วันเสาร์, กรกฎาคม 30, 2559

จากอุดมคติ ‘ป๋วย’ ถึงปัจจุบัน “พาสังคมไทยไปให้ถึง: ความเท่าเทียมแห่งชีวิต” มุมมอง 4 ศาสตร์ ประจักษ์-ยุกติ-อภิชาต-วรเจตน์ (มีคลิป)





https://www.youtube.com/watch?v=8IDASzbIBuU

"พาสังคมไทยไปให้ถึง: ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" [ภาคบ่าย]

นาทีที่ 2.02.30 เริ่มปาฐกถาของ อ. ประจักษ์-ยุกติ-อภิชาต-วรเจตน์

ลิงค์ยูทูปภาคเช้า https://www.youtube.com/watch?v=Wl0Sgil8_Lk
.....


จากอุดมคติ ‘ป๋วย’ ถึงปัจจุบัน มุมมอง 4 ศาสตร์ ประจักษ์-ยุกติ-อภิชาต-วรเจตน์





ที่มา ประชาไ
Fri, 2016-07-29 18:19

เก็บความจากการประชุมวิชาการกลุ่มคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2559 ในวาระ 100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “พาสังคมไทยไปให้ถึง: ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

ช่วงหัวข้อ “พาสังคมไทยไปให้ถึง: ความเท่าเทียมแห่งชีวิต” ผู้อภิปรายประกอบด้วย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ., ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาลและมนุษยวิทยา มธ., วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ., อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ., ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

ประจักษ์ ก้องกีรติ

เทรนด์โลกว่าด้วยรัฐประหารเชิงสัญญา รักกองทัพต้องเอาออกจากการเมือง

อันที่จริงแล้วอาจารย์ป๋วยไม่เคยอยู่ห่างจากการเมือง เพียงแต่ไม่ได้เล่นการเมืองในฐานะนักการเมือง แต่โดยรากความคิดนั้นป๋วยคิดว่าการเมืองสำคัญกับชีวิต และเต็มไปด้วยความพยายามจะเข้าไปเปลี่ยนการเมืองหลัง 14 ตุลาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งนั่นนำไปสู่ชะตากรรมในบั้นปลายชีวิตของป๋วย

เราสามารถสานต่อเจตนารมณ์ของป๋วยได้มากมาย ป๋วยถือเป็นชนชั้นนำคนหนึ่งที่จับเรื่องความเท่าเทียม ทำงานเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำมากที่สุดคนหนึ่ง โดยพูดและต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1970 ซึ่งปัญหานี้ยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในสังคมไทย ในช่วง 3-4 ปีนี้ประเด็นความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำกลับมาเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าอ่านรายงานของทุกองค์กรระหว่างประเทศจะพบว่าทุกองค์กรมาจับปัญหา “ความไม่เท่าเทียม” ทั้งสิ้น

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากให้อ่าน ชื่อ Unequal Thailand ชื่อภาษาไทยคือ สู่สังคมเสมอหน้า มีผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ เป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ ความยุติธรรม การศึกษา การถือครองที่ดิน ฯลฯ หากเราดูสติถิเรื่องความไม่เท่าเทียมจะพบว่าประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ในระดับโลกไทยอยู่ในระนาบเดียวกับประเทศในแถบแอฟริกา ละตินอเมริกา เราเพิ่งสนใจปัญหานี้ แต่การเข้าถึงปัญหานี้ของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้นสำหรับนักรัฐศาสตร์มองแล้วอาจไม่น่าพอใจนักเพราะพวกเขาไม่ได้มองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง แต่กลับมองว่าเรื่องนี้นำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งสร้างปัญหากับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ป๋วยนั้นกลับต่างออกไป ป๋วยไม่ได้เข้าถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมจากมิตินี้ ไม่ใช่เพราะความไม่เท่าเทียมนำไปสู่สิ่งอื่นที่ไม่ดี แต่ความไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง โดยเฉพาะความเป็นพลเมืองที่ควรมีศักดิ์ศรีและสิทธิเท่ากัน

ถ้าเราดูดัชนีเกือบทุกประเทศทั่วโลก ประเทศที่จัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุดใน 30-50 อันดับแรก เกือบทั้งหมดปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แทบจะเป็นกราฟเดียวกันระหว่างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะเผด็จการนั้นผูกขาดอำนาจ เป็นความไม่เท่าเทียมทางการเมือง มีคนกระจุกเดียวผูกขาดอำนาจไว้ การใช้อำนาจตามอำเภอใจเป็นปรากฏการณ์ปกติของระบอบเผด็จการ โดยตัวมันเองเป็นศัตรูกับความไม่เท่าเทียมทางการเมือง และไม่แปลกที่จะเกิดการกระจุกตัวความมั่งคั่งในหมู่ผู้นำ เพราะอำนาจที่กระจุกตัวนำไปปกป้องผลประโยชน์ผู้มีอำนาจ โดยใครตรวจสอบทัดทานไม่ได้

ถามว่าแก่นแกนหรือสาระของประชาธิปไตยคืออะไร เพราะทุกฝ่ายตอนนี้ต่างก็อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตย จริงๆ แล้วมันมีแค่ 3 องค์ประกอบง่ายๆ 1.ผู้ขึ้นสู่อำนาจต้องได้รับการคัดเลือกและยินยอมจากประชาชน เพราะ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” ผ่านการเลือกตั้งที่ยุติธรรม เสรีและทั่วถึง 2.การใช้อำนาจต้องถูกถ่วงดุลและกำกับด้วยกฎเกณฑ์ที่เป็นนิติรัฐ rule of law ไม่ใช่ rule by men ดังนั้นการมีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองประชาชนและจำกัดอำนาจรัฐจึงมีความสำคัญ 3. หลักสิทธิเสรีภาพ ถ้าผู้นำมาจากการเลือกตั้งก็จริงแต่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนตามอำเภอใจก็ไม่เรียกว่าประชาธิปไตย ตุรกีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ตุรกีเผชิญภาวะ dilemma ผู้นำมาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่ข้อ 2 กับ 3 นั้นบกพร่อง ขณะเดียวกันคนที่จะมาล้มรัฐบาลเลือกตั้งก็เลวร้ายกว่า เพราะเป็นทหารจะมารัฐประหาร ตุรกีจีงเผชิญกับชนชั้นนำสองกลุ่มที่ทำร้ายประชาธิปไตยทั้งคู่ ถ้ามองภาพกว้างออกไป ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก หลังสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา ประชาธิปไตยแพร่หลายทั่วโลก และเป็นระบอบเดียวที่ถูกพิสูจน์ว่าบกพร่องน้อยที่สุด มีกลไกแก้ปัญหาของตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยจะไม่มีข้อบกพร่องเลย มันก็มีความเสื่อมถอยทางคุณภาพเยอะ ปัญหาคือ เมื่อมีปัญหาหรือเสื่อมถอย สังคมนั้นแก้ปัญหาอย่างไร อันนั้นเป็นตัวชี้วัดวุฒิภาวะของสังคมนั้นๆ

