วันจันทร์, กรกฎาคม 18, 2559

ทำไมตุลาการภิวัตน์จึงถือกำเนิดขึ้นมา ทำไมจึงมีความชอบธรรมในสายตาชนชั้นกลางไทย สายชล สัตยานุรักษ์ พาย้อนดูสายธารประวัติศาสตร์ความคิดและวัฒนาธรรมความคิดในสังคมไทยที่ฝ่ายต่างๆ ช่วยกันหล่อหลอมสั่งสมมา





เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ฯ: สายชล สัตยานุรักษ์-มรดกประวัติศาสตร์ จุดกำเนิดตุลาการภิวัตน์

ที่มา ประชาไท
Sat, 2016-04-23 16:06

ทำไมตุลาการภิวัตน์จึงถือกำเนิดขึ้นมา ทำไมจึงมีความชอบธรรมในสายตาชนชั้นกลางไทย สายชล สัตยานุรักษ์ พาย้อนดูสายธารประวัติศาสตร์ความคิดและวัฒนาธรรมความคิดในสังคมไทยที่ฝ่ายต่างๆ ช่วยกันหล่อหลอมสั่งสมมา

เสวนาวิชาการเรื่อง “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการเสวนาวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงทางวิชาการ

งานนี้มีผู้ร่วมนำเสนอ 7 คน ได้แก่

โยชิฟูมิ ทามาดะ - ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์
สายชล สัตยานุรักษ์ - มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิด "ตุลาการภิวัตน์" ในรัฐไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล - กำเนิดและความพลิกผันของแนวคิดการเมืองเชิงตุลาการ
กฤษณ์พชร โสมณวัตร - การประกอบสร้างอัตลักษณ์ตุลาการไทย: คุณธรรม สถานภาพ และอำนาจ
อายาโกะ โทยามะ - องค์กรอิสระกับการเมือง การวิเคราะห์เกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการ
ปิยบุตร แสงกนกกุล - ตุลาการภิวัตน์วิธี
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ

00000



บันทึกเสียงการบรรยายของสายชล สัตยานุรักษ์ หัวข้อ มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิดของ "ตุลาการภิวัฒน์" ในรัฐไทย


สายชล สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในหัวข้อ มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิด 'ตุลาการภิวัตน์' ในรัฐไทย โดยมีเนื้อหาดังนี้

การพูดครั้งนี้จะมองจากภายในสังคมไทยว่าเป็นมาอย่างไร ทำไมในที่สุดตุลาการภิวัตน์ถึงบังเกิดขึ้นมาได้ ข้อเสนอเพื่อพิจารณาคือ ตุลาการภิวัตน์เกิดขึ้นได้และมีความชอบธรรมในสายตาชนชั้นกลางไทย เนื่องจากวัฒนธรรมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมทางความคิดที่สั่งสม แต่ขอเรียนไว้ในเบื้องต้นว่าไม่ใช่วัฒนธรรมที่หยุดนิ่งตายตัว มีการปรับตัว มีพลวัต ในระยะเวลาที่ยาวนาน มีการปรับเปลี่ยนความหมายของมโนทัศน์ต่างๆ ตลอดมา ทำให้มีพลัง

ขอสรุปที่มาของวัฒนธรรมความคิดการเมืองไทยสักนิด จุดเริ่มต้นที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน คือ พระบรมราชาธิบายเรื่องความสามัคคีของรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีความสำคัญมากๆ เมื่อ อมร จันทรสมบูรณ์ เขียนเรื่อง คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) ก็เอาพระบรมราชาธิบายเรื่องนี้ไปอ้างอิง และในหนังสือรายงานผลการวิจัยของ สกว. ก็ทำพระบรมราชาธิบายเรื่องนี้ไปใส่ไว้ในภาคผนวกด้วย

สาระสำคัญของเรื่องนี้คือเป็นการพูดว่าการปกครองของไทยเป็นการปกครองของคนดี คือมีปัญญา มีความเมตตากรุณาต่อราษฎร อันนี้เป็นความหมายของคนดี ควรจะถือเอาพระราชดำริเป็นประมาณ เพราะว่าพระราชดำริของพระเจ้าแผ่นดินย่อมตั้งอยู่ในความชอบธรรม อาศัยความเมตตากรุณาต่อประชาราษฎรอันแรงกล้า เป็นที่นิยมยินดีชอบใจของราษฎรทั้งปวง จึงเป็นที่เชื่อใจวางใจของคนทั้งปวง และราษฎรควรจะเชื่อเจ้าแผ่นดินมากกว่าผู้ที่มาเป็นเมมเบอออฟปาลิเมนต์

สำหรับความชอบธรรมของการปกครองแบบไทย คือ การปกครองที่ใช้อำนาจโดยยึดหลักธรรมะเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร แต่จะเริ่มอ้างอิงหลักการเลือกตั้ง ในรัชกาลที่ 4 จะใช้คำว่า "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" โดยนำมาจากอัคคัญญสูตร รัชกาลที่ 5 จะใช้คำว่า "มหาชนนิกรสโมสรสมมติ" ในพระบรมราชาธิบายเรื่องความสามัคคีของรัชกาลที่ 5 จะชี้ว่า การมีปาลิเมนต์จะทำลายความสามัคคีของคนในชาติ แล้วก็จะไม่มีสมรรถภาพในการปกครองด้วย เหตุผลก็คือคนไทยเกือบทั้งหมดยังไม่มีความรู้และประสบการณ์ต่างกับในยุโรป ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดปัญญา ขาดความสามารถที่จะคิดอย่างมีเหตุผล จึงควรยอมรับการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนดี แล้วประชาชนก็ควรจะยอมรับการแบ่งชั้นทางสังคม โดยทำหน้าที่ตามสถานะทางสังคมของตนเองโดยไม่ต้องเรียกร้องสิทธิ

