วันอาทิตย์, เมษายน 08, 2561

เกาหลีใต้มาไกลมาก 50 ปีที่แล้ว อยู่ใต้ระบอบเผด็จการทหารเหมือนไทย ในช่วง 30 ปีมานี้ ไม่มี “ทหาร” เข้ามาแทรกแซงการเมืองเลย รัฐบาลพลเรือนล้วน ๆ เขาทำได้อย่างไร?





เกาหลีใต้มาไกลมาก

50 ปีที่แล้ว อยู่ใต้ระบอบเผด็จการทหารเหมือนไทย

30 ปีที่แล้ว เลือกตั้งประธานาธิบดีแบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก

ปัจจุบัน จากการจัดอันดับ Democracy Index 2017 เกาหลีใต้ติดอันดับที่ 20 ของโลก เหนือกว่าสหรัฐฯ และยุโรปหลายประเทศ โดยในช่วง 30 ปีมานี้ ไม่มี “ทหาร” เข้ามาแทรกแซงการเมืองเลย รัฐบาลพลเรือนล้วน ๆ

#Impeachment “การถอดถอน” ประธานาธิบดีปักกึนเฮ ถือเป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ที่มีการเอาผู้นำจากการเลือกตั้งลงจากตำแหน่ง โดยใช้สันติวิธีและใช้กฎหมายปรกติ จนวันนี้ศาลสั่งจำคุก 24 ปี ข้อหาใช้อำนาจมิชอบ ฯลฯ หลังการเดินขบวนของประชาชนนับล้านคนเมเมื่อปีที่แล้ว กระบวนการทางรัฐสภาและศาล โดยไม่ต้องพึ่งทหาร ไม่ต้องพึ่งกฎหมายพิเศษ ไม่ต้องพึ่ง “ตุลาการวิบัติ”

เขาทำได้อย่างไร?


Pipob Udomittipong


ooo


คุยกับ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ วาระ 37 ปี กวางจู และการนำทหารออกจากการเมืองเกาหลีใต้


Published on Thu, 2017-05-18
ทีมข่าวการเมือง
ประชาไท

สัมภาษณ์ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ทำความเข้าใจโดยสังเขป กับความสำคัญของรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู กระบวนการนำทหารออกจากการเมือง กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีล่าสุด



พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ


เนื่องในวาระครบรอบ 37 ปี เหตุการลุกฮือขึ้นต่อต้านระบอบเผด็จการทหารอำนาจนิยมในเมืองกวางจู เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2523 และในปีนี้ มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ที่ตั้งมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มอบรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู (Gwangju Prize for Human Rights) ประจำปี 2017 ให้กับ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษานักกิจกรรม ผู้ซึ่งถูกจับกุมคุมขัง และถูกเพิกถอนสัญญาการปล่อยตัวชั่วคราว ตั้งแต่ 22 ธ.ค. ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบัน ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จากเว็บไซต์ BBC Thai ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ขณะที่เกาหลีใต้เองเพิ่งเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ หลังจากประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ถูกประชาชนจำนวนมากชุมนุมขับไล่จากข่าวการทุจริต แต่เกาหลีใต้สามารถแสวงหาทางออกภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย

ในโอกาสนี้ประชาไทจึงได้สัมภาษณ์ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ร่วมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออกของ The Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA) เพื่อทำความเข้าใจอย่างพอสังเขป เกี่ยวกับ ความสำคัญของรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู และเหตุการณ์กวางจู กระบวนการนำทหารออกจากการเมือง กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีล่าสุด

ความสำคัญของรางวัลกวางจู

เกี่ยวกับความสำคัญของรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นั้น พิมพ์สิริ อธิบายว่า รางวัลกวางจูเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวเมืองกวางจูในเดือนพฤษภาคม 1980 ซึ่งการต่อสู้นี้ แม้ว่าชาวเมืองจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถูกสังหารนับพัน และถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ต่อมาอีกหลายสิบปี แต่การต่อสู้ของชาวเมืองกวางจูกลายเป้นแรงบันดาลใจให้ขบวนการแรงงาน ชาวนา นักศึกษา และคนเกาหลีใต้เรือนล้านออกมาต่อสู้บนท้องถนนในปี 1987 หลังจากรัฐบาลเผด็จการได้ทรมานและสังหาร พัก ยอง-ชุล ผู้นำนักศึกษาในเดือนมกราคม 1987 จนเกิดความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน

“ในปีนี้ ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwangju Human Rights Prize) ไม่เกินเลยถ้าจะพูดว่าไผ่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ในเอเชียที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย เหมือนที่ขบวนการนักศึกษาในเกาหลีใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” พิมพ์สิริ กล่าว

