วันอังคาร, ตุลาคม 13, 2558

นานาทัศนะ "รัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่เอาแล้ว"





2015-10-10

กระแสรัฐธรรมนูญกลับมาอีกครั้ง หลังได้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ล่าสุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญของปวงชนจากหลากหลายมิติ" โดยเชิญนักวิชาการจากหลากหลายสาขามาสะท้อนมุมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

ต่อเนื่องกันวันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2558 เวลา 6 โมงเย็น เว็บไซต์prachamati.org เองก็กำลังจัดกิจกรรม “รัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่เอาแล้ว ?” โดยเชิญชวนประชาชนทั่วไปใช้พื้นที่ในโซเชียลมีเดียของตนเองเพื่อส่งเสียงว่ารัฐธรรมนูญแบบไหนไม่เอาแล้ว พร้อมกับติดแฮชแท็ก ‪#‎ไม่เอาแล้ว

ก่อนจะถึงวันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม เว็บไซต์ประชามติขออุ่นเครื่องด้วย 3 ความเห็นจากนักวิชาการ 3 ด้าน ที่เราไปเก็บความคิดเห็นมาจากงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




เริ่มกันที่ ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหนึ่งในสมาชิกนิติราษฎร์ กล่าวถึงกรณีที่กำลังจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เนื้อหาในการที่จะร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการ เพราะหากเราได้กระบวนที่ดี พื้นที่ในการถกเถียงก็จะตามมา และรัฐธรรมนูญใดที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย เป็นรัฐธรรมนูญที่ตนไม่ยอมรับทั้งสิ้น เพราะขั้นต่ำที่สุดแล้ว ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเลือกคนเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ

"อะไรก็ตามที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ผมไม่เอาทั้งนั้น ซึ่งถ้าเราได้กระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม เนื้อหาก็จะพัฒนา เสรีภาพก็จะตามมาเอง" สมาชิกนิติราษฎร์กล่าว

นอกจากนี้ ปูนเทพยังกล่าวว่า สุดท้ายประชาชนต้องได้ลงประชามติ และต้องเป็นประชามติที่เป็นเสียงสุดท้ายของประชาชน โดยไม่ได้มีองค์อื่นใดมาแทรกแซงได้อีก ทั้งนี้ หากเราพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดที่เพิ่งตกไป จะพบว่าประชามติมันไม่ได้ที่สุดที่ประชาชน ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นปัญหาในเชิงหลักการ และเป็นปัญหาอยู่ในตัวอยู่แล้ว



ด้าน เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงรัฐธรรมนูญในมิติสิทธิมนุษยชนว่า “ตลอดระยะเวลาของประชาธิปไตยไทยติดกับดักเรื่องความมั่นคงและความเป็นชาติ ซึ่ง 20 ปีหลัง แม้จะมีพัฒนาการเรื่องประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย แต่ก็ยังติดแนวคิดความเป็นชาติและความมั่นคงของชาติ การจัดระเบียบ ความสงบเรียบร้อย ดังนั้นแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงต้องอยู่ภายใต้ความมั่งคงของชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในสังคมโดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจของรัฐ”

ทั้งนี้ “ถ้าเรามองกลับกันเอาหลักสิทธิมนุษยชนขึ้นมาก่อน รัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนเสรีภาพ ไม่ปล่อยให้อำนาจรัฐอยู่ในมือของคนไม่กี่คน ที่ถูกมองว่ามีคุณธรรมสูงกว่าเป็นผู้ที่จะสามารถตัดสินความเป็นไปของประเทศได้ และต้องจำกัดอำนาจรัฐบางอย่างเพื่อส่งเสริมเสรีภาพของปัจเจกบุคคล”

ในแง่กระบวนการ “รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายประจำรัฐบาลที่เปลี่ยนรัฐบาล ยึดอำนาจแล้วจะร่างใหม่แต่รัฐธรรมนูญคือกฎกติการ่วมกัน เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องมาจากประชาชน ถ้ารัฐธรรมนูญที่ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของต้องมาจากกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม ก็จะทำให้มีความหวังได้ว่าหลักการสิทธิเสรีภาพต่างๆ จะถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญที่ไม่ฟังเสียงประชาชนไม่มีความหมาย รัฐธรรมนูญที่ร่างในภาวะที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสียงแค่จะแสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นยังไม่ได้ มันก็ไม่น่าจะมีความหมาย”