พอถึงหลังการปฏิวัติ 2475 แทนที่จะเป็นการเปลี่ยนแนวความคิดในการปกครองอย่างมากจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็กลายเป็นว่า พอจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมาในปี 2481 มีการเน้นมติมหาชนก็จริง แต่เป็นมติมหาชนที่ผ่านกระบวนการมนุษย์ปฏิวัติแล้ว ถ้าพูดด้วยศัพท์ของมิเชล ฟูโกต์ ก็คือพยายามจะปกครองชีวญาณของประชาชน โดยหล่อหลอมกล่อมเกลาความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ปกครองจิตใจ ความรู้สึกร่างกายของประชาชน โดยอาศัยการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติ รวมทั้งรัฐนิยม


มติมหาชนจะเน้นหน้าที่ต่อชาติ ไม่ใช่สิทธิของประชาชน เป็นกระบวนการที่ต้องการครอบงำประชาชน ไม่ใช่ปลดปล่อยประชาชน ทั้งนี้ มองต่างจากนักวิชาการอื่นว่า สมัยจอมพล ป. ต้องการปกครองแบบเผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตย "มนุษย์ปฏิวัติ" ที่หลวงวิจิตรวาทการ เขียนเอาไว้ระบุว่า จะทำให้ผู้นำประเทศเป็นตัวมติมหาชนเพราะพูดอะไรทำอะไร คนก็จะพูดตามทำตาม ในแนวคิดเกี่ยวกับมติมหาชนแบบนี้ จึงไม่อาจเกิดการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วม และการกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ปกครองก็เป็นไปไม่ได้อีก

ทีนี้พอมาถึงทศวรรษ 2500 หรือสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา เราจะเห็นได้ถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลาง เพราะการดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศของรัฐบาล

แต่ชนชั้นกลางไทยไร้ทั้งอำนาจและอิทธิพล - ความคิดเรื่องอำนาจและอิทธิพลเป็นแนวคิดของ อ.ทามาดะ ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ 2530 กว่าๆ แต่ยังเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์มากในการอธิบายการเมืองไทยจนปัจจุบัน - ชนชั้นกลางไม่มีทั้งอำนาจและอิทธิพลจึงต้องอาศัยความคิดเรื่องการปกครองโดยคนดี ลองคิดดูว่าผู้นำมีอำนาจเผด็จการ อย่างสฤษดิ์ ถนอม ประภาส เขาก็หวังว่าจะใช้แนวความคิดเรื่องคุณธรรมของผู้ปกครองมากำกับการใช้อำนาจของผู้นำ ถ้าผู้นำใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวก็คือทำผิดคุณธรรมของผู้ปกครอง ผู้นำก็จะสูญเสียความชอบธรรม และมันก็จะเปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางร่วมมือกันขับไล่ผู้ปกครองที่ไม่ดีออกไปได้

ดิฉันคิดว่าความคิดเรื่องผู้ปกครองเป็นคนดี แม้ว่าจะเริ่มต้นจากปัญญาชนที่เป็นชนชั้นสูง แต่ชนชั้นกลางเอามาใช้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เพราะอะไร เรื่องนี้จะขยายความต่อไปข้างหน้า

ชนชั้นกลางเองขาดกลไก ขาดสถาบัน ขาดโอกาสที่จะต่อสู้ต่อรองกับผู้ปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการ ไม่ว่าจะมาจากการรัฐประหารหรือการเลือกตั้งก็ตาม ทำให้เขาเน้นการปกครองโดยคนดี เมื่อผู้ปกครองเป็นคนไม่ดี ชนชั้นกลางก็จะให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง เพื่อเปลี่ยนตัวผู้นำมาเป็นคนดี หรือถ้าผู้นำที่เป็นคนไม่ดี ไม่ยอมลงจากอำนาจง่ายๆ เขาก็จะพึ่งพระบารมี ซึ่งเป็นวิธีที่ชนชั้นกลางใช้ในการกำกับตรวจสอบผู้นำ

ชนชั้นกลางรวมทั้งนายทุนที่ไม่อยากจะเสียค่าเช่าทางเศรษฐกิจมากๆ เขาจึงส่งเสริมการสร้างพระราชอำนาจนำ เขาจะบริจาค ให้ความร่วมมือในทุกด้านเพื่อเสริมสร้างพระราชอำนาจนำ และทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้อุดมการณ์ราชประชาสมาสัย เป็นที่พึ่งของเขา


ราชประชาสมาสัย เริ่มต้นขึ้นในปี 2500 ในยุคจอมพล ป. ก่อนที่สฤษดิ์จะรัฐประหาร พระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานคำนี้และพระราชทานความหมายไว้ว่า หมายถึงพระราชาและประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยกัน

