วันจันทร์, ตุลาคม 12, 2558

ซัด"ซิงเกิ้ล เกตเวย์"ทำไทยเป็นสังคม"กะลาภิวัตน์"


ยุกติ มุกดาวิจิตร

ปริญญา หอมเอนก

รุมจวก"ซิงเกิลเกตเวย์"นักวิชาการ มธ.ชี้ทำไทยเป็นสังคม"กะลาภิวัตน์" ครอบตัวเองในกะลา ด้านผู้เชี่ยวชาญอินเตอร์เน็ตหวั่นระบบสื่อสารไทยย้อนหลังไป 20 ปี 

ที่มา เดลินิวส์

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มสภาหน้าโดมจัดเวทีเสวนาเรื่อง "ซิงเกิ้ล เกตเวย์ อินเตอร์เน็ตเพื่อความมั่นคง?" โดยนายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอินเตอร์เน็ต กล่าวว่า ซิงเกิ้ลเกตเวย์ เป็นเรื่องที่ตนเพิ่งเคยได้ยิน ทั้งนี้ถ้าใครในประเทศนี้ที่จะทำให้มารวมท่อกันแล้วออกทางเดียว ตนขอยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้เทคโนโลยีด้านนี้ไปไกลกันหมดแล้ว จีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ยังมี 3 เกตเวย์ เขายังไม่ได้มีเกตเวย์เดียวเลย และมีการปิดกั้นคนเขาก็ลงใต้ดิน ไม่มีประเทศไหนที่จะไปฆ่าตัวอย่างนั้น ส่วนตัวตนไม่เห็นด้วย แลัวก็ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่เกิดประโยชน์อะไร ทั้งนี้ สิ่งที่ตนและคนไทยกังวลเรื่องนี้ คือเป็นการสกรีนข้อมูลของประชาชน โดยไม่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตนคิดว่าทำไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่จะเป็นการควบคุมและดักจับข้อมูลความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งผมไม่เห็นด้วย และกังวลในเรื่องนี้ 

"การทำในเรื่องที่เปิดและมีกฎหมายรองรับเป็นเรื่องที่เหมาะสม และต้องรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายด้วย ทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจจะมารวมกันนั้นเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญจะไปยกเลิกสัญญาระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกับเอกชนที่รับใบอนุญาตไปแล้วอย่างไร ถ้าคนก่อการร้ายหรือผู้ไม่หวังดีไปตัดสัญญาณซิงเกิลเกตเวย์ก็ถือว่าจบ รัฐที่ใส่ใจประชาชนต้องฟังความเห็นของประชาชนมากกว่า ความเชื่อส่วนตัวผมคิดว่าแนวคิดนี้น่าจะมาจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาแต่เพื่อประโยชน์ของใครไม่รู้ ผมเชื่อว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ไปต่อ และจัดการกับคนกลุ่มนี้อยากเด็ดขาด มิฉะนั้นนายกฯต้องปวดหัวต่อไป ทางแก้ปัญหามีอย่างเดียวคือรัฐบาลต้องพูดแต่ความจริง ต้องไปดูในสิ่งที่ชาวโลกเขาทำกัน และต้องสนับสนุนกฎหมายความเป็นส่วนตัวมากกว่า" นายปริญญา กล่าว 

ด้านนายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนมองว่านโยบายซิงเกิ้ล เกตเวย์แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมที่ครอบตัวเองอยู่ในกะลา นโยบายนี้รัฐไทยกำลังสร้างให้สังคมไทยเป็น"สังคมกะลาภิวัฒน์" ทำให้สังคมไทยอยู่ในกะลาภายใต้โลกใบใหญ่ที่เป็นโลกาภิวัตน์ โลกวันนี้ไปไกลกว่ายุคอินเตอร์เน็ตเข้าสู่สังคมดิจิตอล สื่อออนไลน์สามารถถ่ายทอดข้อมูลได้มากมีความเป็นสากลยิ่งกว่ารัฐต่างๆ ทั้งนี้ รัฐในยุคกะลาภิวัตน์มีลักษณะ คือ 1.ยังคิดการสื่อสารแบบคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ที่สามารถควบคุมได้อยู่ ซึ่งรัฐปัจจุบันไม่สามารถไปควบคุมคลื่นแบบเดิมได้แล้ว 2.กะลาภิวัตน์ต้องการเห็นสังคมที่มีลักษณะเชิงเดี่ยว สงบราบเรียบคิดเห็นไปในทางเดียวกันหมด ซึ่งสังคมแบบนี้ไม่เคยมีอยู่ สังคมไทยเป็นสังคมเชิงซ้อนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร คุณไม่สามารถปิดหูปิดตาประชาชนได้ 

นายยุกติ กล่าวอีกว่า 3.กะลาภิวัตน์เป็นสังคมคุณพ่อรู้ดีหรือปิตาธิปไตย ต้องคิดต้องทำตามพ่อเท่านั้น ซึ่งเหมาะกับสังคมขนาดเล็กเท่านั้น 4.กะลาภิวัตน์คือสังคมที่สร้างเผด็จการที่ยั่งยืน เป็นการทำลายประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ตนไม่ห่วงการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ห่วงตัวเองและลูกหลานว่าจะมีโอกาสกำหนดชะตาชีวิตตัวเองต่อไปหรือไม่ เป็นการสวนทางโลกที่เปิดโอกาสให้กับคนมากขึ้น แล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร เป็นแนวคิดที่ยิ่งกว่าตุลาการภิวัตน์มหาศาล ถ้าเราสถาปนาระบอบแบบนี้ขึ้นมาจะยิ่งเลวร้าย.“