โปรดอวยพร ให้ฉัน
แต่โปรด อย่ากราบ ฉัน
because
King Chulalongkorn 1873: No Crawling - No Prostration
เชื่อหรือไม่ว่า
พระจุลจอมเกล้า ฯ ร.5 ทรงมีปฐมบรมราชโองการ
ให้ยกเลิก "กราบไหว้ หมอบคลาน"
ตั้งแต่ พศ.2416 หรือ 144 ปีมาแล้ว ดังนี้
“แลธรรมเนียมหมอบคลาน กราบไหว้ ในประเทศสยามนี้
เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแขงแรงนัก
ผู้น้อย ที่ต้องหมอบคลานนั้น
ได้ความเหน็จเหนื่อยลำบาก เพราะ จะให้ยศแก่ท่านผู้ใหญ่
ก็การทำยศที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้
ไม่ทรงเห็นว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมือง แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย
ผู้น้อย ที่ต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ให้ยศต่อท่านผู้ที่เปนใหญ่นั้น
ก็ต้องทนลำบากอยู่จนสิ้นวาระของตนแล้ว
จึ่งจะได้ออกมาพ้นท่านผู้ที่เปนใหญ่
ธรรมเนียมอันนี้แลเหนว่า
เปนต้นแห่งการที่เปนการกดขี่แก่กันทั้งปวง
เพราะฉนั้น จึ่งจะต้องละพระราชประเพณีเดิม
ที่ถือว่า หมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่ง ในประเทศสยามนี้เสีย
ด้วยทรงพระมหากรุณา ที่จะให้ท่านทั้งหลายได้ความศุข
ไม่ต้องทนยากลำบากหมอบคลานเหมือน อย่างแต่ก่อน”
Charnvit Kasetsiri
.....
ooo
ย้อนดูพระราชดำรัสรัชกาลที่5 "ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน"
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงฉายกับพระอนุชา คือ สมเด็จฯเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ และพระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ ที่ชาลาหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อ พ.ศ.2409
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
10 ก.ย. 2559
ในหนังสือวาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์ โดยสำนักพิมพ์มติชน (สนใจสามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ www.matichonbook.com)
ในหนังสือวาทะเจ้านาย ได้เล่าถึงวาทะหนึ่ง
"---ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน---"
"---ธรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ---"
เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตรัสต่อที่ประชุมมหาสมาคมหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2416 เมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา เป็นการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมครั้งใหญ่ คือ เปลี่ยนจากการหมอบคลานเข้าเฝ้าหรืออยู่เฉพาะพระพักตร์มาเป็นการยืนโค้งศีรษะตามแบบอารยประเทศ
ธรรมเนียมหมอบคลานต่อพระพักตร์พระมหากษัตริย์หรือต่อหน้าพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์คือเทพเจ้าที่จุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อช่วยเหลือปราบยุคเข็ญปกป้องภัยอันตราย และบันดาลความสุขให้มนุษย์ จึงถือกันว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ
ในสมัยสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อกับลูก ราษฎรนับถือผู้ปกครองดุจบิดาเรียกว่าพ่อขุน พ่อขุนปกครองราษฎรประดุจบิดาดูแลบุตร ครั้นถึงสมัยอยุธยา สยามได้รับอิทธิพลความเชื่อเรื่องสมมติเทพมาจากเขมร การปกครองจึงเปลี่ยนเป็นการปกครองที่มีความเชื่อว่าปกครองโดยเทพเจ้า คือพระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิ์ขาดในการบริหารบ้านเมืองแต่เพียงพระองค์เดียว พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ก็ทรงปฏิบัติพระองค์ให้ราษฎรเชื่อว่าทรงเป็นเทพจุติมาเพื่อปกป้องคุ้มครองคนไทยและผืนแผ่นดินไทยด้วยการสร้างพิธีรีตองต่างๆขึ้นมารองรับฐานะของพระองค์
