มีคำถามล้อเลียนว่า ลองทายกันดูซิว่า
ไทม์จะเปลี่ยนฉายาของประยุทธ์จาก ‘สฤษดิ์น้อย’ ไปเป็น ‘ลุงตู่’ อย่างที่ โฆษกกระทรวงต่างประเทศเขียนโต้นิตยสารไทม์
หรือไม่ คำตอบคาดหมายได้ไม่ยาก ‘no way’ ไม่มีทาง
‘ไทม์’ อาจจะตีพิมพ์จดหมาย
(ในฉบับต่อไป) ตามที่นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ ผู้เขียนร้องขอไว้ในตอนท้าย และให้เกียรติเจ้าของจดหมาย
(กต.ไทย) โดยมีคอมเม้นต์เบาๆ หรือตอกกลับ หรือขออภัย อย่างใดอย่างหนึ่ง (ข้อหลังนี่คิดว่า
‘คงยาก’) ก็ไม่แปลกอะไร
การที่สำนักงานของผู้นำประเทศ
หรือทำเนียบรัฐบาลหนึ่งใด จะเขียนจดหมายหรือออกแถลงการณ์ตอบโต้สื่อใดสื่อหนึ่ง เป็นเรื่องปกติของสากล
แต่การใช้กระทรวงต่างประเทศออกหนังสือ ‘ต่อว่า’ และโต้แย้งเนื้อหาของข้อเขียนที่ตีพิมพ์แพร่หลายทั่วโลก เช่นที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศมีถึงนิตยสารไทม์
ไม่ปกติ
ในเมื่อบทความที่ถูกโต้แย้งนั้นมาจากการสัมภาษณ์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบ ‘one on one’ หรือตัวต่อตัว
ชนิดที่โฆษกรัฐบาล (ห่านอู) ออกมาจัดฉากประโคมเอาไว้แล้วก่อนแพร่หลาย
ด้วยคิดว่านักเขียนของไทม์คงจะไม่ทำการบ้านในการค้นคว้าข้อเท็จจริงในเชิงลึก
แล้วตีพิมพ์เฉพาะสิ่งที่ประยุทธ์พูด และเนื้อหาที่ทีมประชาสัมพันธ์ของประยุทธ์ยัดให้
แน่ละ เฉพาะประเด็น ‘ชื่อ (ล้อ) เล่น’ ที่เขาตั้งให้ประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญมากมายไปกว่าประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล
คสช. หรือกรณีความสัมพันธ์ทางทหาร (จัดสร้างโรงงานผลิตอาวุธในไทย) ร่วมกับจีน
แต่ประเด็นชื่อล้อนี้แหละน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กระทรวงต่างประเทศจำต้องเขียนจดหมายตอบโต้นิตยสารไทม์
สองอาทิตย์หลังจากเริ่มปรากฏบทความดังกล่าวทางอินเตอร์เน็ต เมื่อ ๒๑ มิถุนายน ๖๑
เพราะคำ ‘สฤษดิ์น้อย’ หรือ ‘Little Sarit’ ที่เขาตั้งให้ ไม่ได้ ‘irrelevant’
นอกเรื่องอย่างที่จดหมายของ น.ส.บุษฎี พยายามแก้ต่าง
แน่ละบุคคลิกภาพ และสภาวะการณ์ที่สฤษดิ์และประยุทธ์ครองอำนาจแตกต่างกัน
อีกทั้งประยุทธ์ไม่ได้ ‘ยิงเป้า’
ดะอย่างสฤษดิ์ (ดังที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช.
แก้ตัวแทนเอาไว้แล้ว)
‘สฤษดิ์น้อย’ เป็นคำที่ชาลี แคมพ์เบลล์ ผู้เขียนบทความเรื่อง ‘Thailand’s leader
promises to restore Democracy. Instead he’s tightening his grip.’ ในนิตยสารไทม์ใช้อย่างต้องตรงและล้ำลึกแบบที่สื่อไทยไม่เขียน หรือไม่กล้า
ย้อนกลับไปดูเนื้อหาบทความของชาลี
แคมพ์เบลล์ อีกที “Prayuth strengthened ties with the royal
household and earned himself the nickname Little Sarit,”
(ประยุทธ์สร้างสัมพันธ์แนบแน่นกับราชสำนัก ทำให้เขาได้ชื่อว่า ‘สฤษดิ์น้อย’)
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผู้ศึกษาประเทศไทยรู้ดี
ว่า “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ที่ยึดครองอำนาจจากการรัฐประหารในปี ๒๕๐๐
และช่วยส่งเสริมให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาทสุดยอดในสังคมไทย...
และเป็นประเทศที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโทษหนักที่สุดในโลก
ซึ่งถูกนำมาใช้ในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมากยิ่งขึ้น”
การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ “ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง”
เป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ไม่เพียงแต่คณะรัฐประหาร และรัฐบาลที่คณะรัฐประหารจัดตั้งหรือเป็นเอง
‘ดูเลวทราม’
แต่ยังทำให้เสื่อมเสียถึงสถาบันซึ่งผู้ใช้กฎหมายอ้างว่าปกป้องด้วย
คงจะมีใครสะกิดกระทรวงต่างประเทศให้ทำแทนทีซิ
ปล่อยไว้เฉยๆ ไม่ได้ หากลุกลามไปมากอาจเกิดการ ‘กริ้ว’ ขึ้นมา ประยุทธ์และคสช.อาจจะต้องลำบาก นอกเหนือจากเนื้อหาส่วนใหญ่ในบทความ
‘ไม่อวย’ แล้วยัง ‘อัดหนัก’ เสียอีก
ฉะนั้นจึงเป็นความจำเป็นจะต้องแก้ต่างด้วยการ
‘มดเท็จ’ บางอย่างก็เอา เช่นที่เขียนว่า
“รัฐบาล (คสช.) ให้ความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่” และปฏิเสธเรื่อง
“ประเทศไทยถอยไปสู่วิถีเผด็จการอย่างถาวร” ก็ไม่ใช่ว่าบทความกล่าวอ้างเกินไปแต่อย่างใด
‘Last but not least,’ ขออีกนิดนะ
(ตามสไตล์จดหมาย กต.) เรื่องที่ว่ารัฐบาล คสช. กำหนดยุทธศาสตร์ ๒๐ ปีให้รัฐบาลต่อๆ
ไปทำตามนั้น บทความไทม์ชี้ให้เห็นไว้ถูกต้องว่าคือการ ‘prolong’ ยืดยื้ออำนาจของคณะรัฐประหาร
ข้อความในจดหมาย กต. ที่ว่ายุทธศาสตร์ คสช.
เป็นแนวทางชัดเจน มุ่งหมายให้รัฐบาลอื่นๆ ต่อจากนี้ไป “ใช้วางแผนระยะยาวและทำการปฏิรูปในทางปฏิบัติ”
นั่นก็เป็นลักษณะชัดแจ้งของวิถีเผด็จการ
น่าสลดที่จดหมาย กต. เขียนด้วยภาษาสละสลวยและคมเข้ม
หากแต่เนื้อความเต็มไปด้วยปฏิกูลของการโป้ปด ประดุจดังเด็กน้อยทำผิดแล้วขอให้ได้เถียง