วันอาทิตย์, พฤษภาคม 07, 2560

วาด รวี: พระราชอำนาจที่หายไป (บางส่วน)





วาด รวี: พระราชอำนาจที่หายไป (บางส่วน)


Sun, 2017-05-07 22:55
ที่มา ประชาไท

วาด รวี[1]


"ผมคิดว่าจะเป็นเรื่องงี่เง่า ฉ้อฉลและเป็นการฉวยโอกาสอย่างยิ่ง หากใครจะมองในบริบทของความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมาแล้วจะไม่คิดถึงว่าเขาต้องการที่จะเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรในอีกสิบหรือสิบห้าปีข้างหน้า และพยายามหาที่ทางสำหรับสถาบันกษัตริย์ในกรอบของรัฐธรรมนูญในแนวทางที่สถาบันสามารถที่จะดำรงอยู่ได้แม้ว่ากษัตริย์องค์ต่อไปจะxxxxxเท่ากับกษัตริย์องค์ปัจจุบันก็ตาม ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมพยายามจะพูดเมื่อวานนี้ว่าให้คิดไกล ๆ อย่าคิดแต่ว่าต้องการที่จะล้มทักษิณ อย่าคิดแต่ยุทธศาสตร์เพียงซึ่งหน้า แต่ควรจะคิดถึงว่าต้องการจะเห็นอะไรในอีกสิบปีข้างหน้า ผมอยากจะพูดว่าเวลาที่คุณคิดถึงทักษิณ คุณอาจจะคิดถึงเขาว่าเป็นคนที่เลวมาก ถ้าคุณอยากจะคิดเช่นนั้น แต่คุณก็อาจจะมองเขาในฐานะของสิ่งที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน พรรคไทยรักไทยยังมิได้มีสถานะเป็นพรรคสมัยใหม่อย่างเต็มตัว แต่พรรคไทยรักไทยก็มีนโยบายที่พรรคการเมืองอื่นในอดีตไม่มี วิธีที่ทักษิณใช้ในการหลอมตัวเองเข้ากับมวลชนทั้งในแบบบุคคลต่อบุคคลและผ่านจอโทรทัศน์นั้นมีลักษณะเหมือนกับนักการเมืองสมัยใหม่มากกว่านักการเมืองอื่น ๆ ที่ผ่านมา แต่แน่นอน เขาเป็นเพียงสิ่งที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน มีคำพูดอันโด่งดังคำพูดหนึ่งซึ่งอันโตนิโอ กรัมชี่ ได้กล่าวไว้ว่า “ในช่วงเวลาที่สิ่งเก่าปฏิเสธที่จะตายไปและสิ่งใหม่ก็ยังมิได้ถือกำเนิด ร่างแห่งปีศาจก็ได้ปรากฏกายขึ้น”


เบน แอนเดอร์สัน

ตอนนี้ก็กล่าวได้ว่า “ครบ” หรือเลยสิบปีมานิดหน่อยนับจากเบน แอนเดอร์สันกล่าวคำพูดที่ยกมาข้างต้น แม้ว่าตัวของเบนจะไม่ได้อยู่เห็น “การเปลี่ยนผ่าน” ณ จุดที่เกิดการเปลี่ยนรัชกาลจริง ๆ แต่คนอื่น ๆ ในวงสัมนา[2] ซึ่งได้ยินคำพูดของเขาต่างก็ยังอยู่และได้เห็นและกำลังเห็น

สำหรับผู้ที่ต้องการโค่นล้มทักษิณ หรือเห็นทักษิณ “ออกไป” ณ วันนี้สิ่งที่เขาได้เห็นก็คือ “ความแนบแน่น” ระหว่างเขา (สังคมไทย) และทักษิณ ยิ่งกว่าเดิม ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเมื่อปี 2549 และก่อนหน้านั้น ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะเป็นในฐานะมิตร หรือศัตรู ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันรัดรึงขึ้น ผูกมัดขึ้น เหนียวแน่นขึ้น นี่คือฐานะของทักษิณกับการเมืองไทยในวันนี้ แม้ว่าตัวเขาจะไม่ได้อยู่ในประเทศ แม้ว่ารัฐบาลฝ่ายเขาจะถูกยึดอำนาจไป มันไม่ได้ทำให้เขา “ออกไป” จากสังคมการเมืองไทย แต่มันกลับยิ่ง “อิน” เข้ามาเรื่อย ๆ