สุดท้าย ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในสังคม “ในด้านเนื้อหา การกำหนดให้มีองค์กรที่ไม่ยึดโยงกับหลักประชาธิปไตย เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ส.ว.ลากตั้ง นายกฯ คนนอก ถ้าเอากลับมาอีกก็จะเกิดความขัดแย้ง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานเราผ่านการต่อสู้ทางการเมืองยาวนาน มันน่าจะลงหลักปักฐาน”

อีกประเด็น การร่างเนื้อหาที่ลิดรอนสิทธิของคนชายขอบ คนด้อยโอกาส เพราะ “คนชายขอบคนด้อยโอกาสต้องการขยายพื้นที่ทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการจัดการนโยบายสาธารณะ การร่างรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุม มันส่งผลต่อชีวิตของคนด้อยโอกาสทำให้พวกอยู่ไม่ได้

“ในด้านกระบวนการ กระบวนการที่เป็นอยู่ขณะนี้ ถ้าพูดถึงคนด้อยโอกาสเขาไม่มีสิทธิมีเสียงไม่ตัวแทน กระบวนการตอนนี้คับแคบ ผู้มีอำนาจในการเลือกคนร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนกลุ่มเล็กๆ เวลาเลือกก็เลือกคนที่มีความคิดเห็นเหมือนตนเอง เลือกพวกตัวเอง การร่างรัฐธรรมนูญควรให้มีการเลือกตัวแทนจากหลายภาคส่วน และการร่างต้องมีการเปิดเผยสาธารณะ ไม่ใช่เปิดลับเพราะกลัวความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา”

นี่คือสามความเห็นจากสามนักวิชาการ

คุณล่ะคิดอย่างไร วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคมนี้ เวลา 6 โมงเย็นเป็นต้นไป ร่วมกันป่าวประกาศพร้อมกันในโลกออนไลน์ว่า รัฐธรรมนูญแบบไหน? #ไม่เอาแล้ว

ooo

นานาทัศนะ "รัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่เอาแล้ว"

ที่มา FB

Prachamati - ประชามติ


‪#‎ไม่เอาแล้ว‬
รัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นหัวประชาชน
รัฐธรรมนูญที่คนจนอดอยาก
รัฐธรรมนูญที่ไม่กระจายอำนาจ
รัฐธรรมนูญที่ผูกขาดให้แต่นายทุน

#ไม่เอาแล้ว
รัฐธรรมนูญแห่งการแต่งตั้ง
รัฐธรรมนูญที่ที่ชอบสรรหา
รัฐธรรมนูญที่กดขี่ชาวไร่ชาวนา
รัฐธรรมนูญที่สถาปนาแต่พวกตน

#ไม่เอาแล้ว
รัฐธรรมนูญที่ร่างด้วยปืน
รัฐธรรมนูญที่ฝืนสิทธิเสรี
รัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าดูดี
แต่ไม่มีบทบัญญัติเพื่อประชาชน

ขอเชิญร่วมติด แฮชแท๊ก #ไม่เอาแล้ว ต่อด้วยรัฐธรรมนูญแบบไหนที่ท่านไม่เอา
ปกรณ์ อารีกุล
...

ท่านผู้นำ กับช่างตัดเสื้อ

เพื่อนที่ iLaw ถามว่ารัฐธรรมนูญแบบไหนไม่เอาแล้ว ชวนให้เล่น tag ‪#‎ไม่เอาแล้ว‬ ตอนหกโมงเย็น (ตรงกับที่อเมริกาตีสี่ ล้อเล่นป่าว?) ผมบอกว่าไม่มีความเห็น ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนูญ และเรียนหนัก (แต่ยังมีเวลาแปลสุนทรพจน์ภาษาจีน?)

เล่านิทานให้ฟังก่อนนอนก็แล้วกันนะครับ แน่นอน ผมดัดแปลงเขามา ไม้ได้คิดเอง

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีท่านผู้นำคนหนึ่ง ท่านโมโหว่า เสื้อที่เคยตัดกันมาก่อนไม่ได้เรื่อง จึงต้องฉีกทิ้งอยู่เรื่อยไป ข้าต้องการเสื้อที่ตัดเย็บแบบสากล แต่เหมาะสมกับความเป็นไทย เพอร์เฟคแบบไม่มีใครเหมือน พวกเจ้าต้องไปหามาให้ข้าให้จงได้ เข้าใจไหม!!

