วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 11, 2559

ร่วมกันไปให้กำลังใจ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักกฎหมายชูป้ายหน้าหอศิลป์ประท้วงรัฐประหาร ลุ้นฟังคำพิพากษา ที่ศาลแขวงปทุมวัน 11ก.พ.59





ลุ้นฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้(11ก.พ.59) นักกฎหมายชูป้ายหน้าหอศิลป์หลังรัฐประหารแล้วถูกทหารคุมตัวก่อนเป็นจำเลยคดีขัดกฎอัยการศึก ขัดประกาศ คสช. และประมวลกฎหมายอาญา

นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักกฎหมายและนักกิจกรรม จะเดินทางไปที่ศาลแขวงปทุมวัน พรุ่งนี้ (11 ก.พ.59) เพื่อฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น จากข้อเท็จจริงในคดีที่เขาชูป้ายต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ที่หน้าหอศิลป์ กทม. หลังจาก คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายอภิชาตเป็นจำเลย ในความผิดตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 8, 11 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 215 วรรคแรก, 216 และ 368 วรรคแรก

นายอภิชาต กล่าวว่า ส่วนตัวตัดสินใจไม่รับสารภาพ แม้จะทราบว่าหากรับสารภาพก็มีโอกาสที่จะได้รับโทษลดลง แต่เนื่องจากต้องการสร้างบรรทัดฐานต่อสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อยืนยันว่าการรัฐประหารนั้นไม่ชอบด้วยวิถีทางประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม หากศาลพิพากษาให้รับโทษ ก็จะยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อไปจนถึงที่สุด

(ภาพซ้าย ระหว่างเขาถูกทหารคุมตัว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 จากหน้าหอศิลป์ กทม./ภาพขวาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ระหว่างไปให้กำลังใจทนายจูนที่ สน.ชนะสงคราม)

ชมคลิปทหารคุมตัว "อภิชาต" เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1400863234


Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว



ooo


ชมคลิปเหตุการณ์คุมตัว "อภิชาต" เมื่อ 23 พ.ค.57 ซึ่งอยู่ใน
ระทึก!! ชมคลิป นาทีทหารคุมตัว "ธนาพล บก.ฟ้าเดียวกัน" และชายอีก 2 คน



https://www.youtube.com/watch?v=L6SB_f_Q3KY

ooo


ความในใจก่อนฟังคำพิพากษา ‘ปอนด์ อภิชาต’ จำเลยคดีชูป้ายประท้วงรัฐประหาร


Wed, 2016-02-10 22:38
ที่มา ประชาไท

“ไม่ใช่แค่เรื่องผมกับ คสช. แต่เป็นเรื่องหลักการแนวคิดประชาธิปไตย” เปิดบันทึกขนาดสั้น ของ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ จำเลยคดีขัดคำสั่ง คสช. ชูป้ายประท้วงรัฐประหารหน้าหอศิลป์ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษา

วันที่ 11 ก.พ. 2559 นี้ เวลา 09.00 น. ณ ศาลแขวงปทุมวัน จะมีนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักกิจกรรมและนักวิชาการด้านกฎหมายรุ่นใหม่ เป็นจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 8, 11 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 215 วรรคแรก, 216 และ 368 วรรคแรก เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2558 (คดีหมายเลขดำที่ 363/2558) จากกรณีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 23 พ.ค 2557

โดยเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 นั้น ถือเป็นเหตุการณ์แรกที่ประชาชนได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการ รัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยในวันดังกล่าวได้มีการควบคุมตัวประชาชนจำนวน 5 คน เพื่อดำเนินคดี ซึ่ง อภิชาต เป็นหนึ่งในประชาชนที่ถูกควบคุมตัวและถูกดำเนินคดี ซึ่งสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ อภิชาต อย่างไรก็ดี ภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารยังคงมีประชาชนออกมาทำกิจกรรมแสดงออกเชิง สัญลักษณ์และถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง (ประมวลภาพเหตุการณ์วันที่ 23 พ.ค. 2557)

และนี่คือความในใจทั้งหมดที่เขาบันทึกผ่าน เฟสบุ๊ค ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษา


ภาพขณะเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวอภิชาต พงษ์สวัสดิ์



ตอนแรกว่าจะเขียนบันทึกยาวๆ แต่ผมขอเขียนบันทึกสั้นๆ ต่อความรู้สึกก่อนพิพากษาคดีในศาลชั้นต้น 11 ก.พ2559

ความรู้สึกประการแรก คำพิพากษาในวันพรุ่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสภาพจิตใจ อุดมการณ์ และแนวทางในการต่อสู้ต่อไปแม้แต่น้อย แม้ผลคำพิพากษาจะออกมาเลวร้ายที่สุดคือศาลยอมรับอำนาจเผด็จการและสั่งจำคุกผม ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด ผมขอยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อไปจนถึงที่สุด ภายใต้หลักการเดิมคือยืนยันว่า การรัฐประหารนั้นไม่ชอบด้วยวิถีทางประชาธิปไตย และผมในฐานะพลเมืองก็มีสิทธิหน้าที่จะออกมาต่อต้านและปกป้องอำนาจอธิปไตยไว้

