พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ณ กรุงเทพฯ : โดย กล้า สมุทวณิช
24 พฤษภาคม 2560
ที่มา มติชนออนไลน์
ช่วงเวลาที่กล้าหาญที่สุดในชีวิตผม
ช่วงเวลานั้นเป็นครั้งที่ผมรู้สึกกล้าหาญมากที่สุด ในตอนที่ยกนกหวีดสีเหลืองรูปสายฟ้าที่ห้อยอยู่กับสายคล้องลายธงชาติขึ้นมาเป่าเสียงดังแสบแก้วหู ที่สี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครตรงข้ามกับมาบุญครอง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ร่วมกับพี่พ้องน้องเพื่อนและครูอาจารย์ร่วมสถาบัน จิตใจของผมพองโต รู้สึกได้ถึงการเล่นบทบาทเป็นผู้กล้าท้าทายรัฐบาลทรราช เป็นพลังนิสิตนักศึกษาที่บริสุทธิ์ ผู้ออกมาต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมที่พวกเผด็จการรัฐสภาพยายามใช้เสียงข้างมากลากถูออกมาเพื่อล้างผิดคนโกง
ของชิ้นแรกที่จะจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ก็คือนกหวีดอันนี้ ที่ผมเป่าในวันนั้นนั่นแหละครับ
สมัยนั้น ผมเชื่ออย่างจริงจังเรื่องเผด็จการรัฐสภา สภาผัวเมีย หรือสารพัดความเลวร้ายในรูปแบบของผู้แทนฯที่ได้เสียงข้างมากมาจากการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อมา หรือไม่ก็ใช้นโยบายประชานิยมล่อใจให้พวกคนที่ไม่มีวิจารณญาณลงคะแนนเลือกพวกนักการเมืองเลวๆ เข้ามาเป็นผู้แทนฯในสภา พวกนี้ยกมือกันเป็นฝักถั่วตามคำสั่ง “นายใหญ่” อ้อ ไม่สิ เขาเปลี่ยนไปใช้การสอดบัตรกดลงคะแนนแทนการยกมือแล้ว แต่ขนาดนั้นก็ยังมีบางคนฝากบัตรให้เพื่อนกดแทนเลยคุณ
ผมจินตนาการไปไม่ถึงหรอกครับ ว่าผมไล่สภาแบบนั้นไป เพื่อจะได้สภาที่ตั้งกันเอง เต็มไปด้วยใครก็ไม่รู้ที่พวกเราไม่เคยได้ยินชื่อ มียศนำหน้า ตำแหน่งตามหลัง ลงคะแนนแทบเป็นเอกฉันท์ทุกครั้ง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะแทบไม่เคยได้เข้าประชุมสภาที่ว่านั้นเลยก็ตาม ขอนับองค์ประชุมก็ไม่ได้อีกต่างหาก แต่ก็ช่างมันเถิดครับ ไปดูของชิ้นต่อไปกันดีกว่า
ของชิ้นนี้ผมตามหามาตั้งนานกว่าจะได้มาจัดแสดงไว้ มันคือโมเดลรถไฟความเร็วสูงจากนิทรรศการ “รถไฟสายความสุข” ที่จัดขึ้นสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ…. หรือร่างกฎหมายเงินกู้สองล้านล้านบาท ที่ในตอนนั้นพวกผมเรียกกันอย่างดูแคลนว่า “รถไฟขนผัก” นั่นแหละครับ แม้ว่าผู้รับผิดชอบโครงการ จะเป็นคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เคยเป็นที่ชื่นชอบของพวกเราในช่วงเวลานั้นว่าเป็นรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี แต่ในเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลที่พวกเราชังน้ำหน้า เราก็เป่านกหวีดไล่ครับ เราไม่อยากเป็นหนี้ไปชั่วลูกชั่วหลาน และรถไฟความเร็วสูงที่ว่านั้นเล่า ก็ไหนนักแสดงตลกคนหนึ่งเขาบอกไงว่า ทางการจีนเขาจะสร้างให้เราฟรีๆ ผมจึงดีใจเป่านกหวีดจนคอเกือบแตก ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า กฎหมายเงินกู้สองล้านล้านเพื่อสร้างอนาคตของประเทศต้องเป็นโมฆะไป
