วันศุกร์, ตุลาคม 16, 2558

“ความแตกสลายของอุดมการณ์เดือนตุลาฯ”




ที่มา kyotoview.org
เช้านี้ ผมเพิ่งไปไหว้วีรชน ๑๔ ตุลาฯ และ ๖ ตุลาฯ มา…..

ปกติ สัปดาห์หรือสองสัปดาห์ครั้ง ผมจะซื้อพวงมาลัย ๒ พวง ไปไหว้ประติมากรรมอนุสรณ์เหตุการณ์ประชาชนลุกขึ้นสู้เผด็จการ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และเหตุการณ์ล้อมปราบฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชน ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาลัยพวงหนึ่ง ผมจะคล้องมือรูปจำลองวีรชน ๑๔ ตุลาฯ แล้วพนมมือไหว้พลางน้อมรำลึกถึง“สิทธิเสรีภาพ”

อีกพวงหนึ่ง ผมจะวางบนกลางแท่นหินอ่อนรำลึกวีรชน ๖ ตุลาฯ แล้วพนมมือไหว้พลางน้อม รำลึกถึง “ความเป็นธรรมทางสังคม”

แน่นอน คำว่า “ความเป็นธรรมทางสังคม” เมื่อ ๓๐ ปีก่อนนั้นถูกตีความว่าเท่ากับ “ลัทธิสังคมนิยม” ก่อนที่วิกฤตทางการเมืองของขบวนการปฏิวัติไทยใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและวิกฤตอุดมการณ์สังคมนิยมสากลในสองทศวรรษต่อมาจะทำให้การตีความนี้ค่อย ๆ เลือนหายไป แต่กระนั้น ความใฝ่ฝันถึง“ความเป็นธรรมทางสังคม” ก็ยังดำรงคงอยู่

สำหรับ “คนเดือนตุลาฯ” รุ่นผม, แนวคิดอุดมการณ์ทั้งสองที่แทนตนโดยเหตุการณ์ประวัติ-ศาสตร์ ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ มีความแตกต่าง แต่ก็มีความต่อเนื่องเกี่ยวพันกันอยู่ อาจกล่าวได้ว่า ในแง่หนึ่ง ถ้าไม่มีสิทธิสรีภาพ ก็ไม่อาจต่อสู้แสวงหาความเป็นธรรมทางสังคม, ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีความเป็นธรรมทางสังคม สิทธิเสรีภาพที่ได้มาก็ไม่มีความหมาย – อย่างน้อยก็ไม่มีความหมายต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติร่วมโลกและร่วมทุกข์ร่วมสุขคนอื่น ๆ แม้ว่ามันอาจจะมีความหมายต่อปัจเจกบุคคลก็ตาม แต่นั่นไม่เพียงพอ

การแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของความแตกต่างทว่าต่อเนื่องเกี่ยวพันของสองแนวคิดอุดม-การณ์ดังกล่าวก็คือ[พันธมิตรสามประสาน: กรรมกร–ชาวนา–นักศึกษาปัญญาชน] ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้อย่างสันติในเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบเปิดช่วง ๓ ปีภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯพ.ศ. ๒๕๑๖ แล้วคลี่คลายไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทภายหลังรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และเผด็จการคืนชีพต่อมา

ผมอยากเสนอว่า อุดมการณ์ ๑๔ ตุลาคมและ ๖ ตุลาคม หรือนัยหนึ่งอุดมการณ์เดือนตุลาฯ อันได้แก่[สิทธิเสรีภาพ + ความเป็นธรรมทางสังคม] ดังกล่าวมานี้ได้ “แตกสลายลงแล้ว” ในปัจจุบันและเหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายแห่งความแตกสลายที่ว่าก็คือการแบ่งแยกแตกข้างของพลังประชาชนในสังคมไทยท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลทักษิณในรอบปีที่ผ่านมานั่นเอง

มันใช้เวลาถึง ๓๐ ปีกว่าที่อุดมการณ์เดือนตุลาฯจะอ่อนล้าลง ทว่าในที่สุดก็ดูเหมือนว่ามันจะโรยราแล้ว