ท่านผู้นำจึงให้ตั้งคณะช่างตัดเสื้อชุดดรีมทีมขึ้นมา หัวหน้าคณะช่างตัดเสื้อยืนยันจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สนองคุณแผ่นดิน โดยเสื้อที่ตัดออกมาไม่เพียงแต่สีสันจะเขียวสวย รูปแบบจะงดงามเป็นพิเศษแล้ว เนื้อผ้ายังเป็นเนื้อผ้าวิเศษ เฉพาะคนที่มีใจเป็นธรรมเท่านั้นที่จะมองเห็นผ้าวิเศษนี้ได้ หากคนที่มองนั้นเป็นคนมีอคติหนาแน่น หรือไม่ปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง เขาจะมองไม่เห็นเสื้อวิเศษนี้

คณะช่างทำทีว่าดำเนินการทอผ้าอย่างขะมักเขม้น ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรบนหูกทอผ้าหรอก แต่ท่านก็ประชุมทำงานกันตลอดค่อนคืนดึกดื่นไม่ยอมพักผ่อน เดือนแล้วเดือนเล่าผ่านไป

เมื่อ "ทอและตัดเย็บเสร็จ" ท่านหัวหน้าคณะช่างก็ย้ำสรรพคุณเช่นเดิม เราทอด้วยเนื้อผ้าวิเศษ เฉพาะคนที่มีใจเป็นธรรมเท่านั้นที่จะมองเห็นผ้าวิเศษนี้ได้ หากคนที่มองนั้นเป็นคนมีอคติหนาแน่น หรือไม่ปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง เขาจะมองไม่เห็นเสื้อวิเศษนี้

ท่านผู้นำก็ให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิเข้าชม "เสื้อวิเศษ" ดังกล่าว เมื่อเข้าชม ทุกคนก็มองเห็นแต่หูกทอผ้าที่ว่างเปล่า หัวหน้าช่างตัดเสื้อก็ทำทีเรียกให้ท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายเข้าไปดูที่ใกล้ๆ โดยชี้ที่หูกที่ว่างเปล่า พร้อมบรรยายสรรพคุณ ย้ำเน้นว่ามีแต่คนที่ไม่อยากให้บ้านเมืองสงบที่จะมองไม่เห็นเสื้อวิเศษนี้

ถึงกระนั้นแม้ผู้ทรงคุณวุฒิจ้องมองสักเพียงใด เขาก็ไม่อาจที่จะเห็นอะไรได้ หัวหน้าช่างตัดเสื้อก็ถามว่า "ไม่มีคำแนะนำอะไรให้แก่พวกเราบ้างหรือครับ" สุดท้ายทุกคนก็บอกว่า "...สวย งดงามมาก" "ตัดได้สมตามคำสั่งและความหวังของท่านผู้นำ"

ท่านผู้นำได้ยินข่าวก็ดีใจมาก จึงต้องการขอไปชื่นชมบ้าง ท่านก็เดินทางไปพร้อมกับที่ปรึกษาคนสนิท ที่ปรึกษาไปถึงก็ทำท่าทางเงอะ ๆ เงิ่น ๆ มองหูกทอผ้าด้วยสายตาที่เหมือนจะตกใจ หัวหน้าช่างตัดเสื้อก็รีบพูดว่า "เป็นยังไงล่ะท่าน ผ้าชิ้นนี้ช่างงามวิเศษจริงไหม?" ที่ปรึกษาเมื่อได้ยินดังนั้น ก็ร้อนตัวขึ้นมาเลยทีเดียว จึงพูดแสดงความชื่นชมสำทับเข้าไปอีก และยังได้พูดกับท่านผู้นำที่ยืนเงียบๆ อยู่ข้างๆ อีกว่า "น่าชื่นชมทั้งลวดลายและสีเขียวสดใส" พร้อมทั้งชี้มือไปยังหูกผ้าอันว่างเปล่า

"โอ...ช่างสวยงามเหลือเกิน! ถูกใจข้าอย่างที่สุด" ท่านผู้นำพยักหน้าอย่างพอใจ

ท่านหัวหน้าคณะช่างจึงขอทำการเปลี่ยน "เสื้อวิเศษ" ให้ท่านผู้นำ โดยยกมือขึ้นข้างหนึ่งไว้ในอากาศ ทำทีเป็นถืออะไรบางอย่างไว้ในมือ เนื้อผ้าบางเบามากนะครับ แต่รับประกันแข็งแกร่งทนทานแก้ไขไม่ได้ เมื่อสวมแล้วจะสวยสง่ารักษาอำนาจต่อไปได้ครับ ท่านผู้นำค่อยๆ ถอดเสื้อออก

ทีมงานทำทีช่วยสวม พร้อมอุทาน "สวรรค์โปรด! สง่ามาก" "ลวดลายสวยอะไรเช่นนี้! สีก็เขียวสวย! เป็นเสื้อที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์!"

