วันอาทิตย์, กรกฎาคม 08, 2561

แม่ทัพถ้ำหลวง VS แม่ทัพโรงขยะ ตีแผ่ปมลึกเบื้องหลัง “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” ถูกเด้ง “มิติใหม่ทางรัฐศาสตร์” ที่แปลกประหลาดไม่มีใครเหมือน





แม่ทัพถ้ำหลวง VS แม่ทัพโรงขยะ ตีแผ่ปมลึกเบื้องหลัง “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” ถูกเด้ง “มิติใหม่ทางรัฐศาสตร์” ที่แปลกประหลาดไม่มีใครเหมือน


7 ก.ค. 2561
โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ใต้ฟ้าเมืองไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลทหารเป็นใหญ่ ดังนั้น ขออย่าได้แปลกใจที่คนดีที่ยืนหยัดด้วยฝีมือและผลงานที่ผ่านบทพิสูจน์แล้วอย่าง “นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งขณะนี้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาและบัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) “ขวัญใจมหาชน” จาก “ภารกิจถ้ำหลวง” จะโดนเด้งทั้งที่เป็นคนคุณภาพคับแก้ว

จนเป็นที่มาของคำถามว่า เพราะดันไปขวางทางผลาญงบของลิ่วล้อมหาดไทยที่ปั้นสารพัดโครงการอ้างพัฒนาเมืองเชียงรายแต่แท้จริงเพื่อสวาปามกันอิ่มเอมเปรมอุรามากกว่า ใช่หรือไม่

ยิ่งมองเหนือ “ลิ่วล้อ” ขึ้นไปก็เห็นเงื้อมเงาของ “แม่ทัพโรงขยะ” ผู้มากไปด้วยเรื่องอื้อฉาวตั้งแต่ป่ากระทิงแดงมาจนถึงล่าสุดสั่งย้ายผู้ว่าฯ ตงฉิน คนจริงที่โลกต้องจารึก

ยิ่งขุดคุ้ยลงไปถึงเบื้องลึกเบื้องหลังที่อดีตผู้ว่าฯ เชียงรายคนนี้ เคยลั่นวาจาว่ายอมถูกย้ายแต่ไม่ยอมเซ็นโครงการที่ผิดเด็ดขาด จนกระทั่งมีอันเป็นไปหลังประกาศกร้าวไม่ยอมสังฆกรรมกับความไม่ถูกต้อง ทุจริตคดโกงแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมผิดวิสัยข้าราชการที่เติบโตได้ดิบได้ดีในสายมหาดไทย แล้วนำมาเปรียบเทียบกับ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ในมหาดไทย ก็ยิ่งเห็นความต่างยังกับอยู่กันคนละขั้ว ส่วนใครจะอยู่ขั้วบวกหรือขั้วลบ สังคมก็คงประจักษ์ชัดในผลงานที่ปรากฏแล้ว

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีความเคลือบแคลงสงสัย และมีเสียงเรียกร้องจากสังคมให้ทบทวนคำสั่งอีกครั้ง แต่ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่างยืนกรานต้องไปตามนั้นโดยไม่สนใจ สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นใน “พลังของประชาชน” ไม่คำนึงถึงกระแสสังคม ไม่ส่งเสริมคนดีจริง แต่มั่นใจใน “พลังดูด” มากกว่า จึงเลือกที่จะเอาใจนักการเมืองท้องถิ่นและนักเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เรื่องนี้รัฐบาล บิ๊กตู่ สามารถดึงคะแนนนิยมที่กำลังต่ำเตี้ยเรี่ยดินให้กระเตื้องขึ้นมาได้ นับเป็น “มิติใหม่ทางรัฐศาสตร์” ที่แปลกประหลาดไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่สายที่คิดใหม่ทบทวนใหม่ ไม่งั้นคงได้รับการจารึกผลงานอันสุดพิลึกนี้เป็นกรณีศึกษาให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เห็นเป็นแน่แท้