สิ่งที่น่าสนใจในการสัมนาวันนั้นอย่างแรกก็คือ บรรยากาศการสัมนาที่สะท้อนความรู้สึกปลอดภัย หรือตึงเครียดน้อยกว่าปัจจุบันหรือหลัง 2553 มาก ยากที่จะเห็นคนที่ร่วมสัมนาในวันนั้น คุยเรื่องนี้กันบน “โต๊ะเดียวกัน” อีกและพูดถึงหรือฟังการพูดถึงสถาบันกษัตริย์แบบวันนั้นอีกในบรรยากาศปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่ตัวผมเองซึ่งเขียนบทความนี้ขึ้นก่อนที่จะเกิดกรณีของไผ่ ดาวดิน ก็คิดไม่ถึงว่าไม่กี่เดือนถัดมาเมื่อจัดทำต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์ ตัวเองจะต้องเซ็นเซอร์ถ้อยคำอันแสนธรรมดาอย่างยิ่งของเบน แอนเดอร์สัน ที่ยกมาข้างต้นในระหว่างที่ปรับปรุงบทความอีกครั้ง

ในการสัมนาธงชัย วินิจจะกูลพยายามจะชี้ให้เห็นสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ “เหนือ” การเมือง ในลักษณะของการอยู่เหนือ “ปริมณฑลการเมืองสกปรก” ซึ่งตอกย้ำให้เห็น “อำนาจธรรมะ” ที่สูงกว่า ซึ่งเป็นวาระทางการเมืองนับจาก 14 ตุลา 2516

ประเด็นที่น่าสนใจคือ สิ่งที่สะท้อนออกมาในช่วงวิกฤตการเมือง 10 ปี ก็คือทัศนะที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองและสถาบันกษัตริย์ การกลับมาชนะการเลือกตั้งทั้งที่ถูกยึดอำนาจไปถึง 2 ครั้ง (2549, 2551) สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นนักการเมืองสกปรกไม่ได้มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจทางการเมืองอย่างเด็ดขาดอีกต่อไป ผลงานของรัฐบาลสมัยทักษิณมีอิทธิพลเหนือกว่าปัญหาว่าทักษิณจะโกงหรือไม่ ในขณะที่การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นผลทางกฎหมายที่ก่อให้เกิดความรู้สึกถูกบังคับโดยตรงจากสถานะของสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่ความยินยอมพร้อมใจอีกต่อไป

ผลสะท้อนนี้เมื่อมองจากมุมของสถาบันกษัตริย์ ทำให้เห็นว่า ปัญหาทักษิณไม่ใช่ปัญหานักการเมืองโกง (หรือไม่) แต่เป็นปัญหาว่า การดำรงอยู่ของรัฐบาล (ของฝ่าย) ทักษิณส่งผลกระทบต่อโลกทัศน์ (world view) นักการเมืองโกง ดังว่า โลกที่มีนักการเมืองสกปรกกเฬวรากและสถาบันกษัตริย์ที่ทรงธรรม ได้ถูกสั่นสะเทือนเพราะไม่ได้เป็นตัวชี้ขาดทางเลือกทางการเมืองอีกต่อไป ประชาชนอาจจะยินดีที่จะเลือกนักการเมืองสกปรก “แต่กินได้” คือทำงานเห็นผล หรืออาจจะไม่ได้ติดอยู่ในโลกทัศน์นั้นอีกก็ได้ ซึ่งหมายความว่า สถานะของสถาบันกษัตริย์ก็ถูกกระทบโดยตรงตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ทักษิณ โดยที่ทักษิณยังไม่ต้องทำอะไรที่แปลกหรือพิเศษไปกว่าสิ่งที่นักการเมืองสมัยใหม่กระทำกัน (ต่อสู้ผลประโยชน์ในสนามแข่งขัน)

ถ้าสถานภาพของธรรมราชาตั้งอยู่บนโลกทัศน์ว่านักการเมืองโกง การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ที่มีต่อนักการเมืองย่อมส่งผลต่อพระราชอำนาจ

ธงชัยกล่าวถึงการปฏิรูปการเมืองนับแต่การต้านทักษิณว่าคือพันธมิตรกันของฝ่ายประชาชนปีกหนึ่งกับฝ่ายกษัตริย์นิยม ซึ่งทำให้ฝ่ายประชาชนอีกจำนวนหนึ่งอิหลักอิเหลื่อ เพราะฝ่ายประชาชนที่เป็นพันธมิตรกับกษัตริย์นิยมเห็นปัญหาแค่นักการเมืองอย่างเดียว ในขณะที่เกษียรกล่าวว่าการเป็นพันธมิตรระหว่างขบวนการประชาชนกับสถาบันกษัตริย์ก่อตัวในช่วงสิบปีหลังพฤษภาฯ 2535 เขากล่าวถึงงานของดันแคน แมคคาโกว่า “เครือข่ายในหลวง” มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจซึ่งรวมเอาปีกเสรีนิยมเอาไว้ เช่น (สำหรับเกษียร) อานันท์ ปันยารชุน ประเวศ วะสี หรืออาจจะนิธิ เอียวศรีวงศ์ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเขานิยามการเมืองภาคประชาชนนี้ว่า “ขบวนการฝ่ายค้านนอกสภาที่จงรักภักดี” และกล่าว (ในขณะนั้น) ว่า “ดังนั้น พันธมิตรดังกล่าวไม่ได้เพิ่งมาก่อตัวเมื่อจัดตั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้นปีนี้นะครับ หากมีการปูพื้นมานานกว่าที่จะเดินมาถึงจุดนี้”