แล้วท่านผู้นำจึงเดินออกจากทำเนียบโบกมือทักทายประชาชนด้วยความมั่นใจ ทันใดนั้นก็มีเสียงของเด็กคนหนึ่งร้องว่า "อ้าว..ทำไม ท่านผู้นำแก้ผ้า"

นั่นคือสิ่งที่เด็กตัวเล็กๆ พูดออกมาด้วยความไร้เดียงสา และจากความเป็นจริงเห็นอย่างไรก็พูดออกไปอย่างนั้น "...ท่านผู้นำแก้ผ้า" "ท่านผู้นำแก้ผ้า!" ในที่สุดประชาชนทั้งหมดก็ตะโกน ร้อง แล้วต่างก็หัวเราะออกมาด้วยนึกขำจนสุดที่จะทนเลยทีเดียว

นิทานก่อนนอนเป็นอันจบบริบูรณ์ ส่วนโลกความเป็นจริงก็ยังคงดำเนินต่อไป เราก็ยังเชื่อกันว่าสามารถตัด "เสื้อวิเศษ" กันได้อยู่

หวังว่า ในการตัดเสื้อวิเศษ เราจะเปิดกว้างให้มีบรรยากาศแลกเปลี่ยนที่เป็นมิตร เปิดใจกว้างให้กันและกัน อย่าตั้งแง่เลยว่า หากคนที่มองนั้นเป็นคนมีอคติหนาแน่น หรือไม่ปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง เขาจะมองไม่เห็นเสื้อวิเศษนี้

หวังว่า คณะผู้ตัดเสื้อในโลกแห่งความเป็นจริง จะไม่หลอกท่านผุ้นำ หรือทำให้สุดท้ายท่านผู้นำล่อนจ้อน

หวังว่า ท่านผู้นำจะไม่บังคับให้คณะช่างฯ ตัดเสื้อวิเศษให้มีสีเขียวเข้ม ให้ช่วยเพิ่มสง่าราศีและช่วยรักษาอำนาจ เพราะอาจไม่มีใครกล้ากราบเรียนท่านตามตรง ว่าผลไม่ดีท้ายที่สุดอาจเกิดแก่ตัวท่านเอง

รัฐธรรมนูญที่ดี จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ให้ท่านผู้นำรักษาอำนาจเดินโชว์ประชาชน แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้ท่านลงจากหลังเสือ และวางกลไกปกติที่เหมาะควรให้แก่สังคมในกาลต่อไป
Arm Tungnirun

...
‪#‎ไม่เอาแล้ว‬ รัฐธรรมนูญที่มีที่มาที่ไปไม่ยึดโยงกับประชาชน บุคคลที่ถูกแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการร่างมีที่มาที่ไปจากคณะรัฐประหาร เราอยากกำหนดกฎกติกาอันจะเป็นตัวกำหนดผู้ที่มาใช้อำนาจแทนเรา ด้วยตัวเรา ยึดโยงกับเรา ฟังเสียงของพวกเรา #ไม่เอาแล้ว แบบที่เป็นอยู่ เขาทำอยู่ ดำเนินการอยู่

Yuttana Teeb

...

