วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 07, 2559

มองอย่างโลกไม่สวย: ทำไม 'อาหรับสปริง' ส่วนใหญ่ถึงล้มเหลว


การประท้วงที่จัตุรัส Tahir ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อ 11 ก.พ. 2554 (ที่มา: Wikipedia/Jonathan Rashad)


ที่มา ประชาไท
Wed, 2016-02-03

บทความจาก Vox เผยให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้การลุกฮือ 'อาหรับสปริง' ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนล้มเหลว นั่นคือถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสถาบันทางการเมืองที่ออกแบบไว้ในยุคเผด็จการ การลุกฮือที่เกิดขึ้นก็จะประสบความล้มเหลว ไม่ว่าจะล้มผู้นำเผด็จการไปกี่ครั้งหรือผู้ประท้วงมีความบริสุทธิ์ดีงามขนาดไหนก็ตาม

อแมนดา เทาบ์ นักข่าวและนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและสิทธิมนุษยชนเขียนบทความในเว็บไซต์ Vox เกี่ยวกับเรื่องสาเหตุที่การปฏิวัติประชาชนในแถบตะวันออกกลางที่เรียกว่าปรากฏการณ์ 'อาหรับสปริง' ตั้งแต่ช่วง 5 ปีที่แล้วไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาวในหลายประเทศ จากการที่ลิเบีย, เยเมน, ซีเรีย กำลังเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมือง และในอียิปต์ก็กลับมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร

อย่างไรก็ตามเทาบ์ระบุว่าการนำเสนอเรื่องของอาหรับสปริงมักจะมีแต่มุมมองแบบขาวดำมากเกินไปหรือมีลักษณะเน้นตัวบุคคลมากเกินไป เช่น การเล่าในทำนองว่าเป็นการที่กลุ่มนักประท้วงโลกสวยที่ต่อสู้กับเผด็จการปีศาจร้ายแต่ไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิวัติได้จริงหรือผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองไม่มีความเข้มแข็งมากพอ แต่สำหรับเธอแล้วมันไม่ใช่เรื่องของพระเอกกับผู้ร้าย สิ่งที่ทำให้อาหรับสปริงในหลายประเทศผิดพลาด เป็นเพราะความล้มเหลวของสถาบันทางการเมืองและเธอก็ต้องการเล่าถึงเรื่องนี้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับโลก

บทความของเทาบ์ระบุถึงกรณีการลุกอือของประชาชนในอียิปต์เมื่อปี 2554 ซึ่งมักจะมีการเล่าในทำนองว่าเป็นการที่กลุ่ม "ประชาชนผู้กล้าหาญแต่ยังอ่อนต่อโลก" พยายามโค่นล้ม "เผด็จการชั่วร้าย" อย่างฮอสนี มูบารัค แต่พวกเขาก็ล้มเหลวในการจัดตั้งทางการเมืองและมีแต่ความเพ้อฝันถึงการเปลี่ยนแปลงแทบที่จะทำงานการเมืองบนหลักความจริง ในช่วงหลังจากที่ชาวอียิปต์โค่นล้มบูบารัคได้แล้วกลุ่มนักเสรีนิยมในประเทศไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอจนทำให้รัฐบาลสายเคร่งศาสนาอย่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) สามารถชนะการเลือกตั้งเข้ามาได้จนกระทั่งกองทัพอียิปต์ฉวยโอกาสจากความเพ้อฝันของนักเสรีนิยมและความไร้ประสิทธิภาพของพรรคสายภราดรภาพมุสลิมทำการยึดอำนาจจนกระทั่งอียิปต์อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าในเรื่องราวอีกรูปแบบหนึ่งจะกล่าวถึงกลุ่มผู้ประท้วงที่ตื่นรู้แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ในการเล่าสองกระแสนี้มีหลายเรื่องที่ตรงกัน

