วันอาทิตย์, พฤษภาคม 14, 2560

ดอกเตอร์เทียม วงจรอุบาทว์ ... เรียนจบดอกเตอร์ เพื่อให้มีคำว่า “ดร.”นำหน้าชื่อ ไว้ใช้เรียกเพื่อความโก้เก๋ในงานสังคม จบมาเพราะลอกเพื่อน ลอกอินเตอร์เน็ต วิทยานิพนธ์ก็ไปจ้างเขาทำมา...





เหมือนที่มีผู้แซวว่า เรียนจบดอกเตอร์ เพื่อให้มีคำว่า “ดร.”นำหน้าชื่อ แต่แล้วก็เอาคำนำหน้าดังกล่าวไว้ใช้เรียกเพื่อความโก้เก๋ในงานสังคม อย่างการเป็นกรรมการทอดผ้าป่าหรือทอดกฐินตามวัดต่างๆ กล่าวคือ เพื่อให้ผู้ถูกเรียกดูเด่นเป็นสง่าเหนือกว่าชาวบ้านทั่วไป แต่ความรู้ข้างในกลวงโบ๋ จบมาเพราะลอกเพื่อน ลอกอินเตอร์เน็ต วิทยานิพนธ์ก็ไปจ้างเขาทำมา แต่แล้วก็ผ่านออกมาจากสถาบันการศึกษาจนได้ สภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญา แถมยังออกไปเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาตามสถาบันการศึกษาอีกทอดหนึ่ง นับเป็นวงจรอุบาทว์ ไม่สิ้นสุด


Planin Zeitung shared a link to the group: ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ.


ooo

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์:ปริญญาเทียม

Wed, 2017-05-10 15:25
ที่มา ประชาไท

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์


สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ของไทย โดยนายสุภัทร จำปาทอง เลขาฯ สกอ. เพิ่งลงดาบด้วยการปิดหรือไม่ก็เสนอแกมบังคับให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในระดับ ป.โทและ ป.เอกของมหาวิทยาลัยในเมืองไทยที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ“ไร้คุณภาพ”ไปจำนวนมาก เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเสมือนการประจานบรรดามหาวิทยาลัยเจ้าของหลักสูตรการศึกษาที่ทำแบบลักไก่ สุกเอาเผากินดังกล่าวไปในตัว

ถึงขนาดมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งมีการเรียนการสอนแบบไร้คุณภาพเกือบๆ 10 หลักสูตร แถมเปิดมานานพอสมควรแล้วด้วย

คำถามตามมาก็คือ มหาวิทยาลัยที่ว่านี้ เปิดการเรียนการสอนอะไร และเปิดสอนมาได้อย่างไร หากินในทาง หลอกชาวบ้านหรือไม่?

ที่สำคัญการดำเนินการของ สกอ.ดังกล่าว คือการประจานระบบน้ำเน่าของการศึกษาแบบไทยๆ ที่มีมานานจนเฟะ จากปัญหาหลายๆ เรื่อง ไล่ตั้งแต่การบริหารจัดการการศึกษา การคอร์รัปชั่นมุ่งหาเงินตัวเป็นเกลียวจาการเปิดหลักสูตร และขยายสาขา รวมถึงระบบกลุ่มก๊ก เส้นสายภายในมหาวิทยาลัยที่นับวันจะเละและมีปัญหาสะสมมากยิ่งขึ้น จนบั่นทอนความสัตย์ซื่อทางวิชาการลงไปมาก

ไม่นับรวมปัญหาการโกงทางวิชาการจากระดับพื้นฐานตั้งแต่การลอกข้อสอบ ลอกกูเกิลดอทคอมส่งอาจารย์ ลอกวิทยานิพนธ์ จนถึงจ้างเขียนบทความวิชาการ จ้างทำวิทยานิพนธ์ ที่กำลังกลายเป็นธุรกิจออกหน้าออกตาเป็นที่ทราบกันดีในสังคมการศึกษาไทย จนแม้แต่ฝรั่งเองยังอดเอามากล่าวขวัญถึงถึงความรุ่งเรือง ความเฟื่องฟู (บูม) ของธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้

ที่สำคัญคือ อาจารย์ผู้สอนในสถานศึกษาลงมือประกอบธุรกิจนี้เสียเอง ซึ่งในระบบการศึกษาสากลถือว่า เป็นเรื่องร้ายแรงมาก

