วันพุธ, พฤษภาคม 27, 2558

รับขวัญนักศึกษาที่ถูกจับหลังชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร - เกษียรแจกหนังสือปลอบขวัญ






Tue, 2015-05-26 20:48

คณาจารย์บายศรีสู่ขวัญศิษย์ 'กรุงเทพฯ-ขอนแก่น' หลังตำรวจจับกุมจากเหตุชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร - เกษียร เตชะพีระ ห่วงสังคมไทยในรอบ 10 ปีหลังกระหายเลือด และทนทานต่อความรุนแรงน้อยลง ชี้จำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยอำนาจพิเศษ จะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง พร้อมชื่นชม ‘ดาวดิน’ สัมผัสทุกข์ชาวบ้านคือทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด

ที่มา ประชาไท

26 พ.ค. 2558 - เวลา 16.50 น. ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงาน "บายศรีสู่ขวัญ เยาวชนประชาธิปไตย" ให้แก่นักศึกษาและนักกิจกรรม ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ทั้งที่บริเวณหน้าหอศิลปฯ กรุงเทพ และที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น โดยมีอาจารย์เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ อาทิ เกษียร เตชะพีระ, อนุสรณ์ อุณโณ, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ธีระ สุธีวรางกูร, ปูนเทพ ศิรินุพงศ์, ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ฯลฯ ในงานได้มีการกล่าวรับขวัญนักศึกษา และนักกิจกรรม โดยเกษียร เตชะพีระ มีรายละเอียดดังนี้

000

ผมขอกล่าวต้อนรับนักศึกษา นักกิจกรรมทุกคนที่ไปประสบ ไปทำความรู้จักกับรัฐไทยมา ผมคงกล่าวอะไรเล็กๆ น้อยๆ และก็เตรียมคำแถลงมา คืออย่างนี้นะครับ วันนี้งานก็เป็นกันเองจัดแบบบ้านๆ ผมมาถึงแล้วก็เผอิญนึกขึ้นได้ ที่ห้องทำงานผมที่คณะรัฐศาสตร์มีหนังสือเยอะ เพราะมันขายไม่ออก (หัวเราะ) ผมเลยตัดสินใจขนเอามาแจกดีกว่า ถือว่าเป็นการปลอบขวัญนักศึกษาไปด้วย

เรื่องของเรื่องคืออย่างนี้นะครับ ข่าวเองก็ทำให้เกิดความสะเทือนใจ ที่พวกท่านประสบมา มันทำเลยทำให้พวกเราคิดว่าจะทำอะไรบางอย่างขึ้น คือคำพูดของอาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ ซึ่งในคืนนั้นเขาก็ไปที่โรงพักปทุมวัน แล้วก็พูด ซึ่งมีรายงานข่าวออกมาว่า “ผมมาตามนักศึกษาของผม” ประโยคนี้กินใจผมมาก มันทำให้ผมนึกอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นมาประมาณ 20 ปี คือตอนนั้นพวกท่านก็คงรู้ดีว่า ผมกับอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีระสกุล) มีความรักกันมาก (หัวเราะ) คือโดยปกติแล้วก็จะไม่ค่อยติดต่อสื่อสารกันเท่าไหร่ แต่วันมีอยู่คืนหนึ่งประมาณสัก 20 กว่าปีที่แล้ว อาจารย์โทรมาหาผมกลางดึก เพื่อมาถามว่า มีอะไรที่เราจะทำได้ไหม เพื่อจะช่วยนักศึกษาที่ชื่อว่า ประจักษ์ (ก้องกีรติ)

คือตอนนั้นประจักษ์จัดฉายหนังให้นักศึกษา เขาทำกิจกรรมเป็นนักศึกษาอยู่คณะรัฐศาสตร์ ในตอนนั้นมันมีฉากล่อแหลมบางอย่าง แล้วทางมหาวิทยาลัยก็จะเล่นงานประจักษ์ทางวินัย อาจารย์สมศักดิ์ โดยปกติเขาก็ไม่ค่อยติดต่อผมสักเท่าไหร่ แต่ก็โทรมาแล้วก็ถาม เราจะช่วยอาจารย์ประจักษ์ได้อย่างไรบ้าง