อย่างไรก็ตามเทาบ์ชวนมองว่าไม่ว่าผู้ประท้วงจะฉลาดหรือโลกสวยเกินไปก็ตาม ฝ่ายผู้ประท้วงเองก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในอียิปต์แต่มีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่ความล้มเหลวนี้ก็ทำให้เธอเรียนรู้ว่าเรื่องของการเมืองไม่ใช่เรื่องของการสร้างวีรบุรุษหรือตัวร้าย แต่ต้องตระหนักถึงอันตรายของเผด็จการผู้เปราะบางและสถาบันทางการเมืองของรัฐทีอ่อนแอด้วย

"การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าคุณจะโค่นล้มใครแล้วเอาใครมาแทน แต่อยู่ที่คุณจะเปลี่ยนแปลงหรือทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายที่มีอยู่กว้างขวางภายใต้สถาบันที่ตัวบุคคลนั้นดำรงอยู่" เทาบ์ระบุในบทความ

เทาบ์ขยายความต่อไปว่าถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสถาบันทางการเมืองที่มักจะถูกออกแบบมาโดยเผด็จการได้การปฏิวัติก็จะล้มเหลว ไม่ว่าคุณจะโค่นล้มผู้นำเผด็จการไปกี่ครั้งหรือผู้ประท้วงมีความบริสุทธิ์ดีงามขนาดไหนก็ตาม

กรณีของอียิปต์

เทาบ์ระบุว่าในกรณีของอียิปต์ ฮอสนี มูบารัค มีการเตรียมตัวก่อนหน้านี้แล้วก่อนหน้าการลุกฮือของประชาชน มูบารัคจัดการกับระบบในประเทศมาตลอด 30 ปี ในการจะทำให้ไม่มีสถาบันใดมีอำนาจรืออิสระพอที่จะสู้กับอำนาจของเขาได้หรืออย่างน้อยก็ทำให้สถาบันเหล่านั้นอ่อนแอเกินกว่าจะช่วยเกื้อหนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย มูบารัคใช้วิธีการแทรกแซงแต่งตั้งคนในสถาบันต่างๆ เพื่อให้กลายเป็นหุ่นเชิดสำหรับรัฐบาลรวมถึงสถาบันศาลจนทำให้หลักนิติธรรมอ่อนแอ เขาพยายามทำลายกลุ่มสายเสรีนิยมแต่ก็ปล่อยกลุ่มเคร่งศาสนาอิสลามไว้เพียงพอที่จะเอามาอ้างได้ว่า "ถ้าไม่เลือกเขาก็จะเจอกับกลุ่มเคร่งอิสลาม"

อีกสถาบันหนึ่งที่มูบารัคสั่งสมกำลังไว้คือสถาบันกองทัพ โดยทำให้กองทัพมีความเข้มแข็งมากเกินไป แต่มูบารัคก็สูญเสียความภักดีจากกองทัพทำให้เกิดเหตุการณ์ที่กองทัพไม่ยอมปราบประชาชนในช่วงปี 2554 และหันมายึดอำนาจแทนชั่วคราว ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งหลังจากนั้นแต่กองทัพอียิปต์เองก็สนใจแต่การรักษาผลประโยชน์ของตัวเองแทนผลประโยชน์ของคนในชาติทำให้ก่อการรัฐประหารอีกครั้งในสมัยของผู้นำโมฮัมเหม็ด มอร์ซี แล้วแต่งตั้งนายพล อับเดล ฟัตตาห์ อัลซิซี เป็นประธานาธิบดีแทน

เทาบ์ระบุว่าถึงแม้รัฐบาลมอร์ซีเองก็ทำผิดพลาดในหลายเรื่องแต่การเพลี่ยงพล้ำของเขาก็ยังมาจากปัจจัยอื่นๆ อย่างการไร้ความสามารถของสถาบันต่างๆ ในอียิปต์รวมถึงภาคประชาสังคมเองด้วยจนกระทั่งทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยล้มเหลวจนเปิดทางให้กองทัพฉวยโอกาสได้ ซึ่งสภาพแบบนี้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่มูบารัคเคยวางไว้แล้วคือการทำให้ฝ่ายต่อต้านอ่อนแอไม่มีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง การปล่อยให้ภาคส่วนราชการทุจริต การทำให้กองทัพมีอำนาจมากเกินไป ภาคประชาสังคมกลวงเปล่า และไม่สถาบันประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพดีพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำลายทั้งรัฐบาลมอร์ซีและย้อนกลับมาทำลายตัวมูบารัคเองด้วย