‪#‎ไม่เอาแล้ว‬

ไม่เอาการใช้ “วิธีการ” อะไรก็ได้ เพื่อจะนำไปสู่ “เป้าหมาย” ที่อ้างว่าดี

เป้าหมาย – ที่อ้างกันว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็น “ประชาธิปไตย” จะทำให้สังคมสงบสุขเรียบร้อย จะสามารถแก้ไขความขัดแย้งนานาได้

แต่อาศัยวิธีการ -- อย่างการจับกุมคุมขังผู้คนจากการแสดงความคิดเห็น อย่างการข่มขู่คุกคามผู้คนที่เห็นต่างไป อย่างการปิดพื้นที่การแสดงออก อย่างการให้ทหารถือปืนมีอำนาจทำนู้นทำนี่ตามใจชอบ อย่างการพูดอย่างทำอีกอย่าง อย่างการเชื่อว่ามีคนดีไม่กี่คนที่รู้ดีกว่าคนอื่นๆ อย่างการปฏิเสธความมีสิทธิมีเสียงมีอำนาจในการตัดสินใจของคนธรรมดา – เพื่อไปสู่เป้าหมายดังว่า

เชื่อว่าวิธีการเหล่านี้จะนำไปสู่เป้าหมายที่เป็นประชาธิปไตยได้จริงๆ หรือ

ดอกไม้สวยงามคงไม่งอกขึ้นมาจากการทำลายเนื้อดินที่เป็นฐานหล่อเลี้ยงให้มันเติบโตหรอก
 Noppon Archamas


.....
รัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบมีอำนาจเหนือกว่าประชาชนทั้งประเทศ‪#‎ไม่เอาแล้ว‬

Than Rittiphan
@BKKRickLee
...

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557..ก็เช่นเคยเหมือนรัฐประหารที่ผ่านมา
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่คลอดจาก รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ก็ถูกฉีกอย่างไร้เยื่อใย แม้ว่าก่อนหน้านั้น มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นผ่านกระบวนการทางรัฐสภา แต่ก็ถูกองค์คณะพิทักษ์รัฐธรรมนูญหวงไข่อย่างกับจงอาง

อันที่จริงโดยส่วนตัวรู้สึกเฉยชาและเบื่อหน่ายกับการติดตามกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะไม่เชื่อว่าจะมีสิ่งดีงามเกิดจากความฉ้อฉล หรือหากจะบังเอิญให้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญออกมาได้ดีไร้ที่ติจริงๆ มันก็จะยังคงมีตำหนิเบ้อเร่อจากจุดกำเนิดและกระบวนการที่ไม่เห็นหัวประชาชน

ประชาธิปไตย 99.999999999999% คงเป็นเพียงคำพูดหลอกเด็ก ที่คณะรัฐประหารผู้ฝักใฝ่อำนาจท่องไว้เพื่อล่อหลอกประชาชน

ร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งถูกคว่ำไป แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องให้ยินดี เพราะสุดท้ายก็เหมือนเป็นเพียงเกมยื้ออำนาจ แต่ก็อดโล่งใจลึกๆ ที่ไม่เกิดเกมกระทำชำเราอำนาจประชาชนผ่านกระดาษชำระรัฐธรรมนูญ

กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ โดยมีคนที่น่ารังเกียจที่สุดคนหนึ่ง(สำหรับคนที่เชื่อเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน) เป็นประธานคณะฯ

ถ้าจะบอกว่าเรา ‪#‎ไม่เอาแล้ว‬ กับอะไร ก็อยากบอกว่าไม่เอาแล้ว ไม่ต้องร่างรัฐธรรมนูญบนหัวประชาชน ถ้าอยากทำอะไรดีๆ เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน คืนอำนาจให้ประชาชน ให้ประชาชนได้เลือกตั้ง กำหนดอนาคตและ ร่างรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย ‪#‎ไม่มีการปฏิรูปใดสำเร็จหากไม่เห็นหัวประชาชน‬

#ไม่เอาแล้ว รัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร

Chiranuch Premchaiporn


...
‪#‎ฉันไม่เชื่อ‬ ว่าเราประชาชนจะไม่รู้สึกอะไรเลยกับการเมือง
ฉันไม่อยากจะเชื่อ ว่าคนนอกเมือง คนชายขอบ จะคิดไม่เป็น
ฉันไม่เคยเชื่อ ว่าคนเมืองทั้งเมืองเล็ก เมืองใหญ่ จะไร้ความรู้สึกต่อท้องถิ่นที่ตนเองจากมา และฉันกำลังเชื่อ ว่าเราประชาชน แม้เงินในกระเป๋าจะมีไม่เท่ากัน แต่ศักดิ์ศรีและสิทธิทางสังคม ต้องเท่ากัน

‪#‎สามสิบเก้าปี‬ แล้ว ที่ความเกลียดชังเริ่มฆ่าคน 39 ปีมาแล้ว ที่ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตในวันนั้น ไม่เคยถูกเอ่ยนามในประวัตศาสตร์ชาติของเรา และมากกว่า 39 ปี ที่เรายินยอมให้เจ้าคนนายคนกดขี่ไพร่ทาสสามัญชน