การนำทหารออกจากการเมือง

สำหรับสาเหตุที่ทบาททหารของเกาหลีทางการเมืองลดน้อยถอยลงเมื่อเทียบกับในอดีตนั้น พิมพ์สิริ อธิบายว่า เกิดจาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 9 ของเกาหลีใต้และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นสองกระบวนการหลักที่มีความสำคัญในการจำกัดอำนาจเผด็จการทหารในทางการเมือง

โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการก่อตั้งสาธารณรัฐที่ 6 แห่งเกาหลีใต้มีที่มาจากคำประการ 29 มิถุนา (29 June Declaration) ที่มีเนื้อหาหลักๆ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรง การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งเสรี การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในช่วงเผด็จการทหาร การปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลเมืองเกาหลีใต้ รวมถึงการให้สิทธิศาลพิจารณาการคุมขังบุคคลว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (heabus corpus) การยกเลิกกฎหมายควบคุมสื่อ และการให้เสรีภาพสื่อ การส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนการพูดคุยหาข้อตกลงทางการเมือง และการปฏิรูปสังคม

“ความคิดเห็นต่อการที่ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี โรห์ แต-วู ซึ่งเป็นแคนดิเดทในการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารอย่างชุน ดู-ฮวานตัดสินใจประกาศคำประกาศ 29 มิถุนา แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ารัฐบาลทหารเผด็จการยอมถอยเพื่อที่หลีกเลี่ยงการปะทะกับประชาชนหลักล้านบนท้องถนนใน 16 เมืองทั่วประเทศ แต่คาดหวังว่าจะใช้อำนาจของตนผ่านการส่งตัวแทนเข้าไปเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งโรห์ แต-วูก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของประเทศ ในขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าคำประกาศ 29 มิถุนานี้เป็นผลมาจากแรงกดดันของประชาชนที่แสดงออกถึงความโกรธแค้นต่อการปกครองอำนาจยาวนานของเผด็จการทหาร” พิมพ์สิริ กล่าว

5 องค์ประกอบกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

พิมพ์สิริ กล่าวถึง กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) นั้น ว่า ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลักๆ ของการเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลเกาหลีใต้ภายหลังจากช่วงเผด็จกาทหามีความพยายามที่จะทำคืนความยุติธรรมให้กับกรณีกวางจูที่มีคนตายประมาณกันว่าเป็นหลักพันจากการสลายการชุมนุมของทหาร และเคยโดนป้ายสีในสมัยเผด็จการว่าเป็นพวกขบถคอมมิวนิสต์ รวมถึงนักโทษการเมืองคนอื่นๆ

1) การลงโทษผู้กระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรม กรณีนี้ ชุน ดู ฮวานถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ถอดยศ ยึดทรัพย์ ถึงจะติดคุกจริงไม่กี่ปี แต่การ social sanction ของสังคมก็มีผลต่อการใช้ชีวิตในบั้นปลายของอดีตเผด็จการ

2) คณะกรรมการค้นหาความจริง ที่มีการทำให้เป็นสถาบัน (institutionalised) อย่างจริงจังต่อมาด้วยการก่อตั้งมูลนิธิ May 18 และศูนย์ข้อมูล (Gwangju Archive Centre) ที่เก็บรวบรวมไว้ทุกอย่าง รวมทั้งรองเท้าของผู้ชุมนุมที่กระจัดกระจายในวันนั้น

3) การจ่ายค่าชดเชย ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและสูญหายในวันที่ 18-27 พฤษภาคม 1980 ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายเดือนในฐานะวีรชนของชาติ รวมถึงผู้ที่ถูกคุมขังในฐานะนักโทษการเมืองและผู้ที่เสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลทหาร

4) การปฏิรูปสถาบันต่างๆ ทำให้วัฒนธรรมประชาธิปไตยลงหลักปักฐานในเกาหลีใต้ ผลพวงจากการรวมตัวกันต่อต้านเผด็จการทหารทำให้ขบวนการแรงงาน ขบวนการชาวนา ขบวนการนักศึกษายังเข้มแข็งมาจนทุกวันนี้ องค์กรแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ Korean Confederation of Trade Unions นั้น มีสมาชิกกว่า 700,000 คน แม้ว่าผู้นำขององค์กร ฮาน ซัง-กึนจะถูกสั่งจำคุก 5 ปีภายใต้ข้อหายุยงปลุกปั่น (Sedition) เนื่องจากนำประท้วงรับบาลปาร์ค กึน-เฮในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2015 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 29 ปีที่มีการนำข้อหานี้กลับมาใช้

