วันเสาร์, พฤษภาคม 20, 2560

"ไกรศักดิ์" มวลชนพลาด บทเรียน 25 ปีพฤษภาทมิฬ ทหารคืนชีพ - สัมภาษณ์พิเศษ ประชาชาติธุรกิจ




"ไกรศักดิ์" มวลชนพลาด บทเรียน 25 ปีพฤษภาทมิฬ ทหารคืนชีพ


17 พ.ค. 2560
สัมภาษณ์พิเศษ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ


พ่อของเขาคือ "พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" หัวหน้ารัฐบาลที่ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534

ผ่านมาเพียงแค่ 1 ปี อำนาจของ รสช. ถึงคราวล่มสลาย

กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

วันนี้ "ไกรศักดิ์" คิดอย่างไร เมื่อพฤษภาทมิฬเดินทางมาครบ 25 ปี

- การเมืองหลังพฤษภา 35 มีรัฐประหารอีก 2 ครั้งสะท้อนอะไร


เป็นปรากฏการณ์ความอ่อนแอของสังคมไทย ในด้านการตรวจสอบและวัฒนธรรมทางการเมืองในระบบรัฐสภา อีกส่วนหนึ่งประชาชนมีวัฒนธรรมไม่ยอมรับและจะไม่อดทนต่อการประพฤติที่เขามองว่าเป็นผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวมความรู้สึกนี้ทำให้การพัฒนาระบบการเมืองไทยไม่สมบูรณ์

เพราะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงมาได้อย่างเดียวคือการรัฐประหารหารู้ไม่ว่าทำรัฐประหารทีไรสร้างปัญหาซ้อนขึ้นมาอีกบางทีกรณีของพฤษภา35 ทหารที่เข้ามาปกครอง ได้สร้างความเกลียดชังจากประชาชน มากกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง เพราะทหารไม่มีทักษะที่ให้เกียรติศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

คิดว่าสมัยคุณสุจินดา (คราประยูร) มาจนถึง คุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ชัดเจนการยึดอำนาจของ คุณสนธิ (บุญยรัตกลิน) ได้นำไปสู่รัฐธรรมนูญที่ให้เกียรติสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนสูงมาก แต่ปัจจุบันถอยหลังไปอย่างสิ้นเชิง

การปั่นป่วนของพฤษภา 35 ส่วนหนึ่งสังคมสรุปว่าต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขตรวจสอบสูงขึ้น รัฐธรรมนูญ 2540 จึงเกิดขึ้นมา การขัดแย้งและการสูญเสียของประชาชนในเหตุการณ์ 35 ได้นำไปสู่จิตสำนึกใหม่ การทบทวนการถกเถียง และสิทธิเสรีภาพก้าวหน้าที่สุด

แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ร่างขึ้นมา คิดว่าจะควบคุมการใช้อำนาจข้าราชการประจำโดยนักการเมืองและมีการตรวจสอบ

องค์กรอิสระ แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้น คุณทักษิณ (ชินวัตร) ได้สร้างพรรคไทยรักไทยขึ้นมา เป็นพรรคการเมืองที่ร่วมสมัยที่สุด แข็งแรงที่สุด แต่มิได้หมายความว่านำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 อำนาจดูเหมือนจะมั่นคงมาก แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้ ส.ว. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองคงเป็นกลาง แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น มีการแทรกแซงโดยอำนาจเงิน อำนาจการเมืองซึ่งก็เกิดขึ้น และการล้มเหลวของรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้น

พวกเสื้อเหลือง เสื้อแดงที่ออกมาปกป้องรัฐบาล แตกแยก ตีรันฆ่าฟันกันกลางถนน ใช้เวลาราว 10 ปีเท่านั้น เลยกลับมาสู่สภาพของการรัฐประหารและการถอยหลัง อาจเรียกได้ว่าสุดขั้วที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ 14 ตุลา และมีการพูดถึง 20 ปีของการดำรงอำนาจของกองทัพที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงรัฐบาล เป็นห่วงว่าจะเลวร้ายยิ่งกว่าในอดีต

