบุว่า 3 หน่วยงานหลักๆ ที่ไม่ถูกพูดถึงในการปฏิรูปทั้งๆ ที่ผ่านมาทั้ง 3 หน่วยงานนี้ ถูกตั้งคำถามอย่างมากจากประชาชนและสื่อมวลชน คือ 1.กองทัพ ที่ออกมาทำรัฐประหารบ่อยครั้ง เราต้องปฏิรูปว่าทำอย่างไรให้กองทัพสอดคล้องกับประชาธิปไตย เคารพหลักสิทธิมนุษยชน 2.ศาลถูกตั้งคำถามตลอด 13 ปีที่ผ่านมา 3. คสช. ซึ่งหัวหน้า คสช. นั้นเป็นบุคคลที่ควรถูกปฏิรูปที่สุด 

นอกจากนี้แผนการปฏิรูปเป็นน่าสังเกตอยู่ 3 ข้อ ดังนี้ 

1.ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าซุปเปอร์รัฐบาล ตามปกติคือมีการเลือกตั้ง ส.ส. เข้าไปตั้งรัฐบาล มีสภาพัฒน์ไว้ร่วมกันเข้าไปหารือเรื่องการปฏิรูป แต่ปัจจุบันมีการปฏิรูปในระบบพิเศษ คือเมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้น มีการอ้างการปฏิรูป ในการปฏิรูปก็มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป แล้วก็จะเกิดระบบรัฐซ้อนกัน เรียกว่า รัฐซ้อนรัฐ (Dual State/Deep State) รัฐหนึ่งคือรัฐปกติที่มาจากเสียงพี่น้องประชาชน แต่มีอำนาจน้อยมากเมื่อเทียบกับรัฐที่เกิดขึ้นมาโดยคณะรัฐประหาร เป็นกระบวนการ militarization of the state คือแปลงรัฐปกติให้เป็นรัฐทหารมากขึ้น มีหัวหน้าคณะรัฐประหาร และนายทหารจำนวนมากนั่งในตำแหน่งดังกล่าว พวกเขาเหล่านี้ก็มากำกับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง 

2. สร้างอุตสาหกรรมการปฏิรูป โดยหลังจากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา มีการตั้งหน่วยงาน มีการประชุม มีการจ่ายเงินเดือน จ่ายเบี้ยประชุมต่างๆ ทำรายงานออกมาปึกๆ ซึ่งจะวนเวียนอยู่อย่างนี้ โดยได้ผลลัพธ์ของการปฏิรูปคือกองกระดาษโตๆ และมีคนเดิมๆ ที่วนเวียนซ้ำไปซ้ำมาในอุตสาหกรรมการปฏิรูป 

3. ทำให้วุฒิสภามีอำนาจขึ้นมาขี่คออยู่เหนือสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 บอกว่าคณะรัฐมนตรีต้องมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศต่อสภาผู้แทนราษฎรทุกๆ 3 เดือน ส.ส. ทำได้เพียงนั่งและอภิปรายแบบนี้ 3 เดือนต่อมาค่อยมาพบกันใหม่ แต่วุฒิสภา (ส.ว.) กลับมีอำนาจติดตามเสนอแนะและเร่งรัด ที่สำคัญคือเวลาที่มีการออกกฎหมายปฏิรูปก็ใช้กระบวนการนิติบัญญัติแบบพิเศษ คือใช้ที่ประชุมร่วมกันของ 2 สภา ปกติเริ่มสภาผู้แทนราษฎรแล้วไปที่วุฒิสภา ส.ว. ทำได้เพียงถ่วงดุลเล็กๆ น้อยๆ สุดท้ายอำนาจอยู่ที่ส.ส. นี่คือการริดรอนอำนาจ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างชัดเจน รวมถึงหาก ส.ว. เกิดมีข้อสงสัยว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปใช่หรือไม่ ก็สามารถเข้าชื่อประธานร้องต่อสภา ให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่วมกัน โดยที่ประธานกรรรมาธิการชุดนั้นคือประธานวุฒิสภา นี่คือตัวอย่างที่ ส.ว. เข้ามาครอบงำ ส.ส. มากขึ้นเรื่อยๆ 

“ทุกวันนี้ ส.ส. กำลังถูกลิดรอนอำนาจ เราถูกดูถูก ถูกกล่าวหาตลอดเวลาว่าไม่ดี จนทำให้เกิดการยึดอำนาจโดยอ้างว่าต้องเข้ามาปฏิรูปประเทศ ผมอยากบอกกับ ส.ส.ทุกท่านว่า นักการเมืองจากการเลือกตั้ง เรามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องผนึกกำลังป้องกันไม่ให้องค์กรแปลกปลอมเข้ามา มิใช่ คอยเปิดประตูให้เขาเข้ามาแทรกแซงอยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดาย เช่น การที่ไม่มีการบรรจุญัติตรวจสอบที่มา ส.ว.ในการพิจารณา” 

“ผมอยากเชิญชวน ส.ส.ทุกท่าน เราเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐเพียงองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้อำนาจแทนประชาชน นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเราสามารถปฏิรูปได้ในระบบปกติ ไม่ต้องใช้ระบบพิเศษ ไม่ต้องเปิดประตูเชิญคณะรัฐประหารเข้ามาปฏิรูป เราแข่งขันกันในระบบปกติ รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากมาเป็นรัฐบาล เสียงข้างน้อยเป็นฝ่ายค้าน มีรัฐบาลเข้าบริหารประเทศ ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ นี่คือการปฏิรูปในระบบปกติ เราต้องปฏิรูปโดยใช้แรงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน ไม่จำเป็นต้องอาศัยทหาร ไม่จำเป็นต้องอาศัย ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง”