ข่าวนี้ไปทั่วโลก ‘Facebook blocks video of Thailand’s…’ ไม่ว่าบีบีซีเวิร์ลด์
นิวยอร์คเดลี่นิวส์ อัลจาซีร่า หรือว่า ดิ อินดีเพ็นเด๊นซ์
โดยเฉพาะรายหลังนี่ลงคลิปวิดีโอเจ้ากรรมนายเวรที่เป็นปัญหา ให้ประชากรนานาชาติได้เห็นในสิ่งที่ทางการไทยสั่งให้เฟชบุ๊คถอดออก
และปิดกั้นจากหน้าสื่อสังคม (อันเป็นวิดีโอที่ก็อปมาจากโพสต์ของ แอนดรูว์
แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล ใน ‘ไว้ซ์นิวส์’ อีกต่อ)
บีบีซีอ้างเนื้อความจากสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “หากเฟซบุ๊กยังไม่ดำเนินการตามที่ทางการไทยร้องขอภายในกำหนดเส้นตายวันที่
๑๖ พ.ค. ก็จะต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อเฟซบุ๊กในประเทศไทย”
นั่นหมายถึงกระทรวงดิจิทัลฯ
จะเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจ และ “อาจขอหมายค้นสำนักงานเฟซบุ๊กในไทยเป็นมาตรการในขั้นต่อไปด้วย”
ส่วนข่าวรอยเตอร์
“อ้างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
(กสทช.) ที่ระบุว่า เฟซบุ๊กยังไม่ได้ปิดกั้นเฟซบุ๊กผิดกฎหมายที่เหลืออีก ๑๓๑ ยูอาร์แอล
จากทั้งหมด ๓๐๙ ยูอาร์แอล ซึ่งมีเนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง
และเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒”
ทางด้านอัล จาซีร่า รายงานว่าศาลอาญาของไทยมีคำสั่งให้ปิดหน้าเว็บแล้วเกือบ
๗ พันราย นับแต่ปี ๒๕๕๘ เป็นต้นมา “ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตสามารถบล็อคการเข้าถึงหน้าเหล่านั้นได้เป็นส่วนใหญ่
แต่ยังมีเหลืออีกราว ๖๐๐ หน้าที่ปิดไม่ได้เนื่องจากมี ‘encryption’ ตั้งค่าการเข้าถึงไว้เป็นพิเศษไม่สามารถทะลวงได้
โดยกว่าครึ่งของจำนวนนั้นอยู่บนเฟชบุ๊ค”
อัล จาซีร่าชี้ด้วยว่า “ในเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๕๙ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติประกาศให้การเข้าถึง
(สู่) ระบบอินเตอร์เน็ต เป็นสิทธิมนุษยชน”
นอกจากนี้นายเดวิด เคย์ โฆษกสหประชาชาติเกี่ยวกับเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นและแสดงออก
“กระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ผลักกลับ (ทัดทาน)
เมื่อมีรัฐชาติใดเรียกร้องให้ปิดหน้าเว็บ...
นายเคย์ผู้นี้เคยวิพากษ์ผู้ปกครองรัฐไทยว่าใช้กฎหมายหมิ่นกษัตริย์
“เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อบีบคั้นต่อการแสดงความเห็นในทางวิจารณ์”
อย่างไรก็ดีเกี่ยวกับการหมิ่นกษัตริย์ทางออนไลน์ในไทยนั้น
ศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์ของกองทัพบกแถลงในโอกาศครบรอบ ๑๖ ปี เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว
(๑๑ พฤษภา) ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น ๘๒๐ รายการ
ในจำนวนนี้เป็นโพสต์บนเฟชบุ๊ค ๓๖๕ รายการ บนยูทู้ป ๔๕๐ รายการ และบนทวิตเตอร์
๕ รายการ และจากรายการทั้งหมดสามารถบล็อคได้แล้ว ๔๓๕ รายการ อีก ๑๑๑
รายการอยู่ในระหว่างทำการบล็อค ขณะที่มีรายการใหม่เพิ่มขึ้นอีก ๒๗๔ รายการ
หนึ่งในนั้นรวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ถูกอุ้มไปคุมขังไว้หลายวันพร้อมกับผู้ต้องหาแชร์เฟชบุ๊คของ
ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อีก ๖ คน ที่มีนักศึกษาออกมาปล่อยลูกโป่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวเมื่อศาลไม่ยอมให้ประกัน
พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผอ.ศูนย์ไซเบอร์ ยังบอกอีกว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเป็นอย่างดีในการช่วยบล็อคเว็บหมิ่นที่ศาลออกคำสั่งบล็อคราว
๖ พันรายการ
พล.ต.ฤทธีอ้างด้วยว่าผลงานของศูนย์ไซเบอร์อย่างนั้น “คาดว่าในไม่ช้าเนื้อหาบนเน็ตที่มีลักษณะว่าร้ายต่อสถาบันกษัตริย์จะลดลง”
แต่จากสถิติที่แถลงล่าสุดนี้แสดงว่าการหมิ่นกษัตริย์ทางไซเบอร์น่าจะเพิ่มมากกว่าลด
และด้วยความพยายามถึงขั้นแสดงอาการ ‘กร้าว’ กับสื่อสังคมยักษ์ใหญ่อย่างเฟชบุ๊ค ‘สไตล์ไชน่า’
ของรัฐบาล คสช. ที่จะลบล้างและปิดกั้นเนื้อหาซึ่งทางการไทยจัดให้เป็นประเภทส่อไปในทาง
‘ล้มเจ้า’ เหล่านั้น แล้วยังมีรายการใหม่ๆ
เกิดขึ้นอีก