- ผลของพฤษภาทมิฬนำไปสู่รัฐธรรมนูญ 40 ที่ก้าวหน้าที่สุด แต่ต่อมาทำไมจึงนำมาสู่รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ว่าล้าหลังที่สุด

ดูสิ รัฐธรรมนูญ 40 มีรัฐบาลที่ใช้อำนาจของตัวเองในการปราบปรามประชาชน ฆ่ายาเสพติดเกือบ 3 พันคน ละเมิดสิทธิ์อย่างหูดับตับไหม้ ซึ่งคาดไม่ถึงเลยว่าจะเกิดขึ้น นำไปสู่การคอร์รัปชั่นเช่น นโยบายจำนำข้าว เป็นการล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของระบบประชาธิปไตย นำไปสู่สิ่งที่เราเผชิญอยู่ปัจจุบัน

มีอยู่ทางเดียวที่จะเอาเสรีภาพ หรือระบบเสรีนิยมกลับมาได้ ต้องมาจับมือกันทั้งสองฝ่าย และทุกฝ่ายที่ต้องการสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประเทศชาติ และความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ

- พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์จับมือกัน


ใช่...มีอยู่ทางเดียว อาจจะตั้งรัฐบาลได้ รัฐธรรมนูญอนุญาต ปัญหาคือเรื่องที่คาราคาซังกันในอดีต...ผมลืมไม่ได้ การใช้เสียงส่วนมากที่ละเมิดกฎระเบียบรัฐสภา การคอร์รัปชั่น การละเมิดสิทธิ์ ถ้าจะจับมือกันจริง ๆ ต้องไม่ทำอีก

- ถ้านึกถึงพฤษภาทมิฬจะนึกถึงอะไร

พฤษภาทมิฬ เป็นสัญลักษณ์ของประชาชนที่มองว่าเขาผิดไปแล้วที่ออกมาสนับสนุนการรัฐประหาร และได้คนอย่างคุณสุจินดา ได้คนอย่างที่นักการเมืองห่วย ๆ ที่เขาขับไล่ในอดีตกลับมาใหม่อีก การลุกขึ้นสู้เป็นการแสดงความไม่พอใจของการไม่เคารพในการเรียกร้องสิทธิ ศักดิ์ศรีของประชาชนเลย พฤติกรรมอันนี้กลายเป็นรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้ ผมอาจจะพูดแรงไปหน่อย แต่มันใช่...

- ทำไมสิ่งที่คนเดือนพฤษภาเรียกร้อง และลุกขึ้นสู้กับทหาร กลับมาปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ และทำให้ทหารแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม

เพราะการต่อสู้คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีขอบเขตของการต่อต้านและในสาระเนื้อหาของการปฏิรูปไม่ได้เป็นจริง การรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะกระบวนการประชาชนเป็นหมื่นเป็นแสนคนออกมา แต่ในวาระสุดท้ายมาก็เพราะว่าการโฆษณาชวนเชื่อของแกนนำว่าจะให้มีการปฏิรูป แต่แกนนำไม่ได้ผลักดันเรื่องปฏิรูปเท่าไหร่เลย เพราะแกนนำก็ไม่รู้ว่าปฏิรูปคืออะไรด้วย

- หมายถึง กปปส.ใช่ไหม


แน่นอน ผมพูดถึงใครล่ะ (หัวเราะ)

- สรุปได้ไหมว่าประชาชนกลับมายอมรับ

รัฐประหาร ทหารจึงฟื้นคืนชีพอีกครั้งประชาชนพลาดไป โดยผู้นำ กปปส.คิดว่าการรัฐประหารนั้นเป็นทางเดียวที่จะเอาชนะรัฐบาลยิ่งลักษณ์และยอมรับว่าที่คุณกรณ์ จาติกวณิช เตือนว่า ที่ กปปส.ออกมาเป็นการผลักดันให้มีการรัฐประหาร

- พฤษภาทมิฬมีพรรคเทพ ต่อต้านทหารชัดเจน แต่ทำไมปัจจุบันพรรคการเมืองถึงไม่มีบทบาทนั้น

พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยต่อการประชามติของรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย แต่มีบางคนในพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าให้เงียบ ๆ เอาไว้ เพราะต้องรักษาไมตรีจิต รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพไว้ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ แต่ผมไม่ได้เห็นว่า หัวหน้าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำตามแนวนั้นเลย แกก็ออกมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญ

แต่บางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยฯอาจมองว่า ต้องทำตามสิ่งที่ทหารกำหนดไว้เพื่อประทังชีวิตไปวัน ๆ ให้ได้กลับเข้ามาในรัฐสภา แต่ในส่วนรวมแล้วไม่มีใครเห็นด้วย

- ปี′35 พรรคการเมืองออกมาเป็นแกนนำสู้กับทหาร เช่นเดียวกับปี′49 ที่มีพรรคพลังประชาชนต่อต้าน คมช. แต่ปัจจุบันไม่มีเป็นเพราะอะไร

พรรคการเมืองถ้าไม่มีประชาชน ประชาชนมักจะนำพรรคการเมืองตลอดเวลา ในประเด็นเดียวคือสิทธิเสรีภาพ ต่อต้านเผด็จการ นิสิตนักศึกษา ประชาชน ออกมาชี้นำประชาชนตลอด ออกมาเป็นแนวหน้า พรรคการเมืองก็ฉวยโอกาสมากกว่า

- ปัจจุบันจะมีประชาชนลุกขึ้นมานำพรรคการเมืองต่อสู้กับทหารได้อีกหรือไม่


อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นถ้าถูกกดดันมาก

-25ปีที่ผ่านมาคิดว่ามีประชาธิปไตยอยู่หรือไม่

ในรูปแบบกฎหมายไม่เหลือแล้ว แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญ เป็น Guided Democracy ประชาธิปไตยถูกชักจูง เหมือนกับกลับมาในยุคที่เราเป็นเด็กกันหมด ไม่มีวุฒิภาวะ มีแต่ข้าราชการกองทัพเท่านั้นต้องนำเรา

- ภาวะแบบนี้จะนำไปสู่อะไร

ในประวัติศาสตร์เป็นไปไม่ได้ที่จะดำรงคงที่อย่างนี้อยู่ ทุกสังคมมีการเปลี่ยนแปลง แต่ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ต้องมีการหลั่งเลือด ต้องมีขัดแย้งถึงจะก้าวไปข้างหน้า

แต่ครั้งนี้ผมยังหวังว่าเริ่มต้นจากนักการเมืองทั้งหมดออกมานำมวลชนก่อนอื่นเลยชี้แจงว่าไปไม่รอดกฎระเบียบรัฐธรรมนูญแบบนี้อยู่กันไม่ได้หรือว่าจะไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งเลย ซึ่งเป็นการตัดสินใจยากที่จะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นทางเดียวที่ชี้ให้เห็นเลยว่า พรรคการเมืองเสียสละเพื่อการเปลี่ยนแปลง

มาวันนี้ 40 ปีของการเมืองไทยหลัง 14 ตุลาจนถึงวันนี้ การล้มลุกคลุกคลานของประวัติศาสตร์ไทยมีประเด็นเดียวคือ ความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ สันติวิธี สู้กันมา มาถามตัวเองว่าแล้วทำไมมันหายไปทั้งหมด เพราะว่าเราไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ และจะมาโทษทักษิณคนเดียวก็ไม่ได้ ก็ต้องโทษ กปปส.ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเรามองเฉพาะหน้า ไม่ได้มองทางไกล เราจะเอาชนะมันตรงนั้น และชนะอย่างเดียวต้องเอากองทัพเข้ามา แล้วอะไรเกิดขึ้น...

