‘ไอลอว์’ เขาขอให้ช่วยกันคิดและออกความเห็นหน่อยว่า
กฏเกณฑ์เลือกตั้งรอบนี้ ที่ คสช.ยืนยันว่าจะมาตอนกุมภา ๖๒ แน่ แต่บริกรบอกไม่แน่
อาจต้องเลื่อนไปสักสองสามเดือนนั้น ควรต้องมี ‘ไพรมารี่’
พรรคการเมืองเลือกตัวผู้สมัครภายในกันก่อน
ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่
เพราะตอนนี้มีเสียงวิจารณ์จากพรรคการเมืองต่างๆ
ที่ คสช. เปิดให้พูด แต่ไม่สนใจฟังเท่าไรนัก หากแต่ร่ำๆ ว่าจะใช้มาตรา ๔๔ ยับยั้งไว้ก่อน
เพราะดูท่าจะเป็นความยากลำบากอยู่พอดู เนื่องจากเงื่อนเวลาที่ คสช.
ไม่ยอมปลดล็อคพรรคการเมืองเก่าหาเสียง กระบวนไพรมารี่ถ้ามีคงขาดๆ
กะพร่องกะแพร่งน่าดู
เหตุนี้ คสช. (ผ่านทางพวกรองๆ
ฝ่ายบริกรบริการ) จึงแสนจะดี๊ดี เห็นอกเห็นใจพวกพรรคใหม่ๆ เกรงจะไล่ไม่ทันพวกเก่าๆ
เก๋าๆ ทั้งหลาย เลยอลุ่มอล่วยให้มาก
อย่างเช่นนายวิษณุ เครืองาม
ให้ความเห็นตัดสินต่อเสียงวิพากษ์กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้นคิดก่อตั้งพรรค รปช.
ทำเฟชบุ๊คไล้ฟ์ เชื้อเชิญมวลมหาประชาชนช่วยกันบริจาคคนละ ๑ บาทต่อวัน
เป็นค่าสมาชิกรายปี (๓๖๕ บาท) ว่าทำได้
ถือเป็น “การติดต่อกันโดยสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์
ระหว่าง กกต. กับพรรคการเมือง” แถมยังเหน็บให้ว่าหัวหน้าพรรค ปชป. เคยถามผ่านสื่อแล้ว
ตนยังไปถาม กกต. ก็ว่าได้ “พรรคการเมืองกลับลังเลเสียเอง แต่ กกต. และ
คสช.ไม่ได้ลังเล ไม่ได้ว่าอะไร และอยากให้ใช้วิธีนี้มากกว่า”
นั่นแหละระดับบริกร คสช. พูดต้องรับฟัง
แม้จะมีหลายๆ คนงงว่า ที่สุเทือกประกาศเรี่ยไรทางเฟชบุ๊คนั้นไม่ใช่การสื่อสารกับ
กกต.เสียหน่อย เป็นทั้งการเปิดฉากหาเสียงและ recruit
สมาชิกพรรคโดยตรงนั่นเลยละ
อีกกรณีชัดเจนเสียยิ่งกว่า
รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. คนที่ร่วมหัวในการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ
จะสัญจรไปอีสานในการลงพื้นที่ปูพรมของ ครม. ประยุทธ์ คราวนี้ที่อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ
ที่เป็นข่าวนำร่องมาแล้วว่า มีการ ‘ดูด’ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยไปสองคน
รัฐมนตรีคนดังกล่าวได้เตรียมงานเลี้ยงอาหาร
พบปะสังสรรค์กับบรรดาว่าที่หัวคะแนน คือสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.
