วันพุธ, กรกฎาคม 11, 2561

ยุทธศาสตร์ความมั่นคง งบ 3 แสนล้าน หน่วยงานไหนได้บ้าง...





ผ่างบ 3 แสนล้าน ดันยุทธศาสตร์ความมั่นคง


9 July 2018
ฐานเศรษฐกิจ


สำหรับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ในปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลจัดสรรไว้จำนวน 329,273.2 ล้านบาท จากกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ซึ่งสอด คล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ครอบคลุมใน 7 ประการสำคัญ ดังนี้


1. การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วางเป้ามุ่งสร้างจิตสำนึกคนในชาติให้หวงแหน และธำรงไว้ซึ่งการเทิดทูน พิทักษ์ รักษา ถวายพระเกียรติและถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพความเข้มแข็งของกลไกเพื่อป้องกัน ปราบปราม การล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงกำหนดมาตรการส่งเสริมการดำเนินมาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องพระเกียรติยศและพระบรมเดชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการเฝ้าระวังและดำเนินการต่อการเคลื่อนไหวที่ส่งผล กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชา ธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยจัดสรรงบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เพื่อดำเนินแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง และแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 625 ล้านบาท, สำนัก งานข่าวกรองแห่งชาติ จำนวน 102 ล้านบาท และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อขับเคลื่อนแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงกว่า 4,859 ล้านบาท เป็นต้น





2. การปฏิรูปกลไกการบริหารประเทศและพัฒนาความมั่นคงทางการเมือง ขจัดคอร์รัปชัน สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ตั้งเป้าประเทศไทยจะได้รับคะแนนและการจัดอันดับจากดัชนีหลักนิติธรรม (The World Justice Project: WJP Rule of Law Index) เปลี่ยนแปลงดีขึ้น ซึ่ง ในปี 2559 ประเทศไทยได้รับ 0.51 คะแนนจากการประเมินและอยู่ในอันดับที่ 64 จาก 113 ประเทศ

การจัดสรรงบมุ่งปฏิรูปกลไกด้านความมั่นคงเพื่อสนับสนุนการบริหารประเทศ เช่น ปฏิรูปกิจการตำรวจ ปฏิรูปทางทหาร และปฏิรูประบบงานข่าวกรอง และพัฒนาความมั่นคงทางการเมือง ขจัดคอร์รัปชัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และนำหลักธรรมาภิบาลมายึดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตั้งเป้าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีการรับรู้การทุจริตขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติในอันดับที่ดีขึ้น รวมถึงประชาชนมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเพิ่มมากขึ้น

ทุ่ม 1.2 หมื่นล้านดับไฟใต้





3. การรักษาความมั่นคงภายในและความสงบเรียบร้อยภายใน ตลอดจนการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนและความมั่นคงทางทะเล รวมถึงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ และการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งปีนี้มีแผนงานบูรณาการ ดำเนินการเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 12,025 ล้านบาท

หน่วยงานที่ได้รับจัดสรร อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 3,821 ล้านบาท, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 93 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 49 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรรวมกว่า 1,518 ล้านบาท แบ่งเป็น กองบัญชาการกองทัพไทย 68 ล้านบาท กองทัพบก 725 ล้านบาท กองทัพเรือ 716 ล้านบาท และกองทัพอากาศ 9 ล้านบาท ด้านกระทรวงมหาดไทย ได้รับจัดสรรรวม 1,601 ล้านบาท กระทรวงยุติธรรม จำนวน 56 ล้านบาท ทั้งยังจัดสรรให้กับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 569 ล้านบาท

ทั้งยังมีแผนงานบูรณาการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์กว่า 665 ล้านบาท อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 230 ล้านบาท, กระทรวงแรงงาน จำนวน 148 ล้านบาท ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวม 143 ล้านบาท เป็นต้น และมีแผนงานบูรณาการการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด จำนวน 5,195 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรร อาทิ กระทรวงกลาโหม จำนวน 321 ล้านบาท กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 207 ล้านบาท และกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,214 ล้านบาท เป็นต้น