ปิดตำนานถนนการเมือง "สายราชครู"

บนถนนสายการเมืองไม่มีใครปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของ "กลุ่มราชครู" คือกลุ่มการเมืองที่ทรงอำนาจกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์

เพราะจอมพลผิน ชุณหะวัณ คือแกนนำรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 ล้มอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์

ปิดตำนานคณะราษฎรสายพลเรือนและกลุ่มเสรีไทยที่นำโดย "ปรีดี พนมยงค์"

แม้ว่าหลังการรัฐประหารปี 2500 จะสถาปนาระบอบ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องจอมพลถนอม กิตติขจร และกลุ่มราชครู ไม่ได้หายไปไหน เพราะเป็นต้นกำเนิดพรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา

ทว่า รุ่งเรืองขีดสุดในยุคที่ "พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" เป็นนายกรัฐมนตรี มีนักการเมือง ทหาร ตำรวจ ระดับนายพล แวะไปที่บ้านพักในซอยราชครูอันเป็นชื่อเรียกของกลุ่มจนหัวกระไดไม่เคยแห้ง ก่อนจะถูกยึดอำนาจในปี 2534

แต่ในปัจจุบัน "กลุ่มราชครู" ที่เคยเป็น "สัญลักษณ์ทางการเมือง" กลับถูกลดบทบาทลงแทบหายไปจากกระดาน

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ทายาทของ พล.อ.ชาติชายกล่าวถึงบทบาทกลุ่มราชครูว่า

"ไม่มีอยู่แล้ว พูดจริง ๆ แล้วก็ไม่เคยเป็นกลุ่มเป็นก้อนเท่าไหร่หรอก มาจากครอบครัวเดียวกันตั้งแต่รัฐประหาร 2490 และมาตั้งพรรคชาติไทยกันหลัง 14 ตุลา 16 แต่มองปัญหาประเทศชาติคนละอย่างกันตลอด คุณประมาณ (อดิเรกสาร อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย) ก็ไม่ได้มีทักษะต่อการเมืองเหมือน พล.อ.ชาติชาย พวกญาติ ๆ ผมในรุ่นที่ 2 ต้องยอมรับว่ามีประสิทธิภาพ เป็นนักการเมืองได้ดิบได้ดีเป็นรัฐมนตรีเกือบทุกคน ยกเว้นผม อาจไม่มีประสิทธิภาพก็ได้ เพราะมองในเชิงวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไป"

"การเมืองของราชครูในทำนองของอำนาจไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความคิดหลากหลายกันมากเลยเกาะเป็นกลุ่มไม่ได้ญาติพี่น้องผมอยู่ในพรรคไทยรักไทย ผมไม่มีทางเข้าตั้งแต่แรก"

"ถ้าจะไม่ให้หายไปจากการเมืองนะ ก็จะต้องมีอำนาจของการผูกขาดธุรกิจขนาดใหญ่ บริษัทก่อสร้าง สร้างเขื่อน บริษัทโทรคมนาคม บริษัทที่ผูกพันกับรัฐบาลตลอดเวลา ในเรื่องงบประมาณ สัมปทานอันนี้อยู่ได้ แต่ปัญหาไม่มีเลยสักคนที่เป็นนักธุรกิจ" (หัวเราะ)

ตระกูล "ชุณหะวัณ" เป็นทั้งผู้นำปฏิวัติ และผู้ถูกปฏิวัติรู้สึกอย่างไร "ไกรศักดิ์" เลือกตอบคำถามว่า "เมื่อ 2 เดือนก่อนผมไปปัตตานี เป็นการครบรอบการตาย 62 ปี ของ หะยีสุหลง ผมพูดในนามของครอบครัว ผมต้องขอโทษพฤติกรรมของครอบครัวผม รัฐประหาร 2490 ได้นำไปสู่การตายของผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นหลายคน โดยเฉพาะหะยีสุหลง ตายแน่นอนภายใต้การกระทำของรัฐบาลเผด็จการที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ มาวันนี้เราต้องประณามมัน"