วันพุธ, พฤษภาคม 20, 2558

"ประชามติใบ้ล้างบาป?" + 7 เหตุผลที่ประชาชนควรปฏิเสธ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเขียว-เหลือง"




"ประชามติใบ้ล้างบาป?"

คสช.ครม.ตกลงยอมทำประชามติ รธน. เป็นการตัดสินใจที่น่ายกย่องชื่นชมหรือไม่

ตอบได้ว่า "ดีกว่าไม่ทำ" แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำประชามติแล้วจะมีความชอบธรรม

เพราะรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มันไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้นแล้วละ ยังไงๆ ประชามติก็ "ล้างบาป" ไม่ได้

อ้าวแล้วทำไมต้องเรียกร้องให้ทำประชามติ ก็เพราะเป็นวิถีทางเดียวที่ประชาชนจะปฏิเสธกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมนี้ แม้ว่าจะเสียเปรียบอย่างไรก็ยังดีกว่าถูกบังคับใช้พันธนาการชั่วกัลปาวสาน

ความหมายของประชามติจึงอยู่ที่ "ทำอย่างไร" ด้วย ยอมให้รณรงค์คัดค้าน ดีเบต ถกเถียงกันผ่านสื่อสาธารณะไหม หรือพูดอ้างข้างเดียว หรือยอมให้รณรงค์ได้ภายใต้ ม.44

ถ้าเป็น "ประชามติใบ้" นอกจากไม่สามารถล้างบาปได้ ก็ยิ่งเพิ่มความไม่ชอบธรรม

Atukkit Sawangsuk



ooo

ที่ประชุม ครม.-คสช.เห็นชอบให้ทำประชามติ

ที่มา เวป Prachamati - ประชามติ
.
19 พ.ค. ในการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติ ซึ่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะรับผิดชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ ครม.
.
ด้านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญภายในเดือนมิถุนายนนี้ และหากมีข้อสรุปให้ทำประชามติ จะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ไม่เกินเดือนมกราคม 2559 และจะส่งผลให้โรดแมปเลื่อนออกไปอีก 3-4 เดือน โดยการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือนสิงหาคม 2559
.
อ่านรายละเอียดได้ที่

ที่ประชุม ครม.-คสช. เห็นชอบ ให้แก้ไขรธน.′57เพื่อเปิดช่อง "ทำประชามติ"
https://www.prachamati.org/news/218

"วิษณุ" คาดทำประชามติ ม.ค. 59 ได้เลือกตั้งไม่เกิน ส.ค. 59
https://www.prachamati.org/news/219

ooo

7 เหตุผลที่ประชาชนควรปฏิเสธ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเขียว-เหลือง"



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 
โดย จิรภัทร ธรรมาวรานุคุปต์ / ปราชญ์ ปัญจคุณาธร

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุด ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้เขียนในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศคนหนึ่ง เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะสร้างความเสียหายต่อประเทศไทยร้ายแรงกว่าฉบับใดๆ ที่ผ่านมา เราทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเรื่องที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งแต่งตั้งโดยตรงจาก สปช. (โดยอ้อมจาก คสช.) แต่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้นคือเรื่องเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวคือเนื้อหาแทบทุกหมวดไม่ได้เป็นไปเพื่อประชาชน แต่เป็นไปเพื่อการรักษาอำนาจของคนกลุ่มหนึ่ง

ผู้เขียนขอสรุป 7 เหตุผลหลักที่ประชาชนควรปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “เขียว-เหลือง" ดังนี้

1. ร่างรัฐธรรมนูญนี้พรากอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน

ร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจ 3 "องค์กรมหาเทพ" ล้นฟ้าอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนเรียกได้ว่ามีอำนาจเหนือกว่าปวงชนชาวไทย สามองค์กรนี้ได้แก่ วุฒิสภา (แต่งตั้งทั้งหมด ไม่ว่าจะทางตรงหรืออ้อม) ศาลรัฐธรรมนูญ (แต่งตั้งโดยวุฒิสภา ตามมาตรา 229 ประกอบมาตรา 231) และ "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" (ซึ่งเป็นองค์กรตั้งขึ้นใหม่ แต่สมาชิกกว่า 3 ใน 4 มาจาก สนช. และ สปช. ชุดปัจจุบัน ตามมาตรา 279)