ทีนี้น่าสังเกตว่า "สม" กับ "อาศัย" สม คือความเท่าเทียม ดิฉันคิดว่าแนวคิดเรื่อง ราชประชาสมาสัย ชนชั้นกลางรับเอามาใช้ เห็นได้ชัดในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ความคิดนี้ถูกเน้นมากในปี 2515-2516 เป็นการเน้นราชประชาสมาสัยเพื่อต่อต้านถนอม ประภาส พอมาถึงช่วงพฤษภาทมิฬ ช่วงสุจินดา คราประยูร แนวคิดราชประชาสมาสัย ก็ได้รับการเน้นอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้สำคัญและจะขยายความในรายละเอียดต่อไป เพราะว่ามีผลต่อการนิยามความหมายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในช่วงหลังๆ พอมาถึงทศวรรษ 2550 ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกนำมาเน้นอีกอย่างมาก เริ่มต้นโดย นปช. มีการโต้ตอบกันไปมาระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดงในทศวรรษ 50 รายละเอียดเคยเขียนไว้ในบทความหนึ่งที่นำเสนอที่มหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อสองปีก่อน

สำหรับการถวายฎีกา ดิฉันคิดว่ามันก็คือ ราชประชาสมาสัยแบบหนึ่ง การถวายฎีกาตั้งอยู่บนฐานเรื่องพระราชาและประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งการพึ่งพาอาศัยกันนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระราชากับประชาชน ความคิดนี้ได้รับการเน้นโดยหลายฝ่าย ถ้าเป็น อ.เกษม ศิริสัมพันธ์ ก็คงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไรเพราะทราบจุดยืนทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมอยู่แล้ว อ.เกษมเขียนเรื่องบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบบรัฐสภาเปรียบเทียบไทยกับอังกฤษ ปัจจุบันเราก็ยังเปรียบเทียบแบบเดียวกับ อ.เกษมอยู่ ในงานของ อ.เกษม ระบุว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชนเป็นสิ่งที่เมืองไทยมีประเทศอื่นไม่มี ฎีกาสภากระจกที่เกิดขึ้นในปี 2535 ซึ่งเรื่องนี้จะพูดละเอียดทีหลัง ที่ยกมาในสไลด์นี้ ก็เพียงเพื่อบอกว่าฎีกาสภากระจกก็เน้นว่าพระมหากษัตริย์และประชาชนไม่เคยแยกจากกัน น่าสังเกตว่าในทศวรรษ 2530 แนวคิดเรื่องการพึ่งพาอาศัยกันเป็นแนวคิดที่ไม่ได้ริเริ่มโดยพระมหากษัตริย์แล้ว แต่ริเริ่มโดยผู้ถวายฎีกา ซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการ ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจและผู้นำสื่อมวลชนหลายคน ในทศวรรษ 2530 คนกลุ่มนี้มีพลังสูง เท่าที่จำชื่อได้มีคนอย่าง อ.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช คุณสุทธิชัย หยุ่น อ.ประเวศ วะสี

ในทศวรรษ 2530 คนกลุ่มนี้มีความสำนึกในศักยภาพทางปัญญาของตัว ที่จะกำหนดอนาคตของประเทศ แต่เขาก็ตระหนักในข้อจำกัดของเขาเนื่องจากการเมืองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยมากพอ จึงต้องอาศัยอุดมการณ์ราชประชาสมาสัยในการผลักดันการปฏิรูปการเมือง คนกลุ่มนี้คิดว่า การพัฒนาให้เกิดสถาบันและกระบวนการที่เป็นระบบอันต่อเนื่อง ยั่งยืน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

เขาคิดว่า "เราไม่อาจหลีกเลี่ยงกระแสประชาธิปไตยได้ จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกและกระบวนการเสริมระบอบนี้อย่างเร่งด่วน" ความพยายามในการสร้างสถาบันการเมือง เพื่อกำกับ ควบคุมนักการเมือง ตามแนวคิดคอนสติติวชั่นแนลลิสม์ ของอมร จันทรสมบูรณ์ จะเน้นไปที่การร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง สถาบันตรวจเงินแผ่นดิน และสถาบันอื่นๆ ที่จะเป็นกลไกที่ระบอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีขึ้น มันจะเปลี่ยนระบบรัฐสภาไทย จากแบบอำนาจเดี่ยวไปสู่ระบบที่มีการกำกับ ตรวจสอบและถ่วงดุลอันเป็นการป้องกันเผด็จการทางรัฐสภาในเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน

กลุ่มนี้จะผลักดันการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดในสองกรณีด้วยกัน กรณีแรกคือ สภากระจก อีกกรณีคือ คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) เริ่มจาก สภากระจก ส.ค. 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬไม่นาน ดิฉันคิดว่า กลุ่มที่รวมตัวกันถวายฎีกาที่เรียกกันว่า "ฎีกาสภากระจก" เขาอาศัยอุดมการณ์ราชประสมาสัย ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ถวายฎีกาถือว่า ตัวเองคือประชาหรือประชาชนที่ตระหนักในคุณประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตย และด้วยจิตใจที่จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูล "ถวายความเห็น" ขอให้ชะลอการลงพระปรมาภิไธย จนกว่าจะจัดมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง และขอพระราชทานสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งแต่งตั้งจากบุคคลสาขาอาชีพต่างๆ ให้ดำรงอยู่คู่กับรัฐสภา เพื่อเป็นกระจกส่องสะท้อนความเห็น ความทุกข์ยาก ความหลากหลายของสังคมไทย เป็นสถาบันที่จะไม่มีอำนาจแต่จะเสริมสถาบันทางอำนาจในระบอบประชาธิปไตย