แม้คุณชัชชาติเคยบอกเอาไว้ในตอนนั้นว่า ต้นทุนสำคัญที่สุดที่ราคาแพงกว่าคือเวลา หากเป็นไปตามแผนของคุณชัชชาติ ในราวปี ค.ศ.2020 เราจะมีทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ทางรถไฟ และทางหลวงแผ่นดินสายใหม่ แต่ตอนนี้น่ะหรือครับ อีกไม่ถึงสองปีก็ 2020 แล้ว รถไฟจีนที่ว่ายังไม่เห็นมาเลยครับ และเห็นเขาว่าถ้าจะมาก็จะมาด้วยระยะ
ทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร แถวๆ โคราช เป็นการชิมลางก่อนน่ะครับ
ส่วน “ของจีน” ที่มาเร็วกว่านั้น เห็นจะเป็นเรือดำน้ำจีน ที่ลำแรกน่าจะเข้ามาจอดกลางอ่าวไทยเราได้ไม่เกินปี ค.ศ.2023 น่าเสียดายที่ไม่มีใครไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญนะครับ ว่าการทำสัญญาซื้อเรือดำน้ำโดยรัฐบาลในกรณีนี้ทำได้หรือไม่ เหมาะสมหรือเปล่า
แต่เอาเถิดครับ อย่างน้อย เราไม่ต้องเป็นหนี้สองล้านล้านกันชั่วลูกชั่วหลานแล้ว ผมควรดีใจและโล่งใจกว่านี้ ถ้าไม่ใช่ว่าเมื่อไม่กี่วันนี้ เพิ่งไปอ่านข่าวพบว่า รัฐบาลที่ผมเป่านกหวีดเรียกมา ท่านกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวมกับ 3 ปีที่ท่านถือครองอำนาจอยู่เกือบหนึ่งล้านล้านบาทแล้ว แต่เราอย่าพูดถึงเรื่องชวนทานข้าวไม่ลงนี้กันเลย ชมสิ่งของชิ้นต่อไปที่เราเอามาโชว์กันดีกว่า
ป้ายฟิวเจอร์บอร์ดที่เห็นอยู่นี้เป็นของจริงนะครับ โชคดีที่ผมไปได้มาจากกองขยะรอทำลายแถวกระทรวงสาธารณสุข ป้าย “หนีคนไข้มาไล่อีปู” ที่คุ้นตากันในภาพถ่ายเหตุการณ์แสดงพลังของเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขที่ออกมาแสดงพลังกันเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2557 ว่าตัวตามตรง ผมก็ไม่คิดหรอกครับว่าจะมีใครละทิ้งหน้าที่ หนีคนไข้ ออกไปชุมนุมทางการเมืองจริงๆ คงเป็นเรื่องของกลอนพาไปมากกว่า
ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ ว่าในตอนแรกที่มีข่าวว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันนี้จะไม่อนุมัติให้บรรจุพยาบาลวิชาชีพเข้าเป็นข้าราชการหมื่นกว่าอัตรานั้น จะมีใครที่เคยไปถือป้ายนี้ในวันนั้นรู้สึกสะอึกหรือระลึกถึงอะไรขึ้นมาได้บ้างหรือเปล่า
ส่วนจอโทรทัศน์ LCD ตรงมุมนี้ กำลังฉายฉากหนึ่งในละคร ที่ตอนนั้นมีกระแสว่ารัฐบาลในขณะนั้นสั่งงดออกอากาศ เนื่องจากมีเนื้อหาสะเทือนซางกระทบใจ น่าตลกดีนะครับ ในตอนนั้นเราตื่นเต้นกันมาก เรียกร้องหาเสรีภาพในการสื่อสารมวลชนกันให้ระงมไปหมด จำได้เลยว่าในตอนนั้นใครๆ ก็ต้องออกมาอัดรัฐบาล ทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ถูกงัดขึ้นมาอธิบาย เพื่อที่จะวกไปด่ารัฐบาลที่ปิดกั้นสื่อ
