วันศุกร์, พฤษภาคม 01, 2558

DIGITAL ECONOMY - The Industry Speaks : นักลงทุนต่างชาติย้ำ 'เศรษฐกิจดิจิทัล' ต้องไม่ถูกสอดแนม-ตัวแทนอียูชี้ต้องมีการแข่งขันที่เป็นธรรม



ที่มา ประชาไท
Thu, 2015-04-30

นักลงทุนต่างประเทศในไทยจัดเวทีคุยเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ชี้ต้องไม่ถูกสอดแนมโดยไม่มีเหตุอันควร ตัวแทนอียูย้ำความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลและการเอื้อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แนะสร้างสมดุลเสรีภาพอินเทอร์เน็ตกับความมั่นคง

28 เม.ย. 2558 ในการสัมมนาหัวข้อ Digital Economy: The Industry Speaks จัดโดย สมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) ร่วมกับ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) หลุยซา ราเกอร์ รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจดิจิทัลว่าจะต้องมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (hard infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการกำกับดูแล (soft infrastructure) ที่ดี ทั้งนี้ องค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมต้องมีความเป็นอิสระ เพื่อที่จะออกแบบกฎและแนวทางที่ชัดเจน เพื่อปกป้องสิทธิผู้บริโภค และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม

ราเกอร์แนะนำให้ไทยดำเนินการตามมาตรฐานสากล ให้ความเป็นอิสระกับองค์กรกำกับดูแล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ ทำให้เกิดกฎที่มีความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อเอื้อสภาพแวดล้อมในการลงทุน ทำให้เกิดการแข่งขัน พร้อมยกตัวอย่างสหภาพยุโรปที่ล้มเลิกผูกขาดและพยายามเปิดเสรีเครือข่ายโทรคมนาคม ทำให้เกิดการแข่งขัน และผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการเคลื่อนที่ในราคาที่จ่ายได้

สำหรับประเด็นเรื่องอินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้ (trusted internet) ราเกอร์ ระบุว่า การที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกังวล โดยรัฐบาลต่างๆ พยายามออกมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโครงข่าย บางครั้งมีการร่วมมือกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพื่อสอดแนมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า อินเทอร์เน็ตควรจะคงการเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมหรือไม่ ทั้งนี้ เธอเห็นว่าจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพกับความมั่นคง

ราเกอร์ กล่าวต่อว่า ปัญหาต่างๆ นั้นไม่สามารถแก้โดยสั่งการจากบนลงล่าง โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวได้ แต่ต้องพยายามใช้วิธีการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการออกแบบการกำกับดูแลร่วมกัน


เสียงจากภาคอุตสาหกรรมต่อ 'นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล'

บ็อบ ฟอกซ์ ประธานกลุ่ม ICT หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า ปัจจัยที่จะดึงดูดนักลงทุน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและบริการโทรคมนาคมที่เชื่อถือได้ มั่นคงและยืดหยุ่น แรงงานที่มีทักษะ การดำเนินธุรกิจโดยไม่ถูกสอดแนมโดยไม่มีเหตุอันควร การได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของเศรษฐกิจดิจิทัล และการมีกฎเกณฑ์สำคัญๆ ที่ดีกว่าประเทศอื่น

"เราไม่อยากดำเนินธุรกิจโดยรู้สึกว่าถูกสอดแนมอยู่ตลอดเวลา และในยุคสมัยใหม่นี้ เราก็ต้องการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของเศรษฐกิจดิจิทัล เราอยากเห็นอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าทั้งต่อธุรกิจ การศึกษา สังคม และวิถีชีวิต" ฟอกซ์กล่าว

เขาชี้ว่า ในชุดร่างกฎหมายสิบกว่าฉบับที่จะออกมาเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไปคือ การปรับปรุงกฎหมายด้านการแข่งขัน และการออกกฎหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้าง เช่น การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลัง (backbone) ของเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ เขากล่าวแสดงความห่วงใยถึงบทบาทของ กสทช. โดยเน้นว่า กสทช.ควรมีความเป็นอิสระ นอกจากนี้ การจัดสรรคลื่นก็ควรทำโดยการประมูล

เมื่อพูดถึงอินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้ (trusted internet) เขากล่าวว่า เขาสนับสนุนโมเดลการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

เขาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึง ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วยว่า หากรัฐจะทำการสอดแนม ควรจะต้องมีกระบวนการในการพิสูจน์ความจำเป็นในการสอดแนม โดยมีกระบวนการที่ชอบ (due process) ด้วย