กลุ่ม คพป. นำโดย นพ.ประเวศ วะสี อ.ธีรยุทธ บุญมี อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ คือแต่ละกลุ่มมีจำนวนเป็นร้อยคน ชื่อที่ยกขึ้นมาเป็นแกนนำ อ.บวรศักดิ์ เสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการคัดเลือกของกลุ่มอาชีพต่างๆ เมื่อร่างเสร็จให้ลงประชามติ แต่ถ้าการดำเนินการล่าช้าเกินการประชุมสภาผู้แทนสมัยหน้า คงต้องกลับไปหารากเดิมคือทั้งพระมหากษัตริย์และประชาชน ต้องลงมาจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพราะอำนาจอธิปไตยต้องมาจากประชาชน อันนี้เห็นได้ชัดว่า ต้องมีทั้งประชาธิปไตย ต้องมีทั้งพระมหากษัตริย์ ร่วมมือพึ่งพาอาศัยกัน คพป.แถลงข่าวเลยว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะยกสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันหลักอย่างถาวร และพยายามทำการเมืองให้เป็นของพลเมือง ไม่ใช่ให้อำนาจแก่คนที่อ้างว่าเป็นผู้แทนปวงชน แล้วก็ยกพระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคีของรัชกาลที่ 5 มาลงไว้อย่างที่ได้เล่าไปแล้ว แล้วก็เน้นด้วยว่ารัชกาลที่ 5 ยึดรากฐานของสังคมไทยเป็นหลักและเหลียวแลดูการแก้ปัญหาของต่างประเทศเป็นแนวทาง คือเอาของไทยกับของต่างประเทศมาพิจารณาด้วย แต่ยึดของไทยเป็นหลัก

น่าสังเกตว่า กลุ่มฎีกาสภากระจกและ คพป. ได้รับการต่อต้าน สาเหตุคือ พอถึงกลางทศวรรษ 2530 อุดมการณ์ราชประชาสมาสัยแบบที่เน้นสมาภาพ มันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ราชประชาสมาสัยที่พึ่งพาอาศัยกันแบบสมาภาพ แต่กลายเป็นราชประชาสมาสัยแบบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพ่อแห่งชาติแล้ว เปลี่ยนจากเท่าเทียม เป็นพ่อกับลูก เพราะฉะนั้น กลุ่มฎีกาสภากระจกและ คพป. ก็เลยถูกมองว่ากดดันพระมหากษัตริย์

ดิฉันเลยสรุปว่าพอมาถึงกลางทศวรรษ 2530 ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนความหมายไปแล้ว จากแบบราชประชาสมาสัย เป็นแบบพ่อแห่งชาติ โดยที่ในช่วงนี้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจนำอย่างเต็มที่แล้ว ตุลาการภิวัตน์เป็นผลมาจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบบพ่อแห่งชาติ

ทีนี้อยากให้ดูวัฒนธรรมทางความคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและนักการเมืองของชนชั้นกลางสักนิดเพราะข้อคิดเห็นและข้อเสนอให้ฎีกาต่างๆ ล้วนแต่เกิดจากทัศนะต่อการเลือกตั้งและนักการเมืองว่าไม่ดี เลว ไร้สมรรถภาพ ทำให้รัฐสภาไทยอ่อนแอ เป็นปัญหาทางการเมืองที่ร้ายแรงที่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการพึ่งพระบารมี

การเลือกตั้ง

การเลือกตั้งเป็นแนวคิดที่เข้ามาในไทย อาจจะตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ด้วยซ้ำ แต่เห็นหลักฐานในรัชกาลที่ 4 มีการทดลองการเลือกตั้งในกรมพระอาลักษณ์ด้วย แต่ที่เห็นได้ชัดคือในพระนามของพระมหากษัตริย์ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ

เหตุที่ความคิดเรื่องการเลือกตั้งเข้ามา เพราะมิชชันนารี อย่างหมอบลัดเลย์ จะเอาเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเข้ามาเผยแพร่ตีพิมพ์ ชนชั้นนำไทยจึงปรับตัวด้วยการเอาความคิดเรื่องสมมติราชที่มีอยู่ในอัคคัญญสูตรในพระไตรปิฎกมาปรับเปลี่ยนความหมาย ปรับเปลี่ยนจุดเน้น

พอหลังปฏิวัติ 2475 แนวคิดอเนกนิกรสโมสรสมมติได้ถูกเน้นอีกครั้งทันที คนอื่นมองว่านำแนวคิดนี้มาเน้นเพื่อดิสเครดิตคณะราษฎร แต่ส่วนตัวมองว่าการนำแนวคิดนี้มาเน้น เป็นไปเพื่อเน้นความสืบเนื่องระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ โดยที่กลุ่มชนชั้นนำที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ไม่ใช่กลุ่มเลือดสีน้ำเงิน แต่ทำงานให้จอมพล ป. ก็เน้นเรื่องอเนกนิกรสโมสรสมมติ ดิฉันคิดว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้มองเห็นความต่อเนื่องระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ คนในระบอบเก่าที่ปฏิเสธระบอบใหม่จะได้ยอมรับระบอบใหม่ได้ดีขึ้น คนในระบอบใหม่ก็จะไม่ต่อต้านระบอบเก่ามากเกินไป มันเป็นบรรยากาศของความพยายามจะประนีประนอม ในช่วงปีแรกหลังการปฏิวัติ

