วันพุธ, พฤษภาคม 03, 2560

คดี 'เก็บเห็ด' มีบางตอนที่ทำให้เกิดข้อกังขาว่าศาลพิจารณายังไม่ถ่องแท้

พลันเมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก ๕ ปีสองสามีภรรยาชาวกาฬสินธุ์บุกรุกป่าสงวน ในคดี เก็บเห็ด ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ผู้คนก็เปรียบเทียบกับคดีปลูกบ้านใหญ่โตในพื้นที่วนอุทยานเขายายเที่ยงทันที

คดีเขายายเที่ยง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีอดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีการดำเนินคดีหลังจากผู้ลุกล้ำยอมรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกและคืนที่ดินแก่วนอุทยาน

จึงมีคำถามปรากฏบนหน้าสื่อสังคมว่า “แบบนี้คืนเห็ดให้จะติดคุกไหมครับ..!!!” (Shutup.2017 @shutup2557)

แท้จริงคำตัดสินศาลฎีกาต่อนายอุดม และนางแดง ศิริสอน (วัย ๕๕ และ ๕๓ ปีตามลำดับ) ไม่ใช่ความผิดฐานเก็บเห็ด แต่เป็นข้อหา “บุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ ๗๒ ไร่” ในป่าดงระแนง

ศาลอ้างว่า “มีหลักฐานตามฟ้อง (ตอไม้ ๗๐๐ ต้น) กล่าวหาว่าตัดไม้สักและกระยาเลย และยังครอบครองไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ในเดือนกันยายน ๒๕๕๔ “ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ๓๐ ปี ผู้ต้องหารับสารภาพ ลดโทษเหลือ ๑๕ ปีจากนั้นประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ปฏิเสธว่าไม่ได้ตัดไม้ อ้างว่าวันเกิดเหตุได้เข้าไปเก็บเห็ดในป่าสงวนเท่านั้น ขอให้ศาลลดโทษ ซึ่งศาลพิพากษาแก้เป็น จำคุก ๑๔ ปี ๑๒ เดือน”

ในชั้นอุทธรณ์นั้นจำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าที่รับสารภาพในศาลชั้นต้น เพราะ “มีคนบอกจำเลยทั้งสองให้รับสารภาพเสียค่าปรับแล้วกลับบ้านได้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จำเลยทั้งสองจึงให้การรับสารภาพ”

แต่ศาลไม่เชื่อ “มื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองไม่สมัครใจแต่อย่างใด และเป็นความเข้าใจผิดของจำเลยทั้งสองเอง ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้”

ทั้งยังระบุด้วยว่าจำเลยทั้งสอง บิดเบือนในกรณีที่จำเลยชายอ้างว่าประสบอุบัติเหตุทำให้ความจำเลอะเลือน แต่หลักฐานเอกสารระบุว่าจำเลยเข้ารักษาตัว “กะโหลกร้าว มีลมรั่วเข้าไปในสมอง” ระหว่างวันที่ ๓ ถึง ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๔

อย่างไรก็ดี ในคำพิพากษาศาลฎีกา “ฐานร่วมกันทำไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ ๔ ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองจำคุกคนละ ๖ ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๕ ปี” นั้น

มีบางตอนที่ทำให้เกิดข้อกังขาว่าศาลพิจารณายังไม่ถ่องแท้

ในเมื่อศาลบอกว่า จำเลยทั้งสองมีส่วนร่วมในขบวนการตัดไม้ทำลายป่า “โดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุกลายเป็นป่าไม่สมบูรณ์และหวังผลให้ทางราชการดำเนินการนำพื้นที่ที่ถูกบุกรุกดังกล่าวมาจัดสรรแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน”

และ “เชื่อได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรง ยังมิได้มีการขยายผลและติดตามจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด คงมีแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นที่ยอมเข้ามอบตัว”


นั่นคือทำไมไม่รอ และ/หรือเรียกร้องให้ทำการขยายผลเพื่อนำ กลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีเสียก่อน ความยุติธรรมไม่จำเป็นต้องรีบร้อน

ทีคดีทำความเสียหายแก่บ้านเมืองเห็นชัดๆ อย่างกรณี ปรส. รอจนจะหมดอายุความแล้วตัดสินให้รอลงอาญา หรือคดีฆ่าคนตาย เมาสุราขับรถชนตำรวจจราจร ให้ประกันไปแล้วหายหัว เรียกห้าหกครั้งยังไม่มา ก็ยังไม่มีปัญญาทำอะไรได้