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ: ร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ เสนอกฎหมายได้เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อเสนอไปแล้ววุฒิสภาแต่งตั้งสามารถผ่านกฎหมายนั้นได้แม้จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 280) นี่หมายความว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่มี 3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา (แต่งตั้งทั้งหมด) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ (แต่งตั้งทั้งหมด) โดยสองสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งสามารถตรากฎหมายเองได้โดยไม่ต้องสนใจสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ในแง่นี้เจตจำนงของประชาชนจะไร้ความหมายแทบจะสิ้นเชิง หากอำนาจอธิปไตยคือสิทธิขาดในการออกกฎหมายแล้ว เราย่อมกล่าวได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ริบอำนาจอธิปไตยไปจากมือประชาชนเจ้าของประเทศ

ศาลรัฐธรรมนูญ: ร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเหนือปวงชนชาวไทย เช่น มาตรา 67 เปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญล้มล้างผลประชามติของปวงชนชาวไทยได้ ด้วยการวินิจฉัยว่าการหัวข้อประชามตินั้น "เป็นเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ" นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจปัดตกกฎหมายได้ทุกฉบับ ตีความถ้อยคำต่างๆ ในรัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา แทรกแซงข้อบังคับขององค์กรของรัฐได้ทุกองค์กร ไม่เว้นแม้แต่ข้อบังคับการประชุมสภาฯ (มาตรา 143) ศาลรัฐธรรมนูญยังสามารถวินิจฉัยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการขาดคุณสมบัติ (หรือ ปลด) ได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการระดับท้องถิ่น ขอเพียงแค่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผู้นั้นกระทำการที่ "ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะขัดกับประโยชน์ส่วนรวม" หรือ "เป็นที่เสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหน้าที่" ก็เป็นเหตุเพียงพอแล้ว (มาตรา 248 (4)) นี่หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจเหนือทั้งประชาชนและตัวแทนประชาชนโดยสมบูรณ์

2. ร่างรัฐธรรมนูญนี้สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร และองค์กรที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง

นอกจากตั้งองค์กรมหาเทพแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังคืนชีพ สนช. และ สปช. มาอยู่ในรูป "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" และ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ" ทั้งยังให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งต่อไปแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะประกาศใช้แล้ว (มาตรา 306) และให้ สนช. ทำหน้าที่เป็นรัฐสภาจนกว่าจะมีการประชุมสภาครั้งแรก (มาตรา 305 วรรคหนึ่ง) ซ้ำร้าย ต่อให้มีสภาผู้แทนราษฎรแล้วแต่ถ้ายังไม่มีวุฒิสภา ก็ให้ สนช. ปฏิบัติหน้าที่เป็นวุฒิสภาต่อ (มาตรา 305 วรรคสอง) นี่หมายความว่าคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถอยู่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (ซึ่งจะกำหนดอำนาจและที่มาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกจำนวนมาก) และ สนช. จะตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เหล่านั้นได้ทุกฉบับ โดยที่ประชาชนและตัวแทนประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย

นอกจากนี้ ในขณะที่ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกตัดสิทธิไม่ให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (มาตรา 310 วรรคท้าย) แต่ร่างรัฐธรรมนูญกลับยกเว้นให้ ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 (ซึ่งบางส่วนเป็นสมาชิก สนช. และ สปช.) กลับมาเป็น ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ (มาตรา 308 (3))

สุดท้ายนี้ นอกจากร่างรัฐธรรมนูญจะสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารผ่านองค์กรต่างๆ แล้ว ยังสืบทอดอุดมการณ์ของคณะรัฐประหารผ่านการบังคับให้ประชาชนต้องปฏิบัติตัวเป็น “พลเมือง” ตามแนวคิดของ คสช. (ภาค 1 หมวด 2) และกำหนดกรอบนโยบายของรัฐด้านต่างๆ ภายใต้ข้ออ้าง "การปฏิรูป" (ภาค 2 หมวด 2 และภาค 4 หมวด 2)

3. ร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้าง "อุตสาหกรรมการลากตั้ง" ให้นักลากตั้งหากินกับเงินภาษีประชาชน

