วันเสาร์, เมษายน 14, 2561

หวังเพียงอิสรภาพ ก่อนอาทิตย์อัศดง... เรื่องราวชีวิตของ "ผู้สูงวัย" ผู้ถูกจองจำด้วยคดี 112




ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 บรรยากาศทางการเมืองเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลายกลุ่มเปิดตัวพร้อมจดทะเบียนพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยชู "คนรุ่นใหม่" เป็นจุดขาย ประชาชนภายใต้ชื่อ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" จัดกิจกรรมชุมนุมได้หลายครั้ง โดยมีคนรุ่นหนุ่มสาวที่ส่วนใหญ่อายุไม่เกินสามสิบเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน แม้ความหวังที่จะออกจากปัญหาทางการเมืองแบบเก่าจะถูกฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ แต่หากมองในภาพรวมก็จะพบว่า คนที่ยังตื่นตัว ติดตามข่าวสารทางการเมือง รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นคนมีอายุและหลายคนอยู่ในวันเกษียณ 

ภาพ "คนรุ่นใหญ่" ปรากฎตัวตามที่ชุมนุมทางการเมืองหรือเวทีเสวนาประเด็นทางการเมืองต่างๆ เกิดขึ้นมานานแล้ว ในยุคความขัดแย้งทางการเมือง อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวในช่วงปี 2548 ภาพคนรุ่นใหญ่วัยเกษียณจับกลุ่มถกประเด็นการเมืองตามสถานที่ชุมนุมหรือสถานที่จัดงานเสวนาอย่างเผ็ดร้อนน่าจะเป็นหนึ่งในภาพที่หลายคนเห็นจนชินตา เช่นเดียวกับภาพคนสูงวัยใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปการชุมนุมทางการเมืองส่งไลน์หาเพื่อน ท้าทายมายาคติที่หลายคนอาจเคยคิดว่า "คนแก่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน"

อย่างไรก็ตามความตื่นตัวทางการเมืองและการสนใจติดตามการเมือง และแสดงความคิดเห็นผ่านเทคโนโลยี ก็เป็นสาเหตุให้ "คนรุ่นใหญ่" หลายคนต้องกลายเป็นผู้ต้องหาจากการแสดงความคิดเห็น ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา 112 ในโอกาสวันมหาสงกรานต์และวันผู้สูงอายุ 13 เมษายน ไอลอว์ขอใช้โอกาสนี้บอกเล่าเรื่องราวของผู้สูงอายุส่วนหนึ่งที่กำลังถูกคุมขังหรือถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งแต่ละคนก็มีชะตากรรมที่แตกต่างกันไป บางคนได้รับอิสรภาพแล้ว บางคนยังคงรับโทษอยู่ในเรือนจำ และมีหนึ่งคนที่เสียชีวิตระหว่างรับโทษ

........................

อากง SMS: ชีวิตแลกอิสรภาพ

คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของอำพลหรือ "อากง SMS" เป็นคดีมาตรา 112 ที่มีชื่อเสียงและถูกนำไปพูดถึงต่ออย่างกว้างขวาง และเป็นคดีที่ทำให้ประเด็นการบังคับใช้มาตรา 112 ถูกยกมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

อำพลถูกจับกุมในวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ขณะอายุได้ 61 ปี โดยเขาถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความในระบบ SMS ที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวมสี่ข้อความไปที่โทรศัพท์ของเลขานุการนายกฯ ด้วยความที่อำพลเป็นคนผมหงอก สุขภาพไม่แข็งแรง เดินช้า พูดจาติดสำเนียงภาษาจีน และมีหลานๆ ต้องดูแลหลายคน ผู้ที่ติดตามคดีนี้จึงพร้อมใจกันเรียกขานจำเลยผู้นี้ว่า "อากง" ตามคำเรียกของหลานๆ เมื่ออัยการฟ้องคดีอำพลในเดือนมกราคมปี 2554 อำพลไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และไม่เคยได้รับอิสรภาพอีกเลย

