วันจันทร์, กรกฎาคม 25, 2559

ความแตกต่างประเด็นทาง “ศาสนา” ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ และร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ (หรือฉบับมีชัย)







วันนี้ ผมมาคุยกับพี่น้องชาวพุทธและชาวมุสลิมที่ปัตตานี ผมจึงขอเล่าถึงความแตกต่างของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ และร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ (หรือฉบับมีชัย) ในประเด็นทาง “ศาสนา”

ประเด็นที่เกี่ยวกับศาสนา แบ่งได้เป็น 2 ประเด็นคือ หนึ่ง สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนา และสอง แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา

ในแง่สิทธิเสรีภาพประชาชนในการนับถือศาสนา เราจะพบว่าในวรรคแรกของมาตรา ๓๑ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ กับมาตรา ๓๗ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ มีเนื้อความที่คล้ายกัน แต่ในวรรคที่ ๒ ของมาตรา ๓๑ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ระบุว่า”การคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิของผู้นับถือศาสนาที่แตกต่างจากบุคคลอื่น” ซึ่งเนื้อความในวรรคนี้ ถูกตัดออกไปทั้งหมดจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

นั่นแปลว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มิได้คุ้มครองสิทธิของผู้ที่นับถือศาสนาที่แตกต่างจากคนอื่น จากการรอนสิทธิของรัฐ อีกต่อไป

ทำไม? จึงยกเลิกการคุ้มครองสิทธิในการนับถือศาสนาในข้อนี้ ผมยังไม่เข้าใจ

ส่วนที่สองเรื่อง แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในมาตรา ๗๙ ระบุว่า รัฐ “ต้อง” อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่น แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ ในมาตรา ๖๗ กลับเปลี่ยนจากคำว่า “ต้อง” เป็นคำว่า “พึง” ซึ่งแปลว่า “ควรทำ แต่ไม่ทำก็ได้” ผมก็ไม่แน่ใจอีกเหมือนกันว่า ทำไมจึงเปลี่ยนจาก “ต้อง” มาเป็น “พึง”?

คราวนี้มาถึงประเด็นที่สำคัญคือ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗๙ ยังเน้นย้ำ รัฐต้อง “ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนทุกศาสนา” และเน้นให้นำหลักธรรมทางศาสนา (ไม่ว่าศาสนาใด) มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นการให้หลักการที่ดีมากๆ สำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์

แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ ในมาตรา ๖๗ กลับเปลี่ยนสาระสำคัญมากลายเป็น การส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่หลักธรรมของศาสนาพุทธ “เถรวาท” โดยไม่รวมถึงการเผยแพร่หลักธรรมของศาสนาอื่นและศาสนาพุทธนิกายอื่นๆ หรือลัทธิอื่นๆ เช่น นิกายมหายาน นอกจากลัทธิเถรวาท) รวมถึงการป้องกันการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา โดยไม่รวมถึงศาสนาอื่นๆ เช่นกัน แปลง่ายๆ ก็คือ เน้นเฉพาะพุทธศาสนาเป็นหลักเท่านั้น โดยละทิ้ง “ความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนิกชนทุกศาสนา” ไปอย่างน่าเสียดาย

ผมไม่มีปัญหาที่ร่างรัฐธรรมนูญจะส่งเสริมและคุ้มครองพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาเป็นเวลานาน แต่ผมมีปัญหากับร่างรัฐธรรมนูญที่ทัศนะทางศาสนธรรมที่คับแคบ เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้เน้นย้ำเฉพาะ พุทธศาสนาลัทธิ “เถรวาท” (น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงลัทธิลัทธิเดียวไว้ในรัฐธรรมนูญ) แล้วละเลยความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนิกชนไป และตัดการคุ้มครองไม่ให้รัฐรอนสิทธิของผู้ที่นับถือศาสนาที่แตกต่างจากบุคคลอื่นๆ ต่อไป

ด้วยเหตุเช่นนี้ ผมจึงพบว่า พี่น้องชาวปัตตานี ทั้งชาวพุทธและมุสลิม จำนวนมากจึงไม่สบายใจกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างมาก เพราะขัดกับบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพที่จะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายของความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม

เช่นเดียวกับพี่น้องปัตตานี ผมรู้สึกผิดหวังและเสียใจกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างยิ่ง ผมคิดว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากรากฐานความคิดที่พ้นสมัยเป็นอย่างยิ่งครับ

ทุกคนต้องการก้าวข้ามความแตกต่าง และต้องการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายและเป็นธรรมครับ