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องทำมาหากินให้กับนักลากตั้ง ด้วยการสร้างองค์กรแต่งตั้งใหม่ๆ ขึ้นมามากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกเหนือจาก "องค์กรอิสระ" ที่มีอยู่เดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ในระดับชาติร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังสร้างองค์กรประหลาด เช่น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ, สมัชชาพลเมือง, คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ, คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ, คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ, คณะกรรมการอิสระว่าด้วยค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ

ในระดับท้องถิ่น ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มี "สภาตรวจสอบภาคพลเมือง" ในทุกจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคณะ (มาตรา 71) และให้มี "คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยระบบคุณธรรม" อีกจังหวัดละหนึ่งคณะ (มาตรา 216 (3))

รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้ซึ่งเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านี้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน (เช่น มาตรา 28) นั่นหมายความว่าองค์กรประหลาดเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้ "นักลากตั้ง" ได้ทำมาหากินกับเงินภาษี บนน้ำพักน้ำแรงของประชาชน ประชาชนทุกท่านในฐานะผู้ต้องเสียภาษีควรตระหนักว่าองค์กรเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ตำแหน่งในคณะกรรมการใหญ่เท่านั้นแต่จะมีคณะอนุกรรมการและคณะทำงานอีกจำนวนมากและตำแหน่งในคณะเหล่านี้ล้วนมาพร้อมอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้ช่วย และผู้ชำนาญการด้านต่างๆ อีกมาก โดยส่วนใหญ่แล้วนักลากตั้งก็มักจะแต่งตั้งสามี-ภรรยา ญาติพี่น้อง และพรรคพวก เข้ามารับเงินเดือน หากินกับเงินภาษี ดังที่เราได้เห็นสมาชิก สนช. และ สปช. ทำกันแล้วอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้าง "อุตสาหกรรมการลากตั้ง" ที่ใหญ่โต และมีเงินสะพัดมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

4. ร่างรัฐธรรมนูญนี้มุ่งทำให้ฝ่ายบริหารเป็นอัมพาต บริหารประเทศไม่ได้

ประการแรก ร่างรัฐธรรมนูญตัดแขนตัดขาฝ่ายบริหาร ด้วยการตัดทำให้ฝ่ายบริหารไม่สามารถควบคุมหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจได้ เช่น มาตรา 251 กำหนดว่า "นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง...ในเรื่องดังต่อไปนี้ (1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ (2) การบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ (3) การให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากตำแหน่ง (4) การแต่งตั้งและการให้กรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐพ้นจากตำแหน่ง" ในทางปฏิบัติแล้วนโยบายของรัฐทุกนโยบายล้วนกระทบต่อ "ประโยชน์ของผู้อื่น" ทั้งสิ้น ดังนั้นมาตรา 251 จะทำให้ฝ่ายบริหารไม่สามารถสั่งการข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจให้ขับเคลื่อนนโยบายใดๆ ได้เลย (ทำเช่นนั้นเมื่อใดก็จะเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ครม. ละเมิดรัฐธรรมนูญได้ทันที)

ประการที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญลดสถานะของฝ่ายบริหารให้กลายเป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ (ซึ่งสมาชิกมาจาก สนช. และ สปช.) มาตรา 279 ให้อำนาจสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ กำหนดนโยบายของรัฐได้เอง โดยให้เสนอนโยบายไปที่ ครม. แล้ว ครม. ต้องรับไปปฏิบัติ ทั้งนี้หาก ครม. ไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่รับมา ครม. จะต้องชี้แจงต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ และหากสภาขับเคลื่อนฯ ยังยืนยันนโยบายดังกล่าว ก็สามารถเรียกให้มีประชามติและให้ผลการประชามติผูกมัด ครม. ได้ (มาตรา 279 วรรคสี่ อนุ 1 ประกอบกับวรรคห้า) กล่าวโดยสั้นคือ ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะคืนชีพ สนช. และ สปช. มาสั่งการ ครม.

