วันพุธ, เมษายน 11, 2561

ตูบโบ้ย ‘ข้าราชการ’ รัฐบาลที่ผ่านมารับผิดชอบ 'หมู่บ้านป่าแหว่ง' ก็ต้องไปไล่เบี้ยศาลอุทธรณ์ภาค ๕ สิ


ทีงี้ “เสียดายงบฯ ถ้าต้องทุบทิ้ง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงโครงการก่อสร้างหมู่บ้าน ป่าแหว่ง บนเนินดอยสุเทพ-ปุย ของพวกตุลาการ หลังจากที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม โยนเผือกให้นายกฯ พิจารณา

“โดยหากรัฐบาลเห็นควรประการใด เช่นให้ชะลอการใช้บ้านพักเฉพาะส่วนที่มีการคัดค้านไว้ชั่วคราว หรือดำเนินการอื่นระหว่างฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ขัดข้อง”


นายกฯ เค้าตอบว่า “เสียดาย เพราะที่ผ่านมามีการก่อสร้างเป็นไปตามลำดับ เป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง มีสัญญาจะไปรื้อทั้งหมดคงลำบาก...

ในส่วนปัญหาของที่พัก ก็ต้องมาดูเพราะมีการอนุมัติงบประมาณของรัฐไปแล้ว จนใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งมีสัญญาระหว่างรัฐและผู้รับเหมา ก็มีโอกาสที่จะฟ้องร้องกันตรงนี้...

แต่มีหลายคนเสนอให้ทุบทิ้ง แล้วงบประมาณที่ใช้ไปตรงนี้จะทำอย่างไร...ต้องมีคนรับผิดชอบงบประมาณตรงนี้ รัฐบาลก็ไม่ใช่คู่กรณีกับใคร ถูกผู้รับเหมาเรียกค่าเสียหาย แล้วใครเป็นคนทำสัญญากับเขา”

ประยุทธ์โบ้ยความผิดไปที่ ข้าราชการโดยพยายามโยงใยว่า “โครงการนี้เกิดก่อนมาก่อนหน้าที่รัฐบาล (ยึดอำนาจ) จะเข้ามา” และ “เป็นงบของราชการที่อนุมัติงบประมาณโดยรัฐบาลที่ผ่านมา เรื่องจะผิดจะถูกไปว่ากันอีกครั้ง”


นี่ประยุทธ์พูดความจริงนิดเดียว แต่สื่อความหมาย ‘implied’ เป็นเท็จทั้งนั้น แบบว่าไม่แค่ปัดสวะพ้นตัว แต่จับโยนกลับไปใส่บ้านต้นน้ำ โอกาสที่มันจะลอยฟ่องกลับมาใส่ตัวได้อีกน่ะมีเยอะ เพราะอะไรรู้ไหม

ดูที่ ดุลยพงษ์ ดวงทาทอน โพสต์ไว้เมื่อ April 7 at 3:48am ว่า “กลายเป็นเรื่องโอละพ่อไปทันที...เมื่อนายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พื้นที่ต้นเหตุ ออกมาระบุว่ากองทัพบก (ก.พ. ๒๕๔๗) และกระทรวงการคลัง (ในปี ๒๕๔๙) อนุมัติให้ใช้พื้นที่ของทหาร”

ข้ออ้างของประธานศาลอุทธรณ์ตอนนั้น (๕ มีนา) “บริเวณดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุของกระทรวงการคลัง ที่อยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบกตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒...แม้ภายหลังจะมีประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี ๒๕๐๗ แต่ไม่ได้กระทบสิทธิการครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบกแต่อย่างใด ทำให้พื้นที่นี้ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ”

นี่ก็ตีความกฎหมายแบบตุลาการไทย ให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย คือตัวเองและพวกเดียวกัน ในเมื่อสภาพภูมิศาสตร์ก็โจ่งแจ้งชัดแจ๋วว่าพื้นที่ตรงนั้นอยู่ในเขตป่าต้นน้ำ บนเนินเขาใกล้แหล่งน้ำ

ถึงอย่างนั้นตุลาการทั่นก็แถกไปได้ว่า “ก่อนที่จะมีการก่อสร้าง ทางทหารได้ดูแลพื้นที่เป็นอย่างดี ทำให้พื้นที่ป่าสมบูรณ์ จนทำให้ถูกมองว่าอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ


กระแสคัดค้านถึงขั้นให้ ทุบทิ้ง นั้นมาอึงอื้อในระยะหลังจากมีแคมเปญทาง chang.org และปรากฏข้อเท็จจริงว่า ทหารกับตุลาการต่างช่วยกันชงช่วยกันยำโครงการนี้ เป็นโครงการสุดอูฟูใช้งบประมาณแผ่นดินนับพันล้าน

ซึ่งก่อนหน้านั้นมีความพยายามผูกติดระบอบทักษิณ (อย่างที่บิ๊กตูบพูดสะกิดนั่นละ) ว่าโครงการเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (๒๕๕๖) และทหารที่อนุมัติเป็น ผบ.ทบ. คนที่ชื่อชัยสิทธิ์ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๗

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ชี้แจงเมื่อ ๒๘ มีนา ว่า มีการทำเรื่องมาอีกครั้งในปี ๒๕๔๖ กองทัพบกจึงอนุมัติไปเมื่อเดือน ก.พ. ๒๕๔๗ ให้ใช้พื้นที่ได้จำนวน ๑๔๗ ไร่...จากนั้นกระทรวงยุติธรรมได้ทำโครงการการก่อสร้างบ้านพักและสำนักงาน โดยเริ่มโครงการเมื่อปี ๒๕๕๖”


แต่ประธานศาลอุทธรณ์ชี้แจงบ้างภายหลังว่า “ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ เพิ่งได้รับงบประมาณและเริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๕๗”
ส่วนที่บิ๊กตูบบอก “ขออย่าไปพันเกี่ยวกับการรื้อรีสอร์ทของภาคเอกชน เป็นคนละเรื่อง” กับ “รัฐบาลได้ให้ คสช. และกองทัพภาคที่ ๓ กระทรวงมหาดไทยไปทำความเข้าใจกับกลุ่มที่คัดค้านว่าจะทำอย่างไร”

ประเด็นการเจรจานั้นตีเสียว่า ล้มเหลว เพราะ “ตัวแทนตุลาการเบี้ยวเป็นครั้งที่สองแล้วนะคะ ขนาดจัดในค่ายทหารยังไม่กล้ามาเจอหน้าประชาชน แต่เชื่อว่าหน้าด้านพอที่จะกล้าไปอยู่ในอนาคต หากเสียงค้านทัดทานไม่สำเร็จ” เป็นโพสต์ของ ภัควดี วีระภาสพงษ์ หนึ่งในผู้รณรงค์ให้ศาลรับผิดชอบ

ฝ่ายศาลเลี่ยงที่จะรับฟังเสียงค้านของชาวบ้าน แล้วยื่นให้รัฐบาลทหารจัดการแทน หัวหน้ารัฐบาลทหารกลับอ้อมค้อม “แล้วงบประมาณที่ใช้ไปตรงนี้จะทำอย่างไร งบประมาณภาครัฐไม่ใช่ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ จะต้องมีคนรับผิดชอบ”

ไม่เห็นจะยากเย็นอะไรเรื่องคนรับผิดชอบ โครงการของใครคนนั้นก็รับผิดชอบไปสิ ประเด็นชาวบ้านคัดค้านรัฐบาลประยุทธ์ก็เคยใช้มาแล้วมิใช่หรือ คดีเหมืองทองอัครานั่นไง ครั้งนั้นรัฐบาลจัดการเองก็รับไปเต็มๆ ในความผิดพลาด (แต่ค่าโง่ไปตกอยู่กับเงินภาษีของประชาชน)

โครงการป่าแหว่งบ้านพักตุลาการนี่ ปัญหาอยู่ที่การทำลายระบบนิเวศน์ การแก้ไขก็คือทำให้ระบบนิเวศน์คืนมา จะต้องทุบทิ้งบ้านที่สร้างหรือจะเปลี่ยนไปเป็นคอนโดสำหรับเสือสิงห์นกกาอยู่อาศัยก็แล้วแต่ ต้องให้คืนสู่สภาพป่าได้เท่านั้น

ส่วนความเสียหายทางการเงิน คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม และ/หรือศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เต็มๆ ถ้าไม่มีการปูดขึ้นมา นั่นละรับผิดชอบ จะใช้วิธีคิดเป็นสัดส่วนวงเงิน หักจากงบประมาณหน่วยนี้แต่ละปีไปจนครบ ก็เข้าท่าดีนะ