เมื่อมาถึงช่วงทศวรรษ 2510 ชนชั้นกลางก็ยังเน้นความสำคัญของการเลือกตั้งอยู่ แต่เน้นไปที่การเลือกผู้นำ เพราะการเลือก ส.ส. เป็นไปเพื่อให้ได้ผู้นำใหม่ เขาเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ไม่ได้หวังให้รัฐสภามีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร และทำหน้าที่กำกับตรวจสอบผู้บริหาร ดิฉันคิดว่าเขาอยากจะเปลี่ยนตัวผู้ปกครองจากคนที่เขาเห็นว่าไม่ดี ให้เป็นคนดี

ทัศนะต่อนักการเมือง

เขาไม่ตั้งความหวังต่อสภาผู้แทนราษฎร เพราะเขามีทัศนะต่อนักการเมืองว่าเลว แม้แต่กุหลาบ สายประดิษฐ์

ในสไลด์ต่อไปนี้จะพูดถึงฝ่ายเสรีนิยมค่อนข้างมาก ที่เน้นความเลวของนักการเมือง เน้นความสำคัญของพระมหากษัตริย์ เพราะฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายกษัตริย์นิยมนั้นเราก็รู้กันอยู่แล้ว

สำหรับกุหลาบ สายประดิษฐ์ จะมองว่า "การศึกษาและความใส่ใจในการปกครองตนเองของราษฎรยังอยู่ในระดับต่ำ ... เราได้เห็นความทุจริต ความเสื่อมทางจิตใจ ปรากฏแพร่หลายทวีขึ้นทั่วๆ ไป เห็นความไม่มั่นคงทางการเมือง เห็นความประพฤติอันพึงรังเกียจของนักการเมืองมากคน เห็นความแตกร้าวรุนแรงระหว่างพรรคการเมือง ทั้งๆ ที่ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างนโยบายพรรค"

พอมาถึงช่วง ต.ค. 2516 ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา ปัญญาชน และสื่อมวลชน ล้วนให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่มีบางบริบทที่เห็นว่ายังไม่ควรมีการเลือกตั้ง เช่น การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือยังไม่เหมาะในสถานการณ์ที่อีกฝ่ายจะชนะ จึงต่อต้านการเลือกตั้ง แต่จะเป็นการต่อต้านชั่วคราว

ชนชั้นกลางไทยไม่ได้ยอมให้หยุดการเลือกตั้งไปนานๆ แม้แต่คนที่เขาเห็นว่าเป็นคนดี ก็อยากจะให้เปลี่ยน เพื่อให้มีการเลือกตั้ง

เราอาจจะกล่าวได้ว่าเมื่อมาถึงทศวรรษ 2530 แล้ว การเลือกตั้งกลายเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็นในทัศนะของชนชั้นกลาง เพราะเป็นวิธีที่จะป้องกันคนชั่วไม่ให้อยู่ยาว แม้แต่กลุ่มนักวิชาการ 99 ที่ถวายฎีกาในปี 2531 ก็เป็นการถวายฎีกาเพื่อกดดันให้เปรมลงจากตำแหน่ง ถวายฎีกาขอให้มีการยุบสภา และขอให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง

นักวิชาการ

นักวิชาการมีส่วนสร้างความหมายของการเลือกตั้งว่า ไม่ดี มีผลที่ทำให้รัฐสภาไทยมันแย่ มันอ่อนแอ แม้แต่อ.ธเนศวร์ เจริญเมือง อ.ธเนศวร์ เป็นคนเลือกใช้คำว่า "เลือกตั้งอธิปไตย" มอมเมาประชาชนให้หลงใหลอยู่กับการเลือกตั้ง คำว่านักเลือกตั้งที่ อ.ธเนศวร์คิดขึ้นมา ถูกนำไปใช้โดยนักวิชาการหลายคนด้วยกัน อย่างเช่น อ.เกษียร เตชะพีระ ที่นำไปใช้โจมตีนักเลือกตั้งกับนักแต่งตั้ง ที่เล่นเกมไม่แก้รัฐธรรมนูญ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกว่าอย่าไปผลีผลามขยายเวทีเลือกตั้งในขณะที่เราไม่มีเงื่อนไขรองรับที่ดีพอ บทเรียนเจ็บแสบจากการเลือกตั้ง ส.ส. มีมากเกินไปจนเรามองข้ามไม่ได้ อ.เสกสรรค์เสนอว่า เราควรมีประชาธิปไตยโดยตรงในระดับพื้นฐาน ระดับชาตินั้นให้มีทั้งระบบเลือกตั้งและแต่งตั้งผสมผสานกันไป

แม้แต่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็บอกว่าธรรมชาติของการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ ทำให้การเลือกสรรรัฐบุรุษเข้าสู่วงการเมืองเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่สิ้นศรัทธากับนักการเมือง เพียงแต่ว่า อ.นิธิชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เพราะนักการเมืองไทยเลวเป็นพิเศษ นักการเมืองมันก็เลวหมดไม่ว่าที่ไหนในโลกนี้ อ.นิธิบอกว่า ความไม่รับผิดชอบของพรรคการเมืองทั้งสองฝ่าย จนก่อให้เกิดพฤษภาทมิฬขึ้นนั้นไม่ใช่ความเลวเฉพาะของนักการเมืองไทย นักการเมืองที่ไหนๆ ก็ตามที่มีโอกาสทำงานโดยไม่มีองค์กรของประชาชนและสถาบันอื่นๆ ตรวจสอบและกำกับเช่นเมืองไทย ก็มีแนวโน้มจะไร้ความรับผิดชอบเหมือนกันไปหมด

