วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 28, 2558

อนาคตของร่างรัฐธรรมนูญไทย :ชำนาญ จันทร์เรือง



อนาคตของร่างรัฐธรรมนูญไทย

ชำนาญ จันทร์เรือง

ในช่วง ณ ปัจจุบันสมัยพฤษภาคม ๒๕๕๘ ไม่มีการสนทนาในแวดวงวิชาการและสภากาแฟประเด็นใดจะมีความสนุกสนานและตื่นเต้น ใคร่รู้ ใคร่เห็นเท่ากับประเด็นอนาคตของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมหาปราชญ์ฉบับนี้ว่าจะจบลงอย่างไร บ้างก็ว่าอย่างไรเสียก็คงเข็นกันออกมาจนได้แหล่ะน่า แม้ว่าจะต้องมีการทำประชามติภายหลังการผ่านสภาปฏิรูปฯ ก็ตาม

บ้างก็ว่าอาจจะผ่านสภาปฏิรูปฯ แต่ไปตกม้าตายในตอนทำประชามติ ซึ่งก็มีผู้เชื่อในความเห็นนี้ไม่ใช่น้อย แต่ที่สุดโต่งและแทบจะเป็นไปไม่ได้แต่ก็ยังมีคนเชื่ออยู่ไม่น้อยเช่นกันก็คือ การที่สภาปฏิรูปฯ ต้องกลืนเลือดยอมตายตกไปกับคณะกรรมาธิการร่างฯ โดยการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่อยากเห็นการพ่ายแพ้ในการลงประชามติซึ่งจะมีผลกระทบต่อ คสช.ไม่มากก็น้อย 

หรือร้ายที่สุดคือเพื่อไม่ให้มีการลงประชามติเกิดขึ้น เพราะไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ก่อนการทำประชามติย่อมต้องมีการรณรงค์กันอย่างขนานใหญ่โดยไม่สามารถปิดกั้นได้ เพราะถ้าปิดกั้นหรือยังขืนใช้ ม.๔๔ ระหว่างการรณรงค์ประชามติอยู่ย่อมจะถูกโจมตีและถูกต่อต้านการลงประชามติกันอย่างแน่นอน และเมื่อเปิดให้มีการรณรงค์ย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีแรงกระเพื่อมทางการเมืองและมีการกระทบไปถึง คสช.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ฉะนั้น สปช.จึงต้องยอมสละชีพแก่ผู้ให้กำเนิดตนมาคือ คสช.นั่นเอง

ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วเป็นไปได้ทั้งนั้น และไม่มีใครสามารถคาดเดาหรือฟันธงลงไปว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้แต่ คสช.เองก็ตามก็ต้องวิเคราะห์กันอย่างหนักเพราะไม่ว่าจะเลือกไปทางใดล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อตนทั้งนั้น 

เพราะหากเลือกผิดนอกจากจะ เสียของแล้วยังอาจ ได้รับของที่ไม่พึงประสงค์เป็นผลตอบแทนอีกด้วย

ทิศทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด

เมื่อยกเอาความชอบหรือไม่ชอบส่วนตัวออกไป ยกเอาความที่อยากจะให้เป็นหรือไม่อยากให้เป็นออกไปแล้ว สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้น คือ

๑) คณะกรรมาธิการร่างฯ พิจารณาปรับแก้ให้เป็นไปตามที่ร้องขอหรือถูกต่อต้านมากออกไป เช่น ลดจำนวนมาตราลงให้เหลือน้อยกว่า ๓๐๐ มาตรา และยอมในบางเรื่อง เช่น สว.เลือกตั้งจังหวัดละคนไม่ต้องมีกรรมการกลั่นกรองให้เหลือ ๑๐ คนตามร่างฯ เพราะปกติแล้วก็มีไม่กี่จังหวัดที่มีผู้สมัครเกินสิบคน, เลิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ สภาคุณธรรม 