ในสังคมทั่วโลก ตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามเย็นจนถึงปี 2012 มีการรัฐประหารโดยกองทัพทั่วโลก 17 ครั้ง ถ้ารวมถึงปี 2014 ก็ 18 ครั้ง เรียกว่าแถบไม่มีการรัฐประหารอีกแล้วโดยกองทัพ เพราะมันเกือบจะเป็นบทพิสูจน์และประสบการณ์ที่ทุกประเทศเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วว่า ประชาธิปไตยจะบกพร่องอย่างไรก็ตามรัฐประหารไม่ใช่ทางออก เพราะหากเราแคร์ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจตามอำเภอใจ การรัฐประหารยิ่งซ้ำเติมปัญหานี้

การถดถอยของประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาประชาธิปไตยโดยไม่ทำลายประชาธิปไตยเสียเอง อยากพูดถึงปรากฏการณ์หนึ่งทั่วโลกว่า 18 ครั้งของการรัฐประหาร ไทยเราจองไปแล้ว 2 ครั้ง นอกจากไทยก็จะมี ฟิจิ กินีบิสเซา บูร์กินาฟาโซ ที่มีรัฐประหาร 2 ครั้งในห้วงเวลานี้ การรัฐประหารช่วงหลังสงครามเย็น เป็น promissory coup (การรัฐประหารเชิงสัญญา) เป็นการรัฐประหารที่กองทัพอ้างอิงและให้สัญญาว่าทำไปเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งพบมากขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามเย็น กองทัพมักสัญญาว่าจะคืนประชาธิปไตย ให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด ตรงนี้เป็นเทรนด์ปกติ และมักบอกด้วยว่ามาชั่วคราวเท่านั้น การเข้ามาเป็นขั้นตอนจำเป็นในการปรับปรุงประชาธิปไตยให้ดีขึ้น ก่อนสิ้นสุดสงครามเย็นกองทัพทั้งหลายไม่เคยอ้างแบบนี้ แต่อ้างเรื่องความมั่นคง แต่หลังสงครามเย็นกองทัพทั่วโลกรู้ว่าวาทกรรมเดิมไม่เวิร์ค แต่เมื่อวิเคราะห์รัฐประหารเชิงสัญญา 11 กรณีซึ่งรวมไทยแล้ว การเลือกตั้งไม่ได้เกิดเร็วตามสัญญา และไม่พบว่าคุณภาพประชาธิปไตยหรือธรรมภิบาลได้รับการพัฒนาขึ้นแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับก่อนรัฐประหาร มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ทุกประเทศที่เกิดรัฐประหารเชิงสัญญากลับพบว่าระดับความเป็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจ ถดถอยไปกว่าก่อนเกิดรัฐประหาร เป็นคำถามที่สำคัญมากว่า อยู่ดีๆ ไทยที่เคยก้าวหน้ามากทางเศรษฐกิจตกไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศเหล่านั้นได้อย่างไร ถ้าเราไม่ตอบเรื่องนี้ เราหลอกตัวเองที่จะมาพูดเรื่องการสร้างธรรมาภิบาล การลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูป

(เมื่อปกป้อง จันวิทย์ ผู้ดำเนินรายการถามถึงทางออกจากปัญหาโดยให้มองอนาคตระยะยาว อะไรคือเนื้อหาสาระที่ต้องยึดไว้ให้มั่นในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน)

อันนี้คุยล่วงหน้าไปเลย 20 ปีใช่ไหม (หัวเราะ) ผมว่าอาจารย์ปกป้องถามข้ามขั้น เราพูดถึงสังคมที่เท่าเทียม แต่เงื่อนไขพื้นฐานมันต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก่อน ประชาธิปไตยอาจไม่เพียงพอแต่เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น ฉะนั้น เราอาจต้องถามอีกคำถามหนึ่งว่า เราจะกลับไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่กว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ยังไม่สามารถออกจากระบอบรัฐประหาร จะมีรัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็หน้าตาไม่ต่างกัน เพราะมันตอบโจทย์ชนชั้นนำที่ยึดอำนาจ โจทย์นี้มันใหญ่และผมมองโลกแง่ร้ายว่ามันไม่ง่ายในรอบนี้ การจะเอาทหารออกจากการเมืองไทยในรอบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ครั้งสุดท้ายที่สังคมไทยมีฉันทามติว่าทหารไม่ควรยุ่งกาเรมืองคือปี 2535 แต่ฉันทามตินี้ไม่เหลือ เพราะสังคมแตกเป็นสองข้าง

ขอพูดสั้นๆ ว่า ในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม สังคมอื่นเขาทำอย่างไร แบบที่ไม่ต้องใช้วิธีเผด็จการ เขาทำ 4 อย่าง คือ 1.ปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ลดการผูกขาด 2.กระจายอำนาจการปกครองไปยังท้องถิ่น 3.ให้เสรีภาพกับสื่อและประชาชนเพื่อสร้างการตรวจสอบ 4.สร้างระบอบการเมืองที่มีการถ่วงดุลที่สมดุล

เพื่อจะบรรลุ 4 ข้อนี้ จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ต้องมีปัจจัยอย่างน้อย 3 อย่าง คือ 1.การเปลี่ยนวัฒนธรรมความคิด 2.สร้างพลังทางสังคมที่จะกดดัน 3. สร้างกติกาที่ดี ตอนนี้เราไม่มีเลยทั้งสามอย่าง วัฒนธรรมความคิด ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดเรื่องคนไม่เท่ากันได้ มันจึงยากที่จะนำไปสู่พลังทางสังคมหรือกติกา สังคมไทยยังมองคนไม่เท่า แค่ว่าสิทธิเลือกตั้ง หนึ่งคนหนึ่งเสียง ศตวรรษที่ 21 เรายังเถียงเรื่องนี้อีกเรียกว่าย้อนไปยุคกลางเลย โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับอาจารย์วรเจตน์ว่า ความเท่าเทียมคือผลผลิตของประชาธิปไตย เมื่อความเท่าเทียมบรรลุ ประชาธิปไตยก็จะมีคุณภาพมากขึ้น เพราะมันรวมทุกคนเข้ามาในสังคมและเขาก็จะรักและหวงแหนสังคม แต่สังคมไทย ยิ่งนานวันมีแต่กันคนออกไป ส่วนกติกานั้นเป็นขั้นท้ายสุด ในสภาพที่ชักเย่อกันอยู่นี้ และยังไม่มีชุดคุณค่าพื้นฐานร่วมกันเลยจะร่างกติกาที่ทุกคนยอมรับได้อย่างไร

ร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ข้อดีประการเดียวของมันคือมีความชัดเจนในแง่เป้าหมาย ในแง่การเปลี่ยนย้ายอำนาจกลับไปสู่รัฐราชการรวมศูนย์ และถ่ายโอนอำนาจกลับไปสู่ชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ให้เขามากำกับควบคุมสังคมไทยแล้วกำหนดทิศทางประเทศ มันจึงไม่ตอบโจทย์ประชาธิปไตยและการสร้างความเท่าเทียม มันไม่ได้แก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจ ไม่แก้ปัญหาให้ชนชั้นนำมีความพร้อมรับผิดต่อประชาชน การตรวจสอบชนชั้นนำที่ไปอยู่ในองค์กรอิสระ ส.ว. ตุลาการ ไม่มีความชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญนี้