อ.เกษียร เตชะพีระ ปี 2535 เห็นด้วยกับ อมร จันทรสมบูรณ์ ในเรื่องปัญหาจากระบบรัฐสภาแบบอำนาจเดี่ยวที่ไม่มีกลไกควบคุมถ่วงดุลพรรคเสียงข้างมาก อ.เกษียรวิเคราะห์ว่าวัฒนธรรมอำนาจนิยมได้ครอบงำระบบราชการและพรรคการเมือง ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการรวมกันของประชาชนเพื่อต่อรองกับรัฐบาลและระบบราชการ เพราะผู้มีอำนาจรัฐและระบบราชการ มองประชาชนเป็นศัตรูและภัยต่อความมั่นคง

ดิฉันคิดว่าชนชั้นกลางไม่สามารถต่อรองกับผู้นำของตนเองได้ ไม่สามารถอาศัยระบบรัฐสภาได้ สื่อมวลชนก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมากๆ มาตลอด เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยความคิดเรื่องผู้ปกครองเป็นคนดี เพื่อนำความคิดนี้มากำกับผู้นำอีกทีหนึ่ง และจำเป็นมากที่จะต้องพึ่งพระบารมีในหลายๆ เรื่อง

ดิฉันยกทฤษฎีของ อ.ทามาดะ และ อ.นิธิ ว่ามีการใช้อิทธิพลมาคานอำนาจ ในบริบทที่ชนชั้นกลางตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร แล้วตอนหลัง ก็จะเป็นเผด็จการของนักการเมืองจากการเลือกตั้ง เนื่องจากนักการเมืองเลว รัฐสภาไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่สามารถจะรวมตัวกันเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง ขาดเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ควบคุมตรวจสอบรัฐบาลเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเน้นคุณธรรม และพึ่งพระบารมี รวมทั้งพึ่งการตัดสินคดีความของตุลาการในพระปรมาภิไธยของพระองค์

ชนชั้นกลางไทยจะมีความเชื่อมั่นว่าพระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม พระราชกรณียกิจต่างๆ ตลอดระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา รวมทั้งโครงการในพระราชดำริจำนวนมาก และการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง ไม่เพียงแต่จะทำให้ชนชั้นกลางสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและมีความรัก ความจงรักภักดีอย่างลึกซึ้งต่อพระมหากษัตริย์เท่านั้น ยังเชื่อมั่นมากขึ้นด้วยว่าพระมหากษัตริย์จะทรงกำกับดูแลการใช้อำนาจของผู้นำประเทศอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

จากความจำเป็นในการพึ่งพระบารมีทั้งแบบราชประชาสมาสัยและแบบพ่อแห่งชาติ ทำให้ชนชั้นกลางให้ความสำคัญอย่างสูงกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความคิดนี้มีมานานพอสมควร ในรัชกาลที่ 4 พระราชนิพนธ์นานาธรรมวิจารินี เน้นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาแห่งความยุติธรรม พระมหากษัตริย์มีคุณลักษณะต่างๆ เช่น มีอำนาจ มีความรู้ มีความฉลาด มีความซื่อตรง มีความเมตตาปรานีต่อคนทั้งปวง ย่อมคิดเห็นถูกต้องโดยมากได้ มีสติปัญญา อุตสาหะ มีความเพียรมาก อยากให้คนทั้งปวงมีความสุขเสมอกัน รักการยุติธรรมเป็นที่ยิ่ง แตกต่างจากไตรภูมิพระร่วงซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องพวกนี้เลย มรดกความคิดการปกครองแบบไทยที่ชนชั้นกลางถูกหล่อหลอมให้เชื่อมาตั้งแต่ยังเล็ก ตั้งแต่เรียนประถม ก็คือ การปกครองของไทยเป็นแบบพ่อปกครองลูก สำหรับชนชั้นกลางทั่วไป

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนหนังสือมากมายที่จะทำให้เห็นว่าถึงแม้อำนาจจะอยู่ในมือของผู้นำเพียงคนเดียวก็ทำให้เกิดการปกครองที่ดีได้ แนวคิดหนึ่งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เน้นคือ คนดีย่อมไม่ต้องการอำนาจ ตัว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์พอตั้งพรรคการเมืองก็เลยหมดความเป็นคนดี เพราะคนดีไม่ต้องการอำนาจ คนเขาเอาอำนาจมาให้เอง ใครอยากได้อำนาจคนไทยก็จะเห็นเลยว่า เป็นคนเลว เมื่อคุณมีอำนาจก็จะใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ คนดีจะต้องไม่ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ แต่สามารถเสียสละผลประโยชน์และความสุขส่วนตัวมาทำงานให้บ้านเมือง ความคิดอีกอันหนึ่งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เน้นคือ นายข้าราชการ ข้าราชการเป็นนายประชาชน หมายความว่า ประชาชนก็ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรกับข้าราชการ ต้องยอมเขา

ดิฉันพูดถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มากหน่อยเพราะเป็นปัญญาชนที่มีอิทธิพลสูง โดยเฉพาะช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา มาถึงทศวรรษ 2510 เกิดอะไรขึ้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถึงได้เน้นว่า ราชบัลลังก์นั้นเป็นเครื่องกีดขวางอำนาจ คำตอบก็คือ เริ่มมีปัญหากับรัฐบาลถนอม ประภาส ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผูกขาดอำนาจมากขึ้นและจะอยู่ยาวด้วย คึกฤทธิ์ก็เลยเน้นว่าราชบัลลังก์เป็นเครื่องกีดขวางอำนาจ ไทยเราใช้หัวของสังคมคือ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องควบคุมไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม ความผิดพลาดบกพร่องต่างๆ สิทธิของประชาชนที่มีตลอดมาคือ สิทธิในการถวายฎีกา ราษฎรมีสิทธิทูลเกล้าถวายฎีกาได้ทุกเรื่อง สิทธินี้ไม่เคยหมดไปจากประชาชนเลยและเป็นสิทธิที่สำคัญมาก อันนี้คือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการถวายฎีกาของชนชั้นกลาง นักวิชาการแล้วก็สื่อมวลชน