มันเป็นความสัมพันธ์บางอย่างที่ในความรู้สึกของผม มันเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างครู กับลูกศิษย์ทั้งหลาย ความสัมพันธ์ระหว่างครู กับลูกศิษย์ในความรู้สึกของผม มันเป็นการให้ที่ไม่มีเงื่อนไข เป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ให้ความรู้แล้วความคิดอ่านอย่างบริสุทธิ์ใจ ผมมีความรู้สึกว่าหน้าที่ของครู คือการรับผิดชอบ ช่วยเหลืออนาคตของสังคม พ่อแม่เขาฝากฝังลูกหลานให้เราช่วย อบรม ดูแล ให้ข้อคิด ให้ความรู้ให้ความคิดอ่าน โดยความหวังว่าจะประคับประคองพวกเขาให้เป็นอนาคต ให้รับผิดชอบต่อสังคมต่อไปได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมกังวลต่อภาระหน้าที่ของครู ที่มีต่อลูกศิษย์มาก

พูดตรงไปตรงมา ผมรู้สึกว่างหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว มันมีบางอย่างในสังคมไทยที่น่ากลัวมาก ถ้าเราติดตามปฏิกิริยาสาธารณะทั่วไปที่เกิดขึ้น พูดสั้นๆ ความกระหายเลือดมีมากเกินไปในสังคมไทย ขณะเดียวกันความทนทานต่อความรุนแรงมีน้อยลง สองอย่างนี้มันเกิดขึ้นเพราะว่า สังคมไทยผ่านช่วงขัดแย้งทางการเมืองอย่างดุเดือดมาร่วม 10 ปีแล้ว ด้านหนึ่งก็กระหายเลือดมากขึ้น ด้านหนึ่งก็ทนทานต่อความรุนแรงน้อยลง

ข้อที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความเป็นสังคม การที่เรามีความเป็นชุมชนเดียวกันมีความรักใคร่ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ให้อภัยกันและกัน และความเป็นรัฐ ที่เราปฏิบัติตามคำสั่งของอำนาจที่ได้มาโดยชอบ โดยไม่ต้องบังคับ ทั้งความเป็นสังคม และความเป็นรัฐ มันรักษาไว้ยาก มันสึกลงไปทุกที ภายใต้ความกระหายเลือดที่มากขึ้น และความทนทานต่อความรุนแรงที่มีน้อยลง เราทำอะไรได้ไม่มาก แต่ผมคิดว่าการยืนยันถึงพันธะหน้าที่ที่ครูต่อลูกศิษย์ อาจจะช่วยให้สังคมไทย ได้ย้ำคิดกับเรื่องนี้บ้าง

อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญคือ เรื่องเสรีภาพ ในความเข้าใจของผมเท่าที่เรียนรัฐศาสตร์มา เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยหมายถึงการทำตามกฎหมายที่เราออกเอง หรือออกโดยผู้แทนที่ผ่านการเลือกตั้งโดยชอบของเรา ผมคิดว่า มีวิกฤตจริงต่อเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจโดย คสช. มันมีวิกฤตของการสิทธิเสรีภาพ กล่าวคือมีการใช้เสรีภาพไปในลักษณะที่บ่อนทำลายกฎหมายโดยชอบที่ออกโดยสังคม ที่ออกโดยประชาชนทั้งหลาย ผมคิดว่าภาวะแบบนี้มันจะหายไปหลังจากที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ แต่ผมรู้สึกวิตกกังวลว่า สิ่งที่เราเจออยู่นี้มันกลับเป็นปัญหาอีกแบบ คือขณะที่ก่อนยึดอำนาจมีความล้มเหลวของการใช้สิทธิเสรีภาพ หลังยึดอำนาจมีความล้มเหลวของการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพราะจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ใช้ด้วยกฎหมายปกติที่ประชาชนออกเอง หรือตัวแทนโดยชอบของประชาชนออก แต่ใช้กฎหมายพิเศษ อำนาจพิเศษ มาจำกัดสิทธิเสรีภาพในชีวิตปกติของประชาชน นี่ไม่ใช่การจำกัดสิทธิเสรีภาพที่จะทำงานได้ นี่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่จะล้มเหลว ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง การต่อต้านท้าทาย และอาจจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงต่อไปไม่ได้ในอนาคต ผมคิดว่านี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรจะคิดถึงให้มาก

ทั้งนี้ในงานมีการสนทนาระยะไกลผ่านระบบออนไลน์เพื่อพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นนักศึกษา ม.ขอนแก่นที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคอีสาน นักศึกษากลุ่มดาวดินกล่าวว่า รู้สึกดีใจและชื่นชมเพื่อนๆ ที่ออกมาแสดงออกในสถานการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กล้าที่จะตามหาความฝันในการทวงคืนประชาธิปไตย สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งเดียวกัน ดาวดินอาจเน้นเรื่องชาวบ้านมากกว่าการเมือง แต่ในสถานการณ์นี้เราต้องสู้ไปด้วยกัน ขอให้ทุกคนรักษาฝันนี้ไว้พร้อมทั้งหลักการประชาธิปไตย และขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน แม้ไม่ได้เป็นศิษย์โดยตรงแต่ก็ตามอ่านงานวิชาการและบทความของหลายท่านโดยตลอด