คนกลัวนักการเมืองเข้ามาโกง เราต้องนิยามก่อนว่าใครคือนักการเมือง ผมว่าคือ คนที่เข้ามาใช้อำนาจในตำแหน่งสาธารณะ นักการเมืองอาจมีหลายเครื่องแบบ เราไม่ควรกลัวแค่นักเลือกตั้งมาโกง เราควรกลัวทหาร กลัวส.ว.แต่งตั้ง กลัวองค์กรอิสระ ที่จะมีอำนาจแล้วตรวจสอบอำนาจไม่ได้ มันน่ากลัวทั้งนั้นแหละ ทำไมไปกลัวแต่นักเลือกตั้ง แล้ว 80 กว่าปี ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ก็ผลัดเข้ามาใช้ประโยน์จากรัฐราชการรวมศูนย์โดยไม่เคยถูกปฏิรูป

เราเดินหลงทางมาไกลมาก สองปีที่ผ่านมานี้จนวันนี้ก็ยังหลงทางอยู่ หาทางกลับไม่เจอ ความหวังเดียวถ้าจะมี คือ ต้องมีฉันทามติใหม่ในสังคม ระหว่างพลังการเมืองต่างๆ เสื้อสีต่างๆ ไม่ต้องเห็นด้วยกันทั้งหมด แต่อย่างน้อยต้องเห็นร่วมกันว่าจะขัดแย้งกันต่อไปนี้เพื่อมุ่งไปสู่สังคมที่ดีตามที่ตนเชื่อ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ตราบใดยังไม่มีฉันทามติตรงนี้เราจะวนอยู่อย่างนี้อีกหลายปี และอาจต้องจัดการเสวนาอย่างนี้จนอายุ 80 เพื่อพูดเรื่องเดิม ทุกคนมาฟังแล้วปรบมือ แล้วเดินออกไปข้างนอกห้องก็หดหู่เหมือนเดิม

จริงๆ ถ้าเรารักกองทัพ เราต้องเอากองทัพออกจากการเมือง เพราะประสบการณ์ของทุกประเทศ ตั้งแต่สงครามเย็นเป็นต้นมา เราไม่ค่อยเห็นรัฐประหารโดยกองทัพอีก เพราะกองทัพที่มายุ่งทางการเมืองนานๆ จะอ่อนแอ กองทัพถูกดีไซน์มาปกป้องประเทศในภาวะรัฐสมัยใหม่ ไม่ได้ถูกดีไซน์มาผลิตนโยบายสาธารณะ พอทำผิดหน้าที่ก็รวนไปหมด ถ้ารักกองทัพเราต้องค่อยๆ พาท่านออกจากการเมือง ให้ทำงานที่ถนัด เป็นกองทัพอาชีพ ขณะเดียวกันพรรคการเมืองก็ต้องปฏิรูป ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้คนผิดหวังและเป็นชนวนให้กองทัพมายึดอำนาจอีก

อภิชาติ สถิตนิรมัย

ความไม่มั่นคงของคนชั้นกลาง การนำเข้าไม่ครบ ทางออกสังคม ‘แก่ก่อนรวย’

ตัวเลขความเหลื่อมล้ำในรอบ 60 ปีนับตั้งแต่ปี 2500 นั้นพุ่งสูงตามระดับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย จุดสูงสุดอยู่ราวๆ ปี 2535 แล้วตกลงมาเรื่อย ซึ่งเป็นข่าวดี การรวบอำนาจมันคือการรวบความมั่งคั่ง เพราะอำนาจทางากรเมืองถูกนำไปจัดสรรทรัพยากรที่เข้าข้างคนบางกลุ่ม ไม่แปลกที่อาจารย์ประจักษ์จะพูดว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยความเหลื่อมล้ำน้อย ดังนั้น เราจะพูดได้บ้างไหมว่าหลังพฤษภาทมิฬ เราเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

หากดูตัวเลขเฉพาะด้านรายได้ ประเทศไทยสูงติดอันดับต้นของโลก และอยู่อันดับสูงสุดในเอเชียและอาเซียน ถ้าเราแบ่งประชากรเป็น 5 กลุ่ม กลุ่ม 20% บนที่รวยที่สุด เงินออมพุ่งขึ้นอย่างเทียบไม่ได้เลยกับอีก 4 กลุ่มล่าง ส่วนกลุ่ม 20% ที่จนสุดนั้นติดลบแปลว่าติดหนี้ คนรวยส่วนใหญ่มีรายได้หลักที่ไม่ได้มาจากแรงงาน พวกซีอีโอมือทองมีเพียงนิดเดียว แต่ส่วนใหญ่รวยจาก Unearned Income หรือมาจากสินทรัพย์รูปแบบต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งก็มีความเหลื่อมล้ำด้านสินทรัพย์อีก ดูแล้วคนไทยมีความต่างกันมากถึง 70 เท่า ระหว่างคน 20% บนสุดและล่างสุด แต่คนเยอรมันนั้นมีความต่างไม่ถึง 1 เท่า

ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ คนชั้นกลางล่างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าคนชั้นกลางบน แปลว่าข้างล่างกำลังไล่กวด ช่องว่างห่างกันลดลง อันนี้แปลว่า เรามี ‘1% problem’ เหมือนอเมริกา เพราะคน 1% บนที่รวยที่สุดของสังคมไทย เติบโตใน 20 ปีเกือบ 300% แต่ คน 1% ที่จนที่สุดนั้นติดลบ

งานสำรวจที่เคยทำ ‘ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย’ ได้สอบถามคนที่ความคิด ‘เหลือง’ หน่อย คนที่ฐานะทางสังคมเศรษฐกิจสูงหน่อย เขาตระหนักเรื่องความเหลื่อมล้ำมากกว่าคนเสื้อแดงด้วยซ้ำ แปลว่าคนชั้นกลางบนมองขึ้นไปข้างบนแล้วเปรียบเทียบ เขาพบว่าสังคมเหลื่อมล้ำมหาศาล ขณะเดียวกันข้างหลัง (ชนชั้นต่ำกว่า) ก็ไล่ตามเข้ามา ฐานะของคนชั้นกลางกำลังถูกบีบทั้งบนและล่าง สิ่งที่ตามจึงเป็น insecurity (ความไม่มั่นคง) ทางความรู้สึก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแปรเปลี่ยนเป็นความเหลื่อมล้ำด้านการเมืองได้

หากเราเหลียวหลังกลับไปดู ระบบทุนนิยมไทยที่นำเข้าในยุคสฤษดิ์ มีข้อดีทำให้คนส่วนใหญ่หลุดพ้นความยากจนออกมา ประเทศเราเป็นประเทศรายได้ปานกลาง คนส่วนใหญ่พอมีพอกินแต่เปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ไม่มีเงินออม แต่อีกทางหนึ่งมันขยายความเหลื่อมล้ำขึ้น และมันนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง คงไม่ต้องพูดมากว่า Trust (ความไว้วางใจ) ทางสังคมถูกทำลายไปมาก ไม่ว่าคุณจะพูดประเด็นอะไรขึ้นมา ต้องมีการแปะป้าย แปะสี มันเป็นสังคม “ทอนกำลัง” ตามคำหมอประเวศ วะสี มันร่วมมือกันไม่ได้ คุณจะผลักดันวาระแห่งชาติอะไรขึ้นมาก็ยาก เป็นผลต่อเนื่องของความขัดแย้งทางการเมือง

คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงินออมพอก็ต้องการสถาบันทางสังคมที่รองรับความเปราะบางทางเศรษฐกิจนี้ เป็นเรื่องเดียวกับที่ป๋วยเขียนไว้ในจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน สถาบันที่เป็น Social Safety Net สำหรับคนที่พ่ายแพ้จากระบบตลาด

ในสังคมเราความเหลื่อมล้ำสูงเพราะมีสถาบัน Safety Net ของเรามีน้อยมาก อย่างระบบประกันสังคมเพิ่งมีการจัดตั้งครั้งแรกในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ แต่มันยังไม่ครอบคลุม สถานการณ์ดีขึ้นหลังปี 2540 ก็เพราะนโยบาย 30 บาท เพราะคนส่วนใหญ่ของเรา 60% อยู่นอกระบบ ไม่มีประกันสังคมรองรับ ดังนั้น ถ้ามองดูสถานการณ์ปัจจุบันสถาบันเซฟตี้เน็ตที่เป็นความหวังของอาจารย์ป๋วยก็ยังบกพร่องอยู่มาก

เรายังมีปัญหาที่ท้าทายอีกอย่างในปัจจุบัน คือ ไทยเป็นสังคมที่จะชรามากขึ้นเรื่อยๆ และอย่างรวดเร็ว ตอนนี้สัดส่วนคนทำงานเรามีสูงที่สุดแล้วและมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ ประเทศจะเข้าสู่สังคมคนแก่โดยสมบูรณ์คือ 20% ของประชากรมีอายุมากกว่า 60 ปี ในช่วง 2560 เศษๆ เท่านั้น แปลว่าสถาบันเซฟตี้เน็ตจะยิ่งสำคัญมากๆ คนส่วนใหญ่ของสังคมไทยจะดูแลตัวเองได้ในวัยเกษียณหรือเปล่า สังคมเราจะเป็นสังคม ‘แก่ก่อนรวย’ เตรียมยากจนในวัยไม่มีแรงทำงาน นั่นแปลว่าคุณจะมีรายได้พอเพียงรองรับสังคมคนแก่ ต้องใช้สัดส่วนแรงงานน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงขึ้น ต้องยกระดับ Productivity (ผลิตภาพ) การผลิตของเราให้สูงขึ้น ผลิตภาพจะเพิ่มได้มันหนีไม่พ้นที่เราจะต้องร่วมไม้ร่วมมือกันในการยกระดับเพื่อให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง เช่น การยกระดับผลิตภาพแรงงาน แรงงานจะร่วมมือกับนายจ้างคุณไหม มันขึ้นกับความแฟร์ในการแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหามาก สัดส่วนกำไรต่อจีดีพีของเราสูงขึ้น แต่รายได้แรงงานต่อจีดีพีกลับลดลง มันทำให้คนงานไม่มีแรงจูงใจจะปรับปรุงงานเพราะเขาถูกเอาเปรียบตลอดและแทบไม่ได้อะไรจากการร่วมมือปรับปรุงนั้น ฉะนั้น เรากำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนเรื่องความไม่เป็นธรรมในระดับสูง ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง นำมาซึ่งการทำลายความไว้วางใจระหว่างชนชั้นในสังคม เมื่อมันหายไปก็จะเกิดการยกระดับผลิตภาพยาก จึงทำให้เกิดสังคมแก่ก่อนรวย ระบบประกันสังคมแบบที่ป๋วยคาดฝันก็จะไปไม่ถึง

ปัญหาทั้งหมดที่พูดมา เพราะ 50-60 ปีที่แล้วนำเข้าระบบทุนนิยมสมัยใหม่ในสังคมไทย แต่นำเข้าไม่ครบชุด ขาดอีก 2 สถาบัน คือ ไม่นำเข้าสถาบัน Social Safety Net มาด้วย และไม่ได้นำเข้าสถาบันการจัดการความขัดแย้งในสังคม เพราะ สังคมอุตาหกรรมต่อรองผลประโยชน์อย่างซับซ้อน ต้องมีสถาบันที่คอยจัดการความขัดแย้ง เราล้มเหลวตลอดในการสร้าง ตัวอย่างง่ายๆ คือ ต้องมีศาลที่ยุติธรรม เรานำเข้าระบบศาลรัฐธรรมนูญมาในปี 2540 แต่มันถูกแปรเปลี่ยนให้เข้ากับเนื้อดินสังคมไทย แทนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำตามฟังก์ชั่นในการยุติความขัดแย้งในสังคม ผลงานที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่าก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมหนักขึ้นอีก

ผมมีข้อเรียกร้องว่า ต้องขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพให้มากที่สุดในทุกแง่มุมม เรานำเข้าระบบทุนนิยมสมัยใหม่มา แต่ขาดอีกสองสถาบัน เราจะสร้างมันอย่างไร เนื่องจากมันนำเข้าสถาบันไม่เหมือนการนำเข้าเครื่องจักร การนำเข้ากับสถาบันต้องปรับให้เข้ากับเนื้อดินของสังคมไทย มีเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้การนำเข้าสถาบันแล้วมันเข้ากับสังคมไทยแล้วไปข้างหน้ากับระบอบประชาธิปไตยซึ่งมันไปกันได้กับระบบทุนนิยมด้วย เงื่อนไขนั้นคือ ความเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่ว่าพื้นที่สิทธิเสรีภาพ ในวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์หรือที่เรียกว่า Participatory Politics เป็นอภิแม่แบบการสร้างสถาบัน เพราะมันทำหน้าที่รวบรวมความคิดข้อมูลจากคนจำนวนมากแล้วดึงมาปรับแต่งให้สถาบันที่ทำหน้าที่สองอย่างที่กล่าวถึงนั้นเข้ากับเนื้อดินสังคมไทย ซึ่งจะส่งผลให้สร้างความเป็นธรรมและลดความขัดแย้ง

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากเสนอและอยู่ในตรรกะเดียวกันคือ ต้องกระจายอำนาจขนานใหญ่ลงสู่ท้องถิ่น ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีคำตอบต่อเรื่องนี้ มันจะทำให้คนกว้างในท้องถิ่นส่งต่อข้อมูลความคิดได้ และมันทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลงด้วย ส่วนกลางรวมศูนย์มีอำนาจตัดสินใจหมดก็เท่ากับผลประโยชน์จากการยึดรัฐส่วนกลางสูงมาก เราต้องทุบอำนาจนี้ให้แบะแล้วกระจายสู่ชนบททั่วประเทศ มันจะทำให้ผลได้จากการยึดอำนาจส่วนกลางน้อยลง จะทำให้คนไปแข่งกันที่ท้องถิ่นมากขึ้น ความขัดแย้งความรุนแรงที่ต้องการยึดรัฐส่วนกลางจะน้อยลง

สุดท้าย ระบบราชการต้องปฏิรูปขนาดใหญ่ ไทยแลนด์ 4.0 กำลังจะถูกนำโดยรัฐราชการ คุณคิดว่ามันรอดไหมในทางเศรษฐกิจ


ยุกติ มุกดาวิจิตร

รากคิด "คนเท่ากัน" และ 4 โจทย์ใหม่-ใหญ่ของสังคมที่รัฐธรรมนูญไม่ตอบ


ของแบ่งการพูดเป็น 2 ส่วน ตับแรกเรียกว่า ‘ความเท่าเทียม’ ตับสองเรียก ‘ความเท่าเทียมๆ’ เพราะคำนี้น่าสนใจ ความเท่าเทียมนั้นตกลงมันจะเท่าจริงหรือเท่าเทียม (ไม่จริง)