เหมือนที่มีผู้แซวว่า เรียนจบดอกเตอร์ เพื่อให้มีคำว่า “ดร.”นำหน้าชื่อ แต่แล้วก็เอาคำนำหน้าดังกล่าวไว้ใช้เรียกเพื่อความโก้เก๋ในงานสังคม อย่างการเป็นกรรมการทอดผ้าป่าหรือทอดกฐินตามวัดต่างๆ กล่าวคือ เพื่อให้ผู้ถูกเรียกดูเด่นเป็นสง่าเหนือกว่าชาวบ้านทั่วไป แต่ความรู้ข้างในกลวงโบ๋ จบมาเพราะลอกเพื่อน ลอกอินเตอร์เน็ต วิทยานิพนธ์ก็ไปจ้างเขาทำมา แต่แล้วก็ผ่านออกมาจากสถาบันการศึกษาจนได้ สภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญา แถมยังออกไปเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาตามสถาบันการศึกษาอีกทอดหนึ่ง นับเป็นวงจรอุบาทว์ ไม่สิ้นสุด

นักการศึกษาก็เลยงง ไม่รู้จะพูดอย่างไรได้ถูก กับการจูงมือพากันเดินลงเหว ลงคลอง อีหรอบนี้

และช่างงามหน้าเสียเหลือเกิน เพราะตอนนี้มีการจ้างทำรายงานหรือทำการบ้านส่งอาจารย์ลึกลงไปถึงในระดับปริญญาตรีกันแล้วด้วยซ้ำ นักศึกษาผู้มีกะตังค์อาศัยเงินจากผู้ปกครองปฏิบัติการจ้างเพียงอย่างเดียว

สกอ.ควรตระหนักว่า ผู้บริหารด้านศึกษา หรือผู้คนในแวดวงการศึกษาของไทยในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยได้คำนึงถึงสาเหตุที่ทำให้การศึกษาไทยตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ หรืออยู่ในสภาพถดถอยนับตั้งแต่ช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่ปัญหาเรื่องปรัชญาหรืออุดมการณ์การศึกษาเท่านั้น หากยังรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น “อีแอบทางวิชาการ”ซึ่งเป็นคนในที่ขยายวงออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่หลายประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มีพัฒนาการเชิงความเจริญงอกงามของการศึกษาตามมาตรฐานสากลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างน่าทึ่ง

เพราะมีการถ่ายทอดทั้งองค์ความรู้และบุคลากรการศึกษาจากโลกตะวันตกไปยังประเทศเหล่านั้น อย่างเป็นระบบ ในแง่ผลประโยชน์ของสถาบันฯ จากการวางนโยบาย เช่น การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษาในประเทศกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เป็น sister university เกิดผลประโยชน์ร่วมเชิงเทคนิค เช่น ผลพลอยได้จากการเรียนรู้ด้านภาษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นต้น

แต่เพราะเป็นที่ทราบถึงสาเหตุของความเสื่อมทรามของการศึกษาไทย กันอย่างดีว่า

การศึกษาไทยอิงอยู่กับระบบอุปถัมภ์อย่างแยกไม่ออก แม้ในบรรดาครูอาจารย์จากประเทศตะวันตกที่ทำงานอยู่ในเมืองไทยก็ทราบดี ทำให้คุณภาพการศึกษาของไทยต้องตกต่ำ มีการซูเอี๋ยกัน ในกรณีการสอบเข้าบางสถาบันฯ ช่วงกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เช่น ในขั้นการสอบข้อเขียน และขั้นการสอบสัมภาษณ์ เป็นต้น ระบบเต็มไปด้วยระบบเส้นสายจากวาทกรรม “รับภายใน” เชื่อมโยงการไปถึงเรื่องชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา รวมถึงผลประโยชน์แอบแฝงระหว่างผู้บริหารสถาบันศึกษา ครูอาจารย์ ตลอดถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง

การศึกษาแบบไทยๆ ส่งเสริมให้ผู้เรียน มีเป้าหมายไปที่วุฒิการศึกษา (ปริญญา) เป็นหลัก มีค่านิยมมองการประสบความสำเร็จในชีวิตจากวุฒิการศึกษา และเป็นเหตุให้สถาบันการศึกษาของไทยจำนวนไม่น้อยสบช่อง หาประโยชน์จากธุรกิจการศึกษาอย่างเป็นล่ำเป็นสันแต่ขาดคุณภาพ โดยที่เมื่อก่อนยังจำกัดอยู่เพียงสถาบันการศึกษาของเอกชน แต่เวลานี้บานปลายออกไปสู่สถาบันการศึกษาของรัฐ มุ่งเน้นแสวงหารายได้จากการศึกษาและการสนับสนุนจากผู้ปกครองและการสนับสนุนสถาบันฯ ด้านเงินทุนและด้านอื่นๆ ของผู้เรียนเป็นส่วนสำคัญ ทำให้การจบการศึกษา เป็นแค่การได้ใบวุฒิการศึกษา เพื่อแสดงถึงความมีเกียรติในสังคมเท่านั้น