ในศาลชั้นต้น อำพลให้การปฏิเสธโดยต่อสู้คดีว่า เขาไม่ได้ส่งข้อความเหล่านั้น หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ (อีมี) สามารถปลอมแปลงได้ และโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่า อำพลเป็นผู้พิมพ์และกดส่งข้อความจริง อย่างไรก็ตาม ศาลก็พิพากษาว่า อำพลมีความผิดโดยให้เหตุผลว่า อำพลเบิกความว่าใช้โทรศัพท์เครื่องนี้เพียงคนเดียวจึงยากที่ผู้อื่นจะนำไปใช้ ส่วนที่ฝ่ายจำเลยนำสืบต่อสู้เรื่องการปลอมแปลงหมายเลขอีมีจำเลยก็ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญมานำสืบหักล้างในประเด็นนี้ จึงพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 20 ปี จากการส่งข้อความสี่ข้อความ 

หลังถูกฟ้องคดีในวันที่ 18 มกราคม 2554 อำพลถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีเรื่อยมาจนศาลมีคำพิพากษาในเดือนพฤศจิกายน 2554 และรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเรื่อยมาจนกระทั่งมาเสียชีวิตที่เรือนจำของราชทัณฑ์ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555

อ่านเรื่องราวคดีมาตรา 112 ของอำพล >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/21
อ่าน "SMS และการพิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยี"https://blogazine.pub/blogs/groomgrim/post/3310เรื่องราวของอากงที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ "ห้องเช่าหมายเลข 112"

........................

"บรรพต" กับรายการวิทยุใต้ดินว่าด้วยสุขภาพและการเมือง

ช่วงปี 2552 - 2553 ความเข้มข้นของสถานการณ์ทางการเมืองและความเติบโตของอินเทอร์เน็ตในไทยทำให้การจัดรายการการเมืองใต้ดินได้รับความนิยม คลิปเสียงของ "บรรพต" น่าจะเป็นหนึ่งในรายการวิทยุออนไลน์ที่เป็นที่นิยมในหมู่คอการเมือง ผู้ใช้นามแฝงและปลอมเสียงว่าเป็น "บรรพต" ผลิตรายการลงยูทูปอย่างต่อเนื่องได้กว่า 400 ตอน สิ่งที่รายการ "บรรพต" แตกต่างจากรายการการเมืองใต้ดินอื่นๆ ได้แก่ เนื้อหาของรายการที่ไม่ได้พูดแค่สถานการณ์ทางการเมือง แต่พูดถึงการดูแลสุขภาพด้วยวิธีทางเลือก เช่น การกินน้ำส้มสายชูหมัก 

ช่วงปลายปี 2557 ต่อต้นปี 2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติทยอยจับกุมกลุ่มบุคคลที่ คสช. เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดรายการของ "บรรพต" โดยการจับกุมตัวหัสดิน ชายวัย 64 ปี ผู้เป็นเจ้าของเสียงและนามแฝง "บรรพต" ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะชนในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวเขามาแถลงข่าวต่อสาธารณะ และนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพในวันเดียวกัน 

ตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล หัสดินให้การรับสารภาพโดยตลอด ในช่วงการพิจารณาคดีเขาก็แถลงต่อศาลทหารว่า จะให้การรับสารภาพ โดยไม่ต้องการแต่งตั้งทนายความ และไม่ขอประกันตัว ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 หัสดินถูกศาลทหารพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปีแต่ต่อมาลดโทษจำคุกเหลือ 5 ปีเพราะคำรับสารภาพ หัสดินถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ก็ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากครบกำหนดโทษหลังได้รับการลดโทษตามวาระที่มีการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป

อ่านเรื่องราวคดีมาตรา 112 ของหัสดินทร์และ "เครือข่ายบรรพต" >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/670
อ่านเรื่องราวของ "บรรพต" ที่ถูกตีพิมพ์ในห้องเช่าหมายเลข 112 "ปากคำและความฝันของ 'บรรพต' : "ผมไม่เคยคิดล้มเจ้าเลย ระบบกษัตริย์มีความงดงาม"" >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/670 

........................