แล้วในตอนนี้หรือครับ … การจัดรายการโทรทัศน์ของสถานีที่ถูกจับตาว่าอยู่คนละฝ่ายกับอำนาจรัฐ ถูกควบคุมจนแทบพูดอะไรไม่ได้ ไม่พอใจขึ้นมาก็สามารถใช้อำนาจสั่งปิดสถานีให้จอดำได้ทั้งช่องเป็นเวลา 3 วันบ้าง 7 วันบ้างได้อย่างไม่ต้องเกรงใจใคร ก็จะเกรงใจใครเล่า ในเมื่อมีแต่เสียงแห่งความเงียบจนแสบแก้วหูมาจากบรรดานักวิชาการ ดารา
ผู้คนในวงการสื่อ ที่เคยมาร้องแรกแหกกระเชอกันในตอนนั้น ไม่รู้ว่าพวกเขาหายไปไหนกันหมด
สิ่งของอื่นๆ ที่มีจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์นี้ก็ยังมีอีกหลายอย่าง ตรงนี้คือ หน้ากากขาว กาย ฟอว์กส์ ที่เลียนแบบมาจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตต้า (V for Vendetta) ที่พวกผมใส่เพื่อแสดงพลังขับไล่รัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2556 และอันนี้ก็สติ๊กเกอร์ติดรถยนต์ No Dam ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนมี กปปส. แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจุดชนวนสร้างบรรยากาศต่อต้านรัฐบาลที่เป็นผลต่อเนื่องกันครับ
ส่วนของชิ้นที่ถือเป็นไฮไลต์ที่สุด ที่แสดงไว้ส่วนที่เด่นที่สุดในพิพิธภัณฑ์ อย่าถามว่าผมหามาได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่ควรจะสาบสูญไปนานแล้ว แต่ผมก็ใช้เส้นสนกลในหามาจนได้
มันคือหีบเลือกตั้งบุบเบี้ยว ที่เดิมแล้วมันควรจะอยู่ในหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่หีบเลือกตั้งนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน ด้วยคนอย่างพวกผมนำกำลังไปปิดหน่วยเลือกตั้งไว้ให้จัดการเลือกตั้งไม่ได้ ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นกลายเป็นโมฆะ
หีบเลือกตั้งนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาวิกฤตเท่านั้น หากมันยังต่อเชื่อมกับความทรงจำอันเป็นส่วนตัวของผมด้วย
ผมเลิกรากับคนรักของผมในตอนนั้น หลังจากที่รัฐบาลในขณะนั้นประกาศยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ แม้ว่าเธอก็เป็นคนหนึ่งที่ออกมาเป่านกหวีดต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเหมาเข่งเหมือนกัน แต่เธอก็เลือกที่จะ “หยุด” หลังจากที่รัฐบาลประกาศยุบสภา เพราะเห็นว่าการที่ให้ประชาชนตัดสินผ่านการเลือกตั้งนั้น เป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่ยอมรับได้แล้ว หากตัวผมเองยังดึงดันให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และถลำตามพรรคพวกจนไปปิดหน่วยเลือกตั้งกับเขาด้วย
เธอผิดหวังมาก และขอเลิกกับผมหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ตัวหรอก ยังกล่าวหาว่าเป็นเพราะเธอชอบพรรคการเมืองคนละพรรคกับผมจึงหาเรื่องเลิกกัน
