ภาพจาก มติชน
แถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาชน 14 องค์กรภาคใต้ตอนล่าง
“ ทำไมพี่น้องหลายกลุ่มปัญหาในภาคใต้ จึงเมินปาฐกถานายกรัฐมนตรีในวันนี้”
เรียน พี่น้องประชาชน สื่อมวลชน หน่วยข่าวของรัฐและรัฐบาล
มีคำถามที่น่าสนใจมากจากหน่วยงานของรัฐและสื่อมวลชนว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาพูดเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2560 นี้ เครือข่ายภาคประชาชนในสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง จะสนใจมาฟังหรือไม่ หรือจะมาเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่
ทางเครือข่ายภาคประชาชนในภาคใต้ตอนล่างขอชี้แจงว่า การไฟังปาฐกถาเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ของนายกรัฐมนตรีนั้น “ไม่มีอะไรน่าสนใจที่จะมาฟังอยู่แล้ว เพราะนโยบายอวดโม้ว่ายุค 4.0 แต่พฤติกรรมยังเป็นยุค 0.4 ยังหนุนถ่านหิน เน้นสร้างท่าเรือ ชอบอนุมัติเปิดเหมือง ผนวกกับทุนในนามประชารัฐยึดกุมประเทศ ควบคุมสื่อ จำกัดสิทธิประชาชน สารพัดวิธีคิดแบบเผด็จการอำนาจนิยม จึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปฟัง”
การมาภาคใต้ของนายกรัฐมนตรีและคณะในครั้งนี้ มีปรากฏกฏการณ์ใหม่คือ ภาคประชาชนนิ่งมาก ไม่มีใครสนใจจะไปยื่นหนังสือหรือชูป้ายประท้วงใดๆด้วยซ้ำ เพราะต่างได้ข้อสรุปตรงกันว่า “ไม่มีประโยชน์ที่จะไปแสดงออก ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเรียกร้อง เพราะเรายื่นหนังสือมาเป็นร้อยฉบับแล้ว เราแสดงออกในทั้งรูปแบบการประท้วง การรณรงค์ การจัดเวทีวิชาการ หรือกิจกรรมมากมาย ที่อุดมไปด้วยเหตุผลและจุดยืนในการขอมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเองมาตลอด ซึ่งเพียงพอแล้วสำหรับนายกรัฐมนตรีหากมีจิตใจที่พร้อมรับฟังภาคประชาชน”
รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความชอบธรรมหรือความน่าเชื่อถือใดๆแล้วสำหรับภาคประชาชน นายกรัฐมนตรีเองก็ไร้ซึ่งจุดยืนที่จะยืนข้างภาคประชาชน เป็นคนหูตึงเวลาฟังปัญหาและข้อเสนอของภาคประชาชน เป็นคนตามัวใกล้บอดไม่เห็นความทุกข์ยากของผู้คน การพูดทุกวันศุกร์นั้นยิ่งชัดเจนว่า มีโลกทัศน์ที่เอาตนเองหรือกลุ่มลิ่วล้อใกล้ชิดเป็นศูนย์กลาง คอยแต่เทศนาสั่งสอนประชาชน ละเลยการพัฒนาประชาธิปไตยฐานรากอันหมายถึงการฟังเสียงประชาชนและให้ประชาชนร่วมกำหนดอนาคตของตนเอง (ลืมไปว่าจะไปคาดหวังอะไรกับเผด็จการให้มาพัฒนาประชาธิปไตย)
วันนี้ภาคประชาชนไม่ได้หวังอะไรจากรัฐบาลและ คสช.แล้ว ไม่หวังแม้การปฏิรูปใดๆจาก คสช. ภาคประชาชนกำลังกลับมาสร้างฐานประชาชนให้เข้มแข็ง ปกป้องพื้นที่จากการรุกรานของรัฐและทุน สร้างฐานประชาธิปไตยทางตรง และรอการเลือกตั้งใหม่(ซึ่งหวังว่าจะมีจริง) ที่อาจพอจะเป็นความหวังสำหรับการหยุดภาวะชงักงันทางประชาธิปไตยและการที่ประชาชนจะร่วมกำหนดอนาคตตนเอง
การลงมาเยี่ยมพื้นที่ภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีจึงไร้ประโยชน์ในการไปแสดงออก ภาคประชาชนเอาเวลาไปทำมาหากินและเอาพลังไปทำงานฐานรากให้เข้มแข็งเพื่อรับมือการรุกรานของรัฐและทุนยังดีกว่า
จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
14 องค์กรภาคประชาชนภาคใต้ตอนล่าง
รายชื่อ 14 องค์กรภาคประชาชนภาคใต้ตอนล่าง
1. เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS)
2. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
3. ศูนย์พลเมืองเด็ก
4. เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงขลา สตูล
5. เครือข่ายชุมชนน่าอยู่พัทลุง
6. เครือข่ายพลเมืองสงขลา
7. เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
8. สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ
9. โครงการพื้นที่ชุ่มน้ำปัตตานี
10. สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี
11. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
12. ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน จะนะ
13. เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงขลา สตูล
14. เครือข่ายคนหาดใหญ่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
SNnews