‪#‎รัฐธรรมนูญ‬ 19 ฉบับที่เขียนกันขึ้น มันถูกเขียนเพื่อรองรับความชอบธรรมให้กับคนของรัฐ โครงสร้างของรัฐ และผู้ปฏิบัติตามคำสอนของชาติ .. รัฐธรรมนูญไม่เคยระบุอำนาจของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ไม่เคยมีความเป็นประชาธิปไตย

‪#‎ไม่เอาแล้ว‬ รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ไม่เอาอีกแล้ว ตัวแทนประชาชนที่ไม่เคยเห็นหัวประชาชน
พอได้แล้ว การพัฒนาที่ข้ามหัวคนท้องถิ่น
หยุดได้แล้ว การโฆษณาชวนเชื่อท่องจำ มันไม่เคยให้โอกาสประชาชนได้คิดเลย

Pongsuda Gasayapanan

...

‪#‎ไม่เอาแล้ว‬ รัฐธรรมนูญที่ความเท่าเทียมไม่มีอยู่จริง พร่ำบ่นแต่เรื่ิองความดีปลอมๆกับคุณธรรมแบบผลิตสร้าง "ความเป็นพลเมืองที่ต้องสอบต้องท่องจำ"

Inthira.Vit
@TumMeng_inthira

...

‪#‎ไม่เอาแล้ว‬ รัฐธรรมนูญที่นิรโทษกรรมคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจไปจากประชาชน

ไม่เอาแล้วรัฐธรรมนูญที่รับรองความไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการกระทำของคณะรัฐประหารในอดีตยันอนาคต

การที่เรายอมรับนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารและการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะรัฐประหาร นอกจากเป็นการทำลายหลักการแล้วยังสร้างวัฒนธรรมการลอยนวลของผู้กระทำความผิดและทำให้การรัฐประหารยังดำรงอยู่ต่อไป หากการรัฐประหารสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง เราก็คงสามารถแก้ไขปัญหาได้นานแล้วไม่ต้องวนเวียนกับวัฏจักรนี้ถึง13 ครั้งตลอด 83 ปีที่ผ่านมา

การแก้ไขปัญหาด้วยหลักการประชาธิปไตยและนิติรัฐเท่านั้นที่จะนำเราออกจากวังวนของความขัดแย้งได้

May Poonsukcharoen
....

‪#‎ไม่เอาแล้ว‬ รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

เบื่อ...เขียนแล้วก็ฉีก แล้วก็ต้องเรียนใหม่ อ่านใหม่ ทำความเข้าใจใหม่ มีปัญหาอะไรก็เอาแต่โทษรัฐธรรมนูญ ก็ลองดูว่า ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนลงในกระดาษให้ฉีกแล้วจะทำยังไง

หยุดเขียนเถอะ ถ้าเขียนมาแล้วทำตามหลักการที่เขียนไม่ได้น่ะ หรือว่าเขียนแต่อะไรสวยๆ แต่ในทางปฎิบัติจริงมันทำอะไรไม่ได้เลย มันไร้ประโยชน์

ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายไม่ได้ ก็ไม่ต้องเขียน ก็ใช้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง ใช้จารีตประเพณี คำตัดสินของศาล และอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีอยู่ได้ไหม ใช้ๆไป กฎหมายตัวไหนไม่พอใจก็ค่อยแก้ไปที่ละตัว อยากจะเพิ่มเติมอะไรก็เขียนมา ไม่พอใจพฤติกรรมแบบไหนก็ฟ้องศาล เอาทนายไปสู้ตามแต่อุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายในศาล แล้วยึดคำตัดสินของศาลเป็นบรรทัดฐาน ก็สู้ไปแบบนี้ จะเป็นไปได้ไหมนะ?