ข้างต้นเป็นความเห็นเกี่ยวกับฝ่ายต่อต้านทักษิณในปี 2549 ซึ่งไม่สอดพ้องกับสิ่งที่ปรากฏขึ้นระหว่างวิกฤตการเมือง โดยเฉพาะหลัง 2549 (ทั้งของธงชัยและของเกษียร) เราจะพูด (แบบธงชัย) ว่าฝ่ายต่อต้านทักษิณเป็นพันธมิตรกันระหว่างฝ่ายประชาชนกับฝ่ายกษัตริย์นิยมได้อย่างไรในเมื่อผู้นำ (รัฐบาล) คนหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามคือสมัคร สุนทรเวช? ยังไม่นับรอยัลลิสต์และสมาชิกราชสกุลอีกจำนวนหนึ่งในฝ่ายทักษิณแม้จะเป็นส่วนน้อย ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถพูด (แบบเกษียร) ได้ว่า บทบาทในช่วงวิกฤตของอานันท์และประเวศคือเสรีนิยม นิธิและรวมถึงตัวเกษียรเองก็เรียกว่าขาดจากพันธมิตรและกลายมาเป็นฝ่ายตรงข้ามกันในเวลาต่อมา

วิกฤตการเมืองครั้งนี้เหมือนเอาสังคมไทยมาใส่ในหม้อแล้วเขย่าแรง ๆ หลายครั้ง ทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนที่ทางจากที่เคยอยู่

จริง ๆ แล้วฝ่ายต่อต้านทักษิณคือ “กลุ่ม” (bloc) ที่เพิ่งเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น หรืออาจจะถอยไปไม่เกินปี 2547 มาจากการรวมตัวของ นักวิชาการ, เอ็นจีโอ (หรือภาคประชาชน ตามที่เรียกกัน), สื่อมวลชน, คนชั้นกลาง, ศาล, องคมนตรี และกองทัพ

กลุ่มนี้เกิดจากการ “จับกลุ่มกันใหม่” โดยที่ไม่ได้อิงกับค่ายการเมืองในอดีต จะเห็นได้ว่ามีทั้งฝ่ายซ้ายและขวา (ในอดีต) อยู่ในทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนทักษิณ อีกทั้งกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์กษัตริย์นิยมหรือประชาธิปไตย ทั้งสองฝ่ายต่างก็กล่าวอ้างอิงประชาธิปไตยทั้งคู่ และก็ต้องยอมรับความจริงด้วยว่ามีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในบางส่วนของทั้งสองฝ่าย เหมือน ๆ กับที่มีความเป็นกษัตริย์นิยมอยู่ในบางส่วนของทั้งสองฝ่าย

เป้าหมายแคบ ๆ เป้าหมายเดียวของฝ่ายต่อต้านทักษิณก็คือ กลุ่มนี้ต้องการและพยายามมาตลอดที่จะสถาปนาฉันทามติ (consensus) “ไม่เอาทักษิณ” ขึ้นในสังคม ในขณะที่ฝ่ายทักษิณก็คือปฏิกิริยาตอบโต้ต่อฉันทามตินี้

เบื้องหลังความขัดแย้งก็คือโลกทัศน์เกี่ยวกับนักการเมืองที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน และยิ่งกลายเป็นคนละโลกเมื่อเกิดปรากฏการณ์ทักษิณ การ “สู้กลับ” ของทักษิณก่อให้เกิด “กลุ่ม” การเมืองอีกกลุ่มที่มีจุดร่วมกันคือความเป็นปฏิกิริยาต่อฝ่ายต่อต้านทักษิณ

เพราะวิกฤตการเมืองคือวิกฤตพระราชอำนาจในความหมายของอำนาจนำตั้งแต่จุดเริ่มต้น อำนาจนำ (Cultural hegemony - ของกรัมชี่) นี้คืออำนาจที่เกี่ยวร้อยอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเข้าไว้กับอุดมการณ์ประชาธิปไตย บิดและต่อเชื่อมประสานอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันสองแบบเข้าไว้ให้สืบสานต่อเนื่องกันไป