หากมองย้อนตลอดเวลานับสิบกว่าวันที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มภารกิจค้นหาทีมนักฟุตบอลและโค้ชหมูป่า อะคาเดมี 13 คน ที่ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอง จ.เชียงราย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนเป็น “แม่ทัพใหญ่” ในการกู้วิกฤตครั้งนี้อย่างเห็นได้ชัด สะท้อนวลีที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ได้เป็นอย่างดี และมีเสียงแซ่ซ้องชื่นชมจากทุกสารทิศ แม้แต่ “บิ๊กป๊อก” ยังต้องตามกระแส ชมไม่ขาดปากว่า ทั้งดี ทั้งเก่ง เป็น “ผู้ว่าฯ น้ำดี” ที่หาได้ยาก ย้อนแย้งกับข้ออ้างเพื่อโยกย้าย “ลดเกรด” นายณรงค์ศักดิ์ พ้นเชียงรายไปเมืองเล็กกว่าอย่างพะเยา เมื่อช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาโดย อ้างเหตุที่ย้ายนายณรงค์ศักดิ์ เพราะการทำงานมีปัญหากับบางหน่วยงานในท้องถิ่น จ.เชียงราย

ปากก็ชมเป็นผู้ว่าฯ น้ำดี โยกย้ายไปพะเยา ไม่ใช่การลดเกรด แต่ใคร

ก็รู้ว่าเป็นคำพูดที่ย้อนแย้งกันเองของ มท.1 เพราะเมื่อเทียบศักยภาพของพื้นที่ระหว่างเชียงรายกับพะเยาก็เห็นชัดว่าไปใหญ่ในเมืองเล็กกว่า ทั้งทางภูมิศาสตร์ ขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และที่ตั้งที่เป็นแลนด์ลิงค์ของเชียงรายซึ่งเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน ย่อมมีโอกาสพัฒนาแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเชียงรายมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 11,678.369 ตร.กม. ส่วนพะเยามีพื้นที่เล็กกว่าเกือบเท่าเพียง 6,335 ตร.กม. ส่วนจำนวนประชากร เชียงราย มีประมาณ 1,287,615 คน พะเยา มีเพียง 486,744 คน การที่จำนวนพื้นที่และจำนวนประชากรมากน้อยต่างกันนั้น นำมาซึ่งงบประมาณพัฒนาจังหวัด เขตเลือกตั้ง จำนวน ส.ส.ที่แตกต่างกัน ตามไปด้วย

ส่วนสภาพเศรษฐกิจ แน่นอนในภาพรวมเชียงรายนั้นย่อมดีกว่า เมื่อเรียงลำดับผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product at Current Market Price per capita) ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ช่วงปี 2558 - 2559 เชียงรายจะอยู่ในอันดับที่ 46 ส่วนพะเยา อยู่ในลำดับที่ 51

นอกจากนั้น เชียงรายยังเป็นด่านหน้าเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เป็นทั้งประตูเปิดรับนักท่องเที่ยวและการค้าชายแดน โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าเชียงรายทั้งปี 2560 มีมากกว่า 4 ล้านคน ขณะที่การค้าชายแดน มีมูลค่าสินค้าส่งออก 44,000 กว่าล้านบาท มูลค่านำเข้า 6,000 กว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของจังหวัดเชียงราย ตามการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ) ปี 2559 อยู่ที่ 60,781 บาท ส่วนรายได้เฉลี่ยของประชาชนจังหวัดพะเยา ปี 2559 กลับมากกว่าที่ 68,165 บาท/คน/ปี

ถึงเวลานี้ สังคมไทยและสังคมโลกคงได้เห็นว่า ระหว่างนายณรงค์ศักดิ์ พ่อเมืองเชียงราย กับ “บิ๊กป๊อก” มท.1 กับหน่วยงานท้องถิ่นอย่างเทศบาลเมืองเชียงราย ใครมีปัญหาในการทำงานกันแน่ ใครคือของจริงของปลอม ด้วยภารกิจกู้ภัยทีมหมูป่า ณ ถ้ำหลวง สะท้อนภาพชัดว่า นายณรงค์ศักดิ์ นั้นเป็น “มือประสานสิบทิศ” บริหารจัดการวิกฤตได้ยอดเยี่ยมระดับโลกต้องชื่นชม การทำงานที่แข่งกับเวลาโดยมี 13 ชีวิต เป็นเดิมพัน แต่ละวินาทีผ่านไปบีบคั้นหัวใจขนาดไหน ต้องวางแผนรัดกุม ต้องสยบกระแสข่าวลือข่าวมั่ว ขณะที่พวกจ้องป่วนพาออกอ่าวก็ใช่น้อย แต่พ่อเมืองเชียงราย โชว์ฝีมือให้เห็นว่า จัดการได้อย่างเป็นระบบ เอาอยู่ กู้วิกฤตผ่านพ้นได้อย่างดียิ่ง