"ผมอยากให้คนที่โดนกดขี่ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวเปิดใจรับฟังสิ่งเหล่านี้ ก้าวข้ามการเมืองเก่าๆ ภาพความคิดเก่าๆ แล้วฟังแต่ละกลุ่มที่ออกมาแสดงความเห็น ความจริงของแต่ละกลุ่ม จริงๆ เราก็มีข้อเท็จจริงอันเป็นผลกระทบจากการรัฐประหาร การรัฐประหารมันเป็นการแย่งชิงทรัพยากรจากประชาชน คุกคามและกดขี่เสียงประชาชน เราจึงต้องมาพูดถึงความจริงที่้เกิดขึ้น" นักศึกษากลุ่มดาวดินกล่าว

ด้านเกษียร กล่าวว่า โดยส่วนตัวชื่นชมกลุ่มดาวดินมาก พวกเขาต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และมันมีความหมายที่เขื่อมโยงกับชีวิตผู้คน

"ระบบการศึกษาแบบที่เรามีพยายามแยกเราออกจากโลกของชาวบ้าน ยิ่งเราออกห่างเท่าไรยิ่งมีโอกาสได้เอมากเท่านั้น(หัวเราะ)... สิ่งที่ดาวดินพยายามทำคือ พาตัวเองเข้าไปสัมผัสเรียนรู้กับชาวบ้าน เหมือนขบวนนักศึกษาช่วง 14 ตุลา มันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่มีทางได้โดยวิธีอื่น และคุณจะได้ใช้โดยไม่มีวันหมด" เกษียรกล่าว

000

แถลงการณ์บายศรีสู่ขวัญเยาวชนประชาธิปไตย
โดยคณาจารย์ผู้ห่วงใยในลูกศิษย์และสังคมไทย


สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวและแสดงออกของนักศึกษา และประชาชนในโอกาสครบรอบปี การยึดและควบคุมอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นำไปสู่การที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังจับกุมคุมตัว ทำให้เกิดการปะทะ มีนักศึกษา และประชาชนถูกจับกุม ตั้งข้อหาด้านความมั่นคงและได้รับบาดเจ็บหลายราย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้น พวกเราที่เป็นครู อาจารย์ สอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งขอแสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเสนอความคิดเห็นต่อสังคมไทยในกรณีนี้ว่า ในฐานะครู อาจารย์ ความสัมพันธ์ในอุดมคติของเรากับลูกศิษย์ในเรียนการสอนคือมุ่งที่จะให้ ความรู้ความคิดอ่านในแขนงวิชาต่างๆ โดยไม่หวังว่าจะได้อะไรตอบแทน ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยสำนึกรับผิดชอบในวิชาชีพ เพราะสังคม และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้ฝากฝังลูกหลานมาให้เราอบรมดูแล เรามีหน้าที่ช่วยเหลือ เกื้อกูล ถ่ายทอดความรู้ความคิดอ่าน และประคับประคองให้พวกเขาได้เป็นผู้สืบทอด รับผิดชอบสังคมต่อไปในอนาคต

ข้อห่วงใยของเราต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมรังแต่เพิ่มความเกลียดในสังคม ไม่แก้ปัญหา แต่ทำให้ปัญหารุนแรง ซับซ้อน ขยายกว้าง บาดลึกลงไป การจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดได้ในทุกสังคม แต่จะราบลื่นเป็นที่ยอมรับ ต้องจำกัดด้วยกฎหมายที่ประชาชนหรือตัวแทนโดยชอบของประชาชนออกเอง เพราะประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิเสรีภาพ หากจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยกฎหมายที่ไม่ได้ออกมาโดยชอบ ผลก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ มีการดิ้นรนขัดขืนทำให้ต้องใช้กำลังบังคับ เพิ่มความรุนแรง ความขัดแย้ง เกลียดชังไม่รู้จบสิ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันการยึดและควบคุมอำนาจโดย คสช. ที่ประเด็นสิทธิเสรีภาพมาทับซ้อน กับความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน น้ำ ทางเท้า สิ่งแวดล้อม ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ชาวบ้านกับทุน ยิ่งน่าวิตกว่าจะบานปลาย ข้อเสนอของเราต่อสังคมและรัฐบาลคือ โปรดระงับยับยั้งการใช้กำลังรุนแรง คืนชีวิตปกติให้นักศึกษาประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตของกฎหมายปกติ ที่ออกโดยผู้แทนโดยชอบของสังคม แทนที่อำนาจพิเศษ และกฎหมายพิเศษทั้งหลาย