อำนาจนำนี้ทำหน้าที่สลายความขัดแย้งเมื่อเกิดการปะทะหรือขัดกัน ทำหน้าที่เป็นศีลธรรมการเมืองที่อยู่สูงกว่าอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่ง กลบเกลื่อนรอยต่อใด ๆ ที่ปรากฏ และผลิตสร้างคุณค่าซึ่งมีหน้าที่ลบเลือนความแตกต่างของคุณค่า เหนี่ยวรั้งการถอยห่างที่เกิดจากความแตกต่างของอุดมการณ์

อำนาจนำจะสิ้นสุดไปพร้อมกับตัวบุคคลหรือไม่ยังเป็นที่สงสัย แต่พระราชอำนาจที่มีพลังเกี่ยวร้อยอุดมการณ์ 2 แบบดังที่กล่าวมา น่าจะได้สิ้นสุดลงไปแล้ว แม้โลกทัศน์ที่เห็นนักการเมืองเป็นปริมณฑลสกปรกยังคงขับเคลื่อนการเมืองอยู่

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 คือการพยายามทดแทนพระราชอำนาจที่หายไปด้วยกระบวนการแปลงโลกทัศน์ปริมณฑลการเมืองสกปรกให้กลายเป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และสถาปนาพื้นที่ให้กับ “ปริมณฑลอันขาวสะอาด” ของคนดีที่ไม่ต้องมาจากสนามแข่งขัน นัยหนึ่งมันคือการพยายามรักษาอำนาจนำเอาไว้ในภาวะที่ปราศจากพระราชอำนาจ ลงในรัฐธรรมนูญ

สนามการแข่งขันทางนโยบายที่เกิดขึ้นสมัยทักษิณจะถูกทำให้กลายเป็นสิ่งต้อยต่ำของการเมืองสกปรกที่น่ารังเกียจ โดยที่คนดีและความดีสามารถได้มาโดยไม่ต้องแข่ง และคณะคนดีอาจมาจากการเลือกกันเองในหมู่ชนชั้นนำ โดยพระราชอำนาจที่ไม่ใช่ความหมายของอำนาจนำยังคงเป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพล

แรงพยายามคงโลกทัศน์นี้เอาไว้คือแรงเดียวกับที่จะคงวิกฤตการเมืองเอาไว้ และโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนคืนได้ด้วยการใช้อำนาจทางวัตถุของเผด็จการทหาร วิกฤตการเมืองจึงเพียงจบบทหนึ่งและกำลังเริ่มอีกบทหนึ่ง

จากการสร้างคำอธิบายต่าง ๆ นานาเพื่อรองรับพระราชอำนาจ (นำ) ของในหลวงองค์ก่อน มาสู่การสถาปนาอำนาจนำโดยปราศจากพระราชอำนาจ (เก่า) ลงสู่รัฐธรรมนูญ พร้อมกับการปรากฏขึ้นของ “พระราชอำนาจ” ของในหลวงองค์ใหม่

เมื่อพระราชอำนาจเก่าปฏิเสธที่จะตาย และศีลธรรมใหม่ยังไม่ถือกำเนิด การต่อสู้บนวงแหวนโมเบียสก็ยังดำเนินต่อไป



เชิงอรรถ

[1] บางส่วนจากบทความ พระราชอำนาจที่หายไป อ่านฉบับเต็มได้ในหนังสือ การเมืองโมเบียส ของผู้เขียน

[2] บรรเจิด สิงคะเนติ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล, ธงชัย วินิจจะกูล, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, ประภาส ปิ่นตบแต่ง, เกษียร เตชะพีระ, สมภพ มานะรังสรรค์, อัมมาร สยามวาลา, อานันท์ กาญจนพันธุ์, พวงทอง ภวัครพันธุ์, สมเกียรติ ตั้งนโม, อุเชนทร์ เชียงเสน, สุธี ประศาสน์เศรษฐ, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, เบน แอนเดอร์สัน, ผาสุก พงษ์ไพจิตร, นิธิ เอียวศรีวงศ์, สายชล สัตยานุรักษ์, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ใน “วิวาทะว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2: ทางออก ทางเลือก ทางลวงในระบอบทักษิณ” เป็นส่วนหนึ่งของการสัมนา “โครงการเปลี่ยนประเทศไทย” ที่จัดโดยวารสารฟ้าเดียวกัน เป็นเวลา 2 วัน ตีพิมพ์เนื้อหาเผยแพร่ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2549