อ่านเอาเรื่อง สรุปแถลงนิติราษฎร์ค้านร่างฯ มีชัย
๑. มาตรา ๒๖๕ คสช. ยังคงอำนาจตาม ม. ๔๔ รธน.ชั่วคราว ๒๕๕๗
การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเท่ากับบุคคลผู้ทรงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญยินยอมให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติสามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของตนโดยผู้ที่ใช้อำนาจดังกล่าวไม่ต้องมีความรับผิดใด ๆ ทั้งสิ้น
๒. มาตรา ๒๖๙
“กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งจากผู้บัญชาการเหล่าทัพและตำรวจ ประกอบกับสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงกล่าวได้ว่า...
ในวาระห้าปีแรกของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ การปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่าง ๆ ของสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะปลอดพ้นจากการครอบงำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งเป็นผู้คัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้”
๓. มาตรา ๒๖๗ ให้ กรธ. อยู่ต่อร่างกฎหมายลูก ๑๐ ฉบับ อีก ๒๔๐ วัน “เป็นระยะเวลายาวนานเกินไป”
“นอกจากนั้น เนื้อหาสำคัญที่ควรปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง ถูกบัญญัติให้ไปกำหนดรายละเอียดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น วิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแต่มาจากการสรรหาคัดเลือก
ทำให้ในชั้นของการออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่อาจทราบเนื้อหาสำคัญในเรื่องดังกล่าวเพื่อประกอบการตัดสินใจ ผลจากการนี้ ประชาชนจึงอาจออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเพราะ ‘สำคัญผิด’ ในสาระสำคัญได้”
๔. มาตรา ๒๗๙ “ได้บัญญัติรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้แก่ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตลอดจนการกระทำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะได้กระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ”
การบัญญัติอย่างนั้นย่อมทำลายการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และเป็นครั้งแรกที่เขียน รธน.เพื่อรับรองอำนาจพิเศษของคณะรัฐประหาร เพราะหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วยหลักการแบ่งแยกอำนาจแล้วก็ตาม “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังคงมีและสามารถใช้ ‘อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด’ ต่อไปได้อีก”
ความเห็นต่อข้ออ้างว่าเป็น ‘รัฐธรรมนูญปราบโกง’
“ไม่มีข้อขัดข้องใด ๆ ต่อนโยบายของรัฐที่มุ่งประสงค์ป้องกัน ตรวจสอบ และปราบปรามการทุจริต หากการป้องกัน ตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตนั้นมีลักษณะที่ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ และสอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมภายใต้หลักนิติรัฐ”
หากแต่ธรรมชาติในทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญไม่ใช่เขียนไว้เพื่อปราบโกง แม้นว่าจะแหวกสากล “เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต” ก็จะไม่สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้ เพราะถ้าทำได้จริงก็น่าจะมีบางประเทศทำไว้แล้ว
หรือถ้าคณะรัฐประหารชุดนี้ที่จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับพิสดาร แท้จริงเป็นผู้วิเศษลงมาจุติเพื่อทำให้ประเทศไทยรุ่งเรืองสถาพรอย่างไม่มีใครเหมือนละก็ การแช่เย็นเพื่อรอให้เกิดก้าวกระโดดในอนาคต ที่ผ่านมาสองปีและจะต่อไปอีกอย่างน้อย ๕ ปี ทำให้ความวิเศษที่อ้างไร้มนต์ขลังอย่างสิ้นเชิง
“คณะนิติราษฎร์เห็นว่าไม่สอดรับกับความเป็นจริง ค่อนไปในทางเลือกตรวจสอบเฉพาะกับผู้ใช้อำนาจรัฐบางกลุ่มเท่านั้น”
เรื่องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชน คณะนิติราษฎร์เห็นว่าแค่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเดียวไม่อาจเกิดผลแท้จริงได้ ถ้าไม่ได้วางกลไกที่มีประสิทธิภาพไว้ด้วย
“แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยภาพรวมแล้วจะมีการรับรองสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ เหมือนเช่นรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ แต่มีการเพิ่มข้อจำกัดด้วยถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนแน่นอน หรือมีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงจำนวนมาก
เช่น ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของรัฐ หรือแม้แต่คำว่า ‘เหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ’ ทำให้รัฐสามารถก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างกว้างขวาง”
เรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ‘เพื่อการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง’ “ไม่ได้ออกแบบบนฐานของการทำให้ทุกฝายได้มีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตย” และ ไม่ได้ “อาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่าย เพื่อถกเถียงอภิปรายจนได้ฉันทามติที่เป็นที่ยอมรับกัน”
“หากวิธีการปฏิรูปและการปรองดองถูกกำหนดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพียงกลุ่มเดียว การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ย่อมยากที่จะสำเร็จลงได้”
เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ “ต้องเป็นไปภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตย ปราศจากอิทธิพลกดดัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยชัดแจ้งและโดยปริยาย จากผู้ที่ถืออำนาจรัฐ...