ประการที่สอง การต่อสู้ในกระบวนการศาล เป็นเจตนาของผมเองที่จะสู้คดีนี้ ไม่ยอมรับสารภาพแม้ว่าการรับสารภาพจะทำให้ผมได้รับโทษน้อยลง และไม่ต้องเสียเวลามาถึงเกือบสองปี โดยยังไม่รู้กำหนดสิ้นสุดเมื่อไร

เจตนานี้ผมไม่ได้หวังว่าศาลไทยจะพิพากษาคดีให้ผมชนะได้อย่างง่าย เพราะข้อต่อสู้ของผมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่แค่เรื่องผมกับ คสช. แต่เป็นเรื่องหลักการแนวคิดประชาธิปไตย เป็นข้อต่อสู้เพื่อล้มล้างอำนาจเผด็จการและทำลายหลักการกฎหมายจากปลายกระบอกปืนทั้งหมด

ผมตั้งใจที่จะให้ข้อต่อสู้ในคดีนี้สร้างบรรทัดฐานต่อสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากศาลรับฟังและดำรงความยุติธรรมไว้ได้ก็เพียงพอที่ปุถุชนแบบศาลจะเข้าใจได้ ไม่ยากและหากศาลมีความกล้าหาญทางจริยธรรมก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถิอ ศรัทธาต่อประชาชนได้

ในกระบวนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก การตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำบางอย่างเป็นเรื่องที่ผมต้องเลือกอยู่ตลอดเวลา
ในคดีนี้ผมได้ทำคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี เพราะเห็นว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้ แต่การคัดค้านนั้นไม่เป็นผล ซึ่งอาจทำให้คำพิพากษาที่จะออกมา ผมได้รับโทษที่หนักขึ้น

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นหนทางการต่อสู้ที่ผมเลือกแล้ว อย่างที่ผมเคยเลือกออกมาต่อต้านรัฐประหาร เลือกที่จะไม่หนีและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นี่ความท้าทายสำหรับชีวิตและหลักการทางกฎหมาย และอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริงที่ควรแสดงเจตนาไว้ ผมเห็นว่าพึงกระทำ เพื่อสังคมของเรา

สุดท้ายสิ่งที่น่าจดจำมากที่สุดในช่วงเวลาที่เลวร้าย ไม่ใช่ความเลวร้ายเหล่านั้น ความเลวร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าจดจำ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาผลักดันเป็นแรงที่จะต่อสู้ต่อไปสำหรับผู้รัก ประชาธิปไตยทุกท่าน
สิ่งที่น่าจดจำที่ว่านั้น คือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสภาวะเผด็จการริดรอนสิทธิเสรีภาพเช่นนี้
ซึ่งผมก็เป็นผู้หนึ่งนั้นที่ได้รับการช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้เสมอมา

ผมขอขอบคุณ สำหรับความเหนื่อยยากเกือบสองปีที่ผ่านมาและยังเดินหน้าต่อไป

ทีมทนายความจากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน พี่บื้อ พี่แสง พี่สมชาย พี่เมย์ พี่หมวย พี่ไพโรจน์ และอีกหลายๆคน ที่ร่วมทำคดีให้ตั้งแต่ต้น
อ.ปริญญา อ.นภาพร และแม่ของผม ที่เป็นนายประกันให้
เพื่อนนักศึกษาและรุ่นพี่บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คอยให้กำลังใจ
อาจารย์นิติ อาจารย์วีรศักดิ์ อาจารยสถิตย์ ไพเราะ อาจารย์สามชาย ที่ให้กำลังใจที่ช่วยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย
อาจารย์สุลักษณ์ มาเยี่ยมผมที่เรือนจำและให้กำลังใจเสมอมา
ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ที่มีจิตใจกว้างและรักความเป็นธรรม
พี่ปลา และทีมงานประชาไท ทำข่าวคอยติดตาม
ทีมงาน ILAW
เพื่อน อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่คอยให้กำลังใจ
อาจารย์นภาพร วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มธ. เป็นพยานและเป็นนายประกันทำให้พ้นจากการถูกกักขัง
อาจารย์จรัญ โฆษณานันท์ พี่เปิ้ล อาจารย์สามชาย ที่ช่วยเป็นพยานให้
เพื่อนผู้รักประชาธิปไตย โตโต้ จ่านิว โรม และอีกหลายๆคนที่น่าชื่นชมและกล้าหาญกว่าผมมาก
เพื่อนที่เขียนจดหมาย ทำให้ผมคลายเหงาเวลาที่อยู่ในคุก
เพื่อน พี่ นักโทษการเมือง พี่สมยศ ผู้คอยให้ความห่วงใยจัดหาของใช้ให้ และอีกหลายๆคน
องค์กรระหว่างประเทศที่คอยช่วยประสานและแสดงความห่วงใย

และพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านครับ