ในทางกลับกันถ้าหากเปลี่ยนจากพ่อเมืองเชียงราย ไปเป็น “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” นำทัพการกู้วิกฤตคราวนี้จะเป็นเช่นใด เอาแค่การเข็น “โครงการจัดการขยะ” ให้เป็น “วาระเพื่อชาติ” ก็ยังยักแย่ยักยันไม่เห็นหน้าเห็นหลังแถมมีแต่พวกเสือหิวรุมจ้องเขมือบเพราะปั้นแต่งโครงการกะจะปูพรมลงทุนเก็บเกี่ยวดอกผลกันเป็นหมื่นเป็นแสนล้านกันเลยทีเดียว แล้วนี่เป็น “วาระเพื่อมนุษยชาติ” ที่ทั่วโลกจับจ้อง ไม่อยากจะนึกเลยว่าสไตล์ “เสือเงียบ” จะรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างไร ยิ่งกระแสสื่อโซเซียลที่เต็มไปด้วยข่าวลือข่าวมั่ว ฯพณฯ จะจัดการได้อย่างอดีตผู้ว่าฯ เชียงราย คนนี้ หรือไม่

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า พี่น้องสองเสือตะวันออก น่าจะไตร่ตรองหาทางออกในการโยกย้ายผู้ว่าฯเชียงราย คนนี้ ออกนอกพื้นที่เสียใหม่ ไม่งั้นสังคมก็ยังจะคาใจไม่เลิกในเหตุผลที่ว่าย้ายจากเชียงรายไปพะเยาไม่ได้ลดเกรดทั้งที่ใครๆ ก็แปลความหมายไปในทางเดียวกันว่านี่คือการถูกลงโทษ และหากคำของ “นายก ฯตู่” เป็นเหตุผลที่แท้จริง ในเรื่องส่งคนมีฝีมือไปในพื้นที่ต่างศักยภาพคงตอกย้ำ “ค่านิยม” ในหมู่มวลข้าราชการไทย ตามคอนเซ็ปต์ “เช้าชาม เย็มชาม” ไม่ต้องสร้างผลงานให้โดนเด้ง เป็น “คนมีฝีมือ” ที่จะทำให้ถูก “ลดชั้น -ลดเกรด” เช่นนี้ แม้ว่าขั้นตอนการโยกย้ายรอบนี้จะเรียบร้อย แต่ “ลุงตู่” ในฐานะผู้นำรัฐบาล ก็มีอำนาจในการปรับเปลี่ยนในอนาคตได้อยู่ที่จะทำหรือไม่

และยิ่งหากใคร่ครวญตามเหตุตามผลที่ “บิ๊กตู่” และ มท.1 มักพร่ำบ่นว่าจะอภิบาลคนดี ขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น คนคดโกง ผู้ว่าฯ ตงฉิน คนนี้ก็ไม่น่าจะอยู่ในรายชื่อคำสั่งโยกย้ายผู้ว่าฯ และข้าราชการระดับสูงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอให้โยกย้ายในช่วงกลางปี จำนวน 12 ตำแหน่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของนายณรงค์ศักดิ์ถูกย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา หลังจากเขาออกมาพะบู๊เบรกโครงการต่างๆ ของเมืองเชียงราย ที่มีอยู่กว่า 20 โครงการ ในแฟ้มที่ส่งมาให้ผู้ว่าฯ อนุมัติในระยะเวลาหนึ่งปีที่อยู่ในฐานะพ่อเมือง กระทั่งความตงฉิน ตรงไปตรงมา ทำให้เกิดความขัดแย้งกับหลายภาคส่วนเกิดมีปัญหาในการทำงาน