ถามว่าในแง่การศึกษาด้านสังคมวัฒนธรรมเขาพูดถึงอะไรกันในเรื่องนี้ เขาพูดมานานแล้วว่า การศึกษาเรื่องนี้วางอยู่บนหลักการสำคัญ คือ 1.หลักการของคนเท่ากัน 2.ไม่มีสังคมใดเหนือสังคมอื่น หลักการทั้งสองเหมือนจะขัดแย้งกัน แต่มันยอมรับทั้งการมีอยู่ของปัจเจกบุคคลและของสังคม และยึดมั่นว่าความแตกต่างของปัจเจกและความหลากหลายของสังคมนั้นไม่ได้บอกว่าใครเหนือกว่าใคร ดังนั้น มันต้องมองคนเท่ากันตั้งแต่แรก

ในระดับพื้นฐาน ทำไมการศึกษาทางสังคมวัฒนธรรมต้องยึดหลักการ “คนเท่ากัน” เมื่อต้องเผชิญหน้าของการแยกสิ่งมีชีวิต ในสาขามนุษยวิทยากายภาพ พบโจทย์สำคัญคือ คนกับลิง ก่อนหน้านี้ร้อยกว่าปีอาจไม่มีปัญหานี้ เพราะเชื่อกันแต่แรกว่าคนแตกต่างจากลิงโดยไม่มีข้อสงสัย แต่ข้อสงสัยนี้สำคัญขึ้นมาเมื่อถึงยุคสมัยที่คนเชื่อว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์ และมนุษย์กับลิงมีบรรพบุรุษร่วมกัน แล้วจะแบ่งอย่างไร จะใช้เกณฑ์อะไร ลิงมีหลายเผ่าพันธุ์ มนุษย์ก็เช่นกัน เพียงแต่ว่ามนุษย์มีมากกว่าหนึ่งเผ่าพันธุ์นั้นคือสถานการณ์เมื่อสองล้านปีที่แล้ว ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองทางชีววิทยาจะมีสิ่งที่เรียกว่า จีนัสโฮโม ซึ่งมีหลายโฮโม หลายเผ่าพันธุ์ แต่ความแตกต่างของมนุษย์เหล่านี้หายไปเมื่อราวล้านปีที่แล้ว ถ้าใครที่เชื่อว่ามนุษย์ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน แปลว่าเขาเป็นมนุษย์เมื่อสองล้านปีที่แล้ว ปัจจุบันนี้เหลือเผ่าพันธุ์เดียว คือ โฮโมซาเปี้ยน (ซาเปี้ยนแปลว่า wisdom) ดังนั้น ทางกายภาพพื้นฐานที่สุด ไม่ว่ากำเนิดที่ไหนอย่างไร โดยพื้นฐานแล้วมีพันธุ์เดียวกัน ทุกคนจึงมีศักยภาพในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ มีความคิดทัดเทียมกัน แต่ทำไมมนุษย์ถึงต่างกัน นี่คือความมหัศจรรย์ของมนุษย์ ในพื้นฐานที่เหมือนกัน มนุษย์มีทางเลือกเยอะมาก มีจำนวนภาษา 5,000-7,000 ภาษา

หลักการสำคัญอีกข้อ คือ “ไม่มีสังคมใดเหนือสังคมอื่น” หลักการนี้วางบนแนวคิดสัมพัทนิยมทางวัฒนธรรม และไม่ยึดมั่นวัฒนธรรมของตัวเองเป็นหลัก อย่าเอาค่านิยมของคุณไปตัดสินสังคมอื่น เช่น เห็นคนไม่ใส่เสื้อผ้าก็อย่าทึกทักว่าเขาต่ำกว่าเรา ความคิดแบบนี้แง่หนึ่งถูกบิดเบือนได้เหมือนกัน ในสังคมประชาธิปไตยความคิดทั้ง 2 ข้อนี้ มันอาจดูขัดแย้งกัน เพราะในหลายสังคมวัฒนธรรมไม่เคารพความเท่าเทียมกันของบุคคล พอถูกชาวโลกท้วงติงก็เอาความเท่าเทียมกันของวัฒนธรรมมากลบเกลื่อนความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม เช่น สังคมนิยมหมอบกราบจะบอกว่าอย่าเอาค่านิยมอื่นมาบอกว่านั่นเป็นสิ่งไม่พัฒนา อันนี้เป็นความคิดที่บิดเบือนหลักการ “ไม่มีสังคมใดเหนือสังคมอื่น” เพราะมันมีเพื่อเอาไว้ปกป้องคุ้มครองสังคมที่ถูกดูถูกดูแคลน แต่ในสังคมไทยนั้นบิดเบือนแนวคิดนี้เอามาปกป้องคนอยู่ในอำนาจของสังคม

มีการพูดกันมากในรอบหลายปีว่า หลักสิทธิมนุษยชน แนวคิดประชาธิไตยเป็นแนวคิดตะวันตก เป็นวัฒนธรรมที่ไปรับมาทำไม จริงๆ แล้วถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์ของสองสิ่งนี้ซึ่งได้รับการสถาปนาและใช้เป็นแบบอย่างมาจากสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส จะพบข้อถกเถียงใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม พบว่า ในฝรั่งเศสซึ่งมีอาณานิคมมากมาย เฮติซึ่งเป็นหนึ่งในอาณานิคมของฝรั่งเศสพบว่าการลุกฮือของชาวเฮติที่เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส และการลุกฮือของเฮติเป็นแรงบันดาลใจให้ฝรั่งเศส นอกจากนี้ก่อนการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา คนยุโรปที่อพยพไปพบกับคนพื้นเมืองอเมริกันอินเดียน แล้วพบภารดรภาพแบบประชาธิปไตย เคารพซึ่งกันและกัน และเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ดังนั้น สองหลักนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวคิดของตะวันตก

แล้วสังคมไทยมีแนวคิดแบบนี้ไหม ถ้าจะบอกว่าสองอย่างนี้ไม่อยู่ในเนื้อดินสังคมไทย เรากำลังหมายถึงคนกลุ่มไหนที่ไม่ยอมรับสองหลักการนี้ อย่างน้อยที่สุดเรามีหลักฐานชัดเจนว่า แนวคิดสิทธิมนุษยชนประกาศไว้ในประกาศของคณะราษฎรฉบับหนึ่ง “...ต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาพกัน (ไม่ใช่ให้พวก...มีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรอย่างที่เป็นอยู่)” เราไม่ได้ถูกตะวันตกบังคับให้ยอมรับ แต่เพราะคนในประเทศเองเห็นว่าควรต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เห็นคนเท่ากัน

