วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 28, 2559

iLaw ชวนเปิดอ่านจุลสารการออกเสียงประชามติ ที่ กกต. ส่งไปตามครัวเรือน เทียบกับร่างรัฐธรรมนูญตัวจริง ดูความแย่อันน่าตกใจว่าส่วนใดบ้างที่เป็น ข้อความเท็จ ตีความเพิ่ม สิ่งที่ขาดหายไป




จุลสารการออกเสียงประชามติ สรุปย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ฉบับนี้ เป็นเอกสารที่ กกต. จัดส่งไปตามครัวเรือนของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ เนื้อหาภายในมีคำว่า "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" กำกับไว้ จึงพอสันนิษฐานได้ว่า เนื้อหาอาจจะจัดทำโดย กรธ.

หน้าที่ของกกต. คือ จะต้องจัดส่งเอกสารสรุปสาระสำคัญให้กับประชาชน โดยเอกสารนั้นๆ จะต้องอธิบายเนื้อหาส่วนที่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ได้ครบถ้วน ไม่มีการเพิ่มเนื้อหาส่วนที่ไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญเข้ามา และไม่ใส่ความคิดเห็นเพิ่มเติมของผู้จัดทำสรุป

ไอลอว์ชวนมาเปิดอ่านจุลสารฉบับนี้ เทียบกับร่างรัฐธรรมนูญตัวจริง ดูว่าส่วนใดบ้างที่เป็น

- ข้อความเท็จ หมายถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวไว้ แต่จุลสารฉบับนี้กลับเขียนขึ้นมาเสมือนว่ามีอยู่ร่างรัฐธรรมนูญ หรือ

- การตีความเพิ่ม หมายถึง จุลสารเล่มนี้ใส่ความคิดเห็นเพิ่มเติมเข้าไป โดยเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมีการกล่าวไว้ แต่ก็พอจะตีความไปในทางนั้นได้ ซึ่งเป็นการทำงานเกินหน้าที่ของกกต. ที่จัดส่งความคิดเห็นไปยังประชาชน และ

- ประเด็นที่ขาดหายไป หมายถึง ส่วนที่ไอลอว์เห็นว่าสำคัญในประเด็นต่างๆ ซึ่งประชาชนน่าจะได้รับรู้ แต่ไม่ถูกเขียนไว้ในจุลสารฉบับนี้

.....


ไทยอีนิวส์ขอยกมาบางส่วนเป็นตัวอย่าง โปรดแวะไปอ่านฉบับเต็มที่

https://www.facebook.com/iLawClub/photos/?tab=album&album_id=10157162927090551

.....






คำว่าได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ "ตั้งแต่ในท้องแม่ไปจนแก่เฒ่า" เป็นคำที่ไม่มีเขียนไว้โดยตรงในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจุลสารสรุปย่อสาระสำคัญ ตีความเพิ่มเอง

_____

เรื่องสิทธิและเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลายอย่างได้ถูกย้ายไปเป็นหน้าที่ของรัฐ หมายความว่ารัฐต้องเป็นคนจัดสวัสดิการให้ ไม่ได้เป็นสิทธิของประชาชนเหมือนอย่างในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ ปี 2550 เช่น

1. ด้านการศึกษา รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และ 2550 กำหนดให้การศึกษาภาคบังคับ เป็น "สิทธิ" ของทุกคน คือ ให้มีสิทธิเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี ที่รัฐจัดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่กำหนดให้การศึกษาเป็น "สิทธิ" ของประชาชน ย้ายไปไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ให้รัฐมี "หน้าที่" จัดการศึกษาให้ประชาชน ตามมาตรา 54

2. ด้านสาธารณสุข ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ได้กำหนดให้การบริการทางด้านสาธารณสุขเป็นสิทธิ เช่น สิทธิในการได้รับการบริการอย่างเสมอภาค และได้มาตรฐานเหมาะสม แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้ตัดคำว่า เสมอกันออก และย้ายการได้รับการบริการได้มาตรฐาน และเหมาะสม ไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ 

3. ด้านสิทธิแรงงาน แนวคิดดั้งเดิมที่อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนไว้ว่า รัฐต้องจัดระบบประกันสังคม และคุ้มครองลูกจ้าง ให้ได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการอย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ กลับตัดคำว่า “อย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” ออก และเปลี่ยนไปใช้คำว่า “อย่างเหมาะสมในการดำรงชีพ”แทน ซึ่งปรากฎอยู่ในมาตรา 74 ว่า “ให้แรงงานได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเหมาะสมในการดำรงชีพ” ซึ่งเปลี่ยนไปจากหมวดนโยบายแห่งรัฐ มาเป็นหน้าที่ของรัฐ