ด้วยพระปรีชาสามารถในอันที่จะปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายจากข้าศึกศัตรูที่มารุกรานแย่งที่ทำกินแล้วยังทรงรักษาพระราชอาณาเขตให้มั่นคงขยายให้กว้างขวางออกไปในเวลาสงบสุขก็ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง เมื่อใดที่เกิดปัญหาไม่ว่าจะน้อยใหญ่หนักเบา ตั้งแต่เรื่องทะเลาะวิวาทจนถึงเรื่องการคิดกบฏล้มล้างราชบัลลังก์ ก็ทรงสามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยพระบารมีและพระสติปัญญาที่ฉลาดเฉลียวเหนือคนส่วนใหญ่ ประกอบกับพระคุณสมบัติพิเศษคือ มีทั้งพระเมตตา ความยุติธรรม ความเด็ดขาด และความกล้าหาญ พระองค์จึงทรงเป็นทั้งที่รักที่เคารพถึงขั้นเทิดทูนบูชาและเป็นที่เกรงกลัวต่อผู้ทำผิดคิดร้าย
พระจริยวัตรดังกล่าวกล่าวกันว่าคือพระจริยวัตรของเทพเจ้าอย่างแท้จริงยิ่งเพิ่มความเชื่อให้ฝังลึกลงในจิตใจเป็นทวีคูณและได้ถ่ายทอดความเชื่อนั้นสู่ลูกหลานสืบมา
ความเชื่อดังกล่าวถูกตอกย้ำให้ลึกซึ้งมั่นคงขึ้นเมื่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดในตำแหน่งที่เรียกกันว่าพราหมณ์ปุโรหิตซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้สามารถติดต่อกับเทพเจ้าได้ ได้กำหนดวัตรปฏิบัติพระองค์ของพระมหากษัตริย์ให้แตกต่างจากสามัญชนคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่เรียกว่าราชาศัพท์ พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เรียกว่าพระราชพิธีนั้นก็ถูกประดิษฐ์คิดขึ้นอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้ผลทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรี จังหวะ เสียงร้อง เนื้อร้อง ในการปฏิบัติแต่ละพระราชพิธี แม้จะต่างกัน แต่ก็ให้ความรู้สึกเดียวกันคือ ความเข้มขลังผสมผสานกับความน่าสะพรึงกลัว ในเวลาเดียวกันก็สามารถโน้มน้าวจิตใจผู้ร่วมพิธีให้โอนอ่อนเกิดความศรัทธาเชื่อมั่นว่าพระราชพิธีนั้น ๆ เป็นพิธีปฏิบัติของเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ ซึ่งจะนำมาหรือบันดาลสิ่งอันเป็นมงคลกับชีวิตของผู้คนและบ้านเมือง จึงยิ่งทวีคูณความเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์ดุจว่าทรงเป็นเทพเจ้า
ด้วยเหตุดังกล่าวการปฏิบัติตัวของสามัญชนเมื่ออยู่ต่อหน้าเทพเจ้าจึงต้องแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความเคารพเทิดทูนและอ่อนน้อมอย่างที่สุดการแสดงออกอย่างหนึ่งคือการต้องหมอบคลานก้มหน้าเมื่ออยู่ต่อพระพักตร์หรือการเข้าเฝ้าความนอบน้อมนั้นเลยไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจะทรงเคยเป็นสามัญชนมาก่อน แต่เพราะทรงมีทั้งพระปรีชาสามารถในการปราบยุคเข็ญของบ้านเมือง นำพาบ้านเมืองให้เข้าสู่ความสงบสุข ปกป้องราชอาณาจักรให้พ้นจากภัยสงคราม ทำนุบำรุงบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งก็คือพระจริยวัตรปฏิบัติพระองค์ของเทพเจ้าโดยแท้ จึงเชื่อมั่นได้ว่าพระองค์คือเทพจุติมาเพื่อปราบยุคเข็ญและช่วยบ้านเมืองให้พ้นภัยอันตราย
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้านเมืองเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการที่ทรงเปิดประเทศคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตกทำให้ทรงมองเห็นความแตกต่างของแนวคิดขนบประเพณีระหว่างชาวตะวันออกและตะวันตกทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีน้ำพระทัยกว้างขวาง พระราชดำริกว้างไกล ทรงยอมรับในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ของชาวตะวันตกมาใช้ อันได้แก่ความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่บางประการ แต่สิ่งหนึ่งที่ทรงวางแนวทางและส่งต่อแนวคิดที่ให้พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมาดำเนินการสานต่อ คือ การปรับปรุงบางสิ่งและเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โดยไม่ยึดติดกับของเก่าหากจะเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง โดยเฉพาะขนบธรรมเนียมที่บั่นทอนความเชื่อที่ชาวตะวันตกจะมีต่อสยาม อันอาจจะเป็นมูลเหตุนำไปสู่ปัญหาที่จะเกิดกับชาวตะวันตกซึ่งเป็นชาติที่มีอานุภาพเหนือสยามทั้งกำลังพล กำลังอาวุธ และกำลังยานพาหนะ
ธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาวตะวันตกอันเนื่องมาจากแนวคิดที่ต่างกันทำให้ชาวตะวันตกวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่กดขี่เหยียบย่ำมนุษย์ด้วยกันนั่นคือธรรมเนียมการหมอบคลานของบรรดาข้าทาสบริวารที่ปฏิบัติต่อบรรดาเจ้านายของตนดังปรากฏในคำวิจารณ์ของชาวตะวันตกที่มีโอกาสเข้ามาติดต่อกับชาวสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น มิสเตอร์ฟินเลสัน (Mr.Finlayson) หนึ่งในคณะทูตของจอห์น ครอว์เฟิร์ด บันทึกวิจารณ์ไว้ว่า
"---วิธีที่บรรดาคนรับใช้ปฏิบัติต่อเสนาบดีดุจทาสนั้น เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งเป็นการเหยียบย่ำมนุษย์ชาติด้วยกันเอง ตลอดระยะเวลาการเข้าพบเสนาบดีนั้น พวกเขาทั้งหมอบราบกับพื้นเบื้องหน้าเสนาบดีในระยะห่าง ในขณะที่พูดกับเสนาบดีนั้น พวกเขาไม่กล้ามอบสบตาเสนาบดี---"
และยังบันทึกถึงเรื่องนี้อีกหลายตอน เช่น "---ในการนำเครื่องดื่มออกมารับรองแขกเมืองนั้น บรรดาผู้รับใช้คลานขึ้นไปข้างหน้าโดยข้อศอกและนิ้วเท้ายันตัวเคลื่อนไปอย่างช้า ๆ ในลักษณะเช่นนี้ พวกเขาผลักจานไปข้างหน้าเป็นระยะ ๆ ด้วยท่าทีอันเกิดจากการถูกบังคับเยี่ยงสัตว์---" และ "---หัวหน้าผู้เย่อหยิ่งผู้นี้ ซึ่งมีตำแหน่งเสนาบดีลำดับที่ 5 ตามความสำคัญ ยังต้องหมอบคลานเยี่ยงสัตว์ เมื่อไปเข้าเฝ้า Chromachit ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน ทุกคนในประเทศนี้ต้องหมอบคลานเมื่ออยู่เบื้องหน้าเจ้านายผู้บังคับบัญชาประชาชาติทั้งมวล เป็นทาสของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงจัดการชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาตามพระราชอัธยาศัย---"
และจอห์นครอว์เฟิร์ด(JohnCrowfurd) บรรยายการเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินไว้ว่า
"---นอกจากทางแคบ ๆ ที่เหลือเป็นทางเดินสำหรับทูตและคณะผู้ติดตามแล้ว พื้นท้องพระโรงทั้งหมดเต็มไปด้วยผู้คนที่หมอบกราบอยู่กับพื้น ศีรษะของพวกเขาก้มต่ำลงจรดพื้นหันไปทางบัลลังก์ มือของพวกเขาเท่านั้นที่ประสานกันอยู่เหนือศีรษะในท่าแสดงความจงรักภักดี มันเป็นความย่ำเกรงและการยกย่องสรรเสริญต่อพระเจ้ามากกว่าที่จะเป็นความเคารพนับถือที่แสดงต่อผู้ปกครองแผ่นดิน---"
คำวิจารณ์เหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อการติดต่อคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตกเพราะนโยบายสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติของพระมหากษัตริย์ไทยคือการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เพื่อมิให้ชาวตะวันตกใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซง การบริหารบ้านเมืองของไทย ทรงตระหนักพระทัยถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ของชาวตะวันตก เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมหมอบคลานอันแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งชาวตะวันตกถือเป็นเรื่องสำคัญของเหล่ามนุษยชาติที่ทุกชีวิตจะต้องมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีเสมอกัน
ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติเป็นวันแรกจึงทรงประกาศยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานว่า
"---ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ---"
จากหนังสือวาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์ โดยสำนักพิมพ์มติชน (สนใจสามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ www.matichonbook.com)
ได้เล่าถึงวาทะหนึ่ง