สร้างสัมพันธ์กับนานาชาติ





4. การพัฒนาระบบ กลไก มาตรการและความร่วมมือระหว่างประเทศทุกระดับ และรักษาดุลยภาพความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ตั้งเป้าประเทศไทยสามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติ รักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างสมดุลโดยมุ่งพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนภาคีความตกลงระหว่างประเทศ และสามารถพัฒนาผลประโยชน์ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในด้านความมั่นคง และสามารถรักษาดุลยภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบนฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ หลักความเสมอภาคในการปฏิบัติต่อกัน ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน รวมทั้งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

นโยบายการจัดสรรงบประมาณด้านนี้ มุ่งสนับสนุนพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารกับมิตรประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งความพร้อมในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพตามกรอบสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ และส่งเสริมบทบาทเป็นแกนกลางและการมีท่าทีร่วมกันของอาเซียนเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆต่อความมั่นคงและเสถียรภาพ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของภูมิภาค เป็นต้น

5. การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพการผนึกกำลังป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ ตั้งเป้าให้ประเทศมีความมั่นคงปลอดภัย พร้อมรับต่อจากภัยคุกคามทางทหาร และเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ วัดจากกองทัพมีขีดความสามารถและความพร้อมในการรักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐและผลประโยชน์ของชาติ รวมทั้งสนับสนุนงานด้านการพัฒนา กองทัพมีความพร้อมและมีขีดความสามารถด้านกำลังพล ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

ดัชนีเสี่ยงภัยพิบัติขยับดีขึ้น





6. การพัฒนาระบบการ เตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ รักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยสะท้อนให้เห็นจากดัชนีความเสี่ยงภัยของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น ตามผลการจัดอันดับของ UN University-Institute for Environment and Human Security ซึ่งในปี 2559 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 89 และวัดจากจำนวนผู้เสียชีวิต สูญหาย และผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่อประชากร 1 แสนคนลดลง ตลอดจนลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากภัยพิบัติโดยตรงต่อจีดีพีของโลก และความเสียหายที่เกิดกับโครงสร้างพื้นฐานและการหยุดชะงักของการบริการขั้นพื้นฐานที่สำคัญอันเนื่องจากภัยพิบัติลดลงด้วย

และ 7. การปรับกระบวนการ ทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้องจากแนวดิ่งสู่แนวระนาบ โดยเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมด้านความมั่นคง ในพื้นที่ สร้างสังคมสมานฉันท์ ผู้เห็นต่างทางความคิดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ร่วมกันสร้างความสามัคคีเพื่อนำประเทศไปสู่ความมั่นคงของชาติและประโยชน์สุขร่วมกัน ตั้งเป้าลดความขัดแย้งของประชาชนในมิติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมลดลงไม่น้อยกว่า 5%

ลดเหตุรุนแรงชายแดนใต้30%





รัฐบาลจัดสรรงบเพื่อพัฒนาชายแดนใต้ เน้นสนับสนุนบูรณาการหน่วยงานภาครัฐให้มีระบบและมีเอกภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการโดยน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯเป็นหลักในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้พหุวัฒนธรรม

เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มุ่งขจัดสาเหตุและเงื่อนไขการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมพร้อมสร้างความมั่นคงในอาชีพ สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ มุ่งพัฒนาการศึกษาให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับตลาดแรงงานในพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี สนับสนุนการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐและมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านและชุมชนในการป้องกันแก้ไขปัญหาความไม่สงบ

ตั้งเป้ามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อคนและจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยในพื้นที่เพิ่มขึ้น และเหตุความรุนแรงลดลงไม่น้อยกว่า 30% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2557-2559 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 387 ครั้ง)

| รายงาน : ผ่างบ 3 แสนล้าน ดันยุทธศาสตร์ความมั่นคง
| โดย : ทีมข่าวการเมือง
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 14 ฉบับ 3380 ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค.2561

...