วันเสาร์, กรกฎาคม 23, 2559

14ปี “บัตรทอง” ถึงเวลาต้องปรับทั้งระบบ (กรูว่าแล้ว...) + ยุคคสช. เบี้ยคนชราต่ำกว่างบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 10 เท่า





ผู้เขียน น.รินี เรืองหนู

มติชนออนไลน์
22 ก.ค. 59

ขณะที่โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ที่ดูแลประชากรไทยกว่า 48 ล้านคน กำลังเป็นที่ยอมรับทั้งจากองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกว่า เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการทำให้ประชากรของประเทศได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง ลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ไม่ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล แต่ในทางกลับกัน พบว่าตลอด 14 ปี ที่ประเทศไทยมีโครงการนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก 1,202 บาทต่อประชากร ในปี 2545 มาเป็น 3,028 บาทต่อประชากร ในปี 2559 และล่าสุดเพิ่มให้เป็น 3,109.87 บาทต่อประชากร โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 อนุมัติงบประมาณประจำปี 2560 ให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในวงเงิน 165,773,014,400 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2559 จำนวน 2,620,830,900 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.61

แน่นอนว่า การลงทุนด้านสุขภาพเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ แต่อีกแง่หนึ่งก็ยังต้องมีการศึกษาหาแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการนี้ด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มี ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นที่ปรึกษา และมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นประธาน โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้เสนอผลการศึกษาให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ผลการศึกษานี้ ได้มีการฉายภาพรวมของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วย กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้ยุบรวม 3 กองทุน แต่เป็นการวิเคราะห์คุณลักษณะของแต่ละกองทุนตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งพบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำ โดยในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น น่าเป็นห่วง จึงมีการเสนอหลักการ SAFE คือ

1.S= Sustainability goal ความยั่งยืนด้านการคลังด้านสุขภาพ ที่ต้องคำนึงถึงประเทศรับได้ รัฐบาลรับได้ และประชาชนรับได้ กล่าวคือ ภายในปี 2565 รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ยังอยู่ที่ร้อยละ 4 ส่วนงบประมาณที่ใช้ด้านสุขภาพ รวมทั้งกองทุนอื่นๆ ทั้งหมดต้องไม่เกินร้อยละ 20 ในขณะที่ทั่วโลกใช้สูงสุดประมาณร้อยละ 26

2.A= Adequacy goal ความพอเพียง หมายถึง รายจ่ายสุขภาพเพียงพอสำหรับการจัดบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคนรับได้ โดยค่าใช้จ่ายครัวเรือนต้องไม่เกินร้อยละ 11.3 ของรายจ่ายสุขภาพทั้งหมด ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องลงทุนด้านสุขภาพไม่ต่ำกว่าร้อยละ 17 เพราะหากลงทุนต่ำกว่านั้น ประชาชนที่ฐานะยากจนจะรับไม่ได้

3.F= Fairness goal ความเป็นธรรม ขณะนี้มีแต่ผู้ประกันตนเท่านั้นที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เสนอว่าหากต้องจ่ายเงินสมทบด้านสุขภาพ ก็ควรจ่ายเหมือนกันทุกกองทุน แต่หากไม่จ่ายก็ต้องไม่จ่ายเหมือนกัน ซึ่งกรณีบัตรทองนั้น หากจะเก็บเงินสมทบนั้นมีหลายรูปแบบ อาทิ ใช้เป็นแบบการยื่นภาษีเงินได้ร้อยละ 1-2 หากคนใดที่รายได้ไม่ถึงก็ไม่ต้องยื่นภาษี ส่วนกรณีคนรวยจะใช้สิทธิบัตรทอง หากต้องนอนโรงพยาบาล และรู้สึกว่าไม่อยากนอนห้องรวม ต้องการนอนห้องพิเศษ ต้องจ่ายเองทั้งหมดแบบเดียวกันประเทศสิงคโปร์

4.E= Efficiency goal ความมีประสิทธิภาพ หมายถึงใช้ทรัพยากรดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพ

ล่าสุด นพ.ปิยะสกล ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการกำหนดแนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม โดยให้ศึกษาภายใต้หลักการ SAFE เช่นกัน แต่อาจมีความแตกต่างในบางประเด็น กล่าวคือ S= Sustainability ยั่งยืน A= Accessibility เข้าถึงได้ ทั้งประชาชนเข้าถึงระบบบริการ และผู้ให้บริการเข้าถึงใจประชาชน F= Fairness ต้องมีความเป็นธรรม แต่ไม่ใช่เท่ากันทั้งหมด หมายความว่า ทุกคนต้องได้สิทธิในแพคเกจที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน ซึ่งคือการให้บริการตามมาตรฐานที่เหมือนกันทั้งในแง่บริการสุขภาพและซ่อมแซมสุขภาพ และ E= Efficiency มีประสิทธิภาพทั้งในแง่ “สร้างเสริมสุขภาพ” และ “ป้องกันโรค”

หากเป็นไปตามแนวทางนี้ งบประมาณที่ได้มาจะไม่ใช่เพื่อการรักษาอีกต่อไป

นพ.ปิยะสกล ได้อธิบายถึงแนวทางการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยว่า หากจะใช้งบประมาณเพื่อการรักษาโรคเพียงอย่างเดียว ต่อให้เพิ่มงบประมาณอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่มีทางเพียงพอ ดังนั้น สิ่งที่จะต้องพัฒนาคือ ใช้ศักยภาพของทุกหน่วยงานด้านสุขภาพมาร่วมทำงาน โดยเฉพาะหน่วยงานตระกูล ส. ที่ก่อตั้งขึ้นมาช่วง 10 ปี ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

“ต่อไปนี้ ทุกฝ่ายต้องรู้บทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน เช่น งบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพของกรมอนามัยอาจจะไม่มี เพราะมี สสส.ทำหน้าที่แล้ว ขณะที่ สธ.ก็ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและสถานพยาบาลทุกระดับให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ สวรส.จะต้องวิจัย วิเคราะห์ได้ว่านโยบายด้านสุขภาพของประเทศควรเป็นไปในทิศทางใด” นพ.ปิยะสกล กล่าวและว่า เพื่อให้แนวทางการทำงานเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ใช้มาแล้ว 14 ปี ส่วนจะแก้ไขข้อใดนั้นยังไม่ระบุชัดเจน

อย่างไรก็ตาม นพ.ปิยะสกล ยังมองไปถึงระบบการให้บริการ (Service plan) ที่จะต้องเริ่มจากชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงศูนย์ความเป็นเลิศ หรือโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย ที่ล่าสุด สธ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยที่มีโรงพยาบาลทุกแห่งสร้างเครือข่ายการให้บริการผู้ป่วย อาทิ รพ.จุฬาลงกรณ์ กับโรงพยาบาลสังกัด สธ.ในภาคตะวันออก รพ.ศิริราช กับ โรงพยาบาลสังกัด สธ.ในภาคตะวันตก เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวของระบบส่งต่อ ขณะเดียวกัน ยังได้พัฒนาระบบส่งกลับไปดูแลผู้ป่วยถึงที่บ้าน

ไม่เพียงเท่านั้น ทีดีอาร์ไอยังเสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ โดยไม่ต้องยุบรวมเป็นกองทุนเดียวด้วยการมี “กลไกกลาง” เข้ามาทำหน้าที่เพื่อกำหนดเป็นนโยบาย โดยเฉพาะการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่ไม่ว่าผู้ป่วยจะใช้สิทธิในกองทุนใดจะต้องได้แบบเดียวกัน

ไม่ว่าในอนาคตอันใกล้ “บัตรทอง” จะออกมารูปแบบใด แต่ที่มั่นใจได้คือเพื่อ “ประชาชน”

ooo

ยุคคสช. เบี้ยคนชราต่ำกว่างบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 10 เท่า

 

https://www.youtube.com/watch?v=cJNoHVnBx6Y

SHTV

Published on Jul 22, 2016
Overview - VoiceTV21 @Voice_TV