ความข้อนี้สะท้อนออกให้เห็นได้ง่ายผ่านความขัดแย้งในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่ “คนเดือนตุลาฯ”ด้วยกันเอง ซึ่งต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แตกข้างแยกค่าย ด่าทอประณามกันเองชุลมุนวุ่นวายจนเละเป็นวุ้นไปหมดในระยะที่ผ่านมา
ข้างหนึ่งก็มีหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, หมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, ภูมิธรรม เวชยชัย, จาตุรนต์ฉายแสง, สุธรรม แสงประทุม, พินิจ จารุสมบัติ, อดิศร เพียงเกษ, เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, พิชิต ลิขิต-กิจสมบูรณ์ ฯลฯ
ส่วนอีกข้างได้แก่ธีรยุทธ บุญมี, พิภพ ธงไชย, ประสาน มฤคพิทักษ์, หมอเหวง โตจิราการ, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, แก้วสรร อติโพธิ, ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, คำนูณ สิทธิสมาน, ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, ยุค ศรีอาริยะ, สุวินัย ภรณวลัย ฯลฯ
ในประเด็นแหลมคมร้อนแรงต่าง ๆ ที่สืบเนื่องจากการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่ากรณีขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ เพื่อพระราชทานนายกรัฐมนตรี, กรณีตุลาการภิวัตน์, และกรณีรัฐประหาร ๑๙ กันยายน, หรือในหมู่อดีตนักเคลื่อนไหวปัญญาชนรุ่นถัด ๆ มาเช่น รุ่นพฤษภาประชาธรรม ๒๕๓๕, รุ่นปฏิรูปการเมืองและการเมืองภาคประชาชน ๒๕๔๐ ก็ตามความขัดแย้งแบ่งฝ่ายก็ดุเดือดไม่แพ้กัน
ความรุนแรงของความขัดแย้งเหล่านี้ถึงขั้นเว็บไซต์บางแห่งของเพื่อนพ้องน้องพี่ “คนเดือนตุลาฯ” และอดีตสหายจากป่า “เซ็นเซ่อร์” ข้อเขียนของธงชัย วินิจจะกูลที่โพสต์มาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมการสโมสร’ ๑๙ ของอดีตสหายภาคอีสานใต้ก็ถูกเพื่อนสมาชิกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแสดงท่าทีทางการเมืองที่ค่อนข้างใกล้ชิดรัฐบาลทักษิณอย่างหนักจนต้องประกาศลาออกทั้งชุดกลางคันเพื่อเปิดทางให้เลือกตั้งกันใหม่
อย่างไรก็ตาม หลักฐานแห่งความแตกสลายของอุดมการณ์เดือนตุลาฯที่แท้จริงคือการที่พลังประชาสังคมคนชั้นกลางที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง-เศรษฐกิจ แตกหักแยกทางกับ พลังเครือข่ายมวลชนรากหญ้าในเมืองและชนบทที่เรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคม อย่างเด็ดขาดชัดเจนตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา โดยฝ่ายแรกต่อต้านรัฐบาลทักษิณที่เป็นตัวแทนอำนาจการเมืองของชนชั้นนายทุนใหญ่ในประเทศ แล้วหันไปร่วมกับชนชั้นนำตามประเพณีขับโค่นรัฐบาลทักษิณในขณะที่ฝ่ายหลังสนับสนุนปกป้องรัฐบาลทักษิณ
นับเป็นตลกร้ายทางประวัติศาสตร์ ที่คนชั้นกลางพากันหันไปหวังพึ่งชนชั้นนำทหาร-ข้าราชการ-เทคโนแครต หรือหากจะเรียกในภาษาคนเดือนตุลาฯแต่เดิมก็คือชนชั้นนำ ขุนศึกขุนนางศักดินา” ว่าจะนำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพแก่ตน ในทางกลับกัน มวลชนรากหญ้าชั้นล่างก็กลับหวังพึ่งชนชั้นนายทุนใหญ่ผูกขาดว่าจะอำนวยความเป็นธรรมแก่ตนเช่นกัน
น้อยนักที่เราจะได้เห็นจิตสำนึกหลงผิดที่กลับหัวกลับหางทับซ้อนกันสองชั้น (double false consciousness) อย่างนี้ในสังคมการเมืองเดียว!
และถ้าหากนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) อย่างการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน, การเปิดเสรีกิจการสาธารณูปโภค, การทำข้อตกลง FTAs, รวมทั้งกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนและคอร์รัปชั่นทางนโยบายต่าง ๆ อาทิ การขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็กสิงคโปร์ ฯลฯ ของรัฐบาลทักษิณ เป็นหลักฐานความหลงผิดของฝ่ายหลังแล้ว…..
