เผยโฉม‘ตู้ประชารัฐฯ’โอท็อป ททท.แห่งละ 8 แสน ปล่อยทิ้งร้าง-เท่าห้องบ้านเอื้อฯ
21 พฤษภาคม 2560
ที่มา สำนักข่าวอิศรา
ตามไปดู ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ใช้ขายโอท็อป 2 แห่งใน กทม. ราคากว่า 8 แสน ปล่อยทิ้งร้าง ราคาใกล้เคียงบ้านเอื้ออาทร ปชช.ในพื้นที่ยันนำมาตั้งปีกว่า ไม่เคยเห็นเปิดขาย หลัง ‘ยุทธศักดิ์ สุภสร’ ผู้ว่าการ ททท. ยืนยันจัดซื้อใช้เงินคุ้มค่า ประหยัด แต่ยอมรับ 5 ตู้ใน กทม. เปิดจำหน่ายสินค้าไม่ได้ เตรียมย้ายไป จ.นครปฐม-สมุทรสาคร
กรณีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ที่ใช้ขายสินค้าโอท็อปของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำนวน 148 ตู้ทั่วประเทศ วงเงินกว่า 122 ล้านบาท โดยใช้วิธีพิเศษ มีราคาสูงกว่าท้องตลาดมาก และบางพื้นที่ไม่มีการเปิดใช้งาน ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ยืนยันว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างถูกต้อง โโดยอิงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ใช้วิธีพิเศษเพราะเป็นโครงการขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้เบิกจ่ายงบฯ ให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ธ.ค. 2558 ทำให้มีระยะเวลาดำเนินการไม่กี่เดือน เนื่องจากประกวดราคาโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ต้องใช้เวลา ทั้งนี้ ตอนแรกของบประมาณตู้ละ 9 แสนกว่าบาท แต่เวลากำหนดราคากลางจริงอยู่ที่ 8 แสนกว่าบาท จึงมองว่าเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่ากว่า และประหยัดงบฯ กว่า (อ่านประกอบ : จัดซื้อ 'ตู้ประชารัฐฯ' 148 แห่ง ททท.วิธีพิเศษ 122 ล.- ผู้ว่าฯยันไม่มีทุจริต)
อย่างไรก็ตาม มาดูหน้าตา 'ตู้ประชารัฐ สุขใจ' ที่มีราคาจัดซื้อกว่า 8 แสนบาทต่อหน่วยกันบ้าง
ล่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เดินทางตรวจสอบ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2 แห่งจากทั้งหมด 5 แห่ง ดังนี้
@แห่งแรก ปั๊ม ปตท. สาขา ถ.วิภาวดีรังสิต (ตรงข้าม มหาวิทยาลัยหอการค้า)
เมื่อเดินทางถึงผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตู้ดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณใกล้กับทางออกปั๊ม ติดกับร้านสะดวกซื้อ 7-11 มีลักษณะฐานเป็นปูน ประตูไม้อัด ผนังไฟเบอร์ ดูคล้ายบ้านน็อคดาวน์ ปิดล็อคไว้มิดชิด และปรากฏชื่อ ‘ประชารัฐ สุขใจ’ ชัดเจน
โดยจาการสอบถามวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างรายหนึ่ง ด้านหน้าตู้ดังกล่าว เปิดเผยว่า ตู้ประชารัฐฯ ดังกล่าวถูกนำมาตั้งไว้ที่ปั๊มนี้ได้ประมาณปีกว่าแล้ว ประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค.พ.ศ.2559 โดยถูกตั้งทิ้งไว้เฉย ๆ ยังไม่เคยเห็นเปิดขายของหรือทำอะไร และไม่รู้ด้วยว่าใครเป็นเจ้าของร้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่าประเมินจากสายตาคาดว่าตู้มีราคาเท่าใด บุคคลดังกล่าวระบุ “น่าจะประมาณ 2 แสนกว่าบาทได้ แต่เขาตั้งไว้ไม่เคยเปิดขายอะไรเลยนะ จนแดดมันเลียตัวอักษรสีซีดไปหมดแล้ว” (ดูภาพประกอบ)