"ใหญ่แดงเดือด" 58 ปีของชีวิตกับอีก 25 ปีในเรือนจำ 

เธียรสุธรรม หนุ่มใหญ่ผู้ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างถูกจับกุมตัวในวันที่ 18 ธันวาคม 2557 โดยขณะที่ถูกจับกุมเขามีอายุได้ 58 ปี หลังการจับกุมเธียรสุธรรมถูกนำตัวไป "สอบถาม" เป็นเวลา 6 วัน หลังจากนั้นเขาจึงถูกนำตัวมาตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในลักษณะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รวมห้ากรรม จากการโพสต์สเตตัสบนเฟซบุ๊กรวมห้าข้อความ

เธียรสุธรรมถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพครั้งแรกในวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ในขณะที่ครอบครัวอื่นๆ กำลังเตรียมเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ครอบครัวของเธียรสุธรรมต้องมาวิ่งวุ่นกับการเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัว ซึ่งสุดท้ายศาลทหารก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีร้ายแรงที่มีอัตราโทษสูง รวมทั้งต้องเตรียมแผนสำรองอนาคตของครอบครัว เพราะก่อนถูกจับเธียรสุธรรม คือ หัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว เป็นคนหาเงินส่งลูกวัยรุ่นสองคนที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ 

ในวันที่ 31 มีนาคม 2558 เธียรสุธรรมให้การรับสารภาพ ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษาจำคุกเธียรสุธรรมในวันเดียวกันเป็นเวลา 50 ปี จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก 5 ข้อความ เนื่องจากเธียรสุธรรมให้การรับสารภาพ โทษจำคุกของเขาจึงถูกลดจาก 50 ปี เหลือ 25 ปี โทษจำคุกที่สูงทำให้เขาถูกย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ไปควบคุมตัวต่อที่เรือนจำกลางคลองเปรมแทน 

จนถึงบัดนี้เธียรสุธรรมยังคงรับโทษจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ขณะที่อายุของเขาก็เข้า 62 ปีแล้ว กว่าที่เขาจะรับโทษจนครบกำหนด 25 ปีตามคำพิพากษา เธียรสุธรรมอาจจะมีอายุถึง 83 ปี ความหวังของเธียรสุธรรมที่จะได้ออกมาเจอคนในครอบครัวอีกสักครั้งยังแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน 

อ่านรายละเอียดคดีของเธียรสุธรรม >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/649
อ่านเรื่องราวของเธียรสุธรรม "ใหญ่แดงเดือดในฤดูร้อนที่ไม่เป็นเช่นเคย" ที่เผยแพร่ในหนังสือ ห้องเช่าหมายเลข 112 >>> https://freedom.ilaw.or.th/112theseriesyaii

........................

"ทอม ดันดี" 2 คดีที่ผ่านไปกับ 2 คดีที่บทสรุปที่ยังมาไม่ถึง

หากพูดถึงชื่อ ธานัท หลายคนอาจเกาหัวด้วยความสงสัยว่า ธานัทคือใคร? แต่หากเอ่ยชื่อ "ทอม ดันดี" หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของเขามาก่อน ไม่ว่าจะในฐานะศิลปินที่มีผลงานเพลง เช่น "อย่างงี้ต้องตีเข่า" หรือสำหรับคนที่ติดตามการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 2552 - 2553 ก็อาจจะรู้จักเขาในฐานะดาวไฮปาร์ก ที่มักขึ้นปราศรัยในเวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดงด้วยลีลาดุเด็ดเผ็ดมัน