แนวคิดประชาธิปไตยแบบไทย อันนี้ก็มีอิทธิพลมาก ในช่วงเดียวกันกับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เสนอแนวคิดเรื่องการปกครองแบบไทย มันมีสถานีวิทยุยี่สิบ แล้วก็มีหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทย คนมักเข้าใจว่าประชาธิปไตยแบบไทยมีมาตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ แต่ที่จริงมันมีครั้งแรกในปี 2507 และมีอยู่ในช่วง 2 ปี มันมีอะไรเบื้องหลังน่าสนใจมากในการเสนอแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ดิฉันเองคิดว่า ในบทความต่างๆ มันสะท้อนให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2508 เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้จอมพลถนอม จอมพลประภาส กดดันได้ แต่ในที่สุดไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

แนวคิดสำคัญของประชาธิปไตยแบบไทย แม้ว่าจะไม่นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2508 แต่มันเป็นแนวคิดที่ซ้ำซากอยู่ในช่วง 2507-2508 ในสื่อมวลชน จึงเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญทีเดียว แล้วก็มีการรวมเล่มตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 2508 ด้วย กลุ่มที่เสนอประชาธิปไตยแบบไทยเขาเสนอว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตกมันไม่เหมาะกับสังคมไทย เห็นได้ตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา เขาชี้ให้เห็นปัญหาเยอะแยะมากมายจากการเอาประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาใช้ เขาเน้นเรื่องนักการเมืองเลว และเน้นว่าควรให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากกว่ารัฐสภาเพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ และเสถียรภาพทางการเมืองนั้นจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เขาจะยกเรื่องเดอ โกล ขึ้นมา อมร จันทรสมบูรณ์ ก็เอาเรื่องเดอ โกล กลับมาพูดแบบเดียวกันเลยในปี 2537 เขาจะชี้ให้เห็นว่าก่อนหน้าประธานาธิบดีเดอ โกล รัฐสภาฝรั่งเศสมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดี แล้วมันทำให้การเมืองฝรั่งเศสไม่มีเสถียรภาพ เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย พอประธานาธิบดีเดอ โกล ขึ้นมาแล้วสามารถปฏิรูปการเมืองฝรั่งเศส ทำให้รัฐสภามีอำนาจน้อยลง ทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจมากขึ้น การเมืองฝรั่งเศสก็มีเสถียรภาพ เกิดภาวะผู้นำ ทำให้ประเทศฝรั่งเศสสามารถฟื้นตัวขึ้นมากลายเป็นมหาอำนาจที่สำคัญของโลกอีกครั้ง อมรก็เอาเรื่องนี้มาเน้น

หลังการเสนอประชาธิปไตยแบบไทย ก็มาสู่ยุคพลเอกเปรม เป็นยุคทองประชาธิปไตยแบบไทยและประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นยุคที่นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งแต่มีอำนาจเหนือรัฐสภา พระบารมีของพระมหกษัตริย์ช่วยแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลดค่าเงินบาท ยังเติร์ก แล้วชนชั้นกลางก็จะรับรู้ว่าเศรษฐกิจของไทยเติบโตในช่วงนี้อย่างมั่นคง นายทุนท้องถิ่น คนชั้นกลาง นักธุรกิจ ก็ได้อำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้นตามลำดับทั้งในรัฐสภา ทั้งในรัฐบาล อย่างไรก็ตาม มีกลุ่ม 99 นักวิชาการถวายฎีกาในปี 2531 เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นการถวายฎีกาที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง

พอมาถึง 2530 แนวคิดประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลสูงมากๆ เพราะว่าเป็นช่วงที่คนโจมตีนักการเมืองอย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่เรียกกันว่า พรรคมาร มีอยู่ 5-6 พรรคที่สนับสนุนสุจินดา คราประยูร ในกลางทศวรรษ 2530 แม้แต่อาจารย์นิธิ อาจารย์ชาญวิทย์ อาจารย์เกษียร ก็เห็นความสำคัญของการพึ่งบารมี ในเปเปอร์นี้จะยกข้อความที่อาจารย์ทั้ง 3 คนเขียน

อาจารย์เกษียร "ทางออกจากความรุนแรงในสถานการณ์ปัจจุบันคือ ถวายพระราชอำนาจคืนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ยุบสภา ตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติให้รักษาการณ์ เพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่"

ดิฉันอยากจะเน้นนิดหนึ่งว่า นักวิชาการเสรีนิยมอย่างอาจารย์นิธิ อาจารย์ชาญวิทย์ อาจารย์เกษียร ถึงแม้เขาจะเขียนอะไรในทำนองนี้แต่เขียนในจังหวะ ในบริบทที่จำกัดมาก น้อยครั้งมาก ซึ่งจะต่างจากนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งดิฉันจะกล่าวถึงทีหลัง