มีคำพูดคำหนึ่งที่เคยได้ยินสมัยเรียนและจำได้จนวันนี้ว่า "รัฐธรรมนูญที่ดีไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ทุกอย่างว่าใครต้องทำอะไร มันแค่กำหนด "หลักการกว้างๆ" เอาไว้ เพื่อวาง 1.รูปแบบและโครงสร้างการปกครองประเทศ 2.ประกันสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน ที่เหลือนั้นมันเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบท บางประเทศที่เสรีภาพมันขยายขอบเขตได้ก็เพราะเขาสู้กันในศาล สู้กันหลายรอบจนกว่าจะได้สิทธินั้นมา"

เพราะฉะนั้น ถ้าตอนนี้ยังเขียนให้ออกมาถูกใจทุกฝ่ายไม่ได้ และถ้าคิดว่าในอนาคตเขียนแล้วก็จะฉีกอีก หรือเขียนแล้วจะไม่ทำตามที่เขียน ปล่อยให้มันเป็นเพียงตัวหนังสือที่จ่ายไปด้วยราคาแพงๆ ก็ไม่ต้องเขียนแล้วก็ได้นะ รำคาญมาก
.
เอาจริงๆ ก็ที่ว่าไปก็คงเป็นไปไม่ได้หรอก บ่นไปตามจินตนาการ ไม่ได้มีหลักการอะไรเลย ก็แค่คนมันรำคาญที่เขียนๆฉีกๆ น่ะ

Kade Thoss

...

‪#‎ไม่เอาแล้ว‬ (ได้มั้ย)

อย่าทำให้เรารู้สึกไม่มีส่วนร่วมอย่างที่เราเป็นอยู่อย่างนี้อีกเลย

อย่าบังคับเราทางอ้อมให้เราอยากไปเป็นประชากรประเทศอื่นอีกเลย เราเชื่อว่าเรามีประโยชน์ต่อที่นี้

อย่าทำตัวเป็นปรปักษ์กับเราเลย เราเป็นประชาชน

อย่าได้จัดสรรทรัพยากร ซึ่งได้มาจากประชาชนส่วนมากไปเพื่อคนไม่กี่กลุ่มอีกเลย ทรัพยากรควรได้รับการบริหารอย่างเท่าเทียม ยุติธรรม

อย่าคิดว่า ตัวเองคิดดีกว่าผู้อื่นและพยายามเลือกสิ่งที่ดีกว่าให้ โดยที่ท่านคิดว่าท่านหวังดีอีกเลย (เพราะท่านเองก็รู้ว่าจริงๆแล้วมันไม่ใช่ )

อย่าสร้างเงื่อนไข ที่มันตีบตันจนนำไปสู่ความรุนแรงอีกเลย ประวัติศาสตร์สอนเราว่า ไม่เคยมีใครได้ผลประโยชน์จริงๆ จากการสูญเสีย...

ไม่เอาแล้ว...ได้ไหม........

Surachai Petsangrot

...

ไม่เอานายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เอาสว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เอาองค์กรเหนือรัฐบาลทุกชนิดทุกประเภท ไม่เอาอำนาจองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจผิดและบิดเบือนหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุล (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) ไม่เอาสิทธิพิเศษใดๆให้กับองค์กรอิสระและองค์กรตามรธน.ทั้งหลายที่จะไม่ถูกตรวจสอบ ‪#‎ไม่เอาแล้ว‬

Wattanachai Winichakul

...

‪#‎ไม่เอาแล้ว‬

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยึดโยงกับความเป็น "ประชาธิปไตยสมบูรณ์"
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นประชาธิปไตยทั้ง"สี่เสาหลัก" (ที่ไม่ใช่ "สี่เสาเทเวศน์) กล่าวคือ 1.ประชาธิปไตยทางการเมือง 2.ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ 3.ประชาธิปไตยทางสังคม และ 4.ประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยึดโยงกับคนเล็กคนน้อย
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยึดโยงกับ "กลิ่นโคลนสาบควาย" และ "กลิ่นเหงื่อแห่งแรงงาน"

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยึดโยงกับเสรีภาพ ภราดรภาพ สวัสดิการสังคม และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ที่เห็น "คนเท่ากัน" มีทั้งสิทธฺิและเสรีภาพที่จะเป็นทั้ง "ผู้สร้าง" "ผู้รับ" และ "ผู้สืบทอด"

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องชัดเจน ง่าย งาม และชัดอย่างที่สุดว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน" ไม่ใช่ "อำนาจอธิปไตยเป็นของคณาธิปไตย"

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยึดหลักประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติภาวะแห่งแผ่นดิน - ลดอำนาจเมือง เพิ่มอำนาจชนบท , ลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจท้องถิ่น , ลดอำนาจราชการ เพิ่มอำนาจประชาชน

สุชาติ สวัสดิ์ศรี