โดยแง่นี้สัมฤทธิผลของการศึกษาจึงไม่ต่างจากปริญญาเทียม

การศึกษาไทยเน้นปริมาณของผู้ที่จบการศึกษามากกว่าคุณภาพการศึกษา ทั้งการศึกษาไทยยังมีเป้าหมายทางด้านวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบอยู่ในตัว โดยอาศัยองคาพยพทางด้านวัฒนธรรมเป็นปัจจัยการบ่มเพาะผู้เรียน ซึ่งตามหลักการศึกษาสากลแล้ว การเรียนรู้วัฒนธรรม เป็นเรื่องของความสมัครใจ มากกว่าการบังคับ

กรณีการศึกษาของไทย เห็นได้จากการบังคับให้ผู้เรียนทำกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมเพื่อกระตุ้นในเรื่องความเป็นชาติ หรือกระตุ้นความเป็นชาตินิยมของตัวผู้เรียน, กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ก็เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายทางด้านวัฒนธรรม ที่เรียกว่า สำนึกร่วมของความคิดเชิงเดี่ยว ทั้งที่ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกกิจกรรมที่ตนเองสนใจอันหลากหลาย มากกว่าการกระตุ้นสำนึกเชิงเดี่ยวรวบรัดทำนองนี้

ในแง่ปรัชญาการศึกษา การศึกษาไทยยังมีศูนย์กลางอยู่ที่ครูหรืออาจารย์ผู้สอน มากกว่าที่จะให้นักเรียน นักศึกษา เป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน เรื่องนี้ครูอาจารย์ที่อดทนน้อยหลายคนอาจแย้งว่า วิธีเรียนวิธีสอนดังกล่าว อาจไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย ที่เน้นให้ผู้เรียนเดินตามครูอาจารย์กันมาแต่ต้น โดยความเชื่อที่ว่า “การเปิดโอกาสให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะทำตามใจตัวเองจนเลยเถิด”

เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการของไทยเคยเสนอเป็นนโยบายมาก่อนหน้านี้ แต่ก็เพิ่งประสบกับความล้มเหลวมาหยกๆ เพราะผู้สอน คือ ครูอาจารย์ ไม่ให้ความร่วมมือ แถมยังคงเชื่อตามความเชื่อเดิมที่ว่า ครูต้องเป็นฝ่ายผู้ให้กับเด็กนักเรียนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้มีการกล่าวโทษไปถึงผู้ปกครองด้วยว่า ไม่มีส่วนในการเกื้อหนุนเพื่อเป็นองค์ประกอบในการเรียนรู้ของนักเรียน เด็กไทยยังโง่ ไม่อาจรับวิธีการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้ ทั้งๆ ที่ความอดทนเป็นสิ่งที่ทั้งผู้สอนและผู้เรียนควรเรียนรู้ร่วมกัน ควรมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างครูอาจารย์กับผู้เรียน ครูอาจารย์เองสามารถเรียนรู้จากนักเรียนของพวกเขาตามระบบการศึกษา 4.0

การศึกษาของไทยยังมีวัฒนธรรมตามใจพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่าตามใจผู้เรียน , ผู้บริหารการศึกษาของไทยยังมีทัศนะที่ว่านี้อยู่มาก ทำตามที่พ่อแม่ผู้ปกครองอยากให้ทำ มากกว่าทำตามสิ่งที่ผู้เรียนอยากจะเรียน ทำให้ผู้เรียน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเรียกว่าเป็น“เด็กนักเรียน” เกิดความทุกข์จากการเรียน เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของพ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์อยู่ตลอดเวลา

การศึกษาของไทยยังเน้นการคิดเห็นคล้อยตามของผู้เรียน มากกว่าการแสดงความคิดเห็นเชิงแย้ง เชิงสอบสวน(วิเคราะห์) ครูอาจารย์จำนวนไม่น้อยยังรับไม่ได้กับการโต้แย้งแบบวิเคราะห์ของผู้เรียน หากยังทำตัวเป็นศูนย์กลางของการเรียน เชื่อตามสิ่งที่ตนเองเชื่อมากกว่าการใส่ใจต่อสิ่งที่ผู้เรียนเชื่อ จึงไม่เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายความรู้อย่างกว้างขวาง

ระบบการศึกษาแบบนี้ จึงเอวังและวังเวง มองไม่เห็นแสงสว่าง บั่นทอนให้การศึกษาของไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ อีกต่อไปได้อีกนาน