ทศวรรษ 2540 ท่ามกลางพลังของวัฒนธรรม อุดมการณ์ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบพ่อแห่งชาติ ประมวล รุจนเสรี เขียนหนังสือ พระราชอำนาจนำ ในปี 2548 ในขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กำลังเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น อ่านหนังสือพระราชอำนาจนำหลายครั้ง อ่านครั้งหลังสุดด้วยโจทย์ที่อาจารย์สมชายตั้งไว้ ทำให้เห็นชัดว่าพระราชอำนาจนำเป็นหนังสือที่ประมวลเขียนเพื่อปูทางสู่กระบวนการตุลาการภิวัตน์โดยตรง อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งจากหนังสือพระราชอำนาจนำ

“ศาลทุกศาล ตั้งแต่ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง จำเป็นต้องคำนึงถึงสัตย์ปฏิญาณและพระปรมาภิไธยของพระเจ้าอยู่หัว มิใช่วินิจฉัยพิพากษาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น ในฐานะทรงเป็นประมุขของชาติผู้พระราชทานอำนาจตุลาการมาให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้ใช้อำนาจแทนพระองค์ และในฐานะธรรมิกราชาผู้มีจริยาวัตรและพระราชดำริอันงดงามเพื่อประเทศชาติและประชาชนของพระองค์ เป็นสิ่งที่ตุลาการต้องหันมายึดไว้เป็นหลักในการวินิจฉัยพิพากษาคดี”

ขอเน้นว่า “มิใช่วินิจฉัยพิพากษาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น”

บรรยากาศที่ทำให้ตุลาการภิวัตน์ปรากฏขึ้นมาได้ในทันทีทันใดก็คือ การต่อต้านระบอบทักษิณในช่วงปลายทศวรรษ 2540 จนถึงรัฐประหาร 2557 การต่อต้านระบอบทักษิณที่ดิฉันสรุปจากงานของนักวิชาการที่สนับสนุนคนเสื้อเหลือง ดิฉันคิดว่าเขาหมายถึงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่มีการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ เขาจะเลือกสรรความคิดจากอดีตมาผลิตซ้ำอย่างเข้มข้น เช่น เรื่องผู้นำเป็นคนดีคนไม่ดี เรื่องพรรคการเมืองเลว เรื่องไร้หนทางจัดการตามระบอบประชาธิปไตย ทุนสามานย์ซื้อเสียงด้วยประชานิยม ซื้อนักการเมืองมาเป็นพวก สามารถเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จทำลายความมั่นคงของชาติ รวมทั้งทำลายความสามัคคี และทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นอกจากนี้เขาจะอยู่ยาวด้วย ข้อความสี่บรรทัดนี้ ปรากฏอยู่ในงานเขียนของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร บางเรื่อง ดิฉันเขียนออกมาได้เป็นรายงานผลการวิจัยยาวประมาณ 400 หน้าเพื่อจะให้เห็นว่าเขาเสนอเรื่องพวกนี้อย่างต่อเนื่องมากๆ ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาโดยเริ่มเสนอตั้งแต่ปี 2548

มาถึงช่วงหลัง การเมืองไทยซับซ้อนขึ้น มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันมากขึ้น ดิฉันคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็มีความระมัดระวังมากขึ้นที่จะเป็นที่พึ่งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะที่องค์กรอิสระถูกครอบงำโดยกลุ่มของคุณทักษิณ ดิฉันคิดว่าชนชั้นกลางเลยคิดว่าตุลาการภิวัตน์เป็นทางเลือกที่ปลอดภัย ที่ดีที่สุดสำหรับเขา ชนชั้นกลางระดับสูงก็สนับสนุนตุลาการภิวัตน์เช่นเดียวกันโดยเห็นว่ามันจะทำให้ตุลาการสามารถมีบทบาททางการเมืองอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะโดยการเป็นสมาชิกในสภาร่างรัฐธรรมนูญ การดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การตัดสินคดีความ สร้างความเป็นสถาบันในการแก้ปัญหาความไม่แน่นอนในการพึ่งตัวบุคคลหรือพึ่งพระบารมีเป็นครั้งคราว แต่วัฒนธรรมความคิดของชนชั้นกลางระดับล่างก็จะต่างจากชนชั้นกลางทั่วๆ ไป แล้วก็ต่างจากชนชั้นกลางระดับสูง คือ คนชั้นกลางระดับล่างต้องการความเสมอภาคทางการเมือง และมองตุลาการภิวัตน์ว่าเป็นความพยายามรักษาอำนาจของฝ่ายอำมาตย์ ตัดสินอะไรก็สองมาตรฐาน ซึ่งชนชั้นกลางทั่วไปหรือชนชั้นกลางระดับสูงจะไม่สามารถเข้าใจและยอมรับทั้งระบอบทักษิณและวัฒนาธรรมความคิดของคนเสื้อแดง

สภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดิฉันคิดว่าคนเสื้อแดงก็เจ็บปวดทั้งจากอำมาตย์และจากร่าง พ.ร.บ.แบบเหมาเข่ง ก็ยังหาทางออกไม่ได้ แล้วก็อยู่ในระบอบรัฐประหารด้วย ทางออกก็ตันมากขึ้น คนเสื้อเหลืองวิตกกังวลเรื่องที่พึ่ง ในขณะที่ตุลาการภิวัตน์ก็เป็นทางออกที่มีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย คนเสื้อเหลืองเองก็หาทางออกไม่ได้เหมือนกัน ดิฉันสงสัย ไม่แน่ใจว่าหลังรัฐประหาร อำนาจการเมืองของตุลาการเป็นรองทหารหรือเปล่า ขอบคุณค่ะ