สำหรับตับที่สอง ความเท่าเทียมๆ

หลังการแถลงของหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งซึ่งไม่อยากจะเอ่ยื่อ ผมคิดว่าเริ่มมีอะไรน่าสนใจมากขึ้นของแนวโน้มการลงประชามติ ณ นาทีนี้โจทย์ที่ถามว่าจะโหวตแบบไหน มันอาจเลยไปถึงว่า ทำไมกระแสโหวตโนมันแรงขึ้นเรื่อยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการปิดกั้นสิทธิการแสดงออกมากมาย แล้วตกลงโจทย์ของสังคมไทยขณะนี้คืออะไร ตรงนี้เห็นว่าแนวคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังเป็นประโยชน์ นั่นคือแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรในปัจจุบันนี้ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง หรือยังไม่ได้สะท้อนฉบับวัฒนธรรมที่เรามี ถามว่าแล้ววัฒธรรมคืออะไร สังคมไทยใหญ่มาก เราไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เราต้องประเมินว่ารอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่เราอยู่ด้วยกันมีโจทย์อะไรใหม่ๆ บ้าง เราเถียงกันเรื่องอะไรอยู่ จึงอยากชวนย้อนกลับไปพูดถึงรัฐธรรมนูญ 2540 หลังเปลี่ยนมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังอาศัยฐานของรัฐธรรมนูญ 2540 มากเหมือนกัน แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 มันตอบโจทย์อะไร โจทย์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ชัดเจน มี 3 ข้อ 1.การทำให้นักการเมืองและพรรคการเมืองมีอำนาจในการกำหนดนโยบายและบริหารประเทศได้อย่างแท้จริง 2.การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น และยอมให้ท้องถิ่นเก็บภาษีบำรุงท้องที่ได้ 3.การเกิดขึ้นขององค์กรอิสระ ในขณะนั้นเราพูดเรื่องความโปร่งใสมากมายเพื่อตอบโจทย์ว่าเมื่อให้อำนาจนักการเมืองมากแล้วก็ต้องออกแบบสถาบันที่จะถ่วงดุล สามข้อนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมากมาย

ปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญ 2540 กลายเป็นผู้ร้าย และถูกฉีกสองครั้งสองคราเพราะผลของมันก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ สร้างคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาแล้วไปท้าทายอำนาจของคนกลุ่มเก่า ถ้าถามเลยไปอีกว่า แล้วในปัจจุบันนี้มีโจทย์อะไรที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติมีโอกาสไม่ได้รับความเห็นชอบ ถ้าต้องร่างใหม่มีโจทย์อะไรสำคัญ เห็นว่ามีดังนี้

1.ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน

2.การถ่วงดุลระหว่างการปราบโกงกับการดำเนินนโยบายเพื่อสนองความต้องการของประชาชน

3.การถ่วงดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพประชาชนกับความมั่นคงของรัฐ

4.ความยุติธรรมและการปรองดอง

สำหรับเรื่องการปราบโกงกับการผลิตนโยบาย ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 กลไกที่งอกเงย คือ องค์กรอิสระ สาแหรกต่างๆ ที่สืบทอดมาจาก คสช. กลายป็นว่าร่างนี้เน้นกลไกควบคุมนักการเมืองและวางนโยบายอีก 20 ปี แต่มันกลับไม่พูดถึงว่าปัญหาใหม่ต่างๆ มากมาย ปัจจุบันโลกนี้เขาพูดอะไรกันบ้าง ทุกอย่างถูกมองข้ามไปหมด พูดแต่เรื่องปราบโกงอย่างเดียว โดยไม่มีความฝันใหม่ๆ

สำหรับเรื่องสิทธิเสรีภาพกับความมั่นคง กรอบความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับรัฐควรอยู่ตรงไหน สิ่งหนึ่งที่ทำให้ร่างโดนวิจารณ์มากคือ หลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพหายไปอย่างมาก และความมั่นคงมากำกับอย่างมาก

สำหรับประเด็นสุดท้าย เราไม่ค่อยได้พูดถึงในการถกเถียงในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จริงๆ มีศัพท์ที่เรียกว่า “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” แต่คำว่า ความยุติธรรม และคำว่า ระยะเปลี่ยนผ่าน ถูกใช้จนคลาดเคลื่อน ประเด็นคือเราเลี่ยงไม่ได้กับข้อเท็จจริงที่ว่าเราบอบช้ำกันมามาก เราผลัดกันเป็นเหยื่อและผลัดกันใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ผลัดกันเป็นผู้ละเมิดประชาชนและเป็นประชาชนที่ถูกละเมิด ทำอย่างไรจะก้าวข้ามตรงนี้ สังคมไทยต้องกลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้นและบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ทำอย่างไรจะเยียวยาเหยื่อทางการเมืองไม่ว่าฝ่ายใด เหตุการณ์ใด จะให้ความยุติธรรมกับเขาได้อย่างไร

ถ้าสี่ข้อนี้ไม่ถูกตอบ เราจะอยู่ในวังวนความขัดแย้งนี้อย่างไร

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ความสัมพันธ์ของความเท่าเทียม-ประชาธิปไตย-นิติรัฐ และการชักเย่อที่ยังไม่จบ


เมื่อรับมาพูดในเวทีเรื่องความเท่าเทียมของชีวิตก็ค่อนข้างหนักใจ เพราะหากดูอาจารย์จากสาขาต่างๆ ที่มาร่วมจะเห็นว่า กฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ทีหลังสุด ทุกอย่างถูกคิดโดยนักคิดสาขาอื่นๆ มาก่อนแล้วจึงมาร่างกฎกติกา วิชานิติศาสตร์เองจึงค่อนข้างแปลกแยก เนื่องจากลักษณะของนิติศาสตร์เป็นศาสตร์ของการใช้กฎหมาย การตีความ และวิธีการซึ่งการได้มาซึ่งความรู้และการตีความต่างกับสายสังคมศาสตร์

ต่อคำถามที่ได้รับว่า ความเท่าเทียมกันกับประชาธิปไตยนั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร ในทางกฎหมายไม่ค่อยได้ใช้คำว่า “ความเท่าเทียม” แต่ใช้คำว่า “ความเสมอภาค” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ คำอธิบายก็คือ คนเราเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกันแต่มีความแตกต่างกันอยู่ คนแต่ละคน unique ทั้งสิ้น ในสังคมบ้านเราเองก็ยังชอบอธิบายว่า คนเรานิ้วมือยังไม่เท่ากันเลย จะทำให้คนเท่าเทียมได้อย่างไร เราต้องยอมรับว่าหลักคิดเรื่องความเสมอภาค สืบสาวกลับไปได้ในอารยธรรมตะวันตก หรืออมุมมองตะวันตกอธิบายได้ชัดกว่ามุมมองตะวันออก เขามีไอเดียว่า มนุษย์เสมอหน้ากันต่อหน้าพระเจ้า แล้วพัฒนาเป็นหลัก มนุษย์เสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมาย ไอเดียแบบนี้เป็นการจัดการปกครองโดยกฎหมาย กำหนดกฎเกณฑ์การให้ความยุติธรรมแก่บุคคล ถามว่านิติรัฐกับประชาธิปไตยสัมพันธ์กันอย่างไร ผมคิดว่า การใฝ่หาความเสมอภาคนั่นแหละเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการเรียกร้องระบอบการปกครองประชาธิปไตย