หลังการรัฐประหารในปี 2557 ธานัทเป็นหนึ่งในบุคคลเป้าหมายของ คสช. ที่ถูกเรียกรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ แต่ยังไม่ทันจะไปถึงค่ายเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่บุกมาจับที่บ้านเสียก่อน เมื่อเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 คดีแรกในเดือนกรกฎาคม 2557 เขาก็สูญเสียอิสรภาพมาโดยตลอด เพราะศาลทหารไม่ให้ประกันตั

ช่วงแรกที่ถูกดำเนินคดีธานัทยืนยันจะสู้คดีเพราะเชื่อว่าสิ่งที่เขาปราศรัยไม่ผิดกฎหมาย แต่หลังจากถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวหลายครั้ง และการได้เจอกับกระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหารที่มีแนวโน้มจะล่าช้า เพราะไม่ได้นัดสืบพยานต่อเนื่อง ประกอบกับยังถูกฟ้องคดีมาตรา 112 เพิ่มเติมอีกหนึ่งคดีในเดือนตุลาคม 2558 ธานัทก็ตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางคดีเป็นรับสารภาพทั้งสองคดี และได้รับโทษรวม 10 ปี 10 เดือน มรสุมในชีวิตของธานัทยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะในช่วงต้นปี 2561 เขาถูกฟ้องคดีมาตรา 112 เพิ่มอีกสองคดีจากการปราศรัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร การถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4 ทำให้ธานัทกลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในยุค คสช. สูงที่สุด คือ สี่คดีในสามศาล ช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ธานัทยังได้รับข่าวดีอยู่บ้างเมื่อศาลอาญายกฟ้องคดีที่เขาปราศรัยที่จังหวัดลำพูนในปี 2554 

ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ธานัทจะมีอายุครบหกสิบปี เท่ากับว่า กว่าที่เขาจะครบกำหนดโทษ 10 ปี 10 เดือนในช่วงกลางปี 2568 ธานัทก็น่ามีอายุถึง 67 ปีแล้ว แต่โทษจำคุก 10 ปี 10 เดือนที่กล่าวมาก็ยังไม่ใช่บทสรุปเพราะธานัทยังเหลือคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาและยังไม่มีการสืบพยาน นอกจากนี้คดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งที่ศาลพึ่งยกฟ้องไปในเดือนมีนาคม 2561 ก็ยังไม่ใช่ที่สุดเพราะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น 

บุคคลทั้งสี่ที่ยกมาในที่นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนสูงวัยที่กำลังถูกจำกัดอิสรภาพ หรือเคยถูกจำกัดอิสรภาพเท่านั้น ยังมี "คนสูงวัย" อีกส่วนหนึ่งที่เรื่องราวของเขายังไม่ได้รับการบอกเล่า ซึ่งสำหรับพวกเขาเหล่านั้นนอกจากอิสรภาพแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกำลังใจจากลูกหลานหรือคู่ทุกข์คู่ยากที่จะช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นวันแต่ละวันไป จนกว่าวันแห่งอิสรภาพจะมาถึงและหวังเพียงว่า โรคภัยไข้เจ็บหรืออายุที่ไม่เพิ่มขึ้นจะไม่ช่วย "ปล่อย" เขาจากพันธนาการก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้ทำหน้าที่นั้น 

อ่านรายละเอียดคดีของธานัท คดีแรก https://freedom.ilaw.or.th/th/case/585
อ่านรายละเอียดคดีของธานัท คดีที่สองhttp://freedom.ilaw.or.th/th/case/691
อ่านรายละเอียดของธานัท คดีที่สาม https://freedom.ilaw.or.th/th/case/819
อ่านรายละเอียดคดีของธานัท คดีที่สี่ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/820 
อ่านเรืองราวของธานัท "ตราบที่เรายังมีกันและกัน" ซึ่งเผยแพร่ในหนังสือห้องเช่าหมายเลข 112 https://freedom.ilaw.or.th/blog/tom112