กล่าวสำหรับโครงการที่หนักที่สุด เห็นจะเป็นโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ช้างฯ บนเกาะกลางน้ำกก ที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เบรกแตกประกาศลั่นยอมไม่ได้ โดยไม่อาจให้ใช้ที่ดินบนเกาะกลางแม่น้ำกกเพื่อดำเนินโครงการ เพราะขณะนี้มีการนำเอาที่ดินที่ผิดกฎหมายไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ หากอนุมัติก็อาจต้องถูกดำเนินคดี และกรมเจ้าท่า แจ้งว่าเป็นที่สันดอนทรายและกำลังดำเนินคดีต่อผู้ที่เข้าไปดำเนินการใช้ประโยชน์ ผู้ว่าฯ ยังย้ำว่า งบประมาณนี้สามารถผันไปใช้เป็นพัฒนาด้านอื่นได้กว่า 31 โครงการ เช่น ถนน แหล่งน้ำ ฯลฯ แต่ก็ไม่เอากัน จึงมีปัญหาและพยายามจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างให้ได้

“ผมเป็นผู้ว่าฯ ผมมีหน้าที่คุมทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎกติกา ท่านรู้ไหมเชียงรายที่ผ่านมา ศักยภาพมันควรจะเจริญขนาดไหน เชียงรายได้ 100 บาท มันควรจะลงให้ถึง 100 บาท หรืออย่างน้อย 90 บาท วันนี้ลงได้แค่ 30-40 บาท เขาถึงส่งผมมา วันนี้ 20 กว่าโครงการ ผมเซ็นไม่ได้ เพราะมันผิดกติกาหมด และผมก็โดนขับไล่ เพราะผู้ว่าฯ มาแล้วไม่พัฒนา ตกลงผมยอมไปที่ไหนก็ได้ แต่ผมจะไม่ยอมเซ็นโครงการที่ผิด เพราะรู้ว่าผิด เงินก็ตกไปโดยเปล่าประโยชน์ ถูก สตง.สอบ ผมยอมย้ายไปที่ไหนก็ได้ ถ้าไปแล้วไม่ปวดหัวอย่างนี้ ....

“ความจริงเรื่องนี้ผิดกฎหมายมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 60 แล้ว ต่อมาเดือนมกราคม-มีนาคม 61 ก็สอบถามไปก็ไม่ได้ข้อยุติ ทำให้การผันงบประมาณตกไป ดังนั้นจะด่าตนอย่างไรเรื่องนี้ตนไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น” นายณรงค์ศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2561 ในวันที่ชาวเชียงรายขอเข้าพบเพื่อให้สนับสนุนให้โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ช้างฯ บนเกาะกลางน้ำกก แต่หลังจากผู้ว่าฯ ออกมาเคลียร์ปัญหาชัดชาวบ้านจึงเข้าอกเข้าใจมากขึ้น

นายณรงค์ศักดิ์ ยังเปิดแผลเน่าด้วยอีกว่า “ตอนนี้มีโครงการที่ถูกร้องเรียนมากมาย เช่น รูปปั้นปลาบึกที่ อ.เชียงของ สร้างแล้วใช้ไม่ได้ก็ถูกสอบแล้ว โรงแยกขยะบางแห่งดำเนินการแล้วกว่า 300 ล้านบาท แต่เปิดใช้ไม่ได้ โครงการศิลปะบางอย่าง ราคามากกว่าที่ควรจะเป็น 10 เท่า ฯลฯ เรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง และรื้อให้หมด ซึ่งตรวจพบจากการที่ถูกนำเสนอโครงการขึ้นมา หากอนุมัติก็ถูกดำเนินคดีและถูกกล่าวหาว่าตนเป็นคนทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งผมไม่ยอมเด็ดขาด”

ต้องไม่ลืมว่า โครงการจัดการขยะรูปแบบใหม่ที่จะเน้นการผลิตพลังงานจากการเผาขยะนั้น ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่รัฐบาลบิ๊กตู่ โหมกระแสในช่วงปีสองปีนี้โดยมี “บิ๊กป๊อก” เป็นแม่ทัพใหญ่ ซึ่งตามโรดแมปนั้น จังหวัดนำร่องที่จะจัดการขยะในรูปแบบใหม่ 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ภูเก็ต สงขลา กรุงเทพฯ เชียงราย เช่นนี้แล้ว เมื่อนายณรงค์ศักดิ์ ในฐานะพ่อเมืองเชียงราย ออกมากะซวกโครงการจัดการขยะในฝันที่เชียงรายของ มท. 1 เข้าให้ จึงถึงวาระต้องย้ายออกนอกพื้นที่ให้พ้นทาง ตามคาด

สำหรับโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ช้างคู่บารมีพญามังราย ทางเทศบาลนครเชียงราย ได้รับงบประมาณมาจากโครงการตามแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปี 2561 เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรมล้านนา จำนวน 32 ล้านบาท เป็นโครงการที่เทศบาลร่วมกับศิลปินออกแบบให้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ช้างที่มีความสูง 7.61 เมตร ฐานสูง 30 เซนติเมตร หล่อด้วยโลหะบรอนซ์ทั้งองค์ บนเกาะกลางแม่น้ำกก แต่ทางจังหวัดฯ ไม่อนุมัติเพราะมีปัญหาเรื่องที่ดินดังกล่าว ต่อมาวันที่ 20 มี.ค. 2561 เทศบาลฯ จึงทำประชาพิจารณ์ย้ายจุดก่อสร้าง ณ บริเวณศาลากลาง จ.เชียงราย หลังเก่า ถนนสิงหไคล อ.เมืองเชียงราย ซึ่งชาวบ้านที่เข้าร่วมประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ก่อสร้าง แต่ก็มีกลุ่มที่คัดค้านและต้องการให้ผันงบประมาณไปใช้ด้านอื่นหรือสร้าง ณ จุดอื่น จึงเกิดปัญหาลุกลามขึ้นดังกล่าว





หลังจากมีปัญหาเกิดขึ้น กระทรวงมหาดไทย ได้ตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 โดย บิ๊กป๊อก สั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย แจ้งไปยังผู้ว่าฯ เชียงราย สรุปข้อเท็จจริงรายงานให้ทราบภายในวันที่ 28 มี.ค. 2561 พร้อมคำกล่าวสวยหรูว่ า กระทรวงมหาดไทย ยึดถือนโยบายของรัฐบาล หากมีการทุจริตประพฤติมิชอบต้องดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมส่งเสริมข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่ต่อต้านการทุจริต แต่ผลที่ออกมากลับเป็นคนละเรื่อง เพราะมท.1 ดันทำเรื่องโยกย้ายผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ จากเชียงรายไปพะเยา จากนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติตามที่มหาดไทยเสนอ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทบทวนคำสั่งย้าย นายณรงค์ศักดิ์ เสียใหม่ เพราะการสั่งย้ายดังกล่าวสังคมไทยคงไม่เชื่อว่าเป็นการหมุนเวียนตำแหน่งตามรอบ หรือการหมุนไปพัฒนาที่อื่นให้ดีขึ้น แต่เชื่อว่าถูกย้ายเพราะเป็นคน “ตงฉิน” ไม่ยินยอมให้กับเรื่องที่มีความไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการไม่อนุมัติสร้าง “อนุสาวรีย์พญามังราย” บนเกาะกลางแม่น้ำกก

พาย้อนกลับไปดูโปรไฟล์ของผู้ว่าฯ ตงฉิน อีกครั้ง นี่ถ้ามาสายตรงมหาดไทย ความรู้ความสามารถคงไม่ล้ำขนาดบริหารจัดการวิกฤตชนิดต้องยกนิ้วเป็นแน่ และความต่างแบบไม่เข้าพวกนี่แหละที่ทำให้นายณรงค์ศักดิ์ “อยู่ยาก” และเลือกที่จะไม่ทำตัวแบบ “อยู่เป็น” โดยภูมิรู้ด้านการศึกษานั้น นายณรงค์ศักดิ์ เป็นผู้ว่าฯ คงแก่เรียน จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นิติศาสตรบัณฑิต และประกาศนียบัตรกฎหมายที่ดินและทรัพย์สิน, เทคโนโลยีบัณฑิต (เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และจบปริญญาโท Master of Science (Geodetic Sciene and Surveying) จาก Ohio State University

ส่วนประวัติการทำงาน เคยเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 7 (จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง), ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจ (วิศวกรสำรวจทรงคุณวุฒิ) กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย (2556-2559),ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีทำแผนที่ กรมที่ดิน, ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลแผนที่รูปแปลงที่ดินแห่งชาติ กรมที่ดิน, เลขานุการกรม กรมที่ดิน, กรรมการในคณะกรรมการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของกระทรวงมหาดไทย, กรรมการและเลขานุการ ในคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานระวางแผนที่และแผนที่รูปแปลงที่ดินในที่ดินของรัฐ, อนุกรรมการในอนุกรรมการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศพื้นฐาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA), ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมสำรวจ ในคณะทำงานด้านระบบดาวเทียมเพื่อการนำทาง (GNSS) GISTDA, ผู้แทนกรมที่ดิน ในคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการฯ

นอกจากนั้น ยังเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (2552-2556), ประธานคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ ของคณะกรรมการแก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) (2552-2556), อนุกรรมการ ในคณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้ง คณะที่ 24 ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2554-2557) กรรมการ ในคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2555-2557), กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในคณะกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (2558), กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นบัญชีของกระทรวงการคลัง สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการให้เอกชนลงทุนในโครงการของรัฐ (2557-ปัจจุบัน)

จึงไม่น่าแปลกใจ ไฉนผู้ว่าฯ ถึงสามารถประสานสิบทิศ อ่านแผนที่รู้ดูแผนที่เป็น มีความรู้ความเข้าใจโครงสร้างภูมิศาสตร์ของถ้ำ เข้าใจข้อจำกัดของการช่วยเหลือทีมหมูป่าในแต่ละแผนที่มีการนำเสนอมาจากทุกสารทิศ ที่สำคัญคือแผนช่วยเหลือมีแนวทางชัด มีหลักมั่น แบบ “ไม่มั่ว” จากความรู้รอบด้าน ไม่ใช่ใครจะเสนออะไรก็รับหมดทั้งที่ไม่เข้ากับแผนกู้ภัย ดูเอาแต่เครื่องสูบน้ำพญานาคที่เป็นหนึ่งในพระเอกของงานนี้ก็ยังต้องนอนรออยู่ถึงสองวันกว่าจะได้ลงมือทำงานจริง

ท็อปฟอร์มแบบนี้แล้ว ก็คิดอ่านกันเองเถอะว่าสมควรย้ายแบบลดเกรดเสมือนลงโทษ ฐานตงฉินทำงานดีเกินมาตรฐานมหาดไทย หรือไม่ ? เมื่อเทียบกับ “บิ๊กป๊อก” ซึ่งกำลังเร่งเครื่องทำให้ความน่าเชื่อถือของพลังประชารัฐที่มีต่อรัฐบาลลดต่ำลง ก็น่าเห็นใจแต่ “ลุงตู่” ผู้น่ารักที่ต้องออกมาโอบอุ้ม “พี่ป๊อก” อีกครั้งและอีกครั้ง

และเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมานายณรงค์ศักดิ์ได้เขียนข้อความเผยแพร่ผ่านกลุ่มไลน์ส่วนราชการของเชียงราย ทิ้งท้ายเอาไว้อย่างกินใจว่า

“ผมต้องขออนุญาตออกจากกลุ่มไลน์ครับ ด้วยต้องเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ที่จังหวัดพะเยา ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างดีเยี่ยม ผมชื่นชมในผลงานของเพื่อนร่วมงานทุกท่าน ในการปฏิบัติงานบางครั้งย่อมมีความขุ่นข้องหมองใจเป็นธรรมดา หากผมได้ล่วงเกินท่านใดไป ต้องขอกราบขออภัยด้วยใจจริง ผมขอฝากผลงานและหลักการดีๆ ที่ได้วางไว้แล้ว หากได้สานต่อ ผมเชื่อว่าเชียงรายของเราจะเจริญยั่งยืนอย่างแน่นอน 15 เดือนในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คงจะเป็นความทรงจำที่มีค่ายิ่ง และตราติดในใจของผมไปชั่วชีวิต ผมรักเชียงราย และทุกคนมาก ผมคงไม่บอกว่าผมจะลาเชียงราย เพราะเชียงรายได้ติดตราในดวงใจผมไปตลอดชั่วนิรันดรแล้ว สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณทุกท่านผมภูมิใจ ที่ได้ร่วมงานกับทุกท่าน โดยเฉพาะในยามวิกฤต กราบขอบคุณทุกพลัง และดวงใจของเจ้าหน้าที่ และชาวเชียงราย ที่ได้ส่งผลให้มีผลงานอย่างโดดเด่นในวันนี้ ผมรักเชียงราย ผมรักทุกคน”

ooo