รวมทั้งต้องเปิดช่องให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ มีโอกาสรณรงค์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยชอบของตนอย่างเต็มที่ตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยปราศจากการใช้กลไกของรัฐเพื่อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สภาพการณ์ที่ควรจะต้องเป็นดังเช่นที่ได้กล่าวมานี้ ดูเหมือนว่าอาจจะไม่เกิดขึ้นในการออกเสียงประชามติครั้งนี้”
ข้อสำคัญอันหนึ่ง คณะนิติราษฎร์บอกว่า “การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อาจไม่ได้นำมาซึ่งการเลือกตั้งและการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว” เนื่องจาก
“ร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดกรอบเวลารวมทั้งสิ้น ๔๕๐ วัน หรือ ๑๕ เดือน เพื่อให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องต่าง ๆ และเพื่อเตรียมการในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก” อย่างมีเลศนัย
เพราะไม่มีความชัดเจนว่า กรธ. จะต้องจัดทำ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญสี่ฉบับให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาเท่าใด หรือไม่ได้ระบุหนทางออกเมื่อการร่างกฎหมายลูกดังกล่าวไม่แล้วเสร็จไว้ด้วย
“อาจกล่าวได้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการออกเสียงประชามติ อำนาจเด็ดขาดของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้สิ้นสุดลง แต่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป”
(http://www.matichon.co.th/news/97794)
ฉะนี้ จึงกล่าวได้ว่า “คสช. และ นายมีชัย กำลังประเมินความรู้สึกของประชาชนต่ำเกินไป ทั้งๆที่ โดยข้อเท็จจริง ความไม่รู้สึกพึงพอใจมีอยู่แพร่หลาย”
นั่นเป็นสรุปจาก บุญเลิศ วิเศษปรีชา ในข้อเขียนของเขาที่ ‘ประชาไท’ ว่าบทเรียนจากรัฐบาลสุจินดามาถึงประยุทธ์ ทำให้ต้องรณรงค์ ‘คว่ำรัฐธรรมนูญ’
(http://prachatai.org/journal/2016/04/65118)
“เนื้อหาหลักของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็คือ การบั่นทอนอำนาจของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง และสงวนอำนาจไว้สำหรับคณะรัฐประหาร”
“กรณีพลเอกสุจินดาและเหตุการณ์พฤษภา ๓๕ จะไม่เกิดขึ้นเลย หากรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๓๔ ไม่เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกเสียแต่แรก...
แต่ประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางกลับต่อต้าน เพราะเห็นว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) รวมทั้งไม่อาจยอมรับข้ออ้าง ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ที่พลเอกสุจินดาเคยพูดไว้ว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี”
อีกเช่นกัน ฉันใดก็ฉันนั้น ไม่ว่าหัวหน้า คสช. จะมดเท็จอยู่ตลอดเวลาว่าไม่สืบทอดอำนาจ ไม่อยากเป็นนายกฯ อีกต่อไป เพียงใดก็ตาม แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ล้วนแต่เพื่อให้คณะรัฐประหารที่ผันมาเป็น คสช. ได้กุมอำนาจต่อไปอีกเป็นเวลานาน
หนทางเดียวเปิดไว้แก่ประชาชนที่ต้องการให้บ้านเมืองกลับไปสู่วิถีประชาธิปไตย คงไปลงที่ประโยคปิดท้ายบทความของบุญเลิศ วิเศษปรีชา ในประชาไท ว่า
“ดังนั้น โหวตคว่ำรธน. จึงเป็นก้าวแรกที่ประชาชนควรเดินร่วมกัน”