วันศุกร์, กรกฎาคม 29, 2559

การเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรงของคสช. เพราะกกต.ไม่ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมตรงไปตรงมาในการทำประชามติ ทำให้เรื่องแย่ลงๆ





ไม่ถึงสิบวันต้องได้ไปโหวตโนกันแน่ เรื่องประชามติเลื่อนคงไม่เกิด เมื่อผ่านวันราชสมภพมกุฏราชกุมารมาแล้ว ไม่มีเหตุพิเศษอะไรมากั้น

คำพูดที่บรัสเซิลของนรชิต สิงหะเสนี หนึ่งใน กรธ. ซึ่งสื่อตะวันตก (โดยเฉพาะ EurActiv.com) เอาไปนำเสนอกัน ก็ถูกปฏิเสธโดยเจ้าตัวทำนองว่าสื่อเขียนเกินกว่าที่พูดจริง หรือ quoted out of context

นักข่าวถาม “กำหนดวันประชามติตายตัวเลยเชียวหรือ หรือว่าจะต้องเลื่อนถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงสวรรคต” ก่อนถึงวันนั้น

นรชิตตอบว่านั่นเป็นคำถามที่ดีเชียว “ประชาชนคนไทยจะต้องไว้อาลัยกัน นี่เคยมีตัวอย่างแล้วครั้งสมเด็จพระราชชนนี ต้องไว้ทุกข์กันหนึ่งปี...

ประชาชนคนไทยย่อมต้องเข้าใจ ถ้าหากจำเป็นต้องเลื่อนวันประชามติออกไป แม้ว่าโลกภายนอกไม่ยอมเข้าใจ แล้วหันไปโทษกองทัพเหมือนอย่างเคย”

(https://www.euractiv.com/…/thailands-referendum-on-constit…/)

ก็เป็นที่เข้าใจว่า คนใหญ่คนโตและลิ่วล้อ คสช. ทุกวันนี้พ่นอะไรออกไปแล้วเป็นพิษแก่ตน ย่อมแก้ไขได้ง่าย บอกว่าไม่ได้พูดหรือพูดอีกอย่าง (ใกล้เคียงกัน) แล้วสื่อเอาไป ‘เล่น’ ผิดทางเอง

กรณีนรชิตนี่ สศจ.วิเคราะห์ชี้แจงแทนว่า อาจเป็นเพราะนิสัยคนไทยระดับอีลิทและนักวิชาการ เวลาพูดอังกฤษกับฝรั่งไม่สงวนปากสงวนคำเหมือนพูดไทยกับไทย

ชาวโลกเขาถึงรู้หมดแล้วว่าไทยมาไกลแค่ไหน กระทั่งสหประชาชาติยังต้องออกมาประณามการจับกุมผู้กระทำผิด กม.ประชามติ เมื่อเร็วๆ นี้

ก็ยังมีประธาน กรธ. เป็นภาระแก้ต่างให้ โดย “ชี้แจงว่าหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีจะอยู่ไม่เป็นสุข”

แถมด้วย “ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่เคยจับคนต่อต้านรัฐธรรมนูญ แต่ที่จับคือคนที่ทำเอกสารเท็จ”

(http://www.tnamcot.com/content/522598)

ล่าสุดที่ว่าเท็จ สาธารณะชนไม่ได้รับรู้ว่าเท็จจริงๆ หรือเท็จแค่ไหน ในการจับกุมนักการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ๗ คน (นำโดย น.ส. ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์) ข้อหา ม.๑๑๖ ฐานยุยงปลุกปั่น กับ ม.๒๑๐ ฐานสมคบกันเกิน ๕ คน





เพราะพบจดหมายแสดงความเห็นคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญเตรียมแจกจ่าย โดยไม่ต้องแจงเลยว่าเนื้อหาผิดอย่างไรแน่ ซึ่งทนายสิทธิมนุษยชน วิญญัติ ชาติมนตรี ชี้ว่า “มันคือการใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา ๗ ของพ.ร.บ.ประชามติ กระทำได้โดยสุจริตและเผยแพร่ได้ด้วย”

ทั้งที่มีตัวอย่างอีกฝั่งอ้างต่างๆ นานาถึงผลของร่างฯ แต่ไม่ปรากกในบทบัญญัติเลยแม้แต่นิด

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว. และผู้บริหารพรรคไทยรักไทยอ้างถึง “การบิดเบือนที่ระบาดจากโลกออนไลน์สู่หนังสือพิมพ์” ว่า

“เข้าใจได้ไม่ยากว่าผู้เขียนและเผยแพร่ข้อความนี้คงต้องการใช้เป็นเหตุผลให้คนอ่าน ‘รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญ...ที่นักการเมืองไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็เพราะนักการเมืองเดือดร้อน แต่ประชาชนไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้นควรช่วยกันรับร่างรัฐธรรมนูญนี้...





ปัญหาก็คือ ไม่มีข้อความเหล่านี้ในร่างรัฐธรรมนูญ”

“ผมเห็นข้อความนี้เผยแพร่กันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้วิจารณ์สักที และสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไม กกต.ไม่เห็นว่าอะไร...

ล่าสุดมาเห็นข้อความนี้ปรากฏในคอลัมน์ๆหนึ่งของหนังสือพิมพ์ชื่อดังเข้า เป็นข้อความเดียวกันทุกอย่าง โดยบอกว่าเป็นเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญและต้องการให้ผู้อ่านใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงประชามติด้วย

ซึ่งก็หมายความว่าผู้เขียนกำลังเผยแพร่ข้อความอันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน...

โดยสรุป ผมเห็นว่ากำลังมีการเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรงในการทำประชามติคราวนี้ ที่ทำให้เรื่องแย่ลงๆ ก็เพราะกกต.ไม่ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมตรงไปตรงมา จ้องจับผิดแต่ฝ่ายเห็นต่าง” ข้อเขียนของจาตุรนต์ระบุ

“ปล่อยให้ คสช.ลุแก่อำนาจคุกคามประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อขัดขวางปิดกั้นการแสดงความเห็นต่าง เพียงหวังจะให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านให้ได้เท่านั้น”

(https://www.facebook.com/Chaturon.FanPage/photos/a.10151381803952359.538551.357761117358/10154321677737359/?type=3&theater)

เป็นอย่างนี้คงต้องเอาคำพูดโอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐ ในการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครทเมื่อวานซืน ว่าอย่าโห่ ‘boo’ ไปออกเสียง (no) แทน