ย้อนกลับดูในอดีตที่ไอเดียประชาธิปไตยยังไม่เป็นแบบนี้หรือแพร่หลายแบบนี้ ในอดีตการปกครองต้องมีผู้นำ เราบอกว่าการปกครองแบบนั้นคล้ายกับเผด็จการก็ได้ แต่มันยังไม่เป็นระบบระเบียบ ยุคสมัยนั้นเมื่อปกครองไปถึงจุดจุดหนึ่งคนจะเรียกร้องความเสมอภาค มนุษย์เราในเบื้องต้นต้องหาความปลอดภัยให้ชีวิตตัวเองเป็นเบื้องแรก เมื่อปลอดภัยแล้วก็จะเริ่มมองคนอื่น เมื่อมองเห็นคนอื่นแล้วพบว่ามีความไม่เท่ากันจึงเกิดการเรียกร้อง ประชาธิปไตยจึงเป็นการต่อสู้เรียกร้องอยู่โดยตลอด

ถ้าเราบอกว่าประชาธิปไตยเป็นผลมาจากการเรียกร้องให้มีความเสมอภาค แล้วในระบอบประชาธิปไตย อะไรจะเป็นเครื่องประกันว่าเราจะเสมอภาคกันได้จริง ข้อจำกัดในการเกิดเป็นมนุษย์นั้น ไม่มีใครเกิดมาแล้วจะเหมือนกันได้เลย แต่ในทางกฎหมายเราไม่ได้มุ่งให้ทุกคนมีทุกอย่างเหมือนกันหรือเท่ากันเพราะมันอาจอันตรายกับเรื่องเสรีภาพเหมือนกัน ในทางกฎหมายมันจึงหมายถึงเรื่องโอกาส รัฐต้องสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นให้คนมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร การแข่งขันเท่าเทียมกัน ซึ่งมันก็ต้องมีกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ถ้ากฎหมายออกโดยใครก็ได้ตามใจคนนั้นมันก็จะย้อนกลับไปสู่ระบอบอันเดิมก่อนเป็นประชาธิปไตยซึ่งเอื้อต่อพวกพ้องของตัวเอง ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมในการปกครอง ด้านหนึ่งมีคุณค่าพื้นฐานให้คนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ดังนั้นกฎหมายก็ต้องออกโดยคนทั้งหลายที่มีสิทธิมีเสียงในการปกครอง สองสิ่งนี้จึงเป็นเงื่อนไขต่อกันและกัน ถ้ากฎหมายไม่ได้ออกโดยคนทั่วไปมันก็ยากที่จะต่อรองให้เกิดความเท่าเทียมสำหรับคนทั่วไปได้ ฉะนั้น ในรัฐที่เป็นประชาธิปไตยและนิติรัฐ ต้องมีหลักการ 2 อย่างนี้คู่ไป คือ 1.ประกันเสรีภาพบุคคล คือ ต้องมีแดนแห่งเสรีภาพของบุคคล จะก้าวล่วงไม่ได้ ต้องให้เขาได้แสดงศักยภาพเต็มที่ 2. คนๆ นั้นเรียกร้องรัฐให้ปฏิบัติต่อเขาให้เท่าเทียมกันกับบุคคลอื่น เป็นสิทธิให้คนเรียกร้องต่อรัฐให้ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

ความคิดแบบนี้เป็นผลิตผลของการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ มีหมุดหมายสำคัญจาก 2 เหตุการณ์ คือ การประกาศอิสรภาพของสหรัอเมริกา และปฏิวัติฝรั่งเศส ไอเดียกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ตั้งฐานจากสองเหตุการณ์นี้ กฎหมายมหาชนสมัยใหม่จึงผูกกับหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ จึงเป็นธรรมดาที่กฎหมายมหาชนสมัยใหม่จะไปไม่ได้กับรัฐเผด็จการ เพราะรัฐแบบนั้นไม่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐเลย

สังคมก่อนประชาธิปไตยนั้นปฏิบัติกับคนไม่เสมอภาคกัน เอารัดเอาเปรียบกัน คนเกิดชนชั้นสูงได้เปรียบกว่าในการเข้าถึงทรัพยากร คนที่เหลือรับกับสภาวะแบบนี้ไม่ได้จึงเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เฉพาะประชาธิปไตยอย่างเดียวไม่พอ เพราะยุคแรกประชาธิปไตยเน้นเสรีภาพของบุคคลนั้นจริงอยู่ แต่นึกดูว่าคนเรามีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ไม่ช้านานก็เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เกิดความเหลื่อมล้ำอีก ในแง่นี้ตัวกฎเกณฑ์ของรัฐที่จะสร้างความเท่าเทียมต้องเป็นประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสวัสดิการสังคม

จริงๆ เรามีปัญหาตั้งแต่ขั้นแรก ต้องถามว่าเราเป็นประชาธิปไตยและนิติรัฐไหม ผมคิดว่าเราอยู่ในระบอบชักเย่อกัน การหาจุดคุณค่าพื้นฐานร่วมกันยังไม่จบ หลายสิบปีที่ผ่านมา ปัญหารากฐานประชาธิปไตยยังไม่จบ ปัญหาที่เกิดขึ้นยังชักเย่อระหว่างแนวคิดประชาธิปไตยกับแนวคิดปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ถ้าการต่อสู้จบเมื่อไร มีคุณค่าพื้นฐานร่วมกัน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐไม่เลือกปฏิบัติ เราจะเจอปัญหาสวัสดิการสังคมอีก การทำให้รัฐเราสู่จุดหมายแบบป๋วยนั้นย่อมต้องใช้เวลาอีกนานมาก เพราะปัญหาในทางโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองมันยังไม่เสร็จ ไม่จบ

กลไกที่มีอยู่ในระบบกฎหมายที่เรารับมาจากตะวันตก เมื่อเข้ามาในระบบเราแล้ว กลไกแบบนั้นไม่ได้ serve คุณค่าแบบที่เราพูดถึง เพราะมันยังไม่ถูกฝังลงในทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญเขียนตั้งแต่ฉบับสองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย รับต่อเนื่องมาตลอด แต่ในทางความเป็นจริง เวลาใช้กฎหมายในบ้านเราหลายกรณียังห่างจากหลักความเสมอภาคที่ควรจะเป็น

อันหนึ่งที่สำคัญ เวลาเราพูดถึงความเสมอภาคเป็นส่วนหนึ่งของนิติรัฐ นิติรัฐคือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม บางทีนักกฎหมายก็พูดแค่ว่านิติรัฐคือ รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย วันนี้มีการอ้างกฎหมายเต็มไปหมด และคนที่อ้างก็เป็นคนออกกฎหมายเอง กฎหมายกลายเป็นอะไรบางอย่างที่กดทับคน แต่เรากลับไม่ได้พูดถึงเนื้อหาว่ากฎหมายต้องมีเนื้ออย่างไร นิติรัฐต้องปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม หรือมีองค์ประกอบความยุติธรรมอยู่ในนั้น ถ้าไม่มีก็เป็นกฎหมายดิบๆ เถื่อนๆ

เผด็จการไม่มีทางที่จะส่งมอบความเท่าเทียมกันได้ เพราะธรรมชาติของตัวระบอบอำนาจรวมศูนย์กับผู้มีอำนาจ กฎเกณฑ์ที่ออกไม่ได้ผ่านการต่อรองกัน และขาดเรื่องความชอบธรรม ในแง่นี้ทุกคราวที่มีระบอบเผด็จการถึงต้องมีคนเรียกร้องประชาธิปไตยเพราะมันมีพื้นฐานที่ดีที่จะต่อรองกัน มันกำหนดกฎเกณฑ์มัดอำนาจของรัฐไว้กับหลักการความเสมอภาค และมีการตรวจสอบและควบคุมในระนาบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ไม่ยอมตรวจสอบองค์กรที่ครองนิยามของความดี ประชาธิปไตยนิติรัฐปฏิเสธไอเดียเลือกปฏิบัติเช่นนั้น เพราะมนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยเสมอภาคและเสรี ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และตามมาด้วยหลักที่บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย แต่รายละเอียดของมนุษย์เราอาจไม่เหมือนกัน รัฐจึงต้องจะสร้างกฎเกณฑ์ที่เอื้อให้คนแต่ละคนเสมอภาคกันทางโอกาส