อ่านเรื่องหมวด "หน้าที่ของรัฐ" ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4214
อ่านเรื่องสิทธิด้านการศึกษา ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4209
อ่านเรื่องสิทธิด้านสาธารณสุข ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4190
อ่านเรื่องสิทธิแรงงาน ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4207

_______

มาตราที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 25 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐ
บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มาตรา 48 สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

มาตรา 74 รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยและให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่น ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน
รัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ

.....





"ความโปร่งใส" เป็นข้อความเท็จที่อยู่ในจุลสารสรุปย่อสาระสำคัญ แต่ไม่ได้เขียนอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ

คำว่า ความโปร่งใสเป็นคำที่จุลสารเติมเข้าไปซึ่งไม่มีปรากฎอยู่ในส่วนใดของร่างรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าเป็นข้อความเท็จ

ส่วนการเขียนว่า ประชาชนมีส่วนร่วมใน"การเสนอความต้องการและตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" เป็นคำที่ไม่ได้เขียนไว้โดยตรงในร่างรัฐธรรมนูญ แต่จุลสารสรุปย่อสาระสำคัญ ตีความเพิ่มเติมขึ้นมาเอง

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ระบุไว้เพียงว่าประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ แต่การเสนอความต้องการและตรวจสอบการทำงานขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้มีระบุไว้ เป็นการตีความเพิ่มของจุลสารนี้เอง

_____________
มาตราที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 249 ภายใต้บังคับมาตรา 1 ให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามวิธีการ และรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 253 ในการดำเนินงาน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ รวมตลอดทั้ง มีกลไกให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 254 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ

.....





ลิงก์ที่อยู่ในจุลสารฉบับนี้เมื่อเปิดเข้าไปเป็นหน้าเว็บไซต์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนลิงก์ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชามติ ต้องควานหาว่าอยู่ในมุมไหนของเว็บไซต์
มันไม่ใช่ลิงก์ ไปถึงร่างตรงๆ นี่นา แย่จัง !!!

ลิงก์ที่ไปยังร่างรัฐธรรมนูญคืออันนี้นะ !!! http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=429&filename=index

.....





นอกจากข้อความสรุปย่อสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ภายในจุลสารยังปรากฎคำขวัญโฆษณาที่เกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งในแต่ละคำขวัญนั้นเป็นการรวมสาระสำคัญในจุลสารฉบับนี้มาเขียนเพื่อให้ประชาชนจดจำสาระต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่คำขวัญทั้งหมดนั้นเป็นการตีความเองทั้งหมดของจุลสารฉบับนี้ โดยนำเสนอในลักษณะเป็นข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ จึงอาจเข้าข่ายคำโฆษณาชวนเชื่อเพือให้ประชาชนไปลงประชามติอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นได้

.....




อ่านเรื่อง ส.ว.ชุดแรก แต่งตั้งโดย คสช. ต่อได้ที่ http://www.ilaw.or.th/node/4069

อ่านเรื่อง การอยู่ต่อของ คสช. สนช. สปท. ต่อได้ที่ http://ilaw.or.th/node/4198

อ่านเรื่องเห็นร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ สิ้นปีหน้าได้เลือกตั้ง ต่อได้ที่ http://www.ilaw.or.th/node/4070

อ่านเรื่อง รัฐธรรมนูญแก้ไขแทบไม่ได้ ต่อได้ที่ http://www.ilaw.or.th/node/4076

อ่านเรื่อง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านเท่ากับ "ตีเช็คเปล่า" ให้ กรธ.เขียนกฎหมายลูก 10 ฉบับได้ตามใจ ต่อได้ที่ http://ilaw.or.th/node/4197

อ่านเรื่อง ที่มาและอำนาจของ ส.ว. ต่อได้ที่ http://www.ilaw.or.th/node/4199

อ่านเรื่อง ที่มาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อได้ที่ http://www.ilaw.or.th/node/4071

อ่านเรื่อง ที่มานายกฯ คนนอก ต่อได้ที่ http://www.ilaw.or.th/node/4069

อ่านเรื่อง ที่มาองค์กรอิสระ ได้ที่ http://ilaw.or.th/node/4210

ฯลฯ