ประการที่สาม ร่างรัฐธรรมนูญ (ในภาค 4 หมวด 2) ได้ระบุเนื้อหานโยบายของรัฐไว้ในแทบทุกด้าน และบังคับให้ ครม. ต้องทำตาม ถ้าไม่ทำตามอาจเสี่ยงถูกถอดถอนได้ (ทั้งนี้เพราะมาตรา 277 กำหนดให้เป็นความรับผิดชอบของ ครม. รัฐสภา หน่วยงานของรัฐ และพลเมือง ที่ต้องปฏิรูปตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด) ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบนโยบายหมดทุกด้าน ตั้งแต่ด้านกระบวนการยุติธรรม, การเงิน-การคลัง-ภาษี, การบริหารราชการแผ่นดิน, การบริหารท้องถิ่น, การปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้นักเรียนเป็น "พลเมืองดี" (ตามความเข้าใจของผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอง), การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ, เศรษฐกิจพอเพียง, พลังงาน, แรงงาน, เกษตร, เศรษฐกิจ, สาธารณสุข, สังคม ไปจนถึงนโยบายการสื่อสาร เนื้อหานโยบายหลายข้อกำหนดลึกถึงรายละเอียด เช่น มาตรา 293 กำหนดให้รัฐต้อง "ขยายพื้นที่การทำระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้มีสัดส่วนพื้นที่อย่างน้อยหนึ่งในสี่ของพื้นที่เกษตรกรรม" การที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดนโยบายของฝ่ายบริหารไว้ลึกเช่นนี้ ย่อมหมายความว่าประชาชนจะไม่มีสิทธิเรียกร้องให้รัฐดำเนินนโยบายที่ต่างไปจากนี้ เพื่อสนองความต้องการประชาชนได้

5. ร่างรัฐธรรมนูญนี้มุ่งปกป้องทหารและรักษาอภิสิทธิ์ของกองทัพ

ร่างรัฐธรรมนูญแตะทุกองค์กร ทั้งตุลาการ ตำรวจ องค์กรการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่กลับจงใจไม่แตะต้องและไม่ตรวจสอบกองทัพ ประการแรก ร่างรัฐธรรมนูญลดอำนาจหน้าที่ของตำรวจ และตัดแบ่งโครงสร้างการบริหารงานตำรวจออกเป็นส่วนๆ โดยโอนอำนาจของรัฐบาลในการควบคุมตำรวจ ไปให้หน่วยงานระดับจังหวัดแทน (มาตรา 282 (8)) แต่ร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่ทำเช่นเดียวกันนี้กับโครงสร้างการบริหารงานกองทัพ ประการที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญทำลายความเป็นอิสระของตุลาการ ด้วยการให้อำนาจ ส.ว. สามารถตั้ง "ผู้ทรงคุณวุฒิ" เข้าไปนั่งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะเป็นผู้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป (มาตรา 243 วรรคสอง) แต่ร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่แตะต้องศาลทหารแม้แต่น้อย ประการสุดท้าย ร่างรัฐธรรมนูญตั้งองค์กรหลายองค์กรขึ้นมาตรวจสอบ ไต่สวน และแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน (เช่น สมัชชาพลเมือง คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนตามระบบคุณธรรม) แต่กลับไม่มีองค์กรลักษณะเดียวกันมาตรวจสอบ ไต่สวน หรือแต่งตั้งข้าราชการทหาร

หนำซ้ำร่างรัฐธรรมนูญยังบังคับให้รัฐบาลต้องจัดหางบประมาณให้กองทัพซื้ออาวุธ ด้วยการระบุในมาตรา 79 ว่ารัฐ "ต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย...เพื่อการพัฒนาประเทศ"

สุดท้าย ร่างรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้นายทหารที่รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ไม่ต้องรับโทษ ด้วยการให้อำนาจ "คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ" สามารถอภัยโทษได้ในกรณีที่บุคคลที่กระทำผิด "แสดงความสำนึกผิดต่อคณะกรรมการฯ" (แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงความสำนึกผิดต่อสาธารณะ) (มาตรา 298 (6))

6. ร่างรัฐธรรมนูญนี้ร่างด้วยเจตนาไม่สุจริต

ประการแรก ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจงใจใช้คำและวลีที่ไม่มีนิยามแน่นอน เพื่อเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำเหล่านั้นได้ตามใจชอบ เช่น "ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม", "พลเมืองที่ดี", "ผู้นำการเมืองที่ดี", "ยึดมั่นในจริยธรรมและธรรมาภิบาล", "ความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน"

