วันจันทร์, กรกฎาคม 16, 2561

ไฉนประธานปฏิรูปเศรษฐกิจยุค คสช. บอกไทยป่วยเริ้อรัง มีแต่ 'ความสิ้นหวัง'


ไหนว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยไง ไฉนประธานกรรมการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจแห่งยุค คสช.ครองเมือง จึงบอกว่า “อาการของประเทศไทยเหมือนกับ ผู้ป่วยเรื้อรัง ที่รัฐบาลพยายามจ่ายยาหลายขนาน แต่อาการกลับไม่ตอบสนอง”

ไม่ตอบสนองอย่างไร “เรื่องแรกคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ...” คนไทย ๑๐% หรือประมาณ ๗ ล้านคน มีชีวิตใต้เส้นความยากจน “คนไทย ๑๐% ที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุด มีรายได้ห่างกันถึง ๒๒ เท่า” และ “คนไทยมากกว่า ๗๕% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ขณะที่ฉโนดกว่า ๖๑% อยู่ในมือคนแค่เพียง ๑๐%

เหมือนว่าสัญญลักษณ์ประเทศไทยคิดเป็นตัวเลข ก็แค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ทั้งหัวและท้าย ขณะที่อัตราการเติบโตวนเวียนอยู่ในระดับ ๔% ทำให้ “มองอนาคตยิ่งท้าทาย เพราะไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย” วัยเดียวกับพวกครองอำนาจขณะนี้

ปัญหาอยู่ที่ “ฐานกำลังคนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะน้อยลง ขณะที่ประเทศในภูมิภาคประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ในเชิงเศรษฐกิจจึงเปรียบเอาคนแก่ไปสู้แรงกับคนหนุ่มสาว” จึงทำให้ “โอกาสที่คนไทยจะแก่ก่อนรวยและจนตอนแก่ จะมีมากขึ้น”

แต่ว่าพวกคนแก่ที่ครองอำนาจขณะนี้รวยไปแล้ว เหลือแต่คนแก่ส่วนใหญ่ยังไม่รวย จึงต้องไปแย่งเด็กกินกันต่อไป

ทั้งที่อดีตผู้ว่าการธนาคารชาติ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ชี้ว่า “กลไกและบทบาทของภาครัฐไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” เนื่องมาจาก “ทิศทางการพัฒนาที่เน้นปริมาณอย่างหยาบๆ ที่แน้นแค่จีดีพี โตปีละมากๆ โดยไม่ดูคุณภาพ”

ประจวบกับผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการอยากฟอกขาวตัวเองให้ดูดีในการครองอำนาจยาวๆ จึงออกหน้าว่าส่งเสริมการค้าเสรีแบบ มือใครยาวสาวได้สาวเอาเลยร่วมมือกับเจ้าสัวสร้างประชารัฐแบบมีพลังทางการเมืองสูง หนุนผู้เผด็จการได้กลับมาเป็นนายกฯ อย่างอิงการเลือกตั้ง

แต่ว่าการก้าวตามโลกาภิวัฒน์ของไทยไม่สามารถทันการพัฒนาเทคโนโลยี่โลกได้ เนื่องจาก “ฉันทามติร่วมกันของคนในสังคมที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่นำพาประเทศไปสู่สังคมที่พึงปรารถนานั้น เริ่มไม่ชัดเจน” จากการที่ “อีกข้างเริ่มเสื่อมศรัทธากับประชาธิปไตย”

และแล้วปัญหาก็วนกลับไปที่เดิม “การที่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยสั่นคลอนเกิดจากปัจจัยอย่างน้อย ๓ ประการ คือ ผลของกระบวนการโลกาภิวัตน์ วิกฤตการเงินโลก และการแบ่งขั้วทางความคิดในสังคมที่ชัดเจนขึ้น”


เช่นนี้แล้วสังคมจะไปทางไหน ในเมื่อสิ่งที่เกิดในช่วงยึดอำนาจกว่าสี่ปี ทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมมีแต่ 'ความสิ้นหวัง'