วันอังคาร, กรกฎาคม 10, 2561

สื่อญี่ปุ่นตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยท่องเที่ยวในไทยกรณีถ้ำหลวงและเรือล่มที่ภูเก็ต



ภาพการขนย้ายผู้เสียชีวิตกรณีเรือล่มที่ จ.ภูเก็ต (ที่มา:สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)


สื่อญี่ปุ่นตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยท่องเที่ยวในไทยกรณีถ้ำหลวงและเรือล่มที่ภูเก็ต


2018-07-09
mี่มา ประชาไท


สื่อญี่ปุ่น นิกเคอิ เอเชียน รีวิว ตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยของการท่องเที่ยวในเมืองไทยหลังกรมอุทยานฯ ออกมาระบุว่ามาตรการความปลอดภัยการเข้าถ้ำมีความผิดพลาด ทำให้นักฟุตบอลทีมหมูป่าติดอยู่ในถ้ำหลวง ตลอดจนเหตุเรือท่องเที่ยวล่มปริศนาจนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 41 คน ที่ จ.ภูเก็ต


เมื่อ 7 ก.ค. สื่อนิกเคอิ เอเชียน รีวิวของญี่ปุ่น ตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยของการท่องเที่ยวในประเทศไทยจากเหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าที่เข้าไปติดในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน และเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวฟีนิกซ์ล่มที่ จ.ภูเก็ต

หลังจากทีมหมูป่าเข้าไปติดอยู่ในถ้ำ ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ ระบุว่าทางกรมฯ ได้สั่งปิดการท่องเที่ยวถ้ำจำนวน 169 แห่ง จนกว่าจะมีการประเมินความปลอดภัยช่วงฤดูฝน นอกจากนั้นยังระบุว่าต่อไปจะต้องมีการลงทะเบียนผู้เข้า-ออกถ้ำในเขตอุทยานฯ และวนอุทยานฯ

หลังจากทีมหมูป่าเข้าไปติดในถ้ำ ธัญญาได้ออกมายอมรับว่ามีความผิดพลาดในมาตรการความปลอดภัยที่ถ้ำหลวง โดยป้ายเตือนหน้าทางเข้าถ้ำเขียนเตือนว่านักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าไปในถ้ำในช่วงเดือน ก.ค.-พ.ย. แต่เด็กๆ และโค้ชเข้าไปในถ้ำในวันที่ 23 มิ.ย. ก่อนที่ฝนจะตกหนักและทำให้เกิดน้ำท่วมถ้ำจนทำให้ทีมหมูป่าติดอยู่ข้างในและต้องถอยร่นลึกเข้าไปในถ้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กล่าวเมื่อวันอังคารที่แล้วว่าว่าถ้ำหลวงได้โด่งดังไปทั่วโลก และจะเป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไป ในขณะที่ทีมหมูป่ายังคงอยู่ในถ้ำ ตามมาด้วยการเสียชีวิตของ จ.อ.สมาน กุนัน ทหารนอกราชการ จบหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือหน่วยซีล รุ่นที่ 30 เจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุฝ่ายรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ท่าอากาศสุวรรณภูมิ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างการดำเนินการลำเลียงถังออกซิเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำหลวงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

นอกจากนั้น ในช่วงเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ก็มีกรณีเรือนักท่องเที่ยว ‘ฟีนิกซ์’ ล่มที่ จ.ภูเก็ตเมื่อ 5 ก.ค. ที่มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 คน สูญหาย 15 คนโดยสาเหตุของการออกเรือในวันที่มีมรสุมและการล่มยังคงอยู่ระหว่างการสืบสวน ในวันเดียวกันนั้นก็ยังมีเรือยอชต์ ‘เซเรนเนตต้า’ ล่มที่เกาะไม้ท่อน และคู่สามีภรรยาชาวรัสเซียที่หายไประหว่างขี่เจ็ตสกีบนน่านน้ำภูเก็ตซึ่งภายหลังผู้โดยสารเรือเซเรนเน็ตต้า และสามีภรรยาชาวรัสเซียก็ถูกช่วยชีวิตไว้แล้ว ยิ่งเป็นสัญญาณที่ทำให้เกิดความกังวลกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย

ภาคการท่องเที่ยวมีขนาดเศรษฐกิจนับเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี นอกจากนั้นยังเป็นภาคส่วนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนิกเคอิให้เหตุผลว่าเกิดขึ้นจากการมีสายการบินต้นทุนต่ำและรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยก็เป็นประเด็นที่สามารถฉุดกระแสการท่องเที่ยวที่พุ่งสูงขึ้นมา ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลก โดยองค์การอนามัยโลก(WHO) จัดอันดับให้ไทยอยู่ที่สองของประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงที่สุดในโลก โดยมีอัตราส่วนการเสียชีวิตอยู่ที่ 36.2 รายต่อคน 1 แสนคน นับเฉลี่ยเป็น 24,000 รายต่อปี และ 66 รายต่อวัน โดยร้อยละ 73 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สองล้อและสามล้อ




กราฟิกแสดงอัตราส่วนการเสียชีวิตบนท้องถนนของไทย (ที่มา: WHO)


นอกจากนั้น อุบัติเหตุที่เกิดกับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ในปีนี้ สถิติของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนรายงานว่า ในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนแล้ว 8,695 ราย เทียบกับปี 2560 ที่มีจำนวน 15,453 และปี 2559 ที่มี 9,815 ราย

เมื่อปีที่แล้วก็มีนักท่องเที่ยวหญิงชาวเบลเยียม เอลิส ดาลมานจ์ เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี สื่อเดอะมิเรอร์ของสหราชอาณาจักรได้รวบรวมมาว่าเป็นการเสียชีวิตของชาวต่างชาติรายที่เจ็ดบนเกาะเต่าในรอบสามปี (2557-2560)

แปลและเรียบเรียงจาก

Nikkei Asian Review, The Bangkok Insight, ข่าวสด, WHO