5) ความพยายามที่จะจดจำ การก่อตั้งมูลนิธิ May 18 การก่อตั้ง Gwangju Prize for Human Rights การจัดงานรำลึกระดับชาติทุกปีที่ระดับผู้นำประเทศต้องมาเข้าร่วม เพลงต่อต้านเผด็จการที่กลุ่มผู้ประท้วงเคยขับขานในการประท้วงที่กวางจูกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (สมยศ พฤกษาเกษมสุขเป็นผู้แปลเนื้อเป็นภาษาไทยให้กับเพลง Solidarity) การก่อตั้งสุสานแห่งชาติ การก่อตั้งศูนย์ข้อมูลฯลฯ คือการ 'จดจำ' เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนประวัติศาสตร์จนคนรุ่นใหม่หลงลืม แม้ว่าจะความพยายามของพัก กึน-เฮที่จะแก้ไขหนังสือเรียนประวัติศาสตร์เกาหลีเพื่อแก้ต่างให้กับพ่อตัวเอง





มองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้

พิมพ์สิริ กล่าวถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ล่าสุดว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในครั้งนี้แน่นอนว่าสะท้อนความไม่พอใจที่ประชาชนส่วนใหญ่มีต่อพรรค ที่มีข่าวฉาวในช่วงปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้พอจะเป็นที่คาดเดาได้ว่าพรรค Liberty Korea จะพ่ายแพ้ แต่จุดที่น่าสนใจอยู่ตรงที่แม้จะพ่ายแพ้ แต่แคนดิเดทของพรรค ฮอง จุน-เพียวก็ได้รับคะแนนเสียงถึง 24% แม้ว่าจะฮองจะมีนโยบายแข็งกร้าวเช่นการประกาศจะนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้และการกวาดล้างผู้นำสหภาพแรงงาน รวมถึงทัศนคติเหยียดหยามสตรีและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แสดงให้เห็นว่าพรรคอนุรักษ์นิยมเองนั้นก็ยังมีฐานเสียงเหนียวแน่น แม้ว่าความนิยมในตัวอดีตประธานาธิบดีปาร์คจะร่วงต่ำลงเป็นประวัติการณ์เหลือแค่ 4% เท่าที่ได้สัมผัสมาจากการไปสังเกตการณ์ประท้วงในปี 2015 และการทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ ฐานเสียงของพรรคอนุรักษ์นิยมมักจะเป็นผู้สูงอายุและวัยกลางคนซึ่งอาจจะมีประสบการณ์ตรงหรือได้ยินประสบการณ์ของครอบครัวที่เคยผ่านสงครามในคาบสมุทรเกาหลี และมองว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคาม เพราะพรรคอนุรักษ์นิยมนั้นมีนโยบายทางการทูตที่แข็งกร้าวต่อเปียงยาง

เสรีภาพการชุมนุมและการผ่าทางตัดด้วยระบอบประชาธิปไตย

สำหรับเหตุผลที่เกาหลีใต้ที่มีการชุมนุมขับไล่ ประธานธิบดีคนก่อน แล้วยังสามารถแก้ปัญหาในระบอบประชาธิปไตยได้นั้น พิมพ์สิริ กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการชุมนุมเปิดพื้นที่ให้ประชาชนซึ่งไม่ได้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือแสดงออกถึงความคับข้องใจที่มีต่อนโยบายต่างๆ และการใช้อำนาจของรัฐในแง่มุมต่างๆ ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้เองก็มีพื้นฐานมาจากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศตั้งแต่ปี 1961-1987 โดยมีเหตุการณ์ที่กวางจูเป็นจุดพลิกผันจนนำไปสู่การรวมตัวกันของสหภาพแรงงาน ขบวนการชาวนา และขบวนการนักศึกษา และเกิดการประท้วงใหญ่ขึ้นในเดือนมิถุนายน 1987 จนรัฐบาลเผด็จการยอมคืนอำนาจให้ประชาชนและจัดการเลือกตั้งเสรีขึ้น

พิมพ์สิริ กล่าวย้ำถึงความสำคัญในเสรีภาพการชุมนุมว่า จะเห็นได้ว่าเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ และจนกระทั่งทุกวันนี้ การชุมนุมประท้วงก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนเกาหลีใต้ในการต่อกรกับอำนาจรัฐ เหมือนที่เราได้เป็นประจักษ์พยานการชุมนุมโดยประชาชนเรือนล้านบนท้องถนนเพื่อขับไล่อดีตประธานาธิบดี ปาร์ค กึน-เฮ จนนำไปสู่การถอดถอนโดยรัฐสภาและศาลสูงในท้ายที่สุด

“ในบางครั้งเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงอาจจะไม่ใช่การต่อสู้หรือเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หากการชุมนุมนั้นเป็นไปอย่างสันติ ประชาชนทุกฝ่ายสามารถใช้เครื่องมือนี้ในการต่อรองทางการเมืองกับผู้กุมอำนาจรัฐ” พิมพ์สิริ กล่าว