(ปกป้อง จันวิทย์ ผู้ดำเนินรายการถามถึงทางออกจากปัญหาว่าจะสร้างสังคมที่เท่าเทียมได้อย่างไร โดยขอให้มองอนาคตที่ไกลกว่าความขัดแย้งเฉพาะหน้า อะไรคือเนื้อหาสาระที่ต้องยึดถือไว้ให้มั่น อะไรคือหลักที่ควรมีในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน)

รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยต้องมีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่กำเนิดมาจากเจ้าของอำนาจ คือ ประชาชน เวลาออกแบบรัฐธรรมนูญต้องเป็นห่วงโซ่หรือสายธารที่โยงจากประชาชนไปยังคนใช้อำนาจของรัฐโดยไม่ขาดตอนลง คำถามที่สำคัญคือ คนที่จะมาใช้อำนาจสาธารณะมีจุดยึดโยงกลับมาเจ้าของอำนาจอย่างไร แล้วเขาจะรับผิดชอบต่อประชาชนเอง ปกติสายโซ่ที่ชัดเจนคือ สภาผู้แทนราษฎร ส่วนองค์กรอื่นที่ห่างออกไปเราต้องปฏิเสธการตั้งองค์กรคนดี ถ้าตัดขาดจากประชาชนหรือไม่มีความพร้อมรับผิด ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครในการใช้อำนาจ ถ้าจะมีระบบถ่วงดุลอำนาจก็ต้องตั้งฐานจากประชาธิปไตย ไม่ใช่เอาจากฐานอื่นมาถ่วงดุล จะสู้กับองค์กรที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยด้วยองค์กรที่อ้างความชอบธรรมลักษณะอื่นไม่ได้ ยกตัวอย่าง เราจะทำรัฐธรรมนูญ เรามีหลักการแบ่งแยกอำนาจ ทุกองค์กรต้องเชื่อมโยงกลับมาที่เจ้าของอำนาจ ตุลาการก็ต้องเกาะเกี่ยวด้วย เป็นไปไม่ได้ที่ปล่อยให้ศาลหลุดออกไปแล้วจัดระบบกันเอง ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้จะให้การเมืองครอบงำตุลาการ แต่ฝ่ายตุลาการนั้นการจัดโครงสร้างก็ต้องมีความพร้อมรับผิด เช่น คณะกรรมการตุลาการที่คัดสรรตุลาการ ต้องตอบได้ว่ามาจากองค์กรไหนและสืบสาวมากับประชาชนอย่างไรซึ่งก็ทำได้หลายรูปแบบ ถ้ามีความผิดเกิดขึ้นจะรับผิดชอบอย่างไร หรือองค์กรอิสระก็จะหลุดจากการตรวจสอบไม่ได้ กองทัพเป็นหน่วยงานประจำ แต่ระบบตรวจสอบต้องมีผู้ตรวจการกองทัพ คนนั้นต้องรู้เรื่องในกองทัพแล้วรับผิดชอบต่อสภาหรือประชาชนโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เราต้องสืบสาวทุกอย่างมาที่ประชาชนได้ อาจยกเว้นได้เช่นองค์กรที่ปรึกษา ระดับความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอาจไม่จำเป็นต้องเข้มข้นเท่าองค์กรที่ใช้อำนาจ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา องค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่ขาดสิ่งเหล่านี้มาก

ในรัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่ทำให้ปัญหาลักษณะแบบนี้หนักขึ้นไปอีก เพราะเขากลัวองค์กรจากากรเลือกตั้งครอบงำองค์กรแบบอื่น องค์กรจากการเลือกตั้งมันมีทั้งฝ่ายข้างมากและฝ่ายข้างน้อย ก็ให้เขาถ่วงกัน และมันจะมีคนทั้งสองส่วนจะอยู่ในหน่วยงานเหล่านั้นทำการเช็คบาลานซ์อำนาจกัน เราต้องบาลานซ์โดยอย่าปฏิเสธประชาธิปไตย ผมไม่ได้ปฏิเสธการตรวจสอบถ่วงดุล แต่มันขัดดกันไม่ได้กับหลักประชาธิปไตย

(ผู้ดำเนินการถามว่า ช่วงหลังมีคนพูดว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับปราบโกง การโกงก็ทำลายความเท่าเทียม ทุกคนต่างยอมรับกับเรื่องนี้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ปราบโกงได้จริงไหม?)

ผมจะตอบคำถามนั้นโดยการตั้งคำถาม ในร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกเสียงประชามติ มาตราสุดท้าย มาตรา 279 ให้บรรดาประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช.หรือหัวหน้าคสช.ที่บังคับอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญหรือจะบังคับใช้ต่อไป ไม่ว่าทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คำถามคือ สมมติว่าร่างนี้ประกาศใช้จริง อีกหลายปีข้างหน้า มีคนสงสัยว่าการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อปี 2557 เป็นต้นมาอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น อาจโดย คสช.หรือคนปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. เราจะตรวจสอบการทุจริตได้ไหม ในเมื่อมันมีการรับรองไว้แล้วว่าการกระทำต่างๆ เหล่านี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย บทบัญญัติแบบนี้จะปิดการตรวจสอบโดยสิ้นเชิงใช่ไหม อย่างนี้เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงได้หรือไม่

เมื่อพิจารณาดูสิ่งที่เขาเรียกว่าปราบโกง คือ การกำหนดคุณสมบัติเข้าสู่ตำแหน่งไว้ว่าใครต้องคำพิพากษาไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ แต่ถามว่ามีตัววิธีการการปราบโกงไหม ไม่มี อาศัยเพียงกำหนคุณสมบัติคนเข้าสู่อำนาจ เท่าที่ศึกษารัฐธรรมนูญทั่วโลกไม่มีการเขียนกฎหมายปราบการทุจริตคอร์รัปชันได้เลย การปราบทุจริตคอร์รัปชันต้องทำโดยกลไกอย่างอื่นด้วย กฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังกลไกทางวัฒนธรรม กลไกทางสังคม การเปิดให้มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งมาตราฐานเดียวกัน มิพักต้องพูดถึงว่าภายใต้การต่อสู้ทางการเมืองหลายสิบปีนี้ มีเสียงพูดถึงเรื่องสองมาตรฐาน ผมพูดจริงๆ แม้แต่คำพิพากษาของศาลที่ตัดสินแล้วในหลายกรณีถกเถียงได้ จะเอาตรงนี้เป็นเกณฑ์เด็ดขาดเลยเป็นเรื่องลำบาก เกรงว่าสิ่งที่เชื่อว่าปราบโกงนี้จะกลายเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองในการขจัดคนที่ไม่ชอบไม่ให้เข้ามาสู่ตำแหน่ง