บรรดาประกาศคำสั่งของ คปค. โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็คือหลักฐานความหลงผิดที่ชัดแจ้งที่สุดของฝ่ายแรกนั่นเอง!แต่สิ่งเหล่านี้ต่างก็มีที่มาของมัน การที่คนชั้นกลางฝากความหวังเรื่องสิทธิเสรีภาพของตนไว้กับชนชั้นนำขุนศึกขุนนางศักดินาแทนที่จะเป็นชนชั้นนายทุนใหญ่ ก็มิใช่เพราะลักษณะอำนาจนิยม-อาญาสิทธิ์-อัตตาธิปไตยของรัฐบาลนายทุนใหญ่ที่ละเมิดลิดรอนหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้คนพลเมืองใต้การปกครองอย่างกว้างขวางโจ่งแจ้งตลอด ๕ปีที่ผ่านมาดอกหรือ? จนในที่สุด รัฐบาลนายทุนใหญ่ก็ผลักไสคนชั้นกลางกลุ่มต่าง ๆ ที่ควรเป็นฐานการเมืองของตนได้ให้ไปเป็นพันธมิตรของชนชั้นนำขุนศึกขุนนางศักดินาเสีย
พูดให้ถึงที่สุด การนำที่ผิดพลาดของทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทยนี่แหละที่ผลักการปฏิวัติกระฎุมพีของไทยให้ถอยหลังไปนับสิบปี!
ในทางกลับกัน การที่มวลชนรากหญ้าฝากความหวังเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคมของตนไว้กับชนชั้นนายทุนใหญ่ผูกขาด ก็เพราะทางเลือกเศรษฐกิจชุมชนพอเพียงนั้นลำบากยากเข็ญเนิ่นช้ายาวนาน เรียกร้องความปักใจมั่นเสียสละอดทนอดกลั้นอดเปรี้ยวไว้กินหวานมองการณ์ไกลสูง,ไม่ใกล้มือและไม่จูงใจเท่าทางเลือกประชานิยมเพื่อทุนนิยม + บริโภคนิยม (capitalist & consumerist populism) ของรัฐบาลนายทุนใหญ่ มิใช่หรือจนในที่สุด มวลชนรากหญ้าที่เคยเป็นฐานให้ชนชั้นนำขุนศึกขุนนางศักดินาเอาชนะการท้าทายที่ใหญ่โตที่สุดที่รัฐของพวกเขาเคยเผชิญมาในสงครามประชาชนกับคอมมิวนิสต์เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ก็กลับกลายเป็นฐานคะแนนเสียงเลือกตั้งและฐานมวลชนในการเคลื่อนไหวชุมนุมที่กว้างใหญ่และเหนียวแน่นยิ่งของพรรคชนชั้นนายทุนใหญ่แทนพูดให้ถึงที่สุดการที่มวลชนรากหญ้าส่วนมากหันไปนิยมนโยบายประชานิยมเพื่อทุนนิยม +บริโภคนิยมที่รัฐบาลนายทุนใหญ่หว่านโปรยมาก็สะท้อนขีดจำกัดแห่งพลังฝืนขืนทวนกระแสหลักของแนวทางเศรษฐกิจชุมชนพอเพียงนั่นเอง
การแสวงหาสิทธิเสรีภาพจากขุนศึกขุนนางศักดินา และการแสวงหาความเป็นธรรมจากนายทุนใหญ่ผูกขาด รังแต่จะนำไปสู่ทางตันเหมือนกันการหลงทางและป่าวประณามซึ่งกันและกันระหว่างอดีตสหายร่วมขบวนการหรือร่วมอุดมการณ์สามารถผลิตซ้ำตัวมันเองไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดบนพื้นฐานซีกส่วนต่าง ๆ ของอุดมการณ์เดือนตุลาฯเดียวกันนั้นเอง
ไม่มีคำด่าประณามของฝ่ายไหนผิดหมด แต่ก็ไม่มีฝ่ายที่ร้องด่าประณามผู้อื่นคนใดจะถูกถ้วนเช่นกัน (แน่นอน คงรวมทั้งผู้เขียนด้วยเพราะขีดจำกัดที่ยิ่งใหญ่เบื้องหน้าเราเป็นขีดจำกัดแห่งความเป็นจริงของพลังการเมืองและทางเลือกในประวัติศาสตร์ของสังคมไทยเองโดยรวมเป็นขีดจำกัดของทั้งชนชั้นนำตามประเพณีและของชนชั้นนายทุนใหญ่ผูกขาดที่ขึ้นมาใหม่, และเป็นขีดจำกัดของทั้งพลังประชาสังคมของคนชั้นกลางและของพลังเครือข่ายมวลชนรากหญ้าชั้นล่างด้วย
ที่สำคัญ มันเป็นขีดจำกัดที่แยกสลายอุดมการณ์เดือนตุลาฯให้แตกแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ อย่างถึงรากถึงโคนจนยากจะมองเห็นว่ามันจะกลับมาฟื้นฟูเชื่อมประสานเป็นปึกแผ่นเดียวกันอย่างไรต่อไปในอนาคต
โดย เกษียร เตชะพีระ
Kyoto Review of Southeast Asia Issue 8 (March 2007)
Originally published in Matichon Daily, 20 October 2006, p. 6.