แต่เหลือสมัชชาพลเมืองไว้เพราะไปโฆษณากับบรรดาผู้ที่ขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองไว้เยอะ 

แต่ประเด็นที่หัวเด็ดตีนขาดก็ยอมไม่ได้ก็คือ ประเด็นที่ถูกบังคับตามมาตรา ๓๕ แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี ๕๗ และประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การจำกัดสิทธิทางการเมืองของขั้วอำนาจเก่าไม่ให้ผุดให้เกิดได้ หรือประเด็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก อย่างไรเสียประเด็นเหล่านี้ก็คงยังคงไว้แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักก็ตาม (ผมคนหนึ่งล่ะ)

๒) ขั้นตอนต่อไปต้องมาดูเนื้อหาสาระของการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี ๕๗ กรณีที่หากผลการลงประชามติไม่ผ่านว่าจะเป็นอย่างไร 

การจะตั้งกรรมาธิการร่างฯ และสภาปฏิรูปฯ ชุดใหม่นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เพราะเสียเวลา เสียเงิน ที่สำคัญคือเสียหน้า คสช.เอง หากจะกลับไปนำเอารัฐธรรมนูญปี ๔๐ หรือ ๕๐ มาปัดฝุ่นทำใหม่ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะจะเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่คณะทหารไม่ว่าจะเป็น คมช.หรือ คสช.ทำไปนั้นผิดพลาด เพราะถ้าไม่ผิดพลาดแล้วไปฉีกรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนั้นทำไม่ได้ 

สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การตั้ง สสร.ใหม่ โดยอย่างน้อยส่วนใหญ่หรือทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะนอกจากจะได้ผลบวกในแง่ของความชอบธรรมแล้ว คสช.ยังได้อยู่ต่ออีกระยะหนึ่ง

ฉะนั้น อนาคตของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมหาปราชญ์นี้จะเป็นอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คสช. และแรงผลักดันของประชาชนเป็นสำคัญ 

หลายคนอาจคิดว่าแรงผลักดันของประชาชนภายใต้กระบอกปืนแบบนี้จะมีผลล่ะหรือ ผมขอเรียนว่ามีผลอย่างแน่นอน อย่าลืมว่าอย่างน้อยประชาชนก็ทำสำเร็จคือการผลักดันให้มีการหยิบยกประเด็นการลงประชามติมาพิจารณา ทั้งๆที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯฉบับชั่วคราวปี ๕๗ แต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุปถึงอนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับมหาปราชญ์นี้มีโอกาสแท้งก่อนคลอดถึงเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ 

ด้วยเหตุผลที่ว่าหาก คสช.ไม่อยากถูกกระทบกระทั่งจากการลงประชามติ ก็บีบให้สภาปฏิรูปฯ กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แล้วตั้ง สสร.ใหม่โดยไม่มีการตั้งสภาปฏิรูปฯ หรือกรรมาธิการร่างฯขึ้นมาอีก (โดยแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี ๕๗ เพิ่มประเด็นนี้เข้าไปนอกเหนือจากประเด็นของการทำประชามติ)

หากสภาปฏิรูปฯยังดื้อแพ่งผ่านร่างรัฐธรรมนูญออกมา คสช.ก็ต้องไประดมสรรพกำลังขนาดหนักพร้อมกับใช้ยุทธวิธีทั้งใต้ดินบนดินเพื่อที่จะเอาชนะการลงประชามติให้ได้ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือความวุ่นวายอย่างหนักและก็จะเอาไม่อยู่ 

แต่ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติโดยการตั้ง สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งหากประชามติไม่ผ่าน ก็จะ win win ด้วยกันเกือบทุกฝ่าย

ผมคิดว่าถ้า คสช.และคณะที่ปรึกษามีกึ๋นพอก็คงรู้ว่าควรจะกำหนดอนาคตของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร ใครก็ได้ช่วยบอก คสช.ให้ผมทีเถอะครับ
-------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