“มันไม่เกี่ยวว่าเธอจะชอบจะรักพรรคการเมืองไหน ปัญหาคือ เธอกำลังทำลายประชาธิปไตย และจะพาพวกเราไปสู่หุบเหวที่ไม่มีทางขึ้น” เธอว่าอย่างนี้ก่อนจะเดินออกไปจากชีวิตผมตลอดกาล
จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาเกิน 3 ปีแล้วครับ ช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมเพิ่งจะสำนึกว่าความเอาแต่ใจทางการเมือง ความไร้เดียงสา การเล่นเป็นฮีโร่ผู้กล้าท้าเผด็จการปลอมๆ ของผมจะส่งผลอย่างไรจนถึงปัจจุบันนี้ การออกมาแสดงออกทางการเมืองขับไล่รัฐบาลไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่พวกผมเล่นใหญ่กันเกินกว่าสัดส่วนของปัญหาจริง
พวกผมสร้างภาพรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งให้เป็นเผด็จการทรราชที่น่ากลัว เหมือนจับแมวขโมยสักตัวมาเขียนลายเสือ หลอกหลอนตัวเองด้วยวาทกรรมต่างๆ ว่ามันเป็นสัตว์ร้ายที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก แล้วพวกผมก็ช่วยกันเปิดกรงปล่อยเสือร้ายตัวจริงออกมาเพื่อจัดการแมวขโมยตัวนั้น เสืออ้วนตัวใหญ่ที่กินทุกอย่างและไม่มีใครจับมันเข้ากรงได้อีกจนทุกวันนี้
แล้วคนอย่างพวกผมก็ไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย หลายคนประกาศเลิกสนใจการเมืองไปนับตั้งแต่นั้น บางคนก็กล้ำกลืนฝืนให้ท้ายระบบการเมืองปัจจุบันทั้งๆ ที่จริงๆ ก็ผิดหวังและเห็นปัญหาต่างๆ นานา แต่จะให้พูดอะไรได้ ให้ออกมาต่อสู้เหมือนในตอนนั้น เราก็รู้ดีเท่าๆ พวกคุณนั่นแหละครับ ว่าสิ่งที่เราจะต้องเผชิญหน้าหากจะลุกขึ้นมาหืออือ คือ “เสือ” ที่เขมือบเรา ฆ่าเราได้จริงๆ รัฐบาลเผด็จการเต็มรูปแบบของแท้ ไม่ใช่แค่แมวระบายสีเหมือนอย่างรัฐบาลพลเรือนที่เราเก่งกันนักในตอนนั้น
คนอย่างพวกผมรับผิดชอบได้อย่างมาก ก็แค่ลบรูปที่เคยไปร่วมกิจกรรมเป่านกหวีด หรือชัตดาวน์กรุงเทพฯ ที่ลงไว้ในเฟซบุ๊กในเวลาที่มันเตือนความทรงจำขึ้นมา ให้พ้นจากความอับอายเป็นคราวๆ ไปเท่านั้น
คุณผู้เขียนครับ ผมอยากให้คุณเขียนเรื่องของผม อย่างที่เคมาล ขอให้ออร์ฮาน ปามุก เขียนเรื่องของเขาในนิยายเรื่อง “พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” แต่เรื่องของผม สถานที่ที่ผมกำลังสร้างอยู่นี้ คือพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาทางการเมืองเราดีๆ นี่เอง และก็ ผมอยากจะให้คุณบันทึกคำพูดสุดท้ายของผม เหมือนอย่างในนิยายเรื่องนั้นด้วยครับ
“คำพูดสุดท้ายในเรื่องของผมคืออย่างนี้นะครับ” เขาอมนกหวีดในปากราวกับจะกลืนลงไปให้สุดคอหอย ครั้นแล้วก็ยิ้มให้ผู้เขียนทั้งน้ำตา “บอกให้ทุกคนรู้ว่าคนอย่างผมจะมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยความอับอาย”
ด้วยแรงบันดาลใจจากนวนิยาย “พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” ของ ออร์ฮาน ปามุก ในวันครบรอบ 3 ปี การปกครองในระบอบ คสช.