ทั้งอดีตและปัจจุบัน กันในเย็นวันก่อนประชุม ครม.สัญจร ๒๓ ก.ค. คนปูด ยันว่า “มีนัยยะทางการเมืองในภาคอีสานอย่างแน่นอน”
เรื่องนี้คงต้องรับฟังอีกแหละ เพราะนายอิสสระ
สมชัย เป็น กปปส. ตัวเอ้ และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหัวหน้าพรรค ‘ค้าน’ หัวชนฝาว่ากฎหมายไพรมารี่พรรคการเมืองทำไม่ได้
ไม่พร้อม ไม่เหมาะสม
ไม่รู้ว่าพรรคการเมืองเก่าทั้งหลายจะฉุกคิดเฉลียวใจกับบ้างไหมว่า
การดูดอดีต ส.ส. นี่แหละคือไพรมารี่อย่างหนึ่ง
เพียงแต่ไม่ได้ไพรมารี่อย่างประชาธิปไตย หรือผ่านการเลือกตั้ง แต่นี่ใช้วิธีลากตั้ง
พอลงพื้นที่ก็ได้ตัวผู้สมัครกลับมา
มองอย่างเผินๆ พรรคใหม่สองพรรค
(ที่ไม่บังเอิญมีจุดมุ่งหมายจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฐานหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชาและคณะ คสช. กลับไปเป็นนายกฯ และรัฐบาลกันอีก)
นั้นไม่จำเป็นและไม่ต้องการทำไพรมารี่แต่อย่างใด หาก คสช.จะแสดงให้เห็นว่ารับฟังพรรคการเมือง
ก็ใช้ ม.๔๔ ยุติเสียได้
กฎหมายเกี่ยวกับไพรมารี่นี้เป็นผลงานของลิ่วล้อ
คสช. ด้านนิติบริการ คือ กรธ. และ สนช. ปั้น-แต่งกันขึ้นมา ให้เหตุผลสนับสนุนว่า
ทำให้ระบบเลือกตั้งมีลักษณะประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยตรง
ฝ่ายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกันหลายคน
ดังที่ไอลอว์แจกแจงเอาไว้ ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ที่ค้านว่าระบบรัฐสภาไทยมีการเลือกตั้งที่ไม่แน่นอน (เพราะรัฐประหาร และขัดขวางให้เป็นโมฆะ
ได้ง่ายๆ ละมัง) ทำให้จะมีเวลาเตรียมตัวไม่พอ
อีกอย่างหนึ่งม้าร์คเห็นว่าตัวแทนพรรคในสภา
(ส.ส.) ควรจะไปในทิศทางเดียวกันหมด (เหมือนปั๊มออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน มั้ง) การทำไพรมารี่คงทำให้ได้ผู้สมัครหลากหลายเกินไปคุมไม่อยู่
เหมือนสมัย มรว.เสนีย์ ปราดมช เป็นหัวหน้าพรรค ครั้งนั้นสื่อล้อเลียนว่า “เหมือนฤๅษีเลี้ยงลิง”
อีกคนที่ค้านคือนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ชี้ว่าระบบการเมืองไทยยังไม่เข้มแข็งพอในทางประชาธิปไตย
(มีรัฐประหารบ่อย) การใช้วิธีออกเสียงขั้นต้นเพื่อเลือกผู้สมัครจะไม่ได้ผลอย่างประเทศที่พัฒนาทางประชาธิปไตยแล้ว
ทางด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย
ไม่เห็นด้วยกับวิธีการไพรมารี่โหวตเช่นกัน
เขาว่าจะเป็นหนทางให้เกิดความไม่สามัคคีในพรรค (เพราะต้องแข่งกันภายใน)
แล้วยังสิ้นเปลือง พรรคขนาดเล็กและกลางเสียเปรียบพรรคใหญ่
รายละเอียดมากกว่านี้ดูที่ https://ilaw.or.th/node/4862 ซึ่งสรุปข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองเพื่อจัดการกับเรื่องไพรมารี่โหวตไว้เป็น
๓ แนวทาง คือ ๑.ทำไพรมารี่โหวตในวงกว้างเป็นระดับภาคแทนระดับจังหวัด
หรือให้ละเว้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ก่อน เลื่อนไปทำในคราวหน้า
แนวทางที่สามให้ยกเลิกเรื่องการทำไพรมารี่โหวตไปเลยอย่างถาวร
เวลานี้ก็ได้แต่รอลุ้นกันอยู่ว่าประกาศิตจาก คสช.จะออกมาอย่างไร