ที่มา ที่นี่และที่นั่น
May 26, 2015
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” ได้เผยแพร่รายงาน “ภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2558 Social Situation and Outlook” ซึ่งเป็นการรวบรวมสถิติด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอัตราการว่างงาน อัตราการจ้างงาน โอกาสในการหางานทำของคนไทย ภาวะหนี้สินครัวเรือน ไปจนถึงข้อมูลเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวชี้วัดสถานการณ์ด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย ในช่วงไตรมาสหนึ่งปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลคณะรัฐประหาร คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างดี ซึ่งได้มีการเผยแพร่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา
โดยรายงาน “ภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2558” ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับดังกล่าวนั้นได้ชี้ให้เห็นว่า “การจ้างงานลดลง ไตรมาสที่หนึ่งปี 2558 ผู้มีงานทำ 37,611,521 คน ลดลงร้อยละ 0.5 โดยสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยหลายพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้ง ประกอบกับเป็นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว และการปรับตัวของการเพาะปลูกข้าวที่ลดลง หลังจากยุติมาตรการจำนำข้าว ทำให้ผู้มีงานทำภาคเกษตรลดลง ร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และมีผู้รอฤดูกาลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.8 ขณะที่การจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3”
ในส่วนของ “อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย” โดย “ไตรมาสแรกของปี 2558 มีผู้ว่างงาน 361,297 คน อัตราการว่างงานเท่ากับ ร้อยละ 0.94 ใกล้เคียงกับอัตราการว่างงานร้อยละ 0.89 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยการว่างงานของกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนมี จำนวน 197,138 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สำหรับการว่างงานในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 164,159 คน หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สอดคล้องกับการเอาประโยชน์ทดแทนในกรณีการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีจำนวน 149,967คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 โดยเป็นการเลิกจ้างจำนวน 19,198 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ขณะที่เป็นการลาออกจำนวน 130,769 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4″
นอกจากนี้ยังพบว่า “จำนวนชั่วโมงการทำงานลดลง” โดย “ชั่วโมงการทำงาน (ทุกสถานภาพ) เฉลี่ยเท่ากับ 41.7 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ต่ำสุดในช่วง 9 ไตรมาส และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วลดลงร้อยละ 2.2 โดยชั่วโมงการทำงานลดลงในทุกสาขาการผลิต สอดคล้องกับการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ยังอยู่ในระดับร้อยละ 62 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แนวโน้มที่อยู่ในประมาณร้อยละ 65 ขณะที่ภาคเกษตรประสบ ปัญหาภัยแล้ง แรงงานภาคเกษตรไม่สามารถทำงานได้เต็มที่”
ซ้ำร้าย “โอกาสในการหางานทำน้อยลง” โดย “จะเห็นได้จาก สัดส่วนผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างคิดเป็น 1.14 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.09 เท่าในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่สัดส่วนของการบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างและการบรรจุงานต่อผู้สมัคร งานเฉลี่ยเท่ากับ 0.86 และ 0.76 ตามลำดับ เทียบกับ 0.68 และ 0.62 ตามลำดับในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังชะลอการขยายตำแหน่งงานเนื่องจากความ กังวลต่อสถานการณ์และการลดคำสั่งซื้อ แต่เนื่องจากผู้สมัคร งานที่มีมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเลือกรับคนที่มี คุณสมบัติตรงตามความต้องการมากขึ้น”
นอกจากนี้ในรายงาน “ภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2558” ดังกล่าวยังรายงานถึงสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของสังคมไทย โดยพบว่า “การผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น “และ “มูลค่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” โดยระบุว่า “มูลค่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2558 หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 92,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 และมีสัดส่วนต่อสินเชื่อ รวมร้อยละ 2.6 สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 คิดเป็นมูลค่า 15,469 ล้านบาท และเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.9 ของสินเชื่อภายใต้การกำกับรวมเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง ยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 คิดเป็นมูลค่า 8,933 ล้านบาท และเป็นสัดส่วน ร้อยละ 3.1 ต่อยอดคงค้างรวมเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”
ที่มา Voice TV
คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. รายงานสภาวะสังคม ไตรมาส 1 ปี 2558 ด้านการว่างงาน พบว่า มีผู้ว่างงานกว่า 3 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 0.94 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่อยู่ที่ ร้อยละ 0.89
โดยปี 2558 จะมีผู้จบการศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ถึงระดับปริญญาตรี กว่า 2 ล้านคน คาดว่า จะมีผู้เข้าสู่ตลาดแรงงาน 6 แสน 3 หมื่นคน และหากย้อนไป ปี 2557 พบว่า ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอัตราการว่างงานสูงสุด โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สายสังคมศาสตร์ อาทิ สาขาวารสารศาสตร์และสารสนเทศ ศิลปกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เนื่องจากเป็นสาขาที่มีการผลิตกำลังคนเกินความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง
ด้านที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากบัณฑิตจบใหม่สายสังคม ยังเลือกงาน ก็จะตกงานเพิ่มขึ้น แต่การผลิตบัณฑิตสายสังคม ก็ยังมีความจำเป็นอยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันแก้ปัญหา กำหนดสัดส่วนการผลิตกำลังคน ทั้งสายวิทย์ และสายสังคมให้ชัดเจน ซึ่งถือเป็นวาระของประเทศ โดยในวันที่ 26 เมษายนนี้ จะมีการประชุมสอบถามมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า มีข้อมูลเรื่องการมีงานทำ ของนักศึกษาอย่างไรบ้าง
ส่วนการลดรับนักศึกษาสายสังคมในปี 2558 คงทำไม่ได้มากนัก เพราะมหาวิทยาลัยต่างๆ มีแผนการรับนิสิต นักศึกษาแล้ว