ธงชัย วินิจจะกูล: นิติรัฐของไทยกับเดือนพฤษภา-มิถุนา
Wed, 2017-05-31 00:09
โโย ธงชัย วินิจจะกูล
ที่มา ประชาไท
1. เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนมีหลักหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยหลายเหตุการณ์ ได้แก่ เดือนมิถุนายน 2475 และ 2489 การปราบปรามนองเลือดสองครั้งในเดือนพฤษภาคม 2535 และ 2553 และการรัฐประหารของ คสช 2557
เรามักคิดถึงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองที่มีนัยสำคัญไปต่างๆ กัน แต่ที่เรามักมองข้ามไป คือ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหลักหมายของประวัติศาสตร์ rule of law ของไทย (คำแปล rule of law ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักนิติศาสตร์ ในที่นี้จึงขอไม่แปล)
2. Rule of Law อาจมีนิยามหลายสำนักต่างกันในรายละเอียด แต่นิยามทั้งหมดมีหลักการร่วมกัน 3 ประการคือ
1) ตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกัน
2) ทุกคนเสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมาย ผู้มีอำนาจก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์ทาง กฎหมายมากไปกว่ากัน
3) กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ (ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์) ต้องเป็นอิสระและเป็นธรรม
Rule of Law เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของสังคมประชาธิปไตย สังคมที่ขาด rule of law จะเสื่อมทรุด ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้ และเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ ไม่น่าลงทุนหรือทำธุรกิจด้วย ถ้าปราศจาก rule of law จะเป็นรัฐล้มเหลว
3. การศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายที่ผ่านมาสนใจแต่เพียงการสร้างประมวลกฎหมายลายลักษณ์อักษรให้เป็นมาตรฐานสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วก็สรุปว่าประเทศไทยเข้าสู่ rule of law สมัยใหม่นับแต่นั้นเป็นตันมา แต่กลับมองข้ามหลักการอีก 2 ข้อว่าอยู่ในสภาวะเช่นใด
ท่ามกลางวิกฤติทางการเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหาทั้งระบบ ทั้งตำรวจ การบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี ความเป็นธรรม และตุลาการที่เป็นอิสระ ที่ไม่ใช่แค่อิสระจากรัฐบาลเลือกตั้งและประชาชน แต่กลับสยบยอมเป็นเครื่องมือให้กับรัฐที่ผิดกฎหมายและอภิชน
นิติรัฐของไทยไม่ใช่การปกครองโดย rule of law แต่เป็นการฉวยเอากฎหมายไปรับใช้อำนาจฉ้อฉล หรืออย่างที่มักกล่าวกันทั่วไปว่าเป็น rule by law แต่ไม่ใช่ rule of law
ภาวะล้มเหลวที่สุดของ rule by law ของไทยคือ ความไม่เท่าเทียมกันทางกฎหมาย ตัวบทและกระบวนการยุติธรรมช่วยสถาปนาให้คนบางคนบางกลุ่มอยู่เหนือกฎหมาย หรือได้รับอภิสิทธิ์อย่างถูกกฎหมาย ในขณะที่คนบางคนบางกลุ่มถูกเบียดเบียนรังแกไม่เป็นธรรมด้วยกฎหมาย
(สิบกว่าปีที่ผ่านมา เวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม เราจะพูดถึงแต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งที่ความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายก่อความอยุติธรรมจนความโกรธแค้นแพร่ขยาย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่มีทางแก้ได้โดยไม่ขจัดความเหลื่อมล้ำทางกฎหมาย)
รูปธรรมของความไม่เสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายมีมากมาย เช่น การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐอย่างฉ้อฉลหรือก่ออาชญากรรม การออกกฎหมายให้คนบางคนปลอดความผิด การใช้กลวิธีสารพัดรวมทั้งทางตุลาการ เพื่อให้คนรวยและคนมีอำนาจหลุดรอดจากการสอบสวน เป็นต้น
4. ทำไมรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยในประเทศไทย? เพราะคณะราษฎรมีเจตจำนงจะสถาปนาระบอบที่คนทุกคนอยู่ใต้กฎหมายอย่างเสมอภาคกัน ไม่ให้ยกเว้นแก่พวกเจ้า และมีเจตจำนงที่จะสถาปนา rule of law โดยมีหลักกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลอีกต่อไป
การปฏิวัติ 2475 จึงยังไม่สิ้นสุด ไม่ใช่เพียงแค่ในแง่ระบอบการเมือง แต่ในแง่การสถาปนา rule of law
กรณีสวรรคต ร.8 เป็นหลักหมายสำคัญอันหนึ่งของประวัติศาสตร์นิติรัฐของไทย เคยคิดไหมว่าถ้าหากมีการใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาจริง ๆ ในกรณีนั้น นิติรัฐของไทยอาจแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมหาศาล เพราะ rule of law ได้รับการยืนยันว่าศักดิ์สิทธิ์ละเมิดมิได้ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ
ในเมื่อหลักหมายของการทำลาย rule of law ถูกสถาปนาไปเสียแล้วในครั้งนั้น นับจากนั้นมา รัฐและสังคมไทยจึงกลับถลำลึกลงไปอีก ทิ้งกติกาหลักที่เป็นลายลักษณ์อักษร หวนกลับไปอิงกับบารมีของตัวบุคคล สร้างอภิสิทธิ์ปลอดความผิด (impunity) และอภิสิทธิ์อื่นๆให้แก่คนรวยและคนมีอำนาจบางกลุ่มบางพวก ใช้กฎหมายทำร้ายคู่ต่อสู้และเบียดเบียนรังแกคนจนคนไม่มีอำนาจเป็นปกติ มิใช่เป็นครั้งคราวหรือเป็นภาวะยกเว้น
อภิสิทธิ์ปลอดความผิดจึงกลายเป็นของคู่กับระบอบการเมืองและสังคมไทย ผู้มีอำนาจใช้บ่อยจนเคยตัว คนไร้อำนาจและคนยากจนตกเป็นเหยื่อครั้งแล้วครั้งเล่ารวมทั้งในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ยังไม่เคยหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และเหตุการณ์พฤษภา 2553 ซึ่งอภิชนรวมหัวกันตัดตอนกระบวนการยุติธรรมอย่างไร้ยางอาย แถมกลับจับคนจนจำนวนมากเข้าคุกทั้งๆที่ส่วนมากไม่มีหลักฐานเพียงพอ
5. ประเทศไทยภายใต้ คสช. เป็นสุดยอดของความวิปริตต่อ rule of law เพราะอำนาจเถื่อนตามอำเภอใจกลายเป็นกฎหมายครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีนักกฎหมายหลายคนและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเป็นเครื่องมือ สถาปนาอภิสิทธิ์ปลอดความผิดอย่างโจ่งแจ้งล่อนจ้อน
กลายเป็น rule by the outlaw หรือ “นิติอธรรม”
ความพยายามสถาปนา rule of law คงตัองเริ่มใหม่จากติดลบ ซึ่งอาจยากยิ่งกว่าการแสวงหารูปแบบของระบอบการเมืองเสียอีก