ประการที่สอง ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจงใจหมกเม็ด ปิดบังอำนาจและที่มาอันไม่เป็นประชาธิปไตยขององค์กรต่างๆ ไว้ในกฎหมายลูก (คือใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ได้ร่าง) แล้วไปให้อำนาจ สนช.-สปช.-กมธ. ออกกฎหมายลูกเหล่านั้น (ร่างรัฐธรรมนูญระบุในหมวดแรกๆ ว่าอำนาจตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นของรัฐสภา แต่ไปแอบกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลตอนท้ายว่า ให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ทำหน้าที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในครั้งแรก แล้วให้ สนช. ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐสภา ซึ่งก็หมายความว่าคณะกรรมาธิการฯ และ สนช. สามารถตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้ทุกฉบับตั้งแต่เริ่มประกาศใช้รัฐธรรมนูญ)

ประการที่สาม ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจงใจใช้คำที่ล่อลวงให้คนเข้าใจผิด เช่น ใช้วลีว่า "สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง" กับ ส.ว. บางส่วน ทั้งๆ ที่ ส.ว. เหล่านั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจริง แต่มาจากการสรรหามาให้ แล้วให้ประชาชนเลือกจากที่สรรหามาให้แล้วเท่านั้น

ประการสุดท้าย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจงใจซ่อนข้อกำหนดที่ผู้ร่างกังวลว่าจะถูกเพ่งเล็ง ไว้ในหมวดที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น จงใจห้อยข้อกำหนดเกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทนองคมนตรีที่เกษียณอายุแล้ว ไว้ในหมวดคณะรัฐมนตรี แทนที่จะอยู่ในหมวดองคมนตรี นอกจากนี้ก็ซ่อนอำนาจของ "องค์กรมหาเทพ" อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ในหลายมาตรา หลายหมวด เช่น มาตรา 7, 29, 31, 76, 99, 101, 116, 128, 141, 143, 155, 160, 163, 164, 185, 188, 193, 248, 264, 301 และ 303 ในทำนองเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญซ่อนเหตุและวิธีการถอดถอนนายกรัฐมนตรี ข้าราชการ การเมือง และข้าราชการพลเรือน ไว้ในหลายมาตรา หลายหมวดเช่นกัน

7. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขไม่ได้

จาก 6 เหตุผลกล่าวมา หากใครที่คิดจะ “ให้โอกาส” ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทดลองใช้ดูก่อน หรือคิดว่า “รับๆ ไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ทีหลัง” อาจจะต้องพิจารณาให้ดี เพราะเมื่อประกาศใช้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่สามารถแก้ไขได้เลยหาก “องค์กรมหาเทพ” อย่างวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ยินดีให้แก้ ทั้งนี้เพราะร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน (มาตรา 301 (6)) แต่เฉพาะ ส.ว. (ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง) เพียงอย่างเดียวก็คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของรัฐสภาแล้ว ดังนั้นหาก ส.ว. แต่งตั้งไม่เห็นชอบ ก็ย่อมแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้

ประการต่อมา ต่อให้ผ่านด่าน ส.ว. แต่งตั้งมาได้ ร่างรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้งต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญรับรองด้วย (มาตรา 301 (7)) และต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญรับรอง ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังสามารถวินิจฉัยได้อยู่ดี ว่าการแก้ไขนั้นเป็นการแก้ไขใน "สาระสำคัญ" ของรัฐธรรมนูญ และหากวินิจฉัยเช่นนั้นแล้ว ก็จะต้องนำร่างฉบับแก้ไขนั้นเข้าประชามติอีกชั้นหนึ่ง (มาตรา 302) จะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามระบบนั้นยากเย็นจนแทบจะเป็นไปไม่ได้

ครั้นจะแก้รัฐธรรมนูญด้วยการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ปิดทางไว้อีก มาตรา 67 ระบุว่า "การจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ...จะกระทำมิได้" และมาตรา 31 ยังให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งการทำประชามติได้ด้วยหากวินิจฉัยว่าการทำประชามตินั้นเข้าข่าย "ล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้"