ซ้ำร้าย “ไม่ได้มีหลักฐานมัดตัวจำเลยแน่นหนา นอกจากรถมอเตอร์ไซค์ที่จอดไว้ใกล้ๆ บริเวณที่ป่าไม้ไปไล่จับคนตัดไม้ จำเลยให้การว่าเห็นเขาวิ่งหนีก็หนีไปด้วย” (ข้อสังเกตุของ อธึกกิต สว่างสุข)

“เราจะเห็นความไม่สมเหตุสมผล - - - จู่ๆ ชาวบ้านผัวเมียคู่หนึ่งจะบุกรุกผืนป่า ๗๒ ไร่ โค่นไม้ ๗๐๐ ต้น...มันเป็นไปได้หรือ เรื่องของเรื่องคือ สองคนนี้เป็นเพียงปลาซิวปลาสร้อย” (คำวิจารณ์ของ อธิคม คุณาวุฒิ)

“ความผิดต่อมาคือคำให้การที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ไม่มีกำลังทรัพย์ ไม่มีที่ปรึกษาทางกฎหมาย ไม่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขกลไกกระบวนการยุติธรรม

เพราะฉะนั้น ต่อให้ไม่ใช่การติดคุกเพราะเก็บเห็ด แต่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมเช่นที่เป็นอยู่นี้ การจะพูดว่าคุกมีไว้ขังคนจน กระบวนการยุติธรรมไม่มีที่ว่างให้คนยากไร้ มันก็ไม่ใช่คำพูดที่เกินเลย”


ปัญหาอยู่ที่กระบวนการตัดสินของศาลไทย ถึงแม้จะอ้างตัวบทกฎหมาย แต่ผลลัพท์อยู่ที่การตีความของผู้พิพากษาล้วนๆ ตีความให้คนหนึ่งผิด อีกคนไม่มีเจตนา คนหนึ่งเป็นชาวบ้าน อีกคนเป็นองคมนตรี

โดยเฉพาะในประเด็นที่อธึกกิตยกขึ้นมาติง “เมื่อศาลเห็นว่ารับสารภาพไปแล้วในศาลชั้นต้นโดยสมัครใจ ก็ไม่สามารถต่อสู้ได้ว่าไม่ผิด ศาลไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานต่อว่าผิดจริงไหม”

ทำยังกับศาลเป็นเครื่องยนตร์ ทำงานแบบ automation ตามโปรแกรมที่ถูกตั้งไว้ ไม่ได้ฝังชิป เลยขาดสมองกล artificial intelligent ไม่มีแม้แต่สติปัญญาจำลอง

กระทั่งอัยการที่ฟ้องคดี ฟ้องเข้าไปได้อย่างไร ลุงป้าสองคนมีแต่รถมอเตอร์ไซค์นี่นะตัดไม้ ๑,๑๔๘ ต้น

ในประเทศตะวันตกที่ใช้การพิจารณาคดีด้วยระบบลูกขุน ผู้พิพากษาเป็นผู้ให้ข้อกฎหมายแก่คณะลูกขุนนำไปพิจารณาประกอบคำให้การและพยานหลักฐาน คณะลูกขุนจะปิดห้องประชุมกัน ถกเถียงโดยใช้สติปัญญาหาข้อสรุปกันเองจนกว่าจะได้มติเอกฉันท์

ข้อดีของการหาข้อสรุปอย่างนี้อยู่ที่ คณะลูกขุนมาจากประชาชนหลากหลายอาชีพ อันเป็นตัวแทนความเป็น มนุษย์มากแบบ ทำให้การใช้เหตุผลเต็มไปด้วยแง่มุมต่างๆ ที่หลอมกันเป็นข้อสรุปที่สมเหตุสมผล

ไม่แน่ใจว่าคนสามคนฝึกฝนอาชีพมาในแบบเดียวกัน ในกรอบที่ไม่มีความหลากหลาย แถมนั่งอยู่ในที่สูงมากเสียจนมอง (bird eye view) เห็นจำเลยเล็กกว่าความจริง จะมีวิจารณญานถ้วนทั่วบริบูรณ์ได้ทุกครั้งเสมอไป

ไม่ได้เรียกร้องให้ต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบลูกขุน (ถ้าได้ดีแน่) แค่อยากชี้ให้เห็นว่าเหตุใดความยุติธรรมถึงไม่เกิด