แถลงการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)
เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์
ตามที่เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้แถลงเปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยร่างแรกของคณะกรรมการชุดนี้ โดยจะมีการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว และพบว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้มีเนื้อหาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ดังนี้
1. การเปิดโอกาสให้มีการออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพได้อย่างกว้างขวางผ่านมาตรวัดที่คลุมเครืออย่าง “หลักนิติธรรม” (มาตรา 26)
2. การตัด "สิทธิชุมชน" ออกไปจากสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย (หมวด 3) ซึ่งอาจส่งผลให้มีการอ้างเหตุในการละเมิดสิทธิชุมชนโดยรัฐบาลได้
3. การให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการและผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาของชาติให้แล้วเสร็จ (มาตรา 267) รวมถึงกำหนดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยให้ต้องเข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ (มาตรา 47) ซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นการเปิดโอกาสให้ คสช. ครอบงำความคิดประชาชนผ่านการจัดการศึกษา
4. ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” (มาตรา 86) ที่เป็นการบิดเบือนเสียงของประชาชน ทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจากประชาชนจำนวนมากได้ที่นั่งในสภาน้อยกว่าที่ควรจะได้ และพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจากประชาชนจำนวนน้อยได้ที่นั่งในสภามากกว่าที่ควรจะได้
5. ระบบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นเพียงการเลือกกันเองในกลุ่มบุคคลจากวงการต่างๆ (มาตรา 102) ทั้งที่การประกอบอาชีพของคนไทยนั้นมีความหลากหลายมาก การพิจารณา ส.ว. โดยอาศัยอาชีพเป็นเกณฑ์ย่อมไม่สามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้ครบถ้วน นอกจากนี้ ในความเป็นจริงจะมีเพียงกลุ่มบุคคลจากวงการที่มีอิทธิพลในทางสาธารณะเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิสรรหา วงการที่เสียงไม่ดังพอก็ต้องอยู่เงียบๆ แบบไร้สิทธิต่อไป จึงไม่ใช่การเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างแท้จริง
6. การเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือนายกฯ คนนอก โดยการให้พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่ประสงค์จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้กำหนดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ไว้ ทั้งยังให้แจ้งรายชื่อได้มากถึง 3 รายชื่อ (มาตรา 83) ทำให้ประชาชนไม่สามารถคาดหมายได้ว่าใครจะเป็นตัวแทนของพรรคในการเป็นนายกรัฐมนตรี
7. การให้อำนาจอันล้นเกินแก่องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้แก่ การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มาตรา 207) การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อบังคับใช้กับนักการเมืองเลือกตั้ง (มาตรา 265) ส่งผลให้องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถบงการองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งได้
8. การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นไปได้ยากมาก โดยการให้น้ำหนักแก่เสียงของวุฒิสภาและสมาชิกพรรคการเมืองขนาดเล็กเป็นอย่างมาก เปิดโอกาสให้เสียงจำนวนน้อยนิดสามารถคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเสียงข้างมากเกือบทั้งหมดได้ ถึงขนาดว่าเสียงของสมาชิกรัฐสภาเพียง 10 เสียงก็สามารถคัดค้านเสียงอีก 690 เสียงที่เหลือได้ (มาตรา 253)
9. คสช. จะยังคงมีอยู่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จนกว่าจะร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จ และมีคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง (มาตรา 257) โดยอาจอยู่ได้เป็นเวลานานถึง 15 เดือน รวมถึงตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต่อไปได้อีกหากทำไม่เสร็จตามกำหนดเวลา (มาตรา 259) นั่นหมายความว่าในทางปฏิบัติแล้ว คสช. จะยังสามารถต่ออายุตัวเอง สืบทอดอำนาจของตนออกไปอีกได้ตามต้องการ
10. มีการนิรโทษกรรม และรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของการกระทำและการใช้อำนาจโดย คสช. ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตหากรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ (มาตรา 270)
กล่าวโดยสรุป ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเปิดช่องให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างกว้างขวาง บั่นทอนอำนาจขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งและเพิ่มพูนอำนาจขององค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังยอมรับให้ คสช. มีอำนาจต่อไปอีกเป็นเวลายาวนาน ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรที่ดีขึ้นเลย
นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยบุคคลเพียงกลุ่มเดียวในสังคมเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากประชาชนแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่อาจคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญของเผด็จการฉบับนี้จะนำพาประเทศไปสู่ทางออกที่เป็นประชาธิปไตยได้
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และจะขอดำเนินกิจกรรมเพื่อต่อต้านทั้งรัฐธรรมนูญของเผด็จการและระบอบเผด็จการ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยด้วยตัวของประชาชนเอง
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)
4 กุมภาพันธ์ 2559