"ผู้ประท้วงเสรีนิยมมีประสบการณ์การจัดการการประท้วงหลายปีแต่พวกเขาก็ไม่สามารถพัฒนาเป็นพรรคการเมืองที่จะสืบทอดอุดมการณ์ไปให้ไกลกว่าการชุมนุมที่จัตุรัสทาห์รีร์ไปสู่การบริหารทางการเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการขัดแย้งกันเอง ความไม่สามาถเข้าถึงชนชั้นแรงงานได้ หรือความล้มเหลวอื่นๆ แต่ก็มีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการที่มูบารัคสร้างเงื่อนไขไว้อย่างเป็นระบบแล้วว่าในช่วงที่เขาปกครองเป็นเวลาหลายสิบปีนั้นจะไม่สามารถมีพรคการเมืองเสรีนิยมที่ประสบความสำเร็จได้" เทาบ์ระบุในบทความ

สู่ความขัดแย้งในลิเบียและซีเรีย

บทความของเทาบ์เปิดเผยถึงกรณีอื่นๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จว่ามีลักษณะบางอย่างคล้ายกับที่เกิดขึ้นในอียิปต์เช่นกัน เช่นในลิเบีย อดีตจอมเผด็จการที่ถูกโค่นล้มในเวลาต่อมาอย่างมุมมาร์ กัดดาฟี ก็ทำให้สถาบันทางการเมืองต่างๆ ในประเทศอ่อนแอลงเช่นกัน โดยที่องค์กรอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ประบุว่ารัฐบาลกัดดาฟีเน้นเอื้อผลประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวโดยที่มีการหลอกล่อให้กลุ่มต่างๆ ต่อสู้กันเอง พวกเขาไม่สามารถพัฒนาสถาบันแห่งชาติขึ้นมาได้ ทำให้หลังจากกัดดาฟีถูกโค่นล้มแล้วลิเบียก็แทบจะไม่เหลืออะไรอีก หลังจากนั้นประเทศก็กลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างสองรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธต่างๆ รวมถึงพวกไอซิสด้วย

ในกรณีของซีเรียเทาบ์ระบุว่ากองทัพของซีเรียเข้มแข็งแต่ส่วนใหญ่ก็ภักดีต่อผู้นำบาชาร์ อัลอัสซาด แต่เขาก็ใช้มันเพื่อปกป้องอำนาจของตัวเองเท่านั้นโดยที่ไม่ส่งกองทัพไปปกป้องชายแดน และต่อมาก้ใช้ทหารไล่ยิงประชาชนที่ปราศจากอาวุธทำให้ทหารบางส่วนขัดขืนคำสั่งและแปรพักตร์หันไปช่วยเหลือกลุ่มกบฏติดอาวุธแทน ทำให้ซีเรียอยู่ในสภาพที่เลวร้ายที่สุดหลังจากอาหรับสปริงตรงที่พวกเขายังโค่นล้มผู้นำเผด็จการไม่ได้และในขณะเดียวกันก็เชื้อเชิญให้กลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มอื่นๆ เช่นกลุ่มไอซิสเข้าไปยึดครองพื้นที่ ผู้ที่รับเคราะห์มากที่สุดคือประชาชนชาวซีเรีย

แล้วกรณีของตูนิเซียเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่

เทาบ์ระบุว่ามีอยู่ประเทศเดียวที่สถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่ได้ถูกทำให้อ่อนแอก่อนหน้าการปฏิวัติประชาชนนั่นคือประเทศตูนิเซีย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นประเทศเดียวที่เกิดปรากฏการณ์อาหรับสปริงแล้วสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ถึงแม้ว่าตูนิเซียจะเกิดวิกฤตในบางช่วงเช่นกรณีสังหารนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยม 2 คนในปี 2556 แต่รัฐบาลหลังการปฏิวัติของตูนิเซียก็ยังคงค่อนข้างมีเสถียรภาพหลังจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจนกระทั่งพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งในปี 2557 ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นการพ่ายแพ้ในกติกาที่ยุติธรรมแทนที่จะเป็นการรัฐประหาร

"ตูนิเซียมีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่มีทำให้พวกเขาสร้างความแตกต่างได้ คือการที่สถาบันประชาสังคมของพวกเขามีความเข้มแข็งกว่ามากๆ" เทาบ์กล่าว

เทาบ์ชี้ว่าความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและภาคส่วนอื่นๆ ทำให้ตูนิเซียยังคงประคองตัวได้แม้จะเกิดวิกฤตสังหารนักการเมืองหรือเกิดความขัดแย้งจากการร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ก็มีการรวมกลุ่มกันของสหภาพแรงงาน องค์กรธุรกิจ สมาคมทนายความ และองค์กรสิทธิมนุษยชน ขึ้นจนกลายเป็น "คณะเจรจาสี่ฝ่ายแห่งตูนิเซีย" (national dialogue quartet) ที่สามารถเป็นตัวกลางเจรจาหารือระหว่างกลุ่มทางการเมืองที่มีความขัดแย้งกันได้ จนสามารถลดความตึงเครียดทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จและเปิดทางสู่การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2557 จนกระทั่งคณะเจรจานี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2558

อย่างไรก็ตามเทาบ์เตือนว่าถึงแม้เรื่องราวของตูนิเซียจะเข้ากับแนวทางการเล่าแบบที่ชวนให้ชื่นชมผู้ประท้วงผู้กล้าหาญและเหล่าผู้นำยุคใหม่ของตูนิเซียมีใจซื่อตรง แต่ต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จเหล่านี้มาจากความเข้มแข็งของสถาบันทางการเมืองกับภาคประชาสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องตัวบุคคล

เทาบ์ระบุว่าประเทศอื่นๆ อย่างลิเบีย ซีเรีย และอียิปต์ดูเหมือนจะแพ้มาตั้งแต่ต้นแล้วเมื่อช่วงที่ต้องเลือกว่าจะโค่นล้มผู้นำเผด็จการคนเดิมหรือไม่ เพราะไม่ว่าผลจะออกมาเช่นใดความอ่อนแอของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ก็จะทำให้ผลลัพธ์ออกมาแย่

เทาบ์ระบุถึงบทเรียนอีกอย่างหนึ่งคือพวกเผด็จการมักจะโฆษณาตัวเองว่าพวกเขาเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพในประเทศแต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเผด็จการเหล่านี้ต่างหากที่เป็นผู้ก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพ เทาบ์ระบุว่าเผด็จการเหล่านี้แค่ซื้อเวลาให้กับเสถียรภาพชั่วคราวของพวกพ้องตัวเองโดยใช้วิธีการเดิมพันเสถียรภาพในอนาคต

"คำถามที่เราควรจะถามคือ ทำไมพวกเราถึงอนุญาตให้เผด็จการเหล่านี้ทำให้รัฐอ่อนแอมาเป็นเวลานานหลายสิบปีก่อนหน้าก่อนหน้าการปฏิวัติ 2554 จนทำให้อาหรับสปริงนำมาซึ่งความโกลาหลไม่ว่าโลกจะตอบสนองอย่างไรก็ตาม และมันเกิดอะไรแบบนี้ได้อย่างไร" เทาบ์ระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

The unsexy truth about why the Arab Spring failed, Amanda Taub, 27-01-2016 http://www.vox.com/2016/1/27/10845114/arab-spring-failure