วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 12, 2561

'เมื่ออยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านเป็นหน้าที่' คดีไผ่ ดาวดิน ในศาลทหาร


เป็นที่รับรู้กันโดยกว้างขวางทางสากลแล้วว่า กระบวนการศาลนั้นต้องใช้หลักตรรกะแห่งเหตุและผลเป็นสรณะในการพิจารณาคดี

แต่ว่าคดีที่ศาลทหารฟ้องร้องต่อ ไผ่ ดาวดินข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกไปแสดงการต่อต้านรัฐประหารร่วมกับเพื่อนๆ รวม ๗ คน เมื่อปลายพฤษภา ๕๘ มีกระบวนการไต่สวนที่ ‘Bizarre’ ค่อนข้างประหลาดล้ำ

เมื่อ ๙ ก.ค. ศาลทหาร มทบ.๒๓ ทำการสืบพยานจำเลยอีกครั้ง โดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยเบิกความเป็นพยานตนเอง จากที่ติดค้างมาจากครั้งก่อน เมื่อ ๑๕ พ.ค.๖๑ เพราะศาลไม่ว่างพิจารณาในช่วงบ่าย ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำรายงานไว้ เต็มไปด้วยรายละเอียดควรสำเหนียกอย่างยิ่งสำหรับวิญญูชน


โดยมีเนื้อหาจากการเบิกความโดยสังเขปต่อไปนี้ :จตุภัทร์หรือไผ่แถลงต่อศาลว่าการทำกิจกรรมชูป้ายคัดค้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขอนแก่น “ได้รับเงินสนับสนุนจากประชาชน จากการที่พวกตนเล่นดนตรีเปิดหมวก”

ในวันเกิดเหตุ ตนและเพื่อนๆ แสดงกิจกรรมเชิงสัญญลักษณ์ ในวิธีการ แฟล้สช์ม็อบหรือชุมนุมกระทันหัน “ใช้เวลาไม่เกิน ๕ นาฑี” และ “ตนได้พูดถึงมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งเป็นปัญหาเนื่องจากได้ให้อำนาจบุคคลคนเดียว คือหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งและบังคับใช้เป็นกฎหมาย...โดยไม่สามารถตรวจสอบได้”

แล้วต่อมา “ทั้งทหารและตำรวจก็เข้ามาจับกุมตนและเพื่อนซึ่งคล้องแขนกันอยู่ โดยขณะจับกุมเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำปั้นทุบเข้าที่อวัยวะเพศของนายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มดาวดินที่ทำกิจกรรม จนทำให้แขนของนายภาณุพงศ์หลุดจากเพื่อน เจ้าหน้าที่จึงนำตนและเพื่อนขึ้นรถไปที่ มทบ. ๒๓ ค่ายศรีพัชรินทร์”
 
เขาเบิกความต่อไปถึงเหตุที่ต้องชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในโอกาสครบรอบหนึ่งปีนั้นว่า “ก็เพื่อยืนยันว่าการทำรัฐประหารไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาของสังคมไทย ตนคิดว่าสิ่งที่ทำคือหน้าที่ของพลเมืองที่ควรต้องทำเพื่อต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม

เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่ ข้าฯ จึงทำหน้าที่นั้นในฐานะสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องยืนหยัดในเรื่องนี้

และเมื่อเวลาผ่านไป ข้าฯ จะได้พูดกับคนรุ่นต่อไปได้ว่า เราได้ทำหน้าที่แล้ว แม้สู้แล้วไม่ชนะแต่เราก็ได้สู้ สู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้ ยังดีกว่าแพ้ทั้งที่ยังไม่คิดจะสู้”

ในการเบิกความให้การเป็นพยานตนเองครั้งก่อน ไผ่ให้เหตุผลที่ไม่ยอมทหารปรับทัศนคติ อันเป็นข้ออ้างจับกุมตัวเขาตามคำสั่งหัวหน้ารัฐประหารที่ ๓/๒๕๕๘ ว่า “ข้าฯ เห็นว่าคำสั่งของ คสช. ไม่ใช่กฎหมาย เนื่องจากโดยหลักของกฎหมายเป็นเรื่องหลักการและเหตุผล แต่คำสั่งของ คสช. ไม่มีเหตุผลและไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการห้ามคิดห้ามแสดงออก”

นอกนั้นเขายังอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีปกปิดข้อเท็จจริงในการยื่นบัญชีแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน ที่ว่า

“หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน...

ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติ ที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป” ด้วย


การนี้ นายชำนาญ จันทร์เรือง ซึ่งเข้าเบิกความเป็นพยานในฐานะนักวิชาการสาขารัฐศาสตร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่าการยึดอำนาจหรือทำรัฐประหารเสร็จแล้ว “ตนมองว่าไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เนื่องจากรัฏฐาธิปัตย์หมายถึง ผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินโดยไม่ต้องเชื่อใครหรือกฎหมายใดอีก

ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฏฐาธิปัตย์คือพระมหากษัตริย์ ส่วนในระบอบประชาธิปไตยรัฏฐาธิปัตย์คือประชาชน ดังนั้นการทำรัฐประหารในครั้งนี้คณะ คสช. จึงไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ เพราะยังมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือ คสช.”

ทั้งนี้การที่ศาลทหารกำหนดให้สืบพยานจำเลยผู้เป็นนักวิชาการ (ทั้งทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์) เกี่ยวเนื่องมาจากการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายเมื่อ ๒๑ มี.ค. ๖๑ พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ ในฐานะเจ้าของคดีขึ้นเบิกความ

เมื่อทนายจำเลยชี้ว่าขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ซึ่งการที่จำเลยใช้ถ้อยคำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ย่อมสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยฯ ดังกล่าวใช่ไหมล่ะ พ.ต.อ.พิสิฐ เห็นด้วย
 
ทนายซักอีกว่า การทำรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าเมื่อ ๒๒ พ.ค. ๕๗ เป็นการได้มาซึ่งการปกครองโดยที่ ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย มีความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ “เป็นสิ่งที่สมควรคัดค้าน” พยานโจทก์ยอมรับว่าใช่

ครั้นทนายจำเลยแย้งความเห็นของพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ที่ว่าหากคนที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ดังกล่าว ย่อมมีสิทธิคัดค้าน “แต่ต้องขออนุญาตจาก คสช. ตามที่กฎหมายกำหนด” จะไม่เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างประหลาดไปหรือ พ.ต.อ.พิสิฐตอบว่า “ก็ทำนองนั้น”

พยานโจทก์ผู้นี้ตอบทนายด้วยว่า ไม่ทราบการคัดค้านรัฐประหารมีผลเสียต่อ คสช. หรือเปล่า แต่จากประวัติศาสตร์มีการรัฐประหารหลายครั้งแล้วสามารถกลับไปสู่ประชาธิปไตยได้เพราะ

“มีนักศึกษาประชาชนหลายภาคส่วนออกมาคัดค้านการรัฐประหาร ซึ่งหากไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน พยานก็เห็นว่า การคัดค้านรัฐประหารดังกล่าวจนได้ประชาธิปไตยกลับมาถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

นอกจากนั้นในข้อหาที่เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจใช้ดำเนินคดีกับไผ่และเพื่อนๆ ว่าเพราะพวกเขาไม่ยอมให้ปรับทัศนคติ ทนายได้ถาม พ.ต.อ.พิสิฐว่า “ระหว่างทัศนคติในการคัดค้านรัฐประหารกับสนับสนุนรัฐประหาร ทัศนคติอย่างไหนที่ต้องปรับ”

กลับได้รับคำตอบจาก พ.ต.อ.พิสิฐ ว่า “โดยส่วนตัวเห็นว่า ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุนการรัฐประหาร”


เจ้าพนักงานผู้เป็นเจ้าของคดีให้การล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของจำเลยเกือบทั้งนั้น ความประหลาด หรือ Bizarre อยู่ที่ไฉนศาลทหารยังลากคดีของเขาอยู่นั่นแล้ว รูปคดีแบบนี้หากเป็นศาลยุติธรรมในประเทศประชาธิปไตย น่าที่จะยกฟ้องไปนานแล้ว

ไฉนนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศของรัฐบาล คสช. เที่ยวไปบอกต่างประเทศให้เป็นข่าวว่า คณะรัฐประหารผ่อนคลายคดี (การเมือง) พลเรือนไปสู่ศาลปกติหมดแล้ว เหลือแต่คดีที่เกี่ยวกับทหารโดยตรงเท่านั้น

จะด้วยเหตุลี้ลับคับปากอย่างใดก็แล้วแต่ ที่ทำให้ไผ่ต้องติดคุกมาเป็นแรมปี ด้วยข้อหา Bizarre ต่างๆ นานา (เหยียดหยามศาล งี้) ในเมื่อไม่เห็นทางที่จะมีกระบวนยุติธรรมตามสากลเกิดขึ้นได้ คงต้องหาทางไปสู่โมเดล กวางจูอันเป็นต้นตอของรางวัลที่ไผ่ได้รับ