@แห่งที่ 2 ปั๊ม ปตท. สาขา ถ.บรมราชชนนี ตัด ถ.ราชพฤกษ์
เมื่อเดินทางถึงผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตู้ดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณหน้าห้องน้ำของปั๊ม ติดกับร้านไก่ย่างห้าดาว มีลักษณะฐานเป็นปูน ประตูไม้อัด ผนังไฟเบอร์ ดูคล้ายบ้านน็อคดาวน์ ประตูถูกปิดไว้มิดชิด แต่ฐานมีส่วนหนึ่งแตกร้าว และปรากฏชื่อ ‘ประชารัฐ สุขใจ’ ชัดเจน
จากการสอบถามแม่ค้ารายหนึ่งกล่าวว่า ตู้ดังกล่าวถูกนำมาตั้งตรงนี้ได้ประมาณปีกว่าแล้ว แต่ไม่รู้ว่าขายอะไร เพราะไม่เคยเปิดขาย ไม่เคยเห็นเจ้าของ ตอนมาติดตั้งร้านมาตอนกลางคืน ทั้งยังระบุร้านดังกล่าวไม่เคยเปิดขาย แต่ตั้งทิ้งไว้บังร้านคนอื่น
“ร้านไก่ย่างฯ เขาเลยเอาป้ายโปรโมชั่นไปวางไว้หน้าตู้ เพราะถูกตู้นั่นบังร้าน ทำให้ลูกค้าเขามองไม่เห็น ขายไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน โดยก่อนหน้านี้ร้านขายลูกชิ้นข้าง ๆ เขาก็เพิ่งย้ายออกไป เพราะทนไม่ไหว เขาขายไม่ได้เลย” แม่ค้าระบุ
(ดูภาพประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 5 ภูมิภาคตามโครงสร้าง ททท. มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 122,733,160.88 บาท เฉลี่ยราคาตู้ละประมาณ 829,278 บาท เมื่อเทียบกับราคาห้องในแฟลตของการเคหะแห่งชาติ หรือห้องในแฟลตในโครงการบ้านเอื้ออาทร ใกล้เคียงกัน ในบางโครงการ
อย่างไรก็ตาม นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ยอมรับว่ามี 5 แห่งที่สร้างเสร็จแล้วเปิดจำหน่ายสินค้าไม่ได้ เพราะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโครงการจะย้ายไปติดตั้งในพื้นที่ จ.นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร
“ในข้อเท็จจริงคือว่า ไม่ใช่ว่าไม่ได้ใช้ เราก่อสร้าง ติดตามแผนทุกอย่าง แต่ถึงเวลาแล้วมันมีปัญหา หลาย ๆ หน่วยงานก็เลยแก้ปัญหา และในการดำเนินงานไม่ใช่ ททท. รับผิดชอบคนเดียว มีคณะกรรมการที่ สสว. เขาก็เรียกประขุมอยู่เรื่อย ๆ หารือกันอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ได้นิ่งนอนใจในส่วนตรงนี้ ผมเลยคิดว่าที่เขาบอกว่าเปิดแล้วไม่ได้ใช้ เป็นไปไม่ได้ ไม่จริง มันมีปัญหาการดำเนินงานนิดหน่อย แต่ว่าเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในส่วนตรงนี้” ผู้ว่าการ ททท. ยืนยัน
ทั้งหมดคือ โฉมหน้า ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ที่จัดซื้อโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ซึ่งถูกร้องเรียนกรณีจัดซื้อในราคากว่า 8 แสนบาทต่อหน่วย มีราคาสูงกว่าท้องตลาด อีกทั้งในบางพื้นที่ไม่เคยเปิดใช้งาน
ขณะที่ ผู้ว่าการ ททท. ยืนยันเป็นการใช้เงินคุ้มค่า และประหยัด ?
อ่านประกอบ :
คำชี้แจง ผู้ว่าฯ ททท.‘ตู้ประชารัฐฯ’ 122